จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๖๑ ขอแบบพุทธ



361 talk



ถ้าจิตใจดี มีชีวิตปกติสุข
การขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ก็เหมือนการเอามงคลเข้าตัว
รู้สึกว่าเหนือหัวมีความสว่างปกคุ้ม
ปัญหาคือเมื่อจิตใจย่ำแย่ ชีวิตกำลังเป็นทุกข์
การขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ให้ปัดเป่าเรื่องเลวร้าย
อาจกลายเป็นเหตุให้น้อยใจ ดูหมิ่นดูแคลน
หรือกระทั่งผูกใจเจ็บสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาได้ง่ายๆ
เพราะส่วนใหญ่ชีวิตไม่เป็นไปตามพรใคร


หากเก็บสถิติไหว้เจ้าขอพรให้ปัดเป่าทุกข์ภัย
ต่อให้เป็นแหล่งที่ร่ำลือว่าขลังแค่ไหน
จะพบว่าหนึ่งในสิบ ในร้อย หรือในพันเท่านั้น
ที่ขอแล้วได้ตามคำขอ เพราะประจวบเหมาะ
ถึงเวลาที่บุญเก่าให้ผล หรือบุญใหม่เข้าท่า


พระพุทธเจ้าสอนด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
เวลาใครขอพร ท่านก็ตรัสว่า
เราตถาคตเลิกให้พรนานแล้ว
เพียงแต่ประทานอนุญาตให้ภิกษุเจริญพรได้
เมื่อชาวบ้านขอตามธรรมเนียมที่สืบๆกันมา


หากทุกข์เรื่องเงิน หากว้าวุ่นเรื่องความรัก
แล้วสวดมนต์ขอให้รวย ขอให้เจอคู่
ลึกๆคุณจะออกห่างจากความเชื่อแบบพุทธ
ที่ว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
ยิ่งสวด จิตใจจึงยิ่งอ่อนแอ


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


ขอแบบพุทธ
คือ ขอตามพระพุทธเจ้า
ขอให้พ้นทุกข์ภายใน
แม้ทุกข์ภายนอกยังรังควานอยู่ก็ตาม


ขอแบบพุทธ
คือขอให้มองว่า
การสวดมนต์ไหว้พระเป็นบุญชนิดหนึ่ง
ซึ่งบุญที่ได้จากการสวดมนต์แท้ๆ
คือการมีใจนอบน้อมต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์
เมื่อใจสว่างกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบพุทธ
ก็เท่ากับน้อมเอาพลังศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้ามาอยู่กับเรา
ทำให้เรามีส่วนแห่งความ ‘ว่างจากทุกข์’ แบบเดียวกับพระองค์


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


การว่างจากทุกข์อย่างที่สุด
คือการเลิกคาดหวังอย่างที่สุด


เมื่อไม่หวังรางวัลจากการสวดมนต์
แต่สวดแบบให้ความเคารพ
สวดแบบช่วยให้ระลึกถึงพระธรรมคำสอนที่ว่า
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
ทั้งกรรมเก่าที่ให้ผลเป็นแดนเกิด
รวมทั้งกรรมใหม่
ที่ส่งให้ตนได้ที่พึ่งหรือขาดที่พึ่ง
อย่างนั้น ใจคุณจะสุกสว่าง
มีกำลัง มีความเข้มแข็งแบบพุทธ
พยายามหาที่สุดทุกข์ให้ตนอย่างถูกต้อง
ราวกับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ที่ดลบันดาลให้ตนพ้นทุกข์เสียเอง!


ดังตฤณ
มิถุนายน ๒๕๖๖









review


เมื่อตกลงใจเป็นสามีภรรยากันแล้ว
แต่ละฝ่ายควรซื่อสัตย์สุจริตและให้เกียรติซึ่งกันและกัน
เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของครอบครัว
ดังความตามพระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เรื่อง "ศีลธรรมสำหรับครอบครัว (ตอนที่ ๓)" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ"(-/\-)


พระพุทธองค์ได้ตรัสเกี่ยวกับวิญญาณขันธ์ไว้อย่างไร
ต้องปฏิบัติเช่นใดจึงจะเกิดประสบการณ์รู้วิญญาณขันธ์ได้
ติดตามคำตอบได้ในคอลัมน์
"ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "จะรู้วิญญาณขันธ์ได้อย่างถูกต้องได้อย่างไร"


เมื่อบุพการีมาจากไปโดยไม่ทันบอกลา
ผู้ป็นลูกจะจัดการกับความเศร้าเสียใจและอาลัยรักได้อย่างไร
ติดตามได้จากกรณีศึกษาในตอน
"ในวันที่แม่ไม่อยู่แล้ว"
ในคอลัมน์ "โหรา (ไม่) คาใจ" ค่ะ


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP