สารส่องใจ Enlightenment

ของมีอยู่เหมือนไม่มี



พระธรรมเทศนา โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
แสดงธรรม ณ วัดเจริญสมณกิจ จังหวัดภูเก็ต
เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ ตอนค่ำ




วันนี้ไม่ใช่วันพระแต่เป็นวัน ๔ ค่ำ ซึ่งเป็นวันอบรมกันเป็นพิเศษ
ฉะนั้นต่อไปนี้จะได้แสดงธรรมว่าด้วย ของมีอยู่เหมือนไม่มี ให้ฟัง
อันของมีอยู่เหมือนไม่มีนี้ ท่านว่าไว้มี ๔ อย่าง
คือ มีโคนม ๑ มีโคถึก ๑ ไปฝากไว้ให้เขาเลี้ยง
มีภรรยาเอาไปฝากในตระกูลพ่อปู่ ๑ มีเงินให้เขายืม ๑
ของ ๔ อย่างนี้นั้นมีเหมือนกะไม่มี
นั่นเป็นของภายนอกตั้งหลักสูตรไว้ให้เรานำมาคิด เทียบเข้ามาในตัวของเรานี้
ตัวของเราที่ว่าเป็นเรา เป็นของของเรานั้นเป็นจริงหรือไม่
จะเหมือนกับของสี่อย่างที่ว่ามีเหมือนไม่มีอย่างไร



คนเราเกิดมาเป็นหญิงเป็นชายแล้ว ก็ถือว่านั่นเป็นเรา เป็นของของเรา
แท้จริงเป็นของสูญเปล่า สมกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นอนัตตาทั้งนั้น
ที่ว่านั่นเป็นหญิง นั่นเป็นชาย หรืออะไรต่ออะไรนั้น
เป็นเพียงชื่อสมมุติในวงที่รู้กันแคบๆ เท่านั้น
เช่นคำที่เรียกว่า คนก็ดี ว่าหญิงว่าชายก็ดี จะรู้กันได้ก็แต่เหล่ามนุษย์ชาติเรานี้เท่านั้น
สัตว์เหล่าอื่นเขาหาได้รับรู้ด้วยพวกเราไม่ เขาจะเห็นพวกเราเป็นอะไรก็ไม่รู้
เหตุนั้นโดยมากเขาจึงพากันกลัวพวกเรา
ดังพวกเราที่กลัวสัตว์บางจำพวกที่ไม่เคยเห็นฉะนั้น



ดังเคยได้อธิบายมาให้ฟังแล้วว่าตัวคนเรานี้
เมื่อสิ่ง ๔ อย่าง คือ ธาตุทั้ง ๔ ประกอบควบคุมกันเข้าแล้ว ก็เป็นรูปเป็นตัวขึ้นมา
สิ่งทั้ง ๔ สลายตัวออกจากกันแล้ว รูปตัวก็ไม่มี เป็นธาตุ ๔ ตามเดิม
แต่ถึงกระนั้น เมื่อได้รูปตัวอันนี้มาแล้ว ก็เข้ารับเลี้ยงดูปกปักรักษา
ทะนุถนอมด้วยความเอาใจใส่เป็นพิเศษ
เพราะความหลงไม่รู้เท่าเข้าใจตามเป็นจริงเป็นเหตุ
อุปาทานเข้าไปถือมั่นว่านั่นเป็นเรา นั่นเป็นของของเรา
แต่รูปตัวนั้นก็หาได้รับรู้กับเราไม่ว่าเราหลงยึดถือเอามันเป็นของตัว



เรื่องรูปตัวเองที่ว่าเป็นอนัตตานี้ ถ้าเราวางจิตของเราให้เป็นกลาง
อย่าได้นึกคิดว่ารูปตัวอันนี้เป็นของเรา หรือเป็นของใครอะไรทั้งหมดแล้ว
มาตั้งสติพิจารณาให้เป็นธรรมแล้ว จะเห็นได้ง่ายอย่างชัดเจนทีเดียว
คือ พิจารณาตามอาการที่มันเป็นอยู่ทุกๆ อย่าง
เช่น เราเลี้ยงดูถนอมหอมรักมันอย่างดีที่สุดก็ดี
หรือเราเห็นโทษเกลียดชังมันอย่างขนาดหนักก็ดี นี่เรื่องของเราที่มีต่อมัน



คราวนี้เรื่องของรูปกายที่มีต่อเรา ใครจะทำอย่างไร ว่าอะไรก็ตามที
มันไม่รับรู้ด้วยเราทั้งนั้น หน้าที่ของมันจะต้องแก่ ก็แก่เรื่อยไป
ไม่มีเวลาพักผ่อนให้โอกาสแก่ใครเลยตลอดเวลา ตั้งแต่นาทีแรกปฏิสนธิจนตาย
ความเจ็บก็เช่นเดียวกัน เราจะพยายามรักษาสุขภาพอนามัยให้ดีที่สุด
ก็รักษาได้เพียงเปลี่ยนหน้าความเจ็บเท่านั้น เช่น เจ็บในเวลานั่งเราจะต้องนอน
เจ็บเวลานอนเราจะต้องลุกเดิน เจ็บในขณะเดินเราจะต้องยืนหรือนั่ง
เปลี่ยนเจ็บอยู่อย่างนี้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง หรือตลอดวันตาย (หมายความถึง ป่วยในอิริยาบถสี่)
หากเจ็บไข้ด้วยโรคอื่น มีเป็นไข้ เจ็บหัว ปวดท้อง เป็นต้น ก็เช่นเดียวกัน
แต่นั้นเป็นอาการเจ็บจรมาเป็นครั้งคราว
เจ็บดังกล่าวมาเป็นเบื้องต้นเป็นการเจ็บประจำ ซึ่งใครจะแก้ไขไม่ได้



ความตายก็เหมือนกัน ไม่ว่าหนุ่ม แก่ เด็กเล็กแดง
แม้แต่อยู่ในครรภ์ของมารดาซึ่งพ่อแม่ยังไม่ได้เห็นหน้าเลยก็ตายได้
ใครจะร่ำไห้บ่นทุกข์อย่างไร ความตายมันไม่รับรู้ทั้งนั้น
นี่ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้ง ไม่มีเรื่องปิดบังอำพรางแล้วว่า
รูปกายอันนี้เป็นของที่ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจของใครทั้งนั้น



ตาเล่าที่มองเห็นรูปสวยๆ น่ารัก ตามันรักสวยยินดีพอใจด้วยไหม
ถ้าหากตารู้จักรักรูปสวยงามและพอใจแล้ว
คนตาบอดก็คงจะหมดความชอบรูปสวยงามได้แล้ว หูฟังเสียงก็เช่นเดียวกัน
อายตนะทั้ง ๖
เมื่อพิจารณาโดยนัยนี้ทั้งหมดแล้ว
เขาจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการสัมผัสอายตนะภายนอกเลย
ที่เห็นรูปและฟังเสียงได้เป็นต้นนั้น
เป็นเพียงแสงสะท้อน คลื่นของเสียงกระทบ เป็นต้นเท่านั้น
ส่วนตาและหูเป็นต้น เป็นแต่เพียงดอกลำโพงหรือแว่นขยายเท่านั้น
หาได้มีส่วนอะไรกับเขาไม่
ตา หู เป็นต้น ก็มิใช่ของเรา และก็มิใช่ของมันเองอีกด้วย
เพราะมันเองก็ไม่มีสิทธิ์เสรีแก่ตัวเอง เพียงแต่เป็นเครื่องมือของคนอื่นเท่านั้น



ถ้าเช่นนั้นก็ใครเล่าเป็นผู้เห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้น
ก็วิญญาณต่างหากล่ะ เป็นผู้เห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้นเหล่านั้น
แต่แล้ววิญญาณก็ไม่ได้อะไรจากการเห็นและการได้ฟังเสียงนั้นๆ
วิญญาณทำหน้าที่เพียงเป็นผู้รู้ในการเห็นรูป ฟังเสียง ฯลฯ และหน้าที่อื่นๆ อีก
แล้วก็หมดหน้าที่ของวิญญาณไป
เหมือนกับลมมาปะทะต้นไม้ให้ปรากฏว่ามีลมเท่านั้น แต่ลมก็มิได้ติดอยู่ที่ต้นไม้นั้น



แล้วใครเล่าที่ว่ารูปสวยงามน่ารักน่าใคร่พอใจ เสียงไพเราะน่าเพลิดเพลินสนุกจริง
สัญญา สังขาร กับเวทนา ๓ อย่างนี้เป็นผู้รับหน้าที่ต่อ
แล้วทั้งสามนั้นได้อะไร ก็ไม่ได้อะไร
สัญญาเป็นเพียงประมูลได้ สังขารเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
เวทนา
เป็นเพียงผู้รับค่าจ้างเท่านั้น ตกลงก็ไม่มีใครได้อะไร
ถ้าอย่างนั้น ค่าแรงงานใครเป็นผู้ใช้จ่าย ก็จิตนั่นแหละเป็นผู้ใช้จ่าย
เมื่อจิตได้รับค่าแรงงานอันเวทนาหยิบยื่นให้แล้ว
จิตก็จะใช้จ่ายไปดูรูป ฟังเสียงเป็นต้นอีก
ยิ่งใช้จ่ายมากเท่าไร ก็จะได้ค่าแรงงานมากเท่านั้น


ค่าแรงงานที่จิตได้นั้นเป็นค่าแรงงานลม เพราะจิตก็ไม่มีวัตถุ เป็นตัวลมเหมือนกัน
ลมได้ลมมาเป็นสมบัติก็ไม่มีวันอิ่มวันเต็มได้
ตกลงลมได้ลม ลมยึดลม ลมเกิดขึ้น แล้วลมก็ดับไปเอง
ไม่มีใครเป็นคนได้คนเสีย เป็นอันจบกันที

เรื่องของมีอยู่เหมือนกับไม่มี มันเป็นอย่างนี้
ว่าไม่มีก็ปรากฏอยู่ ว่ามีเถอะก็ไม่เห็นได้อะไร
ทำอย่างไรเมื่อไม่ได้ ไม่เห็นผลแล้ว ตามธรรมดาก็ต้องล้มเลิกกัน
แต่เรื่องของอนัตตาแล้ว ไม่รู้จักล้มเลิกเป็น ยิ่งทำไม่เห็นผลก็ยิ่งแต่ขยัน
จนเรียกว่าหลงว่าเมาเอา จนควันหลงควันเมาเข้าตาก็ไม่เห็นเสียเลย



มีปัญหาต่อไปว่า เมื่ออะไรๆ ก็เป็นอนัตตา และไม่มีใครได้ใครเสียแล้ว
ก็อะไรจะมาหลงมาเมาอยู่อีกเล่า
ความหลงความเมาอนัตตานั่นแหละยังเหลืออยู่
ถ้าหากรู้อนัตตาเสียแล้ว ความหลงความเมาก็หายไป
อัตตาและอนัตตาก็ไม่มี

คราวนี้ของไม่มีกลับเป็นของมีขึ้น คือ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง เป็นต้น
ดังได้อธิบายมานั้น ต่างก็ไม่มีและไม่มีผู้ได้ผู้เสีย
เป็นแต่ของเหล่านั้นสืบเนื่องเป็นปัจจัยแก่กันและกัน
แล้วทำให้เกิดปฏิกิริยาขึ้นมา เป็นไปในรูปต่างๆ

ทำให้จิตหลงเข้าใจผิด เข้าไปยึดถือเอาด้วยอาการต่างๆ
ที่เรียกว่าอัตตานุทิฏฐิ เลยกลายเป็นกิเลส
อุบายแยกอัตตา ถือว่ามีตนมีตัวด้วยความเข้าใจผิด
เป็นเส้นชีวิตของสัตว์ทั้งหลายแต่ตั้งโลกมา
โลกอันนี้จะตั้งเป็นโลกอยู่ได้ ก็เพราะความถือนั้น
ศาสดาในโลกทั้งหมดก็ต้องมีมติอย่างนั้น
พระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น เป็นผู้ทรงรู้เห็นอุบายนี้ก่อนคนอื่นๆ


ฉะนั้นเป็นโชคดีแล้ว ที่พวกเราพากันได้พระศาสดาที่มีหูตาสว่างกว่าศาสดาอื่นๆ
และพวกเราก็ได้มาเลื่อมใสตั้งใจปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์
ยังเหลืออย่างเดียวว่าทำไฉนพวกเราจะเข้าถึงธรรมของพระองค์
เห็นรูปกายอันนี้เป็นตัวอนัตตา ตามที่พระองค์ท่านแสดงไว้
เมื่อพวกเราพากันหยิบยกเอารูปกายตัวตนอันนี้ขึ้นมาพิจารณา
ตามนัยที่ได้แสดงมาแล้วข้างต้น
ก็คงไม่เป็นของเหลือวิสัย อย่างน้อยอาจมองเห็นทางแห่งอนัตตา
เพราะอุบายนี้เป็นทางตรงเข้าถึงความเป็นจริงทุกประการ



ดังแสดงมาสมควรแก่เวลา เอวํฯ


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๖ ใน ธรรมเทศนาของพระนิโรธรังษีคัมภีรปัญญาจารย์
จากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงอรรถสุนทรกิติกวี เมื่อ ๕ ตุลาคม ๒๕๐๗
.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP