สารส่องใจ Enlightenment

ส่งเสริมบุญญาบารมี (ตอนที่ ๕)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒




ส่งเสริมบุญญาบารมี (ตอนที่ ๑) (คลิก)
ส่งเสริมบุญญาบารมี (ตอนที่ ๒) (คลิก)
ส่งเสริมบุญญาบารมี (ตอนที่ ๓) (คลิก)
ส่งเสริมบุญญาบารมี (ตอนที่ ๔) (คลิก)



ทีนี้จะอธิบายเรื่องการภาวนาต่อไปอีก
ถึงขั้นที่กล่าวว่าเด็ดๆ เผ็ดๆ ร้อนๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น
ผลที่ปรากฏขึ้นมาก็คุ้มค่า คือเป็นผลเลิศเป็นผลประเสริฐ
เป็นผลที่เราไม่เคยรู้เคยเห็น ทั้งๆ ที่หัวใจก็อยู่กับเราทุกวันทุกเวลา
แต่เมื่อยังไม่เปิดสิ่งที่รกรุงรังที่ปกคลุมหุ้มห่อใจนั้นออก
ความเด่นดวง ความประเสริฐ ความศักดิ์สิทธิ์วิเศษของใจก็แสดงตัวออกมาไม่ได้
เพราะฉะนั้น จึงต้องเปิดสิ่งเหล่านี้ออก ชำระซักฟอกสิ่งนี้ออกได้มากเพียงไร
จิตใจยิ่งแสดงความแปลกประหลาดอัศจรรย์
เด่นดวง องอาจกล้าหาญขึ้นโดยลำดับ



สติปัญญาซึ่งเคยใช้แต่ก่อนแบบล้มลุกคลุกคลาน
ภาวนาได้ชั่วหนึ่งนาทีมันเผลอไปแล้วกี่ครั้ง
ห้านาทีเผลอไปแล้วสิบครั้งอย่างน้อย
นี่สิบนาทีเผลอไปแล้วร้อยครั้งเป็นอย่างน้อย
อย่างนี้ก็ตาม ตามหลักของการภาวนาในเบื้องต้นหรือการฝึกฝนในเบื้องต้น
ต่อไปสติปัญญาที่ฝึกฝนอบรมอยู่เสมอก็ค่อยมีกำลังวังชา
มีความชำนิชำนาญขึ้นไปเรื่อยๆ
จนกลายเป็นสติปัญญาที่ทำหน้าที่ด้วยความสนใจใคร่รู้ใคร่เห็น
ไม่ขี้เกียจและพลั้งเผลอ และกลายเป็นมหาสติมหาปัญญาดังครั้งพุทธกาลท่านกล่าวไว้
แต่นี้เราไม่อาจเอื้อมเพราะเราเป็นพระป่าแบบป่าๆ
ขอพูดแต่เพียงว่า เป็นสติปัญญาอัตโนมัติคือหมุนตัวไปเอง
โดยหลักธรรมชาติของสติปัญญาที่มีกำลังเต็มตัวแล้ว
นั่นแหละเรื่องความเพียรแท้ ไม่ต้องบังคับหากหมุนตัวไปเอง



แต่ก่อนมีแต่ความขี้เกียจขี้คร้านและความรำคาญ
พอจะนั่งภาวนาเหมือนกับขออภัยมากๆ นะ พูดตามหลักความจริง
จูงหมาใส่ฝนนั่นแหละ มันร้องเอ๋งๆๆ ก็มันไม่อยากตากฝนนี่น่ะ
อันนี้เราจะภาวนามันก็เหมือนกับจูงหมาใส่ฝนนั่นแล
ใจไม่อยากถูกบังคับ ไม่อยากทุกข์เพราะภาวนา แต่ทุกข์เพราะอย่างอื่นไม่สนใจคิด
เบื้องต้นมันเป็นอย่างนั้น เมื่อถูกบังคับหลายครั้งหลายหนก็เคยชินไปเอง
จนถึงขั้นสติปัญญาอัตโนมัติหมุนตัวเป็นเกลียว
ทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอนไม่มีหยุดมียั้ง
กิเลสที่เคยมีกำลังแต่ก่อนก็ถูกทำลายลงไปๆ
สติปัญญายิ่งมีความแก่กล้าสามารถและเชื่อกำลังของตน
กิเลสหมอบหาที่หลบซ่อน แต่ก่อนต้องค้นหาธรรม เพราะธรรมหลบซ่อน
มีแต่กิเลสโจมตีธรรมแหลกเหลวไปหมด



ต่อมาสติปัญญามีกำลังมาก ฟาดฟันหั่นแหลกกิเลสขาดสะบั้นตกไปทุกทิศทุกทาง
จนได้คุ้ยเขี่ยหากิเลสมันไปไหน
เมื่อถึงขั้นไม่ถอย เมื่อถึงขั้นไม่มีคำว่าแพ้แล้วฟัดกันเต็มที่
ความเพียรเป็นไปเอง เป็นอัตโนมัติทั้งกลางวันกลางคืนไม่มีหยุดหย่อนอ่อนกำลังเลย
หมุนติ้วๆ นอนบางคืนไม่ยอมหลับตลอดรุ่ง
เพราะการค้นคว้าการพินิจพิจารณาสู้กับกิเลสตลอดเวลา
แม้กำลังฉันจังหันก็ทำงานไปตามหน้าที่ของตน
ระหว่างจิตกับกิเลส สติปัญญากับกิเลส
ไม่สนใจกับรสชาติอาหารเปรี้ยวหวานเผ็ดเค็มอะไรเลย
เพราะความรู้สึกทุกด้านไปอยู่กับความเพียรฆ่ากิเลสเสียหมด



ทุกอิริยาบถพูดได้เต็มปากรู้ได้เต็มใจว่า
มีอิริยาบถใดขณะใดที่สติได้เผลอไปจากจิต
จากความเพียรในการต่อสู้กับกิเลส ไม่มีเลย
นับแต่ขณะตื่นนอนมาจนกระทั่งปัจจุบัน คือขณะที่กำลังรำพึงเรื่องสติอยู่
มีขณะใดบ้างที่สติได้เผลอตัวดังที่เคยเป็นมาแต่ก่อน ไม่มีเลย
มีแต่ท่าต่อสู้ตลอดเวลา นั่นจึงเรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติ
คือหมุนไปเองความเพียรเป็นไปเอง ต้องได้รั้งเอาไว้ไม่ยังงั้นจะเลยเถิด
คำว่ารั้งคือการย้อนจิตเข้าสู่ความสงบคือสมาธิ
เพื่อพักผ่อนอารมณ์ที่ตึงเครียดกับงาน
การทำงานถึงจะมีผลของงานปรากฏก็ตาม
แต่ทำไม่หยุดก็ตายได้คนเรา ต้องมีการพักผ่อนรับประทานอาหาร
นอนหลับพักธาตุพักขันธ์แล้วค่อยทำงานต่อไปอีกนั้นเป็นความเหมาะสม
เวลาที่เสียไปเพราะการรับประทานอาหาร และที่เสียไปเพราะการพักผ่อนร่างกาย
เอ๊า เสียไป เพราะเสียไปเพื่อเป็นประโยชน์
เป็นพลังของร่างกายที่จะทำงานต่อไปได้
เพราะอาหารเหล่านี้ เพราะการพักผ่อนเหล่านี้



การพักผ่อนจิตเข้าสู่ความสงบคือสมาธิ
ซึ่งไม่ใช่กิริยาแห่งการต่อสู้กิเลสทั้งหลาย เราก็พักเสียในขณะนั้น
เพื่อเป็นกำลังหนุนปัญญาให้คล่องตัวและเฉียบขาดในการพิจารณา
เช่นเดียวกับมีดที่ได้ลับหินแล้วย่อมคมกล้า ตัดฟันอะไรขาดได้รวดเร็วทันใจ
ปัญญาที่ได้รับการหนุนจากสมาธิย่อมทำงานคล่องตัว
แต่ปัญญาในขั้นนี้ย่อมเพลินในการพิจารณา
ไม่ค่อยคำนึงถึงการพักตัวในสมาธิ จำต้องรั้งเอาไว้เพื่อความพอดี
ปัญญาขั้นนี้เพลินกับการฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลสอยู่เรื่อยไปจนไม่รู้จักเวล่ำเวลา
ต้องรั้งเอาไว้ในสมาธิเป็นกาลเป็นเวลา
พอจิตมีกำลังและปล่อยออกจากสมาธิแล้วก็หมุนติ้วเข้าสู่สงคราม
ฟาดฟันกับคู่ต่อสู้คือกิเลสไม่มีคำว่าถอย
จนกระทั่งได้คุ้ยเขี่ยหากิเลส เพราะกิเลสเข้าขั้นละเอียด
สติปัญญาก็เข้าขั้นละเลียดเต็มที่ ต้องค้นหากัน
การค้นหากิเลสก็เป็นงาน การต่อสู้กับกิเลสก็เป็นงานจิต ของสติปัญญา



ความจริงกิเลสจะไปไหน
มันก็หลบซ่อนอยู่ใต้ลูกตาของปัญญาที่มัวเพลินตัวค้นหามันอยู่นั่นเอง
เมื่อปัญญายังไม่ย้อนกลับมาดูลูกตาตัวเมื่อไรก็ยังไม่เจอกิเลส
คำว่าลูกตาก็คือ จิตกับอวิชชากำลังกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั่นเอง
ต่อเมื่อปัญญาย้อนกลับมาพิจารณาจิตอันเป็นที่หลบซ่อนของอวิชชา
จึงเจอกิเลสคืออวิชชาในจิตนั่นแล เมื่อเจอก็ฟัดกันแหลกบนจิตเวที
คือถือเอาจิตเป็นเวทีรบกิเลสอวิชชา สุดท้ายอวิชชาก็พังส่วนจิตไม่พัง
แต่กลับดีดตัวขึ้นถึงขั้นโลกุตรอย่างเต็มภูมิ
หากจะอุทานในใจว่า ชิตํ เม ชิตํ เม เราชนะแล้วๆ ก็ได้
แต่จะ ชิตํ เม กับอะไร เพราะกิเลสคู่อริก็บรรลัยเกลี้ยงไปแล้ว
จะ ชิตํ เม เพื่อให้ใครรับฟัง ผู้จะฟังได้ก็คือผู้บริสุทธิ์หรือจิตบริสุทธิ์เท่านั้น
จะ ชิตํ เม หรือไม่ชิตํ เม จิตดวงนั้นก็ไม่รับว่าได้ว่าเสียด้วย นี่เพราะพอตัวแล้ว



นี่แสดงโดยย่อลงในจุดที่จำเป็น แต่การพิจารณาจำต้องค้นคว้ามาแต่รูปขันธ์
เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ และรู้เท่าทันเข้ามาโดยลำดับ
จนกิเลสไม่กล้าแสดงตัวออกมาเปิดเผย เหมือนคราวที่กำลังเรืองอำนาจบนหัวใจ
ปัญญาต้องขุดค้นหากิเลส



ต่อไปนี้ย้อนพิจารณาขันธ์หยาบมีรูปขันธ์เป็นต้น
จนถึงวิญญาณขันธ์ไปโดยลำดับตามความถนัด
พิจารณารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส โดยไตรลักษณ์
อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ครอบโลกธาตุแล้ว ปัญญารู้แจ้งเห็นจริง
ถอยตัวเข้ามาพิจารณารูปคือกายของเรา เวทนา ความสุข ความทุกข์ เฉยๆ
ทั้งส่วนร่างกายและจิตใจ สัญญา สังขาร วิญญาณ
พิจารณาจนรู้แจ้งเห็นชัดแล้วปล่อยวางลงไป
กิเลสเมื่อถูกไล่ตะล่อมเข้าไป ฆ่าตรงโน้น ฟันตรงนี้เข้าไป
ก็รวมเข้าไปสู่จิตดวงเดียว เพราะไม่มีที่ออก
ออกทางตาก็ไม่ได้ ทางรูปทางตาก็ตัดแล้วด้วยปัญญา
ทางเสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ตัดแล้วด้วยสติปัญญา
จะออกมายึดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของตน
นี้ก็เป็นกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ตัดกันขาดแล้วด้วยสติปัญญา



กิเลสไม่มีทางออกก็เข้าสู่อุโมงค์ อุโมงค์ที่เป็นที่อยู่เดิมของกิเลสคือจิต
ท่านว่าจิตอวิชชา รวมตัวลงไปที่นั่น
สติปัญญาตามต้อนเข้าไป ฟาดฟันหั่นแหลกลงไป
แม้กระทั่งจิต เอ๊า ถ้าจิตไม่ทนทานต่อการพิสูจน์
ไม่ทนทานต่อการพิจารณาด้วยสติปัญญา
จะแหลกเหลวไปเหมือนกิเลส บรรลัยไปเหมือนกิเลสก็ให้บรรลัยไป
จะเป็นหัวตอไม่รู้อะไรเลยก็ให้รู้ ขอให้กิเลสสิ้นไปก็แล้วกัน
จิตจะสิ้นไปด้วยจนไม่มีความรู้ติดตัวก็ให้รู้
มันจะเป็นหัวตอก็ให้รู้ทั้งๆ ที่ยังชีวิตอยู่
จะไว้หน้ากิเลสหรือจะสงวนจิตก็สงวนไม่ได้เพราะกิเลสฝังอยู่กับจิต
เมื่อถึงขั้นไล่กันเข้าไปจริงๆ แล้วอยู่ในจิต เอาให้แหลก
สติปัญญาฟาดฟันหั่นแหลกลงตรงนั้น
ขาดสะบั้นไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว
นี้แลคือแดนแห่งความพ้นทุกข์ จะไปหาที่ไหนกัน มันรู้ขึ้นมาเอง
หาธรรมหาที่ไหน กิเลสอยู่ที่ไหน มันรวมลงที่ใจดวงเดียว
กิเลสตัณหาอาสวะทั้งมวลขาดสะบั้นลง
ด้วยอำนาจของมหาสติ มหาปัญญา มหาวิริยะ
คือความเพียรกล้าตลอดเวลาไม่มีถอย



เมื่อสติปัญญาได้ฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลสวาระสุดท้าย ได้แก่อวิชชา
ซึ่งเป็นกิเลสที่แหลมคมที่สุด เพราะเป็นจอมกิเลส จนไม่มีเหลือแล้ว
นั้นแลแดนแห่งความพ้นทุกข์ นั้นแลความสิ้นเสร็จแห่งหน้าที่การงานในการฆ่ากิเลส
งานที่จะทำต่อไปนี้ไม่มี ท่านกล่าวในปริยัติธรรมว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ
, กตํ กรณียํ
พรหมจรรย์การประพฤติเพื่อความหลุดพ้นนั้นได้สิ้นเสร็จลงแล้ว
กิจอื่นที่จะทำให้ยิ่งกว่านี้ไม่มี



งานนี้สำเร็จได้ สิ้นสุดได้ ไม่เหมือนงานทั่วๆ ไปที่กิเลสตัณหาพาทำ
เกิดแล้วตายตายแล้วเกิด ก็ทำงานอยู่งั้นจนกระทั่งวันตาย
งานยังไม่เสร็จ เราตายไปเสียก่อนแล้ว เรื่องกิเลสพาทำเป็นอย่างนั้น
งานที่ทำด้วยธรรม งานถอดถอนกิเลสนี้มีวันสิ้นสุดได้
กิเลสสิ้นสุดลงไปเมื่อไร งานก็ยุติกันเมื่อนั้น
สติปัญญาที่เคยหมุนตัวเป็นเกลียวอยู่เหมือนกับธรรมจักรก็ยุติลงเอง
สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือความบริสุทธิ์ล้วนๆ เท่านั้น
สติปัญญาก็นำมาใช้ตามกาลตามเวลาตามความจำเป็น
ไม่ยึดไม่ถือทั้งสติทั้งปัญญา ไม่ยึดไม่ถือโดยประการทั้งปวง
ความสิ้นสุดวิมุตติหลุดพ้น หลุดพ้นกันที่ตรงนั้น
ไม่หลุดที่ตรงไหน หลุดพ้นที่จิตนั้นแล



วันนี้พูดธรรมะรู้สึกว่าเหนื่อยๆ ขอให้ทุกท่านได้นำไปพิจารณา
นี้ได้ปฏิสันถารต้อนรับท่านทั้งหลายอย่างเต็มภูมิ
แห่งความสามารถของผู้แสดงที่จะเป็นไปได้
ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอันใด ก็หวังว่าได้รับอภัยจากท่านทั้งหลายโดยทั่วกัน



จึงขอยุติการแสดงเพียงเท่านี้


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา https://bit.ly/368fw9m


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP