ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ทำอย่างไรจึงจะปล่อยวางความยึดมั่นในบุคคลผู้ที่เป็นที่รักได้



ถาม – ที่ผ่านมาดิฉันปฏิบัติธรรมโดยการดูจิต
ทั้งที่รู้ว่าวันหนึ่งก็จะต้องพลัดพรากจากผู้ที่เป็นที่รัก
แต่ใจยังไม่ยอมรับ ยังคงยึดมั่นอยู่ แบบนี้ควรจะทำอย่างไรคะ



ความยึดมั่นถือมั่นในตัวในตน มันไม่ได้เริ่มต้นมาจากจิต
เพราะฉะนั้นถ้าเราดูจิตแล้วเห็นว่าจิตมันไม่เที่ยง อารมณ์ไม่เที่ยง มันเห็นได้แค่ผิวๆ
ตัวตั้งของความรู้สึกในตัวตนจริงๆ มันอยู่ในกาย
ถ้าหากว่าเราสามารถเห็นกายโดยความเป็นของไม่เที่ยงได้ เห็นของตัวเองก่อนนะ
เริ่มนับตั้งแต่ลมหายใจ จนกระทั่งถึงอิริยาบถปัจจุบัน
แล้วก็ในอิริยาบถนี้มีอะไรอยู่ที่มันเป็นตับไตไส้พุง
อันนี้มันถึงจะทิ้งความรู้สึกในตัวตนทางกายได้จริง ทั้งของเราและของคนอื่น



ตรงนี้พระพุทธเจ้าถึงสอนมาเป็นขั้นเป็นตอน
แต่ โอเค เราอยู่ในเมือง เราอาจจะทำไม่ได้แบบเต็มที่ อาจจะดูไม่ได้
คือไม่ใช่นักปฏิบัติที่เก่งกาจฉกาจฉกรรจ์อะไร
ไม่สามารถที่จะดูคว้านเข้ามาถึงตับไตไส้พุงได้
ไม่สามารถเห็นกายว่า วันหนึ่งจะต้องแตกดับลงเป็นธรรมดา
ตับไตไส้พุงจะต้องกระจัดกระจายหายไป อาจจะทำไม่ได้ถึงตรงนั้น
แต่แค่ดูจิตแล้วเรายอมรับตามจริงว่าอารมณ์โกรธ
อารมณ์ที่มันได้รับจากการกระทบกระทั่งในชีวิตประจำวัน มันเป็นของไม่เที่ยง
แค่นี้ก็ถือว่าเป็นฆราวาสที่รู้จักการเจริญสติ แล้วก็ปฏิบัติธรรม
ได้ประโยชน์จากพุทธศาสนาไปเกินกว่าคนธรรมดาทั่วไปเขามากแล้ว
ถ้าเป็นฆราวาสก็จัดเป็นฆราวาสเกรดเออยู่แล้ว



ตรงที่ว่าเราทำใจไม่ได้กับบุคคลอันเป็นที่รักที่ต้องจากไป
นั่นเพราะว่าเรายังปฏิบัติไม่ครบ เรายังปฏิบัติไม่เต็มที่แบบที่พระพุทธเจ้าสอนนะ
ดูจิตอย่างเดียวมันถอนได้แค่อารมณ์ผิวๆ นะ
แล้วเท่าที่เห็นมา พวกที่ดูจิตอย่างเดียวเป็นสิบปี
คือมักจะไปถึงจุดหนึ่งที่มันย้อนกลับมา วนกลับมาหาจุดเริ่มต้น
เหมือนกับปฏิบัติไม่เป็น ทำอะไรไม่ถูก แล้วก็ไม่รู้จะดูอย่างไร
เพราะมันไม่มีวิหารธรรม ไม่มีที่ตั้งของสติที่มันมั่นคงอยู่
ดูจิตนี่พูดกันจริงๆ เลยนะ เริ่มต้นฝึกวันแรกนี่ง่าย เพราะมันไม่มีอะไร
ถ้าเข้าใจวิธีที่จะเห็นเข้ามาว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นทางความรู้สึกนึกคิด แต่มันไม่มีฐานที่ตั้ง



ส่วนคนที่เริ่มดูจากกายแล้วค่อยเขยิบขึ้นมาทางจิต
มันจะเริ่มจากฐานที่ตั้งที่มั่นคงก่อน
อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนให้ดูลมหายใจ เพื่อที่จะให้ไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ นะ
ฐานที่ตั้งที่มันมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ วันต่อวันๆ พอไปถึงจุดหนึ่งมันไม่ย้อนกลับ
บางคนคือเสียเวลาแค่เดือนเดียว ทำอย่างถูกทางนะ
มันกลายเป็นคนที่มีจิตตั้งมั่น
แล้วก็สามารถเห็นอะไรต่อได้ไม่มีจำกัด แล้วไม่ถอยหลัง

เพราะพอทำเป็นแล้ว มันรู้ว่าจะจับจุดอย่างไร มันจะอยู่กับอะไร
เสร็จแล้วคือพอมันไม่ถอยหลัง
ทางเดียวที่มันจะไปได้ก็คือก้าวหน้า ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ
เราจะพบความจริงว่าความต่อเนื่องคือความก้าวหน้า ถ้าหากมาถูกทาง



ทีนี้ ถึงเราจะบอกว่าที่ทำมามันแค่ดูจิต
แต่พอมาถึงจุดหนึ่งเรารู้สึกว่ามันไปต่อไม่ได้
มันมาถึงทางตัน หรือว่ามาถึงทางย้อนกลับ เราก็อย่างน้อยมันไม่ได้เสียเปล่า
สี่ปีที่ผ่านมามันทำให้เรารู้จักการปฏิบัติธรรม
มันทำให้มีจิตมาฝักใฝ่อยู่กับการรู้การดูภายใน
ไม่ใช่เอาแต่โยนไปข้างนอก โยนทิ้งเปล่าไปข้างนอก
ถ้าถึงจุดนี้ที่เรารู้สึกว่าเราเริ่มไปชนเพดานแล้ว ไปต่อไม่ได้แล้ว
ก็อาจจะถึงเวลาที่เราย้อนกลับมาสร้างรากสร้างฐานสร้างเบสิก (
basic)
ให้มันมีความเจริญแล้วก็มั่นคงแบบว่ามีวิหารธรรม
มีสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอน สอนย้ำนักย้ำหนา
เรื่องการให้รู้ลมหายใจเป็นจุดเริ่มต้น แล้วก็สามารถที่จะรู้เข้ามาทางกาย
และถ้าหากว่ารู้ทางกายได้ อิริยาบถนี้เป็นอย่างไรอยู่ มันตั้งอยู่ได้นานแค่ไหน
แล้วเกิดความรู้ลึกเข้ามาในกายมากขึ้น
จนกระทั่งเห็นว่ากายนี้ เออ มันไม่เที่ยงจริงๆ มันไม่ใช่ตัวตนจริงๆ
นั่นแหละเวลาที่เราน้อมไปพิจารณาคนอื่น มันก็จะเห็นว่าไม่เที่ยง
แล้วเขาไม่ใช่ตัวตนที่จะยึดติดอยู่ได้ เหมือนกัน
ไม่อย่างนั้นจินตภาพของเรานะ มันไม่ไปไหนหรอก


คือเอาง่ายๆ นะ เราเห็นจิตคนอื่นแตกดับไหมล่ะ มันไม่เห็นใช่ไหม
มันเห็นแต่จิตของเราอารมณ์ของเราแปรปรวน
เห็นจิตของเราไม่เที่ยง เราก็เลยวางอารมณ์แปรปรวนของเราได้
ไม่ใช่วางจิตนะ วางอารมณ์ที่มันแปรปรวนของเราไป
บอกว่าอารมณ์นี้มันไม่เหมือนเดิม มันไม่ใช่ตัวเดิม เพราะฉะนั้นเราทิ้ง โอเค ได้
แต่ให้ไปดูว่าจิตของคนอื่น เขาคิดไม่ดีกับเรา
ทำไมเขาต้องคิดไม่ดีกับเรา มันก็จะย้ำอยู่อย่างนี้
มันจะมองไม่เห็นใช่ไหมว่าเขาคิดไม่ดีขึ้นมาเมื่อไหร่
ความคิดไม่ดีเกี่ยวกับเรานั้น หายไปเมื่อไหน
มันจะเห็นแต่ว่าเขาคิดไม่ดีกับเรา แล้วก็จำไว้อย่างนั้น
เหมือนกันสภาวะทางกายที่เรายังมีชีวิตอยู่ เขายังมีชีวิตอยู่
เอาวัดจากตรงที่ว่าร่างกายยังขยับได้ หรือว่ามาอยู่ตรงหน้าเราได้ เป็นของของเราได้
แต่พอห่างหายไป หรือว่าร่างกายแตกดับไป
อ้าว นี่แซด (
sad) มันร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวร
ก็เพราะว่าเราไม่เคยได้ฝึกที่จะปล่อยวางสภาวะทางกายของทั้งเราของทั้งเขา
นี่ตัวนี้มันจะมาเติมเต็มให้เกิดความเข้าใจที่สมบูรณ์มากขึ้น


คือปฏิบัติมานานแค่ไหน
มันไม่สำคัญเท่ากับที่ว่าเราปฏิบัติครบตามที่พระพุทธเจ้าให้มองหรือเปล่า

ถ้ามองทั้งกายมองทั้งใจ มันก็ปล่อยวางได้ทั้งกาย ปล่อยวางทั้งใจ
แต่ถ้ามองแค่เป็นจุดๆ มองแค่บางส่วน
มันก็ปล่อยวางได้แค่เป็นจุดๆ ได้แค่บางส่วนเหมือนกัน



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP