สารส่องใจ Enlightenment

ตัดกรรมตัดเวรตามวิถีพุทธ (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑



นโม ตสสฺ ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสสฺ ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสสฺ ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส


สมถวิปสฺสนานํ ภาวนานมิโต ปรนฺติ
อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โส ตพุโพติ


ณ บัดนี้ จะได้แสดงพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาส้มพุทธเจ้า
เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของท่านศาสนิกชน
ผู้สนใจในการฟังธรรมและสนใจในการบุญ การกุศล



คนเราทุกคนมีกาย วาจา และใจ
กาย วาจา และใจเป็นสมบัติดั้งเดิม
เป็นสมบัติที่เราได้มาเพราะกิเลส ตัณหา อุปาทาน และกรรม
และเชื่อว่าทำกรรมดีได้ดี ทำกรรมชั่วได้ชั่ว เราจึงมาสนใจทำแต่กรรมดี
กฎของสังสารวัฏ อาศัยอวิชชาความรู้ไม่จริงเป็นเหตุให้ทำกรรม
เมื่อทำกรรมแล้วย่อมได้รับผลของกรรม เมื่อรับผลของกรรมแล้วก็ต้องเวียนว่ายตายเกิด
เกิดมาแล้วก็มาอาศัยอวิชชาความรู้ไม่จริงของเดิมนั่นแหละ เป็นเหตุให้ทำกรรม
ทำกรรมดีบ้าง ทำกรรมชั่วบ้าง เมื่อทำแล้วก็ได้รับผลของกรรม
ถ้าเป็นกรรมชั่วก็มีผลส่งให้ไปเกิดในอบาย
มีสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก อันนี้เพราะผลของกรรมชั่ว
เมื่อทำกรรมดี ได้รับผลดีก็มาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพระอินทร์ พระพรหม
ถ้ามีดีสูงสุดก็สำเร็จพระอรหันต์ เข้าสู่นิพพาน



ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนใจของพุทธบริษัททั้งหลายมิให้มีความประมาท
พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้พิจารณาเนืองๆ
ว่าเรามีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล
มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
เราจักทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น
อันนี้เป็นคติที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้และเตือนใจเอาไว้ เพื่อให้เราเป็นผู้ไม่ประมาท
และมีอุบายวิธีเตือนใจอีกอย่างหนึ่งว่า
เรามีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา
จะล่วงพ้นความเกิด แก่ เจ็บ ตายไปไม่ได้
และความตายไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ ใครนึกสนุกเมื่อไรตายได้ทั้งนั้น ไม่มีใครกำหนดเวล่ำเวลา
ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนไม่ให้ประมาท



สมบัติของเรา คือ กาย วาจา ใจ เป็นสิ่งที่ได้ด้วยยาก
เพราะคนที่มาเกิดเป็นมนุษย์นี้ต้องประพฤติศีล ๕ มีกรรมบถ ๑๐
จึงจะเล็ดลอดมาเกิดเป็นมนุษย์ได้
ทีนี้เรามาพิจารณาดูซิ การจะมาปฏิบัติศีล ๕ หรือมาปฏิบัติกรรมบถ ๑๐
นี่มันยากง่ายเพียงใด แค่ไหน
ถ้าเราคิดว่าการรักษาศีล ๕ เป็นของยาก การรักษากรรมบถ ๑๐ เป็นของยาก
เราก็จะรู้ว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์นี้เป็นของยาก
การได้ความเป็นมนุษย์มาก็ได้มาด้วยกฎของกรรม
คนเราทุกๆ คนอยากจะไปเกิดในสถานที่ดีๆ ที่สมบูรณ์พูนสุข
แต่เราก็เลือกเกิดเองไม่ได้ ทั้งนี้เพราะกฎของกรรมมันจำแนก
กมฺมํ สตฺเต วิภชฺชติ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เป็นต่างๆ กัน
บางคนถูกกรรมจำแนกให้เกิดในตระกูลต่ำ
บางคนถูกกรรมจำแนกให้เกิดในตระกูลปานกลาง
บางคนถูกกรรมจำแนกให้เกิดในตระกูลสูง
บางคนก็ถูกจำแนกให้เกิดมาแล้วเป็นผู้มีสุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์
ทั้งนี้เพราะกฎของกรรมและอำนาจของกรรมเป็นผู้จำแนก



ใครจะเชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม คนเรามีความสามารถพอๆ กันเกือบจะทุกคนนั่นแหละ
สมมุติว่าใครก็ตามที่เรียนจบปริญญามาด้วยกัน มาทำงานร่วมกัน ในสถาบันเดียวกัน
คนหนึ่งทำงานมีความก้าวหน้า ก้าวหน้าทั้งยศฐาบรรดาศักดิ์และทรัพย์สมบัติ
อีกคนหนึ่งก้าวไปไม่ได้ถึงไหน ยังแถมยากจนด้วย เงินเดือนก็ไม่พอใช้
ทั้งที่ ๒ คนนี้มีความรู้เท่ากัน มีกำลังร่างกายแข็งแรงเท่ากัน
แต่ทำไมจึงประสบผลสำเร็จไม่เหมือนกัน ก็เพราะผลของกรรมนั่นเอง



ดังนั้น หลักพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงรู้แจ้งเห็นจริง
คนที่ทำกรรมดีได้ดี ทำกรรมชั่วได้ชั่ว พระองค์จึงสอนให้ทำแต่กรรมดี
ฉะนั้น ที่ท่านทั้งหลายตั้งใจร่วมกันจัดให้มีการฟังเทศน์เป็นประจำ
จะว่าทุกเดือนหรือทุกสัปดาห์ก็ว่าได้นั้น
ก็เพราะเชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าการฟังเทศน์เป็นบุญอย่างหนึ่ง
และถ้าฟังแล้วนำเอาไปปฏิบัติตามด้วยก็ยิ่งได้บุญมาก



ตามที่โฆษกได้ประกาศว่าต้องพยายามบำเพ็ญทาน บำเพ็ญศีล บำเพ็ญภาวนา
การให้ทาน ท่านทั้งหลายก็ทราบอยู่แล้ว หมายถึงการให้ปัจจัย ๔
จีวร บิณฑบาตอาหาร ที่อยู่ที่อาศัย ยาแก้โรคเป็นอามิสทาน
ท่านบำเพ็ญทานเป็นประจำอยู่แล้วก็ไม่น่าจะเป็นห่วง เพราะทุกคนก็มีศรัทธาอยู่แล้ว
ปัญหามีว่าบางท่านอาจจะไม่มีจตุปัจจัยที่จะบำเพ็ญทานให้สมบูรณ์ เรียกว่ามีรายได้น้อย
คนอื่นเขาทำบุญมากๆ ก็อยากจะทำมากๆ กับเขา
แต่ว่าส่วนวัตถุประกอบหรือสิ่งสนับสนุนในการทำของเราไม่พร้อม
เราจะมีโอกาสทำบุญด้วยอามิสกับเขาได้สมบูรณ์อย่างไร


อันนี้ท่านผู้ฟังทั้งหลายควรทำความเข้าใจ
การทำบุญให้ทานนี้มันใหญ่โตอยู่ที่เจตนา เจตนาก็คือความตั้งใจ
ความตั้งใจที่บริสุทธิ์ว่าเราจะให้ทานเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เพื่อให้กำลังกาย กำลังใจ แก่ผู้รักษาพุทธศาสนา
หรือผู้ทำประโยชน์ส่วนรวม ไม่เฉพาะแต่ในศาสนาอย่างเดียว
ให้มีเจตนาให้บริสุทธิ์สะอาด เพื่อบูชาคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ จริงๆ
และเพื่อความดีจริงๆ โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น
เมื่อเจตนาบริสุทธิ์ แม้ว่าวัตถุที่บริจาคนั้นจะมีจำนวนน้อยหรือมีราคาน้อย
ก็ได้ชื่อว่าใหญ่โตโดยเจตนา

เพราะฉะนั้น การทำบุญจะได้บุญมาก บุญน้อย อยู่ที่เจตนาบริสุทธิ์ต่างหาก
ฉะนั้น ญาติโยมทั้งหลายอย่าไปข้องใจ อย่าไปสงสัย
นายติณบาลบุรุษ เป็นคนใช้ของเศรษฐี เศรษฐีเขาทำบุญ
แล้วติณบาลเอาด้ายเย็บผ้าไปร่วมบุญกฐินกับเขาก็ได้มีอานิสงส์มากมาย
จนทำให้นายติณบาลสำเร็จพระอรหันต์ได้
เพราะอานิสงส์การให้ทานด้ายสำหรับเย็บผ้ากฐินร่วมกับเจ้านาย



การให้ทานนี่ เราอย่าไปกำหนดหมายว่าเราต้องมีของมากๆ มาวางไว้อวดแขก
แม้ว่าเรามีเพียงเล็กน้อย แต่เรามีเจตนาบริสุทธิ์สะอาดดี เราสละลงไป ก็ได้บุญ ได้กุศล
บุพพเจตนา หมายความถึงความตั้งใจที่จะทำบุญให้ทาน
สิ่งของได้มาโดยความบริสุทธิ์สะอาด ปราศจากการลักขโมย ฉ้อโกง
แล้วก็เราตั้งเจตนาเพื่อให้ทานอุทิศต่อพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
เพื่อบูชาคุณของผู้มีคุณบ้าง
ในเมื่อให้ทานไปแล้วก็ทำจิตใจให้เบิกบานบันเทิงในการให้ทานของตนเอง อานิสงส์ก็มีมาก
สมมุติคนที่ไม่มีอะไรเลย มีแต่ตัวเปล่าๆ ผ้านุ่งก็ผืนเดียว ผ้าห่มก็ผืนเดียว
อยากให้ทานบ้าง แต่ว่าเงินทองก็ไม่มี อาหารใส่ท้องก็แทบจะไม่มีเช่นนี้
เราจะมีโอกาสให้ทานได้ไหม
การให้ทานโดยไม่ต้องสละสมบัติ คืออภัยทาน
ที่ท่านสมาทานศีล ๕ มาแล้วนั้นเป็นการให้อภัยทาน
การไม่ฆ่า ให้อภัยสัตว์ การไม่ลักไม่ขโมย ให้อภัย การไม่ประพฤติกาเมสุมิจฉาจาร ให้อภัย
การไม่หลอกลวง ให้อภัย การไม่มัวเมา ก็ให้อภัย เป็นอภัยทาน



อภัยทานเป็นสิ่งที่เป็นทานเลิศ
เป็นทานที่อยู่ในระดับที่จะขจัดกิเลสและความชั่ว
ที่เราจะพึงประพฤติด้วยกาย วาจา ซึ่งเรียกว่าศีล

การรักษาศีลนั่นแหละเรียกว่าการให้อภัยทาน
ฉะนั้น คนที่ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลย แต่มีศีล ได้ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญอภัยทาน
ทีนี้บำเพ็ญอภัยทานคือการรักษาศีลนี้
ถ้าสมมุติว่าเราปรารถนาทรัพย์สมบัติอันใดจะได้ไหม
สีเลน โภคสมฺปทา การรักษาศีล ทำให้ถึงพร้อมด้วยโภคสมบัติ
สีเลน สุคตึยนฺติ จะดำเนินไปสู่สุคติได้ก็เพราะศีล
สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ จะดับได้เพราะมีศีล
การมีศีลนี่มันดับเวรดับภัย ดับความพยาบาทอาฆาตจองเวร
ดับการประทุษร้ายซึ่งกันและกันเป็นอุบายตัดกรรมตัดเวร



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -



คัดจาก พระธรรมเทศนา “ตัดกรรมตัดเวรตามวิถีพุทธ”
ใน ฐานิยบูชา ๒๕๔๖. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์
; ๒๕๔๖.



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP