สารส่องใจ Enlightenment

ทำอย่างไรจึงจะละความรักและความโกรธได้



วิสัชนาธรรม โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย




สตรีผู้หนึ่งในกรุงเทพฯเริ่มภาวนา ยังไม่เป็นดีพอ แต่รู้จักจิตของตนว่าอยู่หรือไม่อยู่เท่านั้น
เขารักลูกมากจนเห็นโทษของความเกิดและการมีครอบครัว
ความรักลูกก็รู้จักว่ามันเป็นทุกข์แต่อดกลั้นไม่ได้ เขาจึงอยากเรียนถามว่า


ปุจฉา (๑) - ความรักและความโกรธ ทั้งๆ ที่รู้ตัวมันอยู่ แต่ทำไมมันจึงละไม่ได้

วิสัชนา (๑) – ความรักและความโกรธถ้ารู้มันก็ดีละซี่ กลัวแต่จะไม่รู้ตัวมันนั่นแหละ
เมื่อมีความรักและความโกรธจะไปเพ่งแต่วัตถุภายนอก
ไม่ได้เพ่งเข้ามาหาตัว เราจึงไม่หายรักและหายโกรธ
วัตถุหรือบุคคลหรืออารมณ์นั้นๆ มิใช่ความรักหรือความโกรธอยู่ ณ ที่นั่น
ที่นั่นเป็นแต่วัตถุอันหนึ่งเท่านั้น ใครจะรักหรือจะโกรธมัน มันก็อยู่อย่างนั้นของมัน
ผู้รักหรือผู้โกรธแท้คือตัวใจของเรานี้ต่างหาก
เหตุนั้นเมื่อจะดับความรักและความโกรธจึงดับที่ใจของเรานี้
เราไม่ต้องละความรักและความโกรธหรอก
ถ้าเห็นความรักและความโกรธเกิดขึ้นที่ใจแล้วมันจะดับไปเอง
แม้แต่อารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวก็เช่นเดียวกัน



............................................................................



ปุจฉา (๒) - คนที่ทำผิดทำไม่ดีคนอื่นก็เห็นโดยมากแล้วก็เห็นว่าผิด
ทำไมดิฉันคิดจะแผ่เมตตาให้เขารู้ตัวแล้วกลับใจทำดีใหม่เสีย
แต่ก็แผ่ไม่ออกสักที มันเพราะเหตุใด


วิสัชนา (๒) – มันเป็นเพราะความยึดถืออันนั้นมันยังไม่หมด
คือถือว่าคนคนนั้นทำความผิดไม่ดี
ยิ่งคนอื่นก็เห็นว่าเขาผิดด้วยก็เป็นหลักฐานมั่นเข้าไปอีก
ถึงเราจะไม่โกรธเขาแต่ความยึดถือนั้นมันยังฝังแน่นอยู่ภายในใจ
มันจึงแผ่เมตตาไม่ออก
ถ้าจะให้ออกแล้วมันต้องทิ้งความยึดถือทั้งหมด มีแต่ความเอ็นดูสงสารเขา
คิดว่าเขาทำผิดเพราะความหลงไม่รู้เท่าถึงการณ์
คิดว่าเขาเป็นเด็กคนหนึ่งแต่เป็นเด็กขี้ดื้อ
หรือถือว่าเป็นบุญกรรมของสัตว์เขาสร้างของเขามาอย่างนั้น เขาจึงต้องเป็นอย่างนั้น
เมื่อบุญกรรมเขาทำมาแล้ว เขาจะต้องได้รับผลกรรมนั้นๆ ต่อไป
บุญกรรมใครทำอย่างไรแล้ว ตนเองย่อมได้รับผลกรรมนั้นๆ
ใครจะมาเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นย่อมไม่ได้เด็ดขาด
แล้วเป็นเครื่องเตือนไม่ให้เราทำความชั่วต่อไป
หรือบางทีจิตนั้นมันอาจจะสงบเกินไป
แล้วคิดจะแผ่เมตตามันก็เลยแผ่ไม่ออกก็เป็นได้
ต้องพิจารณาให้ดี จิตมันจะอยู่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งในสองลักษณะนี้ก็ได้
ถึงอย่างไรอย่าได้ปรารภคนอื่น ให้ปรารภเราดีกว่า
เพราะคนอื่นหมื่นคนแสนคนไม่สามารถจะทำให้เราดีและชั่วได้
มีแต่เราคนเดียวนั้นแหละทำเอาเอง



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก ปุจฉาวิสัชนาในประเทศ โดย พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ (เทสก์ เทสรํสี)


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP