จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๔๔ โลกเปลี่ยนยากเมื่อมีแต่คนพร้อมจะด่า



344 talk



เมื่อใครทำผิด ทำตัวเป็นภัยสังคม
โดนเอาคลิปมาแฉว่าแหลผิดมนุษย์
แถมแสดงอาการไม่สำนึก
เหวี่ยงหมัด แยกเขี้ยวกัดมั่ว
สังคมมนุษย์ย่อมรู้สึกต่อต้าน หรือโกรธจัด
รู้สึกตรงกันว่า
อยากสั่งสอนให้สำนึก
หรืออีกทีก็อยากขับไล่ไสส่ง
ค่าที่หน้าด้านหน้าทนเกินมนุษย์
หนาขนาดนี้ไม่มีทางกลับมาสำนึกอีกแน่ๆแล้ว


การร่วมกันประณาม
หรือการรุมประชาทัณฑ์
นับเป็นวิธีหนึ่งที่ธรรมชาติจะลงโทษคนผิด


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


ร่วมกันลงโทษแล้ว สะใจแล้ว
แล้วสังคมได้อะไรบ้าง?


นี่เป็นแค่ข่าวที่น่าเมาท์
หรือน่าให้เป็นกรณีศึกษา?


คนส่วนใหญ่เห็นแล้วขยาด
ไม่อยากโกหกไหม?


มีใครบ้างถูกกระตุ้น
ให้สำนึกถึงความผิดที่ทำไป?


นอกจากความสะใจที่ได้เห็นคนผิดวิบัติ
มีแสงแห่งความรุ่งเรืองอันใดงอกงามตามมา?


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


จริงๆแล้วทุกคนรักตัวกลัวผิด
แล้วก็เคยโกหกเอาตัวรอดกันมาทั้งนั้น
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากทำผิดไป
คือความสำนึกเสียใจ
อันเป็นการทำงานของมโนธรรมตามธรรมชาติ


จริงอยู่ ถ้าหน้าด้านระดับตำนาน
หรือโกหกตาไม่กะพริบระดับอาชญากร
เทวดาที่ไหนก็ไปเปลี่ยนใจเขาไม่ได้
เหมือนเช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
พวกโกหกจนชำนาญนั้น
ที่จะทำชั่วอื่นใดไม่ได้นั้น ไม่มี


แต่ประเด็นคือ
ถ้าใจเราไม่นึกอยากด่า
ยังพอมีความอยากเปลี่ยนใจเขาอยู่บ้าง
เด็กๆใกล้ตัว
จะได้ยินเสียงที่เจือด้วยเมตตา
เสียงที่ชี้ทางสว่าง
เสียงที่มีเหตุมีผลน่าเข้าใจ
ไม่ใช่เสียงแห่งโทสะอันน่ากลัว
ที่น่าจดจำไว้ว่า ถ้าถึงตาเขาทำผิดบ้าง
ต้องซ่อนเร้น ต้องปิดบังให้เนียน
อย่าถูกจับได้
อย่าปล่อยให้คลิปรั่วออกมาเป็นอันขาด
ไม่งั้นชะตาขาดเหมือนพวกหละหลวมแน่


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


โลกเปลี่ยนยาก
เมื่อมีแต่คนพร้อมจะด่า
ไม่มีคนพร้อมจะช่วยกันทำให้อะไรดีขึ้น


เราเปลี่ยนใจคนหน้าด้านไม่ได้แน่ๆ
แต่ยังเปลี่ยนใจตัวเอง
เปลี่ยนใจเด็กๆรอบตัวไหว
ขอแค่ถามใจตัวเองให้ได้คำตอบเถอะว่า
เกิดเรื่องพรรค์นี้แล้ว
มีแต่ความอยากด่า
หรือยังเหลือความ ‘อยากเปลี่ยนใจคน’ อยู่ในเราบ้าง


อยากด่า
จะได้ด่า และทำให้ใจกระด้าง
ทั้งตัวเองและคนได้ยิน


อยากเปลี่ยนใจคนผิด
จะได้คิดดีๆ ได้พูดดีๆ
ทำให้ใจอ่อนโยน ทั้งตนและคนฟัง!


ดังตฤณ
ตุลาคม ๖๕






review


อานาปานสติตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงสอน
มีข้อปฏิบัติเป็นลำดับอย่างไร
ติดตามได้จากพระธรรมเทศนา
โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
เรื่อง "การเจริญอานาปานสติ (ตอนที่ ๒)"ในคอลัมน์"สารส่องใจ"(-/\-)


มีวิธีการใดที่จะชักชวนให้คนใกล้ตัวมาสนใจธรรมะ
และฝึกเจริญสติจนได้ผลการปฏิบัติที่ดี
หาคำตอบได้ในคอลัมน์"ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ทำอย่างไรจึงจะอยู่กับปัจจุบันได้อย่างถูกต้อง"


แม้วิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก
แต่มนุษย์สามารถเตรียมตนเองให้พร้อมรับมือได้
ดังเรื่องราวที่คุณงดงามบอกเล่าไว้
ในคอลัมน์"จุดหมายปลายธรรม"ตอน "สงครามเศรษฐกิจ"


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP