จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๕๑ ความคิดชั่วร้าย



351 talk



ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังทรมานใจ
อยู่กับความคิดสกปรก ความทรงจำแย่ๆ
หรือความลับน่าอับอาย
เกินกว่าจะให้ใครรู้ว่าเราก็คิดอย่างนี้ได้
ขอให้ทราบเถิดว่าคุณไม่ได้โดดเดี่ยว
ยังมีคนอีกทั้งโลกเป็นเพื่อน


ยิ่งหากคุณรู้สึกว่า
ความคิดที่เสียดแทงหัวหูอยู่นั้น
เป็นเรื่องน่าอับอายเกินกว่าจะปรึกษาใคร
เรียกว่าไม่กล้าเปิดเผยกันตลอดชีวิต
ก็ยิ่งย้ำติดและคิดหนัก
เช่น คำหยาบที่โยงเข้ากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
หรือความคิดทางเพศกับญาติเชื้อ
แม้คุณจะปฏิเสธว่าไม่ได้คิด ไม่ได้ตั้งใจ
ไม่ได้อยากอยู่ข้างเดียวกับความคิดพรรค์นั้น
มันก็ยังคงวนเวียนเยี่ยมหน้ามาไม่เลิก
ราวกับมีศัตรูตามราวีตนอยู่ในตัวเอง


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


ความคิดไม่ดี
ที่โผล่มาแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้มีหลายสาเหตุ
แต่สาเหตุสำคัญ คือ
เคยเมามันกับ
การคิดเพ่งโทษคนอื่นให้เป็นยักษ์เป็นมารหนึ่ง
หรือเคยสะใจกับ
การด่าสาดเสียเทเสียใส่คนอื่นให้เจ็บใจหนึ่ง
ความคิดและคำพูดร้ายๆจะไม่ได้หายไปไหน
แต่ยังคงเป็นระเบิดเวลาฝังตัวรออยู่ในส่วนลึก
คอยเวลาระเบิดขึ้นมารบกวนจิต
ไม่ให้เป็นกุศล ไม่ให้สบายใจ


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ถ้าอยู่ในช่วงเริ่มเบิกบานกับธรรมะ
ตะกอนกรรมที่ก้นบึ้งของชีวิต
จะฟุ้งขึ้นมาปรุงแต่งคำกระซิบที่คิดไม่ถึง


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


คนส่วนใหญ่จะสงสัยกันมาก
ว่าถ้าไม่ได้คิดเจตนาจริงจัง
เช่น เกิดความคิดลบหลู่ครูบาอาจารย์ขึ้นมาชั่วแว่บในหัว
จะเป็นบาปกรรมแค่ไหน?


หากไม่ได้จงใจ ทว่าเกิดความรู้สึกอยากทำร้าย
อยากขโมย อยากผิดกาม อยากโกหก
หรืออยากลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์
ในรูปความคิดแวบผ่านเข้ามาในหัว
ไม่ได้มีกำลังใจของตนเองหนุนหลังจริงจัง
อย่างนี้เรียกว่าเป็น ‘ความจำได้หมายรู้’ อันเป็นอกุศล
หาใช่การก่อกรรม หาใช่บาปร้ายแรง
ที่จะติดตัวเป็นเงาตามไปให้ผลไม่


ความคิดใด
ยังไม่เติบโตขึ้นเป็นความตั้งใจลงมือทำจริง
ความคิดนั้น
ยังไม่ใช่กรรมที่มีผลรออยู่อย่างชัดเจน


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


ศัตรูของคุณมาในรูปของความคิด
ดังนั้นคุณก็ต้องต่อสู้
หรือตอบโต้มันด้วยความคิดเช่นเดียวกัน
กำหนดใจไว้เลยว่า
เมื่อใดเกิดความคิดหรือจินตนาการที่เป็นลบ
คุณจะต่อกรกับมันทันที
ด้วยความคิดและจินตนาการที่เป็นบวก


เอาแบบเป็นตรงข้ามเห็นๆเลยนะครับ
เช่นถ้าเกิดแรงบีบคั้นในหัว
ให้ด่าคนหรือหาเรื่องอาละวาด
คุณต้องให้สติทำหน้าที่ยับยั้งความตั้งใจที่เป็นลบนั้น
แต่ไม่ใช่เก็บกดเฉยๆ คุณต้องพูดจาดี
มีความสุภาพอ่อนโยน เลือกคำที่ประนีประนอม
หรือกุลีกุจอหาทางช่วยเหลือใครสักคนหนึ่งทันที


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


ผมขอให้คุณๆมองอย่างนี้ครับว่า
ยิ่งหาทางแก้ความคิดไม่ดี
ก็ยิ่งตอกย้ำให้กลุ้มว่าเราคือเจ้าของความคิดไม่ดี
อย่าไปทำอย่างนั้นเลย
หาทางเป็นคนละข้างกับมันดีกว่า


ไหนๆมันเกิดขึ้นในหัวเราจริงๆแล้ว
ก็มีสติดูให้จิตเกิดความฉลาด รู้ทันความจริงว่า
มันมาเอง เราไม่ได้เชิญ เราไม่ได้จงใจคิด
มันไปเอง ถ้าเราไม่ต้อนรับ
และไม่ได้เลี้ยงไว้ด้วยการครุ่นคิดต่อ


ทำไว้ในใจว่า เมื่อใดความคิดไม่ดีผุดขึ้นในหัว
เราจะ ‘ยอมรับว่ามันเกิดขึ้น’
ไม่ใช่พยายามหลอกตัวเองว่าไม่ได้เกิดขึ้น
ไม่ใช่พยายามฝืนต้านไม่ให้เกิดขึ้น
ไม่ใช่พยายามขู่ให้ตนเองกลัว
ว่าเป็นบาปหนักถ้าขืนปล่อยให้เกิดขึ้น


ยิ่งเห็นว่ามาเองไปเองบ่อยเท่าไร
ยิ่งเห็นความไม่เที่ยงของความคิดไม่ดีบ่อยขึ้นเท่านั้น
และยิ่งเห็นความไม่เที่ยงของความคิดไม่ดีบ่อยขึ้นเท่าไร
ยิ่งรู้สึกถึงความไม่ใช่ตัวตน
ไม่ใช่บุคคลเราเขามากขึ้นเท่านั้น


ถึงจุดหนึ่งเมื่อเห็นว่า
ความคิดไม่ดีเป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา
ก็จะไม่ต้องเป็นทุกข์กับอุปาทานซ้ำซาก


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


การเกิดสติเท่าทันความคิดชั่วร้ายได้นั้น
จิตเป็นมหากุศลด้วยซ้ำ
สิ่งที่สะท้อนชัด คือ
จิตใจโดยรวมจะดีขึ้นเรื่อยๆ สว่างขึ้นเรื่อยๆ
ขออย่างเดียว
อย่าพะวงหรือกลัดกลุ้มกับความคิดชั่วร้ายที่เกิดขึ้น


ระลึกให้แม่นยำว่า :


ถ้าน้ำหนักเจตนาไม่แรง บาปก็ไม่มาก
และถ้ายิ่งเกิดสติเท่าทันความคิดชั่วร้ายได้เดี๋ยวนั้น
ก็จะพลิกจากอกุศลเป็น ‘มหากุศล’ ทันที


ดังตฤณ
มกราคม ๒๕๖









review


ในการทำบุญด้วยการให้ทาน
สิ่งที่จะทำให้ได้บุญมากหรือน้อยมิได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ใช้
ดังนั้นแม้จะมีฐานะยากจนก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างกุศล
ดังความตามพระธรรมเทศนา โดยพระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
|
เรื่อง"ตัดกรรมตัดเวรตามวิถีพุทธ (ตอนที่ ๑)"ในคอลัมน์"สารส่องใจ"(-/\-)


หากเป็นผู้ที่เกิดโทสะง่าย หายโกรธได้ยาก และไม่สามารถให้อภัยใครได้ง่ายๆ
จะมีวิธีใดที่จะช่วยแก้นิสัยของผู้ที่มีโทสะจริตแบบนี้ได้
หาคำตอบได้ในคอลัมน์"ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน"การสวดบทอิติปิโสทุกเช้า จะช่วยให้คนเจ้าโทสะมีใจที่เย็นลงได้หรือไม่"


ในขณะที่คนโสดบางคนอยากมีความรักกับใครสักคน
แต่คนใช้ชีวิตคู่มานานหลายปีบางคน อาจจะอยากกลับไปเป็นโสดอีกครั้ง
เรื่องราวนี้จะหาทางออกได้อย่างไร ติดตามได้จากกรณีศึกษา
ในคอลัมน์"โหรา (ไม่) คาใจ"ตอน"คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า"


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP