จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๖๖ กรรมที่ส่งผลในภพใหม่



366 talk


สวรรค์และนรก
คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นระหว่างมีชีวิต
และไปพบผลงานของตัวเอง
หลังจากจบชีวิตลง


กรรมที่นำไปเกิด เรียกว่า ‘ชนกกรรม’
‘กรรม’ นั่นแหละเป็นผู้ตัดสินว่า
เราจะได้เจอกับนิมิตหมายแบบไหน
เรียงตามลำดับความหนักเบาดังนี้


๑) ครุกรรม
หมายถึงกรรมหนัก ชนิดที่ทำครั้งเดียว
ก็ให้ผลแน่นอนเป็นสุคติหรือทุคติ
อย่างเช่น อนันตริยกรรม
ได้แก่ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์
ทำพระพุทธเจ้าห้อเลือด และทำให้สงฆ์แตกแยก
เมื่อลงมือทำไปแล้ว
แม้จะเพียงครั้งเดียวในชีวิต
ต่อให้ทำดีแค่ไหน
ก็ไปดีไม่ได้ ต้องไปนรกก่อน


กรรมหนักที่ให้ผลใกล้เคียงกับอนันตริยกรรม
ก็เช่น เห็นใครคุยกันเรื่องมรรคผลนิพพาน
ก็ไปพูดจาบั่นทอนกำลังใจ หรือทำให้เขาเขวจากทาง
เมื่อพรากเขาจากมรรคผลนิพพาน
ก็ได้ชื่อว่าฆ่าว่าที่อริยเจ้า
ฉะนั้น จะระวังๆตัวไว้บ้างก็ดี
ไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ หรือเงียบไว้
ยังไม่แน่ใจอะไร ยังไม่รู้คำตอบแจ้งชัด
ด้วยประสบการณ์ตรง
ก็อย่าเพิ่งค้าน หรือ ให้คะแนนคนโน้นคนนี้
เหมือนตรวจข้อสอบวิชาทางโลก
เพราะพูดไปแล้วเอาคืนไม่ได้
คนอ่านไปแล้ว เขวไปแล้ว
บางทีอาจลื่นหลุดออกจากมรรคไปเลย


ส่วนกรรมฝ่ายที่จะส่งไปสู่สุคติแน่นอนนั้น คือ
ทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเรียกว่าเป็น ‘กรรมไม่ดำไม่ขาว’
จนกระทั่งสำเร็จมรรคผล เป็นพระโสดาบันบุคคลขึ้นไป
ทำสำเร็จเพียงครั้งเดียว
เป็นอันว่ามีสุคติเป็นที่ไปอย่างแน่นอน


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


๒) อาสันนกรรม
คือกรรมที่ทำเมื่อเวลาใกล้ตาย มีสิทธิ์ให้ผลน้อย
แต่ถ้าแรงพอก็ให้ผลก่อน เพราะเป็นกรรมก่อนตาย
คืออาจทำครั้งเดียวในชีวิต แต่ไปทำขณะตาย
ก็กลายเป็นชนกกรรมไปได้เหมือนกัน


บางคนทำความดีมาจนชั่วชีวิต
แต่ก่อนตายไม่นาน เกิดความวิตกกังวล
ถึงกรรมชั่วบางอย่างที่เคยทำไว้แค่หนสองหน
จิตจึงเกิดความระส่ำระสาย หาความสุขสงบไม่ได้
เมื่อใกล้ตาย จึงเห็นนิมิตหมายในทางร้ายปรากฏก่อน


ส่วนบางคนทำบุญไว้น้อยกว่าทำบาป
ทว่าเห็นพระตอนกำลังจะสิ้นใจ เกิดโสมนัสขึ้นมา
ด้วยคิดว่าเป็นที่พึ่ง สรณะของเรา
แค่นี้ก็ให้ผลได้เหมือนกัน แต่น้อยราย


หากเราทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้มีความสบายใจ
สามารถระลึกถึงคุณงามความดีที่ตนเองเคยทำมา
ตลอดจนมีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
และรู้วิธีเจริญสติ เพื่อเตรียมสติขณะเข้าด้ายเข้าเข็ม
อย่างน้อยก็ปิดอบายได้ชาติหนึ่งแน่ๆ
เป็นที่หายห่วง หรือพลอยโสมนัสแก่คนข้างหลังกัน


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


๓) อาจิณณกรรม
กรรมที่ทำมาเป็นประจำ ทำจนเคยชินเป็นนิสัย
อาจิณณกรรมน่าสนใจกว่าครุกรรมและอาสันนกรรม
เพราะมีโอกาสให้ผลมากที่สุด!


อาจิณณกรรมของแต่ละคน
โดยมากไล่ลำดับความสำคัญลงมา นับแต่
..อาชีพที่ทำ
..สิ่งที่ครุ่นคิดเป็นประจำ
..คำที่พูดอยู่ทุกวัน
..กิริยาที่แสดงเป็นปกติ
รวมแล้วอาจมีหลายหลาก
แต่ประมวลแล้ว จะได้ภาพออกมาภาพหนึ่ง
คือ ดี หรือ เลว มีน้ำหนักชัดอยู่


ที่ทำๆอยู่ทุกวันนี้แหละ คิดยังไง พูดยังไง ทำยังไง
เป็นการเตรียมตัวเปลี่ยนภพ เปลี่ยนชาติ เปลี่ยนชีวิตทั้งสิ้น
จะเตรียมตาย ไม่ใช่เตรียมตัวจะตั้งท่าตายยังไง
แต่ทำตัวเป็นปกติอย่างไรต่างหาก!


ส่วนการเตรียมการสำทับเข้าไป เช่น
ระลึกถึงว่า วันหนึ่งเราจะต้องตาย
ตอนนอน ก็ทอดกายไปนิ่งๆ
รู้สึกว่าตอนเข้าโลง มันก็อยู่ในอาการนี้
แล้วระลึกให้ออกว่า เราใช้กายนี้ทำอะไรดีๆมาบ้าง
ถ้าระลึกอย่างนี้ก่อนนอนทุกคืน
ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท มีการเตรียมตัวตายไว้ล่วงหน้า
เพราะจิตที่สั่งสมอาการอย่างนี้ไว้ชินแล้ว
เมื่อถึงเวลา ก็จะนึกอย่างนี้เองโดยอัตโนมัติ


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


๔) กตัตตากรรม
หมายถึงกรรมสักแต่ว่าทำไป
โดยไม่มีเจตนาหนักแน่น
เป็นพวกใครว่าอย่างไรก็ว่าตามกัน
ไม่ค่อยมีดำริของตัวเอง
ไปในทางบุญหรือทางบาปชัดเจน
ก่อนตายจึงอาจเป๋
ไปในทางใดทางหนึ่งแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้


เช่น ตอนเป็นเด็ก
ผู้ใหญ่เคยให้ท่อง "พุทโธ พุทโธ พุทโธ"
ก็ท่องไปอย่างนั้นเอง ไม่มีใจยินดี ไม่มีความตั้งใจ
แต่ก่อนตายเกิดจับพลัดจับผลู
มีคำว่า "พุทโธ" ผุดขึ้นมาในหัว
จุดชนวนให้นึกถึงพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้
จิตก่อนตายเลยศักดิ์สิทธิ์และสว่างตาม


เป็นไปได้น้อยกว่าหนึ่งในพันหนึ่งในหมื่นราย
ที่กตัตตากรรมจะมาชิงให้ผลก่อน!


ดังตฤณ
สิงหาคม ๒๕๖๖

 

 

 

 

 



review


ชีวิตของทุกคนไม่ใช่ของยั่งยืน
เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วย่อมทรุดโทรมลงจนแตกดับในที่สุด
ผู้ปฏิบัติธรรมควรพิจารณาถึงความไม่เที่ยงนี้จนเห็นชัดตามความเป็นจริง
ดังความพระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
เรื่อง
"เราปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร (ตอนที่ ๒)" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ"(-/\-)


การเจริญมรณสติมีประโยชน์อย่างไร
และความหมายของคำว่า "ซ้อมตายก่อนตาย" คืออะไร
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "วิธีเจริญมรณสติก่อนนอนอย่างถูกต้อง"


พุทธศาสนิกชนผู้นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
พึงบูชาพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์อย่างถูกต้อง
จึงจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อชีวิตของตน
ดังเรื่องราวที่คุณงดงามบอกเล่าไว้
ในคอลัมน์ "จุดหมายปลายธรรม" ตอน "ครูกายแก้ว"



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP