จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

วิญญาณท่องเที่ยวไปเวียนว่ายตายเกิดจริงหรือ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



356 destination



พระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนานั้นมีมากมายกว้างขวาง
และสามารถแบ่งได้เป็นในระดับ “โลกิยธรรม” และ “โลกุตตรธรรม”
โดย “โลกุตตรธรรม”
(Supermundane States) หมายถึง
ธรรมอันเป็นวิสัยของโลก, สภาวะเนื่องในโลก
ได้แก่ขันธ์ ๕ ที่ยังมีอาสวะทั้งหมด ซึ่งเป็นธรรมะที่ประพฤติปฏิบัติแล้ว
สามารถทำให้อยู่กับโลกได้อย่างมีความสุข
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%E2%C5%A1%D4%C2%B8%C3%C3%C1
ในขณะที่ “โลกุตตรธรรม” (Supermundane States) หมายถึง
ธรรมะอันมิใช่วิสัยของโลก หรือสภาวะพ้นโลก
คือธรรมะที่ประพฤติปฏิบัติแล้วทำให้อยู่เหนือโลกหรือพ้นจากโลก
https://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=310


อนึ่ง คำว่าโลกในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงโลกมนุษย์ หรือดาวเคราะห์โลกนะครับ
แต่หมายถึงโลก ๒ คือ นามและรูป ซึ่งตามพระธรรมคำสอนนั้น
คำว่าโลกจะหมายในหลายความหมาย เช่น
โลก ๒ คือ นามและรูป, โลก ๓ คือเวทนา ๓, โลก ๔ คืออาหาร ๔
โลก ๕ คือ อุปาทานขันธ์ ๕, โลก ๖ คือ อายตนะภายใน ๖ เป็นต้น
https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=31&item=275&items=1&preline=0&pagebreak=0


ยกตัวอย่างเช่นใน “นครสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค)
ได้เล่าว่า ในสมัยหนึ่ง พระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
“โลก” นี้ถึงความลำบากหนอ ย่อมเกิด แก่ ตาย จุติและอุบัติ
ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไม่มีผู้ใดทราบชัด ซึ่งธรรมเป็นที่สลัดออกจากกองทุกข์
คือ ชราและมรณะนี้ได้เลย เมื่อไรหนอธรรมเป็นที่สลัดออกไปจากกองทุกข์
คือ ชราและมรณะนี้ จึงจักปรากฏ
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=16&A=2780&Z=2854&pagebreak=0
เราจึงจะเห็นได้ว่า คำว่า “โลก” ที่พระโพธิสัตว์ได้มีความคิดนั้น
ไม่ได้หมายถึงโลกมนุษย์หรือดาวเคราะห์โลกครับ


ทีนี้ เวลาที่เราได้ศึกษาเรื่องหลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว
เราก็อาจจะหลงเข้าใจว่า วิญญาณเราเป็นสิ่งที่ไปเวียนว่ายตายเกิด
แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่เช่นนั้นและเป็นความเข้าใจที่ผิดครับ
ใน “มหาตัณหาสังขยสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์) ได้เล่าว่า
มีภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า “สาติ” ซึ่งมีความเข้าใจผิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
“วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไปไม่ใช่อื่น”
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเรียกสาติภิกษุดังกล่าวมาอบรมว่า
“โมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแก่ใครเล่า
โมฆบุรุษ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น
เรากล่าวแล้วโดยปริยายเป็นอเนกมิใช่หรือ
ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี
โมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นดังนั้น เธอกล่าวตู่เราด้วยขุดตนเสียด้วย
จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว
โมฆบุรุษ ก็ความเห็นนั้นของเธอ
จักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน”


ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายในที่นั้นว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วเหมือนสาติภิกษุ
กล่าวตู่เราด้วย ขุดตนเสียด้วย จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย
เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว ดังนี้หรือ
?”
ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า
เพราะวิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น
พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วแก่พวกข้าพระองค์ โดยปริยายเป็นอเนก
ความเกิดแห่งวิญญาณเว้นจากปัจจัย มิได้มี”


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ดีละ
พวกเธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงอย่างนี้ ถูกแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้นเรากล่าวแล้ว
โดยปริยายเป็นเอนก ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี
ก็แต่สาติภิกษุ ผู้เกวัฏฏบุตรนี้ กล่าวตู่เราด้วย
ขุดตนเสียด้วย จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย
เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว ความเห็นนั้นของโมฆบุรุษนั้น
จักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน.


ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณอาศัยปัจจัยใด ๆ เกิดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้น ๆ
วิญญาณอาศัยจักษุและรูปทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า จักษุวิญญาณ
วิญญาณอาศัยโสตและเสียงทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า โสตวิญญาณ
วิญญาณอาศัยฆานะและกลิ่นทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ฆานวิญญาณ
วิญญาณอาศัยชิวหาและรสทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ชิวหาวิญญาณ
วิญญาณอาศัยกายและโผฏฐัพพะทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า กายวิญญาณ
วิญญาณอาศัยมนะและธรรมารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า มโนวิญญาณ
เปรียบเหมือนไฟอาศัยเชื้อใด ๆ ติดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยเชื้อนั้น ๆ
ไฟอาศัยไม้ติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟไม้ ไฟอาศัยป่าติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟป่า
ไฟอาศัยหญ้าติดขึ้นก็ถึงความนับว่า ไฟหญ้า ไฟอาศัยโคมัยติดขึ้น ก็ถึงความนับว่าไฟโคมัย
ไฟอาศัยแกลบติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟแกลบ
ไฟอาศัยหยากเยื่อติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟหยากเยื่อ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล
วิญญาณอาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้น ๆ”


พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอทั้งหลายย่อมเห็นขันธปัญจกที่เกิดแล้วหรือไม่?”
(“ขันธปัญจก” คือ ขันธ์ห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “เห็นพระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอทั้งหลายย่อมเห็นว่า ขันธปัญจกนั้นเกิดเพราะอาหารหรือ?”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “เห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอทั้งหลายย่อมเห็นว่า
ขันธปัญจกนั้นมีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้นหรือ?”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “เห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=12&A=8041&Z=8506&pagebreak=0


ดังนี้แล้ว ความเข้าใจว่าที่ว่า วิญญาณดวงเดียวกันนี้แหละ
เป็นสิ่งที่ท่องเที่ยวไป และไปเวียนว่ายตายเกิดในชาติต่าง ๆ นั้น
เป็นความเข้าใจที่ผิด และไม่ใช่พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า
แต่ตามพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
เมื่อมีปัจจัยคือจักษุและรูปเกิดขึ้น ก็ทำให้ “จักษุวิญญาณ” เกิดขึ้น
เมื่อมีปัจจัยคือโสตและเสียงเกิดขึ้น ก็ทำให้ “โสตวิญญาณ” เกิดขึ้น
เมื่อมีปัจจัยคือจมูกและกลิ่นเกิดขึ้น ก็ทำให้ “ฆานวิญญาณ” เกิดขึ้น
เมื่อมีปัจจัยคือลิ้นและรสเกิดขึ้น ก็ทำให้ “ชิวหาวิญญาณ” เกิดขึ้น
เมื่อมีปัจจัยคือกายและโผฏฐัพพะเกิดขึ้น ก็ทำให้ “กายวิญญาณ” เกิดขึ้น
เมื่อมีปัจจัยคือใจและธรรมารมณ์เกิดขึ้น ก็ทำให้ “มโนวิญญาณ” เกิดขึ้น
และเมื่อปัจจัยดังกล่าวดับไป ก็ย่อมทำให้วิญญาณดังกล่าวดับไป
ดังนั้น จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ
กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ เกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไปตามปัจจัยที่ดับไป
ไม่ใช่ว่าวิญญาณดวงเดียวกันนี้อยู่คงทนถาวร
แล้วท่องเที่ยวไปเวียนว่ายตายเกิดในชาติต่าง ๆ ครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP