สารส่องใจ Enlightenment

ตัดกรรมตัดเวรตามวิถีพุทธ (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑



ตัดกรรมตัดเวรตามวิถีพุทธ (ตอนที่ ๑) (คลิก)



เราพูดถึงเรื่องการตัดกรรมตัดเวร
บางทีมีพิธีกรรมบางอย่างแทรกเข้ามาในพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าสอนว่า ทำกรรมดีได้ดี ทำกรรมชั่วได้ชั่ว
แต่ในบางครั้งเราก็เห็นแทรกเข้ามาในพระพุทธศาสนา คือการตัดกรรมตัดเวร
ท่านทั้งหลายอาจจะข้องใจว่ากรรมที่ทำแล้ว ทำพิธีตัดกรรมตัดเวร
มันจะหมดกรรมหมดเวรหรือไม่
กรรมที่เราทำแล้ว ผลซึ่งเกิดจากการกระทำ เราจะตัดอย่างไรมันก็ไม่เป็น
คือพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่าทำกรรมใดย่อมได้รับผลของกรรมนั้น
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทีนี้ใครทำชั่วลงไปแล้วจะมาทำพิธีตัดกรรม มันตัดไม่ได้



ถ้าหากเราต้องการจะตัดกรรมให้หมดสิ้นไป
ก็เพียงแต่รู้ว่าสิ่งนี้เป็นกรรมหนัก เป็นบาป
เราก็งดเว้นจากการทำกรรมนั้นเสียตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป นี่ได้ชื่อว่าตัดกรรม
เช่นว่า ปาณาติบาต อทินนาทาน การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เราได้ทำมาแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้
วันนี้เรามารู้สึกสำนึกตัวว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมันบาป มันเป็นกรรมเป็นเวร
พอรู้แล้วเราก็เจตนางดเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเสียแต่บัดนี้เป็นต้นไป
อันนี้เราตัดกรรม คือตัดการกระทำยุติ
ในเมื่อเรามีการยุติการกระทำ มันก็เป็นการยุติผลเพิ่มของบาปกรรม
ส่วนที่มีอยู่ก็มีไป ส่วนใหม่นี่เราไม่ต้องหาเพิ่มเข้า มันก็เป็นอันยุติเพียงแค่นี้



ในเมื่อเราละเว้น คือตัดกรรม ตัดการกระทำกรรม
คืองดเว้นการกระทำกรรมชั่วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
จากชั่วโมงเป็นวัน จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จากปีเป็นหลายปี
มีแต่ทำดีเรื่อยๆ ไป ความชั่วไม่ทำ
ในเมื่อทำดีๆ เรื่อยไป ความดีก็เป็นพลังสะสมไว้ในจิต จิตก็เก็บเอาความดี
เมื่อจิตของเราปราโมทย์ บันเทิงในความดี
ก็เรียกว่าทำดีแล้วได้บุญ ได้บุญเป็นที่อุ่นใจ
เมื่อจิตเราปราโมทย์บันเทิงกับบุญ กับความดีที่มีอยู่ในใจนั้น
จิตก็ไม่นึกถึงการทำบาปอีก ก็เป็นอันว่าตัดกรรมให้หมดสิ้นไป
แต่กรรมเก่านั้นใครจะไปตัด ตัดแล้วมันก็ไม่หมด
ถ้าอยากจะตัดกรรมก็หยุดการทำกรรมชั่วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป



ทีนี้การตัดเวร เวรหมายถึงกิริยาที่ผูกพยาบาท อาฆาตจองเวร
แล้วก็ตามแก้แค้น จองล้างจองผลาญกันตลอดไปไม่รู้จักจบสิ้น อันนี้เรียกว่าเวร
เวรนี้ตัดได้ เมื่อเรารู้ว่าใครเป็นคู่กรณีของเรา เราทำผิดต่อกัน เราขอโทษกัน
แล้วก็อโหสิกรรมให้กัน มันก็หมดกรรมหมดเวร



ถ้าผู้ใดสงสัยว่าเราอาจจะมีเจ้ากรรมนายเวรตั้งแต่ภพก่อนชาติก่อน
ถ้าเราจะตัดเวร เราก็ต้องพยายามทำบุญกุศล สวดมนต์ภาวนา แผ่เมตตา
ให้ส่วนบุญส่วนกุศลแก่ผู้ที่เราคิดว่าอาจจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเรา
เช่นอย่างญาติโยมทำบุญทำกุศลแล้วกรวดน้ำอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย
เพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น
อันนั้นเป็นวิธีตัดเวร ทำบุญอุทิศให้กันและกันก็เป็นวิธีตัดเวร
หรืออย่างที่หลวงพ่ออยู่ที่วัด ญาติโยมไปหาคนที่นั่งทางใน
รู้แล้วว่าเป็นกรรมเป็นเวรอย่างนั้น แล้วก็ให้ไปตัดกรรมตัดเวร
ไปทำสังฆทานที่วัด ทำบุญอุทิศให้ผู้ที่เป็นเจ้ากรรมนายเวร
ทีนี้ถ้าผู้ไปทำบุญอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร แล้วกรวดน้ำอุทิศให้เขา
ถ้าหากว่าเจ้ากรรมนายเวรของเราได้รับส่วนบุญส่วนกุศลจากเรา ที่เราส่งอุทิศไปให้
หากเขาได้รับความสุขความสบายตามสมควร
เขานึกถึงบุญถึงคุณของเราที่มีความหวังดีต่อเขา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเขา
เขาอาจจะหายโกรธ แล้วยกโทษให้แก่เรา ไม่จองล้างจองผลาญเราอีกต่อไป
ก็เป็นอันว่าเวรก็หมดสิ้นลงไปเพราะการไม่จองเวร
อันนี้เป็นวิธีตัดกรรมตัดเวร



แต่ถ้าหากใครจะสงสัยว่าบาปที่ฆ่าสัตว์ แล้วไปทำพิธีตัดกรรมนี่มันจะสำเร็จไหม
อันนี้ไม่มีทางสำเร็จ เพราะฆ่าสัตว์มันบาป
วิญญาณสัตว์นั้นอาจจะจองกรรมจองเวรกับเรา
แต่หากเรารู้ว่าวิญญาณสัตว์นั้นจองกรรมจองเวรกับเรา
เราทำบุญอุทิศ แผ่เมตตาขออโหสิกรรมกับเขา
ถ้าหากว่าเขาอโหสิกรรมให้เรา มันก็หมดการพยาบาทอาฆาตกัน อันนี้เป็นไปได้
แต่ผลของการกระทำคือกรรมนั้นมันตัดไม่ได้ ต้องได้รับผลของกรรมนั้นตลอดไป



ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้พิจารณาเนืองๆ
ว่าเราจะทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม
กมฺมทายาทา จะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน
อันนี้ให้ไว้เพื่อให้เราเชื่อกรรมและผลของกรรม
และไม่ให้เราประมาทในการที่จะเผลอไปทำความชั่ว อันนี้เป็นเรื่องการตัดกรรมตัดเวร
ถ้าจะว่ากันตรงๆ แล้ว ใครจะทำการตัดกรรมตัดเวร ก็รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์สะอาดเท่านั้น
ไม่ต้องไปหาอาจารย์ที่ไหนมาทำพิธีตัด เพราะมันตัดไม่ได้จริง ๆ



ทีนี้พูดถึงเรื่องภาวนา การภาวนา มีสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา
ส่วนใหญ่เราก็ได้พูดกันถึงเรื่องภาวนา อาตมามาเทศน์ที่นี่ดูเหมือนหลายครั้งแล้ว
และส่วนใหญ่ก็พูดถึงเรื่องศีลเรื่องการภาวนา อันนี้ก็จะต้องพูดถึงเรื่องการภาวนาอีก
เพราะว่ามีหลายๆ ท่านมาถามถึงเรื่องการภาวนา
การภาวนานั้นหมายถึงการอบรมบ่มนิสัย
ถ้าพูดถึงการอบรมบ่มนิสัยแล้ว แม้แต่การให้ทาน ก็คือการภาวนา
อบรมใจให้เกิดศรัทธาในการให้ทาน รักษาศีล
ก็คือการภาวนาอบรมใจให้เกิดศรัทธาในการรักษาศีล
ทีนี้ทำสมาธิก็คือภาวนา เป็นการอบรมจิตใจให้คุ้นต่อการภาวนา
เพราะฉะนั้น ภาวนานี่จึงมีความหมายกว้าง
หมายถึงอบรมบ่มนิสัยให้คุ้นเคยต่อความดี จนคล่องตัวจนชำนิชำนาญ
อบรมนิสัยให้เกิดมีศรัทธาในการให้ทาน ให้เกิดมีศรัทธาในการรักษาศีล
ให้เกิดมีศรัทธาในการทำสมาธิ อยู่ในกฎเกณฑ์แห่งการภาวนา



มาพูดถึงเรื่องการทำสมาธิ สมาธิคือการฝึกใจให้เกิดความมั่นคง
มั่นคงต่อสิ่งที่เราเป็นอยู่ มั่นคงต่อความเป็นมนุษย์
มั่นคงต่อความเป็นผู้มีหน้าที่ มั่นคงต่อความเป็นของตนเอง
ความมั่นคงอื่นๆ จะไม่พูดถึง จะพูดถึงเฉพาะความมั่นคงของพุทธบริษัท
พุทธบริษัทมีหน้าที่ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อันนี้เป็นหน้าที่โดยตรง
อีกสายหนึ่ง พุทธบริษัทมีหน้าที่เรียนรู้ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า
มีหน้าที่ปฏิบัติตามธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า
แล้วก็มีหน้าที่ละความชั่ว ประพฤติความดี และทำใจให้บริสุทธิ์สะอาด

อันนี้คือหน้าที่ของเรา เรามาฟัง มาเรียนธรรม
เพื่อให้เกิดสติปัญญา ความมั่นคงต่อการทำความดีดังที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น



หลักของการทำความดีเฉพาะในเรื่องการทำสมาธิ มีอยู่ ๒ อย่าง
สองอย่างนี้แหละเถียงกันอยู่ไม่หยุดไม่หย่อน เดี๋ยวก็อันนี้วิปัสสนา อันนั้นสมถะ
ขอทำความเข้าใจกับท่านผู้ฟังว่า คำว่าสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี เป็นชื่อของวิธีการ
ที่เราเคยพูดกันมาแล้ว ในการมาภาวนาหรือการทำสมาธิ
ถ้าเราท่องมนต์ พุทโธ พุทโธ สัมมาอะระหัง ยุบหนอ-พองหนอ
สมาธิอันใดที่เรานั่งท่องมนต์
เหมือนกับอึ่งหรือคางคก มันทำคางมันวับๆ วับๆ ว่ามันท่องมนต์
เมื่อเรามาท่องมนต์ พุทโธ พุทโธ ยุบหนอ-พองหนอ สัมมาอะระหัง อยู่นั่น
อันนี้ได้ชื่อว่าปฏิบัติตามแบบสมถวิธี เรียกว่าสมถกรรมฐาน เอากันย่อ ๆ อย่างนี้
กรรมฐานที่นั่งท่องมนต์บริกรรมอยู่นั่น พุทโธ พุทโธ พุทโธ เป็นสมถกรรมฐาน
ส่วนกรรมฐานที่นั่งคิด ต้องใช้ความคิด คิดเรื่องธรรมะ
ว่าพระพุทธเจ้าคืออะไร ธรรมะคืออะไร พระสงฆ์คืออะไร
คิดไปๆ จนกระทั่งจิตเกิดความสงบขึ้นมาได้
อันนี้ชื่อว่าปฏิบัติแบบวิปัสสนา เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน
ถ้าหากว่าใครมีความคิดมากๆ ฝึกหัดจิตให้มีสติตามรู้อารมณ์จิตของตัวเองเรื่อยไป
มันจะคิดไปไหน ขึ้นเหนือล่องใต้ เอ้า! ปล่อยให้คิดไป แล้วตามรู้ๆ รู้ๆ ไป
อันนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติตามวิธีของวิปัสสนา


พอนั่งสมาธิจิตสว่างลงไปแล้ว เห็นนรก เห็นสวรรค์
เห็นภูตผีปีศาจ เห็นวิญญาณ เห็นรูปภาพต่างๆ
แล้วไปสำคัญมั่นหมายว่าเจ้ากรรมนายเวรมาทวงบุญทวงคุณอย่างนั้นอย่างนี้
ถ้าหากมีสติตามรู้สิ่งเหล่านี้ไม่หลงติด กำหนดหมายสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น
ภาพนิมิตนั้นก็เป็นเพียงเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ
เมื่อจิตจะสงบลงไป มันก็มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เหมือนกัน
การใช้สติตามรู้ความคิด เมื่อจิตจะสงบก็มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เหมือนกัน
มันเป็นอันเดียวกันนั่นแหละ ต่างแต่วิธีการเท่านั้น
ในเมื่อสมาธิเกิดแล้วมันเป็นอันเดียวกัน ไม่ได้แตกต่าง
เพราะฉะนั้น อย่ามัวไปเถียงกัน เพียงแค่วิธีการเท่านั้น
สมาธิเป็นสัจธรรมของจริง ใครจะไปรู้ไปเห็นแตกต่างกันไม่ได้
ถ้าหากรู้เห็นแตกต่างกันก็เรียกว่ารู้ไม่จริง เป็นแต่เพียงนึกเดาเอาเอง
ถ้าเราภาวนายุบหนอ-พองหนอ จิตสงบ ก็ไปสู่จุดเดียวคือสมาธิ
สัมมาอะระหัง สงบแล้วก็ไปสู่จุดเดียวคือสมาธิ พุทโธก็ไปสู่จุดเดียวคือสมาธิ


สมาธิต้องประกอบด้วยองค์ คือวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
วิตกก็คือความคิดถึงอารมณ์ จิตคิดเอง เช่นอย่างมันรู้ มันรู้ขึ้นมาเอง
อย่างตอนแรกภาวนา พุทโธ พุทโธ อยู่
พอจิตสงบลงไปหน่อย แม้ไม่ได้ตั้งใจจะว่าพุทโธ จิตจะท่องพุทโธเอง อย่างนี้เป็นต้น
ทีนี้บางทีมันทิ้งพุทโธแล้ว มันไปว่างอยู่นิดหนึ่ง แล้วความคิดเกิดฟุ้งๆ ขึ้นมา
อันนี้เรียกว่าตัววิตกเกิดขึ้น สติรู้พร้อมอยู่ที่ความคิด
ความรู้ที่เกิดขึ้นในขณะจิตปัจจุบันเรียกว่าวิจาร
เมื่อจิตมีวิตก วิจารก็ได้องค์ฌานที่หนึ่งกับองค์ฌานที่สอง ความรู้ก็เกิดขึ้น
สติก็ไล่ดู ๆ ดูกันตลอดเวลา แล้วในเมื่อจิตรู้ซึ้งเห็นจริงไปบ้างตามสมควร
ก็เกิดปีติ ขนหัวลุก ขนหัวพอง ซึมซาบ แล้วก็มีความสุข มีความสงบ
นี่ มันจะประกอบด้วยองค์ของมันอย่างนี้
ฉะนั้นใครจะปฏิบัติอย่างไหนแบบใดก็ตาม เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิจริงๆ แล้ว
จะต้องประกอบด้วยองค์ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ด้วยกันทั้งนั้นไม่มีแตกต่าง



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก พระธรรมเทศนา “ตัดกรรมตัดเวรตามวิถีพุทธ”
ใน ฐานิยบูชา ๒๕๔๖. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์
; ๒๕๔๖.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP