จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

สงครามเศรษฐกิจ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



344 destination



ในช่วงที่ผ่านมานี้ เราคงจะเห็นข่าวเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลก
และข่าวการขึ้นดอกเบี้ยของอเมริกา ซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
และส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์อเมริกา
(แต่ค่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ)
ในขณะที่ธนาคารกลางของอเมริกา (Federal Reserve System of
the United States of America) หรือที่เรียกโดยย่อว่า FED
ก็ยังคงมีนโยบายที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ
ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะปี 2565 นี้ FED ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยมาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง
รวมทั้งหมด 3.00% จากที่ต้นปี 2565 ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.25% จนในปัจจุบัน อยู่ที่ 3.25%
https://www.forbes.com/advisor/investing/fed-funds-rate-history/
และก็มีแนวโน้มว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยอีกภายในปลายปีนี้
จนอัตราดอกเบี้ยน่าจะไปถึง 4% และในปี 2566 ก็จะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก
https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-09-16/fed-seen-raising-to-4-in-2022-and-signaling-higher-for-longer
ซึ่งการเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของ FED เช่นนี้เป็นเรื่องที่โหดร้ายกับ
ผู้ประกอบกิจการและผู้บริโภคที่กู้ยืมเงินเป็นอย่างมากนะครับ
ยกตัวอย่าง สมมุติว่ามีคนหนึ่งกู้ยืมเงินซื้อบ้านเป็นจำนวน 3 ล้านบาท
ถ้าอยู่ ๆ ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 3% ก็เท่ากับว่า
เขาต้องจ่ายดอกเบี้ยเฉพาะส่วนที่เพิ่มทั้งปีเท่ากับ 9 หมื่นบาท
ถ้าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 3.75% ก็เท่ากับว่า
เขาต้องจ่ายดอกเบี้ยเฉพาะส่วนที่เพิ่มทั้งปีเท่ากับ 112,500 บาท
ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลยครับ


ในส่วนของประเทศไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย
และคณะกรรมการนโยบายการเงินได้วางแนวทางแล้วว่า
การปรับขึ้นดอกเบี้ยควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป
เพราะจะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงเร็วไป จนประชาชนและภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน
และทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการที่สุด
เพราะเศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว การขึ้นดอกเบี้ยจึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป
เพื่อให้เป็น smooth take-off
https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/Activities/Pages/Meetthepress02_65.aspx
ซึ่งการที่ไทยเราใช้แนวทางในการค่อย ๆ ขึ้นดอกเบี้ยนี้
ถือว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสม โดยเลี่ยงการก่อให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย
และเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับคำแนะนำของ IMF, UN และ World Bank
ซึ่งไม่แนะนำให้เร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วจนทำเกิดเศรษฐกิจถดถอยครับ
(อ้างอิง
-
https://thestandard.co/imf-monetary-fiscal-policy/?fbclid=IwAR3udDkwxYQff51RcaKQbxlRmNgDHvSmDn-hkbwETTkUDk_tjJN97gIpxiw

- https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=S002aG8wYmcvZzQ9&fbclid=IwAR0h-ldeCKvVJNrLg1oBStDrH0P-rZklO2Ywqz_ST9mSCEw3OhBWlYM3C9c

- https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2022/09/15/risk-of-global-recession-in-2023-rises-amid-simultaneous-rate-hikes?fbclid=IwAR0td7gi33CpcqzrqZQ5wFbeKSe3rkXA0dLu5vjBNcnMQLrOJ7UWGYwLvy4)



ในส่วนเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์อเมริกานั้น
ทาง ธปท. ได้อธิบายว่า เงินบาทที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์อเมริกา
ไม่ได้เป็นระดับที่ขาดเสถียรภาพ เพราะการอ่อนค่าของเงินบาท
เกิดขึ้นจากการแข็งค่าของดอลลาร์อเมริกา ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถควบคุมได้
แต่ไม่ได้เกิดจากเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือเงินทุนไหลออก
ซึ่งการแข็งค่าของดอลลาร์อเมริกา 17-18% ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าไป 12%
ถือว่าอยู่ระดับกลางๆ หากเทียบกับภูมิภาค
ในขณะที่ไทยยังไม่ได้มีปัญหาเงินทุนไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ
https://www.bangkokbiznews.com/finance/1030457?fbclid=IwAR2ycqJrKu7FrIPV2TTSnWPQFtcXxb5pV-DZy0UdakpJ8lwwJm-VQsCX7Zg


แม้ว่าไทยเราจะบริหารจัดการการเงินได้อย่างเหมาะสมแล้วก็ตาม
แต่โดยสถานการณ์เช่นนี้ เราย่อมเห็นแนวโน้มได้ว่า อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นต่อไป
ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาพลังงาน และราคาสินค้าจะยังคงสูงต่อไป
และค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์อเมริกาน่าจะอ่อนตัวลงต่อไป
โดยเราก็ควรจะเตรียมพร้อมและปรับตัวให้อยู่ให้ได้ในยุคที่เปลี่ยนแปลงนี้
ซึ่งผมแนะนำว่า เราไม่ควรมองเพียงแค่ว่าเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ
แต่เราควรจะมองว่าตอนนี้โลกเราอยู่ในสงครามเศรษฐกิจ
โดยที่ประเทศมหาอำนาจกำลังทำสงครามเศรษฐกิจระหว่างกัน
ซึ่งไทยในฐานะที่อยู่ในประชาคมโลก ก็ย่อมจะได้รับผลกระทบไปด้วย
โดยหากเรามองภาพว่าเราอยู่ในท่ามกลางสงครามเศรษฐกิจแล้ว
เราก็ย่อมจะมีความระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องการใช้จ่ายทรัพย์
การเก็บรักษาทรัพย์ และการหาทรัพย์ โดยจะใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น


โดยสิ่งสำคัญคือ เราควรจะปรับมุมมองของเรา
ให้ปรับเปลี่ยนไปอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ปัจจุบัน
เพราะหากเรายังมีมุมมองที่ตายตัวแบบเดิมไม่ปรับเปลี่ยนแล้ว
ก็จะไม่สามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในช่วงสงครามเศรษฐกิจได้
เช่น หากเรายังมองว่าเงินบาทเทียบดอลลาร์อเมริกาจะต้องค่าเท่าเดิมไม่เปลี่ยน
หรือมองว่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจะต้องไม่เพิ่ม เป็นต้น เหล่านี้ต้องปรับมุมมองใหม่ครับ


อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว บางท่านก็อาจจะรู้สึกเครียดกับสถานการณ์ปัจจุบันนะครับ
แต่ก็ขอเรียนว่า สถานการณ์ในช่วงสงครามเศรษฐกิจที่เราประสบนี้
เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้นะครับ เครียดกับมันไปก็ไม่ได้เกิดประโยชน์
เพราะเราไม่สามารถไปเปลี่ยนสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้
แต่เราควรจะมาสนใจในสิ่งที่เราควบคุมได้
กล่าวคือในแต่ละวัน เราได้พยายามทำอะไรบ้าง
เพื่อป้องกันหรือบรรเทาปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ของเรา
ถ้าจะมองในแง่ของการประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว
เราก็สามารถพิจารณาในแต่ละวันว่า
วันนี้เราได้สร้างบุญกุศลเพิ่มขึ้นหรือไม่เพียงไร
หรือว่าเราได้ลดละการสร้างบาปอกุศลมากน้อยเพียงไร
ก็จะถือว่าเป็นการเตรียมพร้อมในส่วนที่เราสามารถทำได้ครับ


+ + + + + + + + + + + + + + +


หมายเหตุ ขอเชิญร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อสนับสนุนการจัดค่ายเรียนรู้กายใจ โดยพระอาจารย์กฤช นิมׅมโล ได้เมตตาเป็นประธานรับถวายผ้าป่า ในวันที่ 10 ธันวาคม 2565 เวลา 11.30 น. ณ ศาลาประสานวิเทศธรรม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยท่านสามารถร่วมทำบุญทอดผ้าป่า ได้ที่บัญชีชื่อ “นางพจนา ทรัพย์สมาน นางปราณี ศิริวิริยะกุล และนางชญาณัฒ ธิเนตร” ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบิ๊กซีนครสวรรค์ บัญชีออมทรัพย์เลขที่ 627-0348-318


ทั้งนี้ ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์ ได้จัดค่ายเรียนรู้กายใจ สอนการเจริญสติตามหลักสติปัฏฐานสี่ ให้แก่นักเรียน เยาวชน และนักศึกษามาอย่างต่อเนื่อง (เว้นช่วงระยะเวลาไวรัสโควิดระบาด) ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงเดือนกันยายน 2565 จัดค่ายมาแล้วรวมประมาณ 385 ค่าย มีนักเรียน เยาวชน นักศึกษา และญาติธรรมร่วมเรียนรู้ประมาณ 24,240 คน ผลการจัดค่ายพบว่านักเรียน เยาวชน นักศึกษามีพัฒนาการเป็นที่น่าพอใจมาก มีทัศนคติที่ดีต่อพระพุทธศาสนา เข้าใจหลักการและวิธีการฝึกเจริญสติ โดยหลายคนได้ฝึกปฏิบัติต่อเนื่องหลังจบค่าย และมีพฤติกรรมที่ดีงามมากขึ้น ซึ่งในการจัดค่ายเรียนรู้กายใจหลักสูตร 3 วัน 2 คืน มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม สื่อ อุปกรณ์ ฯลฯ ประมาณค่ายละ 40,000 บาท รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายประจำเป็นค่ายามรักษาความปลอดภัย ค่าสาธารณูปโภค ฯลฯ ทางชมรมเรียนรู้กายใจจึงมีความจำเป็นต้องจัดหาทุนเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดค่ายเรียนรู้กายใจดังกล่าว

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid0rwvzm6J37js6D8Vkodi5GeHwmXF1XSLLiVqLUegThjvUzP3YaQQVSv6kaMXky6cDl&id=100085700931738



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP