จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



destination 354


เราคงเคยได้ยินคนอื่น ๆ คุยกันว่าทำสิ่งนี้แล้วจะเป็นมงคล ทำสิ่งนั้นแล้วจะเป็นมงคล
หรือเคยได้ยินว่างานนี้เป็นงานมงคล หรืองานนั้นเป็นงานมงคล
ในสมัยอดีตกาล ก็มีข้อสนทนาในประชุมชนต่าง ๆ ว่าสิ่งใดหนอเป็นมงคล
โดยในสมัยหนึ่งในชมพูทวีป ได้มีเรื่องมงคลปัญหาเกิดขึ้นว่า
อะไรเล่าหนอ เป็นมงคล. สิ่งที่เห็นหรือเป็นมงคล เรื่องที่ได้ยินหรือเป็นมงคล
หรือเรื่องที่ทราบเป็นมงคล ใครหนอรู้จักมงคล


ในครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่ง ชื่อทิฏฐมังคลิกะ ซึ่งนับถือสิ่งที่เห็นเป็นมงคล
กล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้จักมงคล สิ่งที่เห็นเป็นมงคลในโลก
รูปที่สมมติกันว่า เป็นมงคลยิ่ง ชื่อว่าทิฏฐะ
รูปอย่างไรเล่า คนบางคนในโลกนี้ ตื่นแต่เช้าเห็นนกกระเต็นบ้าง
เห็นต้นมะตูมรุ่นบ้าง เห็นหญิงมีครรภ์บ้าง เห็นเด็กรุ่นหนุ่ม
ตกแต่งประดับกาย เทินหม้อเต็มน้ำบ้าง ปลาตะเพียนแดงสดบ้าง ม้าอาชาไนยบ้าง
รถเทียมม้าบ้าง โคผู้บ้าง โคเมียบ้าง โคแดงบ้าง ก็หรือว่าเห็นรูปแม้อื่นใด เห็นปานนั้น
ที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่ง รูปที่เห็นนี้ เรียกว่าทิฎฐมงคล
คนบางพวกก็ยอมรับคำของเขา บางพวกก็ไม่ยอมรับ พวกที่ไม่ยอมรับก็ขัดแย้งกับเขา


ครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่ง ชื่อสุตมังคลิกะ ก็กล่าวว่า
ท่านเอย ขึ้นชื่อว่า ตาย่อมเห็นของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง
ของดีบ้างของไม่ดีบ้าง ของชอบใจบ้าง ของไม่ชอบใจบ้าง
หากว่า รูปที่ผู้นั้นเห็นพึงเป็นมงคลไซร้ ก็จะพึงเป็นมงคลทั้งหมดนะสิ
เพราะฉะนั้น รูปที่เห็นไม่เป็นมงคล ก็แต่ว่าเสียงที่ได้ยินต่างหากเป็นมงคล
เสียงที่สมมติว่าเป็นมงคลยิ่ง ชื่อว่าสุตะ อย่างไรเล่า
คนบางคนในโลกนี้ ลุกขึ้นแต่เช้า ได้ยินเสียงเช่นนี้ว่า เจริญแล้ว เจริญอยู่
เต็ม ขาว ใจดี สิริ เจริญด้วยสิริ วันนี้ ฤกษ์ดี ยามดี วันดี มงคลดี
หรือเสียงที่สมมติว่ามงคลยิ่งอย่างใดอย่างหนึ่ง เสียงที่ได้ยินนี้ เรียกว่าสุตมงคล
บางพวกก็ยอมรับคำของเขา บางพวกก็ไม่ยอมรับ พวกที่ไม่ยอมรับก็ขัดแย้งกับเขา


ครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่ง ชื่อมุตมังคลิกะ กล่าวว่า
ท่านเอย แท้จริง ขึ้นชื่อว่าหู ย่อมได้ยินเสียงดีบ้างไม่ดีบ้าง ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง
หากว่า เสียงที่ผู้นั้นได้ยิน พึงเป็นมงคลไซร้ ก็จะเป็นมงคลทั้งหมดน่ะสิ
เพราะฉะนั้น เสียงที่ได้ยินจึงไม่เป็นมงคล ก็แต่ว่าสิ่งที่ทราบแล้วต่างหากเป็นมงคล
กลิ่นรสและโผฏฐัพพะสิ่งที่พึงถูกต้อง ชื่อว่ามุตะ อย่างไรเล่า
คนบางคนลุกแต่เช้าสูดกลิ่นดอกไม้มีกลิ่นดอกปทุมเป็นต้นบ้าง เคี้ยวไม้สีฟันขาวบ้าง
จับต้องแผ่นดินบ้าง จับต้องข้าวกล้าเขียวบ้าง มูลโคสดบ้าง เต่าบ้าง งาบ้าง
ดอกไม้บ้าง ผลไม้บ้าง ฉาบทาด้วยดินขาวโดยชอบบ้าง
นุ่งผ้าขาวบ้าง โพกผ้าโพกขาวบ้าง ก็หรือว่าสูดกลิ่น ลิ้มรส หรือถูกต้องโผฏฐัพพะ
ที่สมมติว่าเป็นมงคลยิ่งอย่างอื่นใด เห็นปานนั้น สิ่งดังกล่าวมานี้ เรียกว่ามุตมงคล
บางพวกก็ยอมรับคำแม้ของเขา บางพวกก็ไม่ยอมรับ


เหล่ามหาชนก็ถกเถียงกันในสามพวกนั้น โดยไม่สามารถหาข้อสรุปได้
เรื่องมงคลปัญหานี้ปรากฏไปทั่วชมพูทวีป ด้วยประการเช่นนี้
ในครั้งนั้น มนุษย์ทั่วชมพูทวีปถือกันเป็นพวก ๆ
พากันคิดมงคลทั้งหลายว่า อะไรกันหนอเป็นมงคล
อารักขเทวดาของมนุษย์พวกนั้น ฟังเรื่องนั้นแล้ว ก็พากันคิดมงคลทั้งหลายเหมือนกัน
เหล่าภุมมเทวดาเป็นมิตรของเทวดาเหล่านั้น
ฟังเรื่องจากอารักขเทวดานั้นแล้วก็พากันคิดมงคลอย่างนั้นเหมือนกัน
อากาสัฏฐกเทวดาเป็นมิตรของเทวดาเหล่านั้น
จตุมหาราชิกเทวดาเป็นมิตรของอากาสัฏฐกเทวดาเหล่านั้น
โดยลักษณะเช่นนี้ไปจนถึงอกนิฏฐเทวดาเป็นมิตรของสุทัสสีเทวดา
ฟังเรื่องจากสุทัสสีเทวดานั้นแล้ว ก็ถือกันเป็นพวกๆ พากันคิดมงคลทั้งหลาย
การคิดมงคลได้เกิดไปในที่ทุกแห่งจนถึงหมื่นจักรวาล
ก็การคิดมงคลเกิดขึ้นแล้ว แม้วินิจฉัยว่านี้เป็นมงคล นี้เป็นมงคลแต่ก็ยังไม่เด็ดขาด
เรื่องมงคลปัญหานี้ได้ตั้งอยู่ถึง ๑๒ ปี
ทั้งมนุษย์ทั้งเทวดาทั้งพรหมหมดด้วยกันเว้นพระอริยสาวกแตกเป็น ๓ พวก
คือทิฏฐมังคลิกะ สุตมังคลิกะ และมุตมังคลิกะ
แม้แต่พวกหนึ่ง ก็ตกลงตามเป็นจริงไม่ได้ว่า นี้เท่านั้นเป็นมงคล
มงคลโกลาหล หรือการแตกตื่นเรื่องมงคลเกิดขึ้นแล้วในโลก


ในครั้งนั้น เหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ได้ช่วยกันคิดอย่างนี้ว่า
เจ้าของเรือนก็เป็นหัวหน้าของคนภายในเรือน
เจ้าของหมู่บ้านก็เป็นหัวหน้าของชาวหมู่บ้าน
พระราชาก็เป็นหัวหน้าของมนุษย์ทั้งหลาย
ท้าวสักกะจอมเทพพระองค์นี้ (พระอินทร์) ก็เป็นผู้เลิศประเสริฐสุดของพวกเรา
คือเป็นอธิบดีของเทวโลกทั้งสอง คือชั้นจาตุมหาราชและดาวดึงส์
พวกเราพึงพากันไปทูลถามความข้อนี้กับท้าวสักกะจอมเทพเถิด
เทวดาเหล่านั้นก็พากันไปยังสำนักท้าวสักกะเพื่อทูลถามมงคลปัญหา


ท้าวสักกะได้ตรัสถามเทวดาเหล่านั้นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน
เหล่าเทวดาทั้งหลายทูลว่า ประทับอยู่ในมนุษยโลก พระเจ้าข้า
ท้าวสักกะตรัสถามว่า ใครได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแล้วหรือ
เหล่าเทวดาทั้งหลายทูลว่า ไม่มีใครทูลถาม พระเจ้าข้า
ท้าวสักกะตรัสว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ทำไมหนอ
ท่านทั้งหลายจึงมาทิ้งดวงไฟเสียแล้วมาตามไฟต่อจากแสงหิ่งห้อย
ด้วยเหตุไร ท่านทั้งหลายจึงไม่ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ยังเข้าใจว่าควรจะไต่ถามเรา
มาเถิดท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เราจะทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
พวกเราคงจักได้การพยากรณ์ปัญหาอันมีสิริแน่แท้ จึงมีเทวโองการใช้เทพบุตรองค์หนึ่งว่า
ท่านจงไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด
เทพบุตรองค์นั้นและเหล่าหมู่เทพจึงไปยังพระเชตวันมหาวิหาร
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ทูลถามมงคลปัญหา นี้เป็นมูลเหตุเกิดมงคลปัญหา
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=5&p=3#%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A1%E0%B8%B5_%E0%B9%95


พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระคาถาตอบมงคลปัญหาแก่เหล่าหมู่เทพว่า
การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑
การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำแล้วในกาลก่อน ๑
การตั้งตนไว้ชอบ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
พาหุสัจจะ ๑ ศิลป ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาสิต ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
การบำรุงมารดาบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑
การงานอันไม่อากูล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑
กรรมอันไม่มีโทษ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
การงดการเว้นจากบาป ๑ ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑
ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
ความเคารพ ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑
ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การได้เห็นสมณะทั้งหลาย ๑
การสนทนาธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
ความเพียร ๑ พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑
การกระทำนิพพานให้แจ้ง ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ๑
ไม่เศร้าโศก ๑ ปราศจากธุลี ๑ เป็นจิตเกษม ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทำมงคลเช่นนี้แล้ว
เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน
นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น
(มงคลสูตร พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ)
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=41&Z=72&pagebreak=0


ในพระคาถาข้างต้นจะเป็นที่มาของมงคลชีวิต ๓๘ ประการ
ซึ่งถ้าเรานับข้อตามมงคลสูตรแล้วจะนับได้ ๓๗ ข้อ
แต่เมื่อแยกข้อการบำรุงมารดาบิดาออกเป็น การบำรุงมารดาประการหนึ่ง
และการบำรุงบิดาอีกประการหนึ่ง ก็จะนับรวมได้ทั้งหมด ๓๘ ประการครับ


หากเราพิจารณาในมงคลชีวิต ๓๘ ประการตามมงคลสูตรแล้ว
จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถึงสิ่งที่เป็นอุดมมงคลข้อแรกคือ
การไม่คบคนพาล (อเสวนา จ พาลานํ)
และได้ตรัสถึงสิ่งที่เป็นอุดมคงคลข้อที่สองคือ
การคบบัณฑิต (ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา)
เหตุผลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้นำสองข้อนี้มาไว้ในเริ่มต้น
เนื่องจากเป็นสองข้อที่สำคัญมาก โดยหากเริ่มต้นด้วยการคบคนพาลเสียแล้ว
ก็จะทำให้เรามีใจโน้มเอียงคล้อยตาม ยินดีชอบใจในการกระทำของคนพาล
หรือทำให้เราเอาอย่างเขา อันย่อมเป็นเหตุให้เรากลายเป็นคนพาลไปด้วย
และมงคลข้ออื่น ๆ ทั้งหลายก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ยากแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น กรณีในสมัยพุทธกาลที่พระเจ้าอชาตศัตรูได้หลงผิดไปคบหา
กับคนพาลคือพระเทวทัต และทำให้หลงผิดฆ่าพระราชบิดาตนเอง เป็นต้น
ในทางกลับกัน หากเราคบบัณฑิต ยินดีชอบใจในการกระทำของบัณฑิต
หรือทำให้เราเอาอย่างเขา อันย่อมเป็นเหตุให้เรากลายเป็นบัณฑิตไปด้วย
และมงคลข้ออื่น ๆ ทั้งหลายก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย
ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าและพระสาวกของพระองค์ทรงเป็นบัณฑิต
ผู้ที่ได้คบหาเข้าใกล้พระองค์ และสาวกของพระองค์ ย่อมได้รับประโยชน์สุขอันยิ่งใหญ่
เพราะพระองค์ทรงสอน ให้ทำ ให้พูด ให้คิดแต่สิ่งดี
ดังนั้นแล้ว มงคลชีวิตสองข้อแรกนี้จึงเป็นเสมือนต้นทางที่เราพึงให้ความสำคัญอย่างมาก


ในเรื่องของการพิจารณาว่าใครเป็นคนพาลหรือไม่นั้น
ก็สามารถพิจารณาได้โดยไม่ยากครับ วิธีการพิจารณาประการหนึ่ง ก็คือ
คนพาลก็คือ คนที่ทำชั่วทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ ทางใจ ๓
หรือได้แก่ ทุจริตกรรม ๑๐ หรือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
ในทางกลับกัน บัณฑิต ก็คือคนที่ทำดีทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ ทางใจ ๓
หรือได้แก่ สุจริตกรรม ๑๐ หรือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนั่นเอง


การคบกับคนพาลย่อมเปรียบเสมือนปลาเน่าตัวหนึ่งก็ทำให้เน่าเสียไปทั้งข้อง
ในทางกลับกัน การคบบัณฑิตนั้น บัณฑิตเปรียบเหมือนของหอม
มีไม้จันทน์หอม เป็นต้น เมื่อเอาผ้าไปห่อไม้จันทน์หอม ผ้าที่ห่อก็พลอยหอมไปด้วย



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP