จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๔๑ เมื่อเป็นกรรมย่อมมีผลเสมอ



341 talk



ทำกับใครไว้อย่างไร
อาจคาดหมายผลยิ่งกว่านั้น
และคนและสัตว์ทั้งหลาย
ก็เป็นเครื่องขยายผลบาปบุญไม่เท่ากัน
ทำบุญทำบาปกับสัตว์
ได้ผลไม่เท่าทำบุญทำบาปกับคน
ทำบุญทำบาปกับคนทุศีล
ได้ผลไม่เท่าทำบุญทำบาปกับผู้ทรงศีล
ทำบุญทำบาปกับผู้ทรงศีล
ได้ผลไม่เท่าทำบุญทำบาปกับผู้เจริญสติตรงทาง
(อ่านรายละเอียดเต็มได้จาก ทักขิณาวิภังคสูตร
ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสถึงผลของการให้ทาน
พอนำมาเทียบเคียงเป็นประมาณ
กับการทำบุญทำบาปทั่วไปได้)


ประเด็นคือ เมื่อคนเราเป็นฝ่ายถูกกระทำ
มัก ‘หวังผล’ ให้ผู้กระทำ
ได้รับผลเป็นร้อยเท่าพันทวี
ถ้าไม่ใช่ด้วยการเอาคืนกับมือ
ก็ด้วยการสาปแช่งด้วยปาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเชื่อเรื่องผลแห่งกรรม
จะมีใจจดจ่อ เฝ้ารอว่าเมื่อใดผลร้าย
จะเกิดขึ้นกับคนที่ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจตน


แท้จริงแล้ว
กรรมไม่ได้ให้ผลตามการสาปแช่งของใคร
กรรมไม่ได้เอาใจใครให้ได้สะใจเร็วๆทันตา
ถ้าอยากรู้ว่าเขาหรือเธอจะได้รับผลเพียงใด
จากการทำบาปทำกรรมไว้กับคุณ
คุณจำเป็นต้องรู้ตัวว่าตนเองจัดเข้าจำพวกไหน
คนไม่รักษาศีล คนพยายามรักษาศีล
คนมีศีลเป็นปกติ คนรู้ทางเจริญสติ
คนพยายามเจริญสติ คนมีสติเจริญแล้ว
เห็นกายใจไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนได้เป็นปกติแล้ว


น่าสังเกตว่า ยิ่งศีลของคุณบกพร่องมากเท่าไร
คุณจะยิ่งหวังให้คนที่ทำร้ายคุณวิบัติมากเท่านั้น
เพราะศีลที่พร่องย่อมเป็นช่องให้อาฆาตมาก
แต่ยิ่งศีลของคุณบริบูรณ์ขึ้นเท่าไร
คุณจะยิ่งหวังให้เวรที่มีกับใครเลิกแล้วต่อกันเท่านั้น
เพราะศีลที่บริบูรณ์ย่อมปิดช่องความอยากเบียดเบียน


สำหรับนักเจริญสติ
เมื่อสติยังอ่อน เพิ่งพยายามเจริญสติไม่นาน
ยังมีอัตตาว่าข้าคือนักเจริญสติ มีความสูงส่ง
ก็อาจแอบแค้น แอบหวังเห็นคนทำร้ายตนพินาศไวๆ
ต่อเมื่อสติเข้าที่ มีความเห็นกายใจไม่ใช่ตัวตนได้เรื่อยๆ
ก็อาจแผ่เมตตา ปรารถนาให้ใจผู้ทำร้ายตนเป็นสุข
เป็นกุศลพอจะเป็นที่พึ่งให้ตัวเองเอาตัวรอด
จากการครอบงำของบาปอกุศล
ตลอดจนพยายามป้องกันเหตุ
ไม่ให้ใครต่อใครต้องมามีเวรกับตนเลยทีเดียว


การสาปแช่ง เป็นมโนกรรม
การอวยพร เป็นมโนกรรม
เมื่อเป็นกรรมย่อมมีผลเสมอ!


แค่ตัวคุณปรากฏตัวในโลก
ก็เป็นช่องทางก่อบาปก่อบุญของใครต่อใคร
แต่ในทางกลับกัน
ใครต่อใครก็เป็นแหล่งก่อบาปก่อบุญของคุณ
แม้น้อยที่สุดด้วยการแอบคิดสาปแช่ง
หรืออำนวยพรอยู่ในใจทุกวัน!


ดังตฤณ
สิงหาคม ๖๕







review


หลักการปฏิบัติสมาธิที่ถูกต้องมีวิธีการอย่างไร
และจะเป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง
ติดตามได้จากพระธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
เรื่อง "สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่เรามองข้าม (ตอนที่ ๓)"
ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" (-/\-)


ผู้ที่มีอาชีพด้านกฎหมาย หากการปฏิบัติหน้าที่ทำให้เป็นโทษแก่บุคคลอื่น
จะได้รับผลกรรมจากการทำหน้าที่นั้นหรือไม่
หาคำตอบได้ในคอลัมน์"ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ประกอบอาชีพด้านกฎหมายอย่างไรจึงจะได้บุญ"


การรู้จักระงับความโกรธ ไม่ปล่อยให้โทสะครอบงำจิตใจ
ช่วยให้ไม่พลาดไปกระทำเรื่องร้ายแรง
ที่จะส่งผลเสียอย่างมหาศาลได้
ดังเรื่องราวที่คุณงดงามบอกเล่าไว้
ในคอลัมน์ "จุดหมายปลายธรรม" ตอน "ฆ่าความโกรธ"



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP