จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ฆ่าความโกรธ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



341 destination



สวัสดีท่านผู้อ่านครับ บทความจุดหมายปลายธรรมหายไปหลายเดือนในช่วงที่ผ่านมา
เนื่องจากผมติดภารกิจงานสำคัญเรื่องหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ภารกิจได้แล้วเสร็จ
จึงกลับมานำเสนอบทความได้ตามปกติครับ


ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราอาจจะได้เห็นข่าว ๒ เรื่องที่น่าสนใจคือ
ข่าวแรกเป็นเรื่องเจ้าของร้านทำผมแห่งหนึ่งใช้มีดแทงลูกค้าและสามีจนเสียชีวิต
โดยมีสาเหตุมาจากลูกค้าตัดผมกับช่างแล้ว
ลูกค้าบอกว่าไม่ตรงตามแบบและตัดสั้นเกินไป ช่างตัดผมได้ขอโทษลูกค้า
และขอให้ลูกค้าไปทำการตัดแก้ไขที่ร้านอีกสาขาหนึ่งในวันถัดไป
ในวันถัดไปนั้น ลูกค้าได้ไปทำการตัดแก้ไขแล้ว
แต่ลูกค้าก็ยังไม่พอใจ และได้โต้เถียงกับเจ้าของร้าน
เจ้าของร้านจึงได้นัดมาเจอกันที่ร้านเพื่อทำการเจรจา
ในวันต่อมา ลูกค้าได้พาสามีและลูกสาวมาที่ร้านตัดผม เพื่อทำการเจรจา
แต่หลังจากโต้เถียงกันไปได้ไม่ถึง ๑ นาที
เจ้าของร้านได้ชักมีดออกมาแทงลูกค้าและสามีจนเสียชีวิต
ต่อมาเจ้าของร้านได้เข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีต่อไป
https://www.thairath.co.th/news/crime/2478035
https://www.thairath.co.th/news/crime/2478505


ข่าวที่สองเป็นเรื่องเซียนพระยิงเพื่อนบ้านเสียชีวิต ๒ คน
เนื่องจากเหตุขัดแย้งจากการปิดประตูรั้วเสียงดัง
โดยผู้ก่อเหตุเล่าว่าผู้ตายมักจะเปิดปิดประตูรั้วเหล็กเสียงดัง
ทำให้ตนเองไม่พอใจ เพราะมีลูกเล็กอายุ ๙ เดือน
เสียงเปิดปิดประตูเหล็กทำให้เด็กตกใจและร้องไห้ทุกครั้ง
โดยก่อนเกิดเหตุก็ได้มีการทะเลาะกันรุนแรงระหว่างผู้ก่อเหตุและผู้ตาย
จนในที่สุด ผู้ก่อเหตุได้ถือปืนบุกเข้าไปในบ้านและยิงผู้ตายทั้งสองคน
ซึ่งผู้ก่อเหตุเองก็ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและได้หาหมอมา ๒ ปีแล้ว
https://news.thaipbs.or.th/content/318651
https://www.dailynews.co.th/news/1387948/


ในข่าว ๒ เรื่องที่ได้ยกมาข้างต้นนั้น เราคงจะเห็นได้ว่า
กรณีไม่น่าเป็นเรื่องร้ายแรงจนถึงขนาดที่ต้องฆ่ากัน หรือทำร้ายกันจนถึงเสียชีวิต
แต่ในเมื่อบุคคลถูกความโกรธเข้าครอบงำแล้ว ก็ย่อมสามารถจะทำเรื่องร้ายแรงได้


ใน “โกธนาสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า คนโกรธย่อมไม่รู้สึก
คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ ไม่เห็นธรรม
ความโกรธย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น
คนโกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ง่าย
คนที่ถูกความโกรธครอบงำย่อมไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ และไม่มีความเคารพ
คนโกรธฆ่าบิดาก็ได้ ฆ่ามารดาของตนก็ได้ ฆ่าพระขีณาสพก็ได้ ฆ่าปุถุชนก็ได้
คนโกรธย่อมฆ่าตัวเองได้ เมื่อกระทำกรรมอันมีแต่ความเสื่อมและทำลายตนก็ไม่รู้สึก
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=2036&Z=2138&pagebreak=0


เราจึงย่อมจะเห็นได้ว่า ในยุคปัจจุบันนี้ เราอยู่ยากขึ้น
และควรจะต้องหลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่น
เพราะเราย่อมไม่ทราบได้ว่า บุคคลที่เรากำลังทะเลาะเบาะแว้งอยู่ด้วยนั้น
(แม้ว่าดูเหมือนว่าเรื่องที่ทะเลาะกันจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ก็ตาม)
เขาจะมีอารมณ์โกรธรุนแรงเพียงไร หรืออาจจะเป็นโรคซึมเศร้าก็ได้
หรืออาจจะมีเรื่องเครียดในชีวิตหนักหนามามากแล้ว
และเราที่ไปทะเลาะกับเขานั้น อาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายก็ได้
ซึ่งคนที่ถูกความโกรธครอบงำนั้น ก็ย่อมจะขาดสติและทำเรื่องร้ายแรงได้
ในเรื่องนี้ ในส่วนที่คนอื่นเขาโกรธนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เราไปห้ามหรือควบคุมไม่ได้
แต่ว่าในส่วนเราโกรธ หรือเราจะไปทะเลาะกับเขานั้น
เป็นสิ่งที่เราสามารถฝึก หรือบริหารจัดการได้ครับ


ใน “ฆัตวาสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค)
ท้าวสักกะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
บุคคลฆ่าอะไรแล้วสิจึงจะอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรแล้วสิจึงจะไม่เศร้าโศก?
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า บุคคลฆ่าความโกรธเสียแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข
ฆ่าความโกรธเสียแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก
พระอริยะเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญ การฆ่าความโกรธอันมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน
เพราะว่าบุคคลฆ่าความโกรธนั้นเสียแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=7660&Z=7676&pagebreak=0


เช่นนี้แล้ว ในเวลาที่เรากำลังจะมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับใครก็ตาม
การที่เราจะไปทะเลาะเบาะแว้งกับเขาโดยที่เราก็โกรธ และเขาก็โกรธ
ย่อมจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ดีขึ้น
ในขณะที่ย่อมจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุร้ายแรงได้
ซึ่งเราก็ย่อมจะไม่ทราบล่วงหน้าได้ว่า จะมีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นหรือไม่
จึงไม่ควรประมาทหลงคิดไปว่าทะเลาะกันแล้ว ก็จะไม่มีอะไร
เพราะคนโกรธที่ขาดสตินั้น ย่อมสามารถทำเรื่องร้ายแรงได้
สิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรทำก็คือ ระงับหรือฆ่าความโกรธของเราเองเสียก่อน
เมื่อเราระงับหรือฆ่าความโกรธของเราได้แล้ว
จึงค่อยพิจารณาโดยใช้เหตุผล จำเป็นต้องไปทะเลาะกับเขาหรือไม่
และเราควรจะแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวอย่างไร แล้วค่อยเจรจาครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP