จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๑๕ เหตุใด... จึงไม่อยากมีลูก


dlite_27

ผมเขียนประเด็นเกี่ยวกับการไม่อยากมีลูก
ไว้ใน
twitter@dungtrin
แต่ยังไม่ชัดเจนด้วยขนาดจำกัดของเนื้อความ
จึงขอนำมาขยายความในบท บ.ก. วันนี้
เพราะเห็นว่ามีหลายคนให้ความสนใจครับ
ก่อนอื่นขอบอกว่าเป็นการจับเอามุมมองหนึ่ง
ของผู้คนที่สนใจการเจริญสติเพื่อความพ้น
อาจไม่เข้ากันกับสามัญสำนึกทั่วไป
และคำอธิบายนี้อาจช่วยให้นักเจริญสติหลายคน
ได้เข้าใจถึงที่มาที่ไปว่าเหตุใดตนจึงไม่อยากมีลูก

โดยรากอันเป็นที่สุด
ถ้าธรรมชาติออกแบบเหตุปัจจัย
ให้สิ่งมีชีวิตอยากสืบทอดเผ่าพันธุ์ไม่สำเร็จ
ก็แปลว่าทุกอย่างล้มเหลวตั้งแต่เริ่ม

แต่สังสารวัฏ
อันหมายถึงวัฏจักรแห่งมหันตทุกข์นั้น
มีมานานเป็นอนันตกาล
ก็พิสูจน์ตัวอยู่แล้วว่า "กลไกสืบทอดทุกข์"
ต้องมีระบบที่ทรงพลังสูงสุด
ขับเคลื่อนไปโดยยากที่จะฝืนต้านที่สุด

เชื้อเพลิงที่จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ในสังสารวัฏนั้น
ไม่มีสิ่งใดดีไปกว่ากามราคะ
และพันธะอันเป็นผลติดตามมาจากการอยู่ร่วมกัน
ก็ไม่มีสิ่งใดเหนียวแน่นไปกว่าลูกสาวลูกชาย

ระบบสืบทอดทุกข์ที่ได้ผลที่สุดที่ว่ามานี้
ไม่มีใครออกแบบ ไม่ได้เป็นบุญ ไม่ได้เป็นบาป
แต่เป็นต้นกำเนิดของบุญบาป
ซึ่งเป็นผู้ออกแบบภพภูมิทั้งหลาย

ณ จุดที่ยังไม่มีความถูกความผิด
กลายเป็นต้นกำเนิดของความถูกความผิด
มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย
มีคำสั่งหนึ่งฝังใจมาในระดับสัญชาตญาณ
ว่าตนเองมีพันธะจะต้องรับผิดชอบ
เกี่ยวกับการสืบทอด
เป็นเครื่องผูกมัดที่มองไม่เห็น
แต่รู้สึกได้ชัดเจนที่สุด

ในระดับของสิ่งมีชีวิตชั้นล่าง
สัญชาตญาณในการสืบพันธุ์ไม่ต้องการคำอธิบาย
เมื่อถึงช่วงเวลาของการผลิตทายาทรุ่นต่อไป
สัตว์ทั้งหลายจะเข้าสู่กระบวนการที่ถูกเตรียมไว้แล้ว
โดยไม่ต้องคิดด้วยซ้ำว่าทำไปเพื่อตัวเอง
หรือว่าเพื่อวงศ์ตระกูลใด
มันเป็นหน้าที่บังคับ
ที่มาในรูปของความหงุดหงิดถ้าไม่ได้ทำ
ไม่ได้ระบายเชื้อพันธุ์ของตนออกไป

แต่ในระดับของสิ่งมีชีวิตชั้นบน
การสืบทอดเผ่าพันธุ์จะมาในรูปของสำนึกรับผิดชอบ
เกี่ยวข้องกับการสืบวงศ์ตระกูล
ถ้าใครไม่ยอมรับเงื่อนไขทาง "ธรรมชาติ" นี้
ก็ถึงกับโดนก่นด่าจากญาติผู้ใหญ่
ว่าเป็นลูกเนรคุณ
ไม่ยอมสืบทอดวงศ์ตระกูลกันเลยทีเดียว

กระบวนการและความปรารถนาจะมีความซับซ้อน
มนุษย์น่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวบนโลก
ที่มีความรู้สึกเฉพาะตนได้ว่า
อยากมีหรือไม่อยากมีลูก
หรือกระทั่งออกอาการ "ปฏิเสธ"
สัญชาตญาณการมีลูกได้

การ "อยากมีลูก" นั้นไม่ใช่เรื่องน่าสงสัย
เพราะรู้ๆกันอยู่ว่าเป็นเรื่องระดับสัญชาตญาณ
เห็นลูกคนอื่นน่ารักแล้วอยากมีลูกของตัวเองบ้าง
หรือที่ผู้หญิงส่วนใหญ่จะไม่รู้สึก
ว่าตนเป็นหญิงอย่างสมบูรณ์
หากไม่ได้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเด็กสักคน

แต่การ "ไม่อยากมีลูก" คือเรื่องชวนฉงน
เพราะเป็นเรื่องสวนทางกับสัญชาตญาณมนุษย์
ตัดเรื่องความรู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถรับผิดชอบ
ตัดเรื่องความรู้สึกว่าตนไม่มีความแข็งแกร่งแบบพ่อ
ตัดเรื่องความรู้สึกว่าตนไม่มีความเอาใจใส่แบบแม่
ก็ยังมีความรู้สึก "ไม่อยากมีลูก" อยู่ดี
เป็นความรู้สึกที่ชัดเจนเป็นจริงเป็นจัง
ไม่ใช่แค่ชั่ววูบชั่ววาบ

บางคนรักเด็กมาก ชอบเล่นกับเด็กมาก
หรือกระทั่งรับอุปการะเด็กได้
แต่กลับไม่มีความต้องการลูกของตัวเองสักนิดเดียว
ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
?

เพื่อเข้าให้ถึงคำตอบ
เราต้องถอดเอาความรู้สึกแบบบุคคลออกไป
เหลือแค่ความรู้สึกไม่อยากมีพันธะ ไม่อยากพัวพัน
ไม่อยากให้มีการ "เกิดขึ้นอีก"
แม้กระทั่งจะให้ตนเป็น "แดนเกิด" ของใครก็ตาม
นี่นับเป็นเรื่องสวนทางกับการ "สืบต่อ" หรือ "สืบทอด"
ซึ่งถูก "บังคับ" ไว้โดยธรรมชาติของสังสารวัฏ
และมักถูกมองว่าเป็นความไม่รับผิดชอบ
หรือเป็น "สิ่งผิดปกติ" หรือกระทั่ง "ความผิด" ได้
หากมองจากมุมของผู้ที่รับผิดชอบตามธรรมชาติ

ถ้าเชื่อว่าการปฏิวัติทางความรู้สึกไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
ก็อธิบายได้จากมุมหนึ่ง
คือ ก่อนเกิดมาในครั้งนี้
เคยเป็นผู้พยายามถอดถอนตนจากกระบวนการเกิดตาย

อย่างเช่นพระที่มีความอุตสาหะ
เพียรเจริญสติตลอดชีวิตที่เหลือ
เห็นกายใจเป็นเพียงสิ่งเกิดดับ
ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขา
มีแต่ทุกข์เกิดขึ้น มีแต่ทุกข์ดับไป
กระทั่งไม่เหลือความอยากเกิดใหม่
แต่ก็ยังต้องเกิดอีกเพราะไปไม่ถึงอรหัตตผล

กรรมอันได้แก่การเจริญสติได้ผล
แต่ไม่ถึงที่สุดของผล
ย่อมบันดาลให้เกิดจิตในชาติใหม่
ที่มีสัญชาตญาณในการตัดห่วงโซ่
อะไรที่จะเป็นชนวนแห่งการสืบทอด
ก็ถูกถอดถอนออกไปแต่อ้อนแต่ออก
ถ้าบารมีในการเจริญสติแก่กล้าจริงๆ
ก็ถึงขั้นอยากออกบวชตั้งแต่เป็นเณรเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม
การไม่อยากมีลูก แต่อยากมีความสุขแบบโลกๆ
ยังหมกมุ่นอยู่กับกามคุณ ๕
เป็นเครื่องแสดงว่าแค่ไม่อยากแบกภาระ
อยากสนุกแบบฉาบฉวย
เป็นคนละเรื่องกันกับการไม่อยากเกิด
และไม่อยากเป็นแดนเกิดให้ใคร

แล้วกรรมก็เป็นเรื่องพิสดารครับ
บางคนอยากมีแต่กลับไม่มี
บางคนไม่อยากมีแต่กลับมีเอาๆ
ถ้าจำแนกโดยกรรมก็พอรวบรัดคร่าวๆได้ดังนี้

๑) ไม่อยากมี และไม่มีใครเร่งรัด
คือพวกที่ไม่ได้บังคับใครไว้ก่อน
จึงอยู่ในตระกูลที่ไม่เดือดร้อนเรื่องมีหรือไม่มีทายาท

๒) ไม่อยากมี แต่ถูกผู้ใหญ่บังคับ
คือพวกที่ทำกรรมอันยังต้องมีพันธะ
ต้องเลือกเอาระหว่างรับผิดชอบกับพันธะ
กับความรู้สึกผิดที่ถูกตราหน้าว่าไม่กตัญญู

๓) ไม่อยากมี แต่มาด้วยความบังเอิญ
หรือไม่ก็เป็นหญิงที่ถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์
ข้อนี้ขอละต้นเหตุไว้
เพราะเป็นเรื่องสะเทือนใจสำหรับหลายๆคน

๔) อยากมีแล้วได้มาสมใจ
เป็นคนปกติที่ไม่มีกรรมอะไรเป็นพิเศษ
ที่ทำให้แตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไป

๕) อยากมีแต่อย่างไรก็ไม่มา
มีได้หลายเหตุปัจจัยมากๆ จาระไนไม่หมด
บางคนเคยตอนสัตว์ไว้เยอะ
ด้วยความหวังดี ไม่อยากให้ลูกแมวลูกหมายั้วเยี้ย
หรือบางคนเคยเป็นแม่ เลี้ยงลูกหลายคนจนเหนื่อย
แล้วรู้สึกว่าไม่อยากมีลูกอีกแล้ว
ด้วยบุญที่เลี้ยงเด็กให้เติบโตไว้เยอะ
พอประกอบกับความอิดหนาระอาใจไม่อยากมีอีก
แล้วลูกๆก็ไม่ได้ทำให้ชื่นใจในชั่วชีวิตที่เหลือ
เกิดใหม่ก็มีแนวโน้มเป็นหมัน
หรือถึงไม่เป็นหมันก็ไม่มีเด็กมาเข้าท้อง
เพราะกรรมเก่าปิดกั้นภาวะแดนเกิดไว้ เป็นต้น
แต่บางทีก็ไม่ใช่เรื่องกรรมเก่า
เป็นเรื่องของความไม่เหมาะสมที่จะเป็นแดนเกิด
การจับคู่กันระหว่างชายหญิงนั้น
ไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคนอย่างที่เห็นเผินๆ
แต่เป็นเรื่องโอกาสที่บุคคลแบบไหน
จะได้ที่เกิดที่เหมาะกับตนด้วย

ผมเห็นมาหลายแบบนะครับ
บางคู่อยากมีลูกแล้วได้มี
แต่ต่อมามีโอกาสเจริญสติร่วมกัน
เสียอกเสียใจที่มีไปแล้ว
(แต่ก็ยังรับผิดชอบลูกอย่างดีที่สุด)
ส่วนบางคู่อยากมีลูก
พยายามแค่ไหนก็มีลูกไม่ได้
กระทั่งมาเริ่มเจริญสติร่วมกันใหม่
จึงค่อยมองย้อนกลับไปว่าไม่มีลูกน่ะดีแล้ว

เขียนยาวแค่ไหนก็ไม่จบครับ
สรุปง่ายๆว่าการเกิดเป็นทุกข์ การตายเป็นทุกข์
ในมุมมองของอริยะ นี่คือความจริงที่น่าสนใจที่สุด
จึงได้ชื่อว่า "อริยสัจจ์"
ผู้เจริญสติแจ่มแจ้งแล้ว
ย่อมข้ามพ้นข้อขัดแย้งทางใจ
แต่ก็มีความเข้าใจชัดเจนด้วยว่า
การตอบแทนคุณผู้ให้กำเนิดมีความสำคัญอย่างใหญ่หลวง
และการเลี้ยงดูบุตรธิดาอันเกิดจากตนแล้ว
ก็ไม่มีข้ออ้างใดมาหลบเลี่ยงได้ทั้งสิ้น

ดังตฤณ
ธันวาคม ๕๒


 

 

การได้เกิดในอัตภาพมนุษย์ อาจยังไม่ใช่มนุษย์ที่สมบูรณ์
หากขาดศีล ๕ อันเป็นคุณธรรมพื้นฐานของความเป็นมนุษย์
คอลัมน์ "สารส่องใจ" ฉบับนี้
พบธรรมะจาก "หลวงพ่อพุธ ฐานิโย"
ในตอน "การปฏิบัติเพื่อเอาดีกับพระพุทธเจ้า" ค่ะ (-/\-)

เคยดูความคิดตัวเองแล้วเหนื่อยกันบ้างไหมคะ?
นักภาวนาบางท่านมีอาการเช่นที่ว่านี้ค่ะ
ในเมื่อความคิดเป็นเรื่องที่บังคับไม่ได้ สั่งให้หยุดคิดก็ไม่ได้
แล้วต้องทำอย่างไร จึงจะหายเหนื่อย (+_+!)
อ่านคำแนะนำจาก "คุณดังตฤณ" ได้ที่คอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ในตอน "เห็นว่าคิดตลอดเวลาแล้วเหนื่อย" ค่ะ

คอลัมน์ "กระปุกออมสิน" ฉบับนี้
ขอเสียงปรบมือดังๆ ต้อนรับนักเขียนใหม่ "คุณ Mr.Messenger"
ในชื่อตอนชวนติดตาม "การออมและการลงทุน ความเหมือนที่แตกต่าง"
ถ้าพร้อมติดตามกันแล้ว คลิกอ่านในฉบับได้เลยค่าาา

ห่างหายไปนาน จนเริ่มมีเสียงบ่นคิดถึง
คอลัมน์ "เข้าครัว" ฉบับนี้
"คุณหมอพิมพการัง" กลับมาพร้อมกับความรู้คู่บุญกุศลอีกเช่นเคย
ในตอน "น้ำปานะ ๒ - นม น้ำเต้าหู้ ไมโล โอวัลติน" ค่ะ (^_^*)



 

ข่าวสารและกิจกรรมที่น่าสนใจ

วันพุธที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๒ ขอเชิญชาวเชียงใหม่และผู้สนใจ
เข้าร่วมฟังธรรมเทศนา จาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ณ พุทธสถาน จ.เชียงใหม่ เวลา ๐๙.๐๐ น.
เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่เวลา ๐๗:๐๐ น. ถึง ๐๘:๓๐ น. ค่ะ (^/\^)

----------------------------------------

โครงการ "ก่อนเที่ยว เกี่ยวเพื่อน" โดย สภากาชาดไทย
ขอเชิญชวนบริจาคเลือดช่วงก่อนปีใหม่นี้ เพื่อเตรียมรับมือ ๗ วันอันตรายกันค่ะ :-)
ท่านผู้ต้องการสละโลหิตเป็นทานเพื่อเพื่อนร่วมสังสารวัฏ
เชิญอ่านรายละเอียดได้ที่นี่นะคะ http://bit.ly/8H6Ho4
แถมท้ายด้วย สาระหน้ารู้เรื่องการเตรียมตัวก่อนและหลังการบริจาคโลหิต
เผื่อทุกท่านที่สนใจไว้ตรงนี้ด้วยค่ะ http://bit.ly/5vVbJu
อนุโมทนากับทุกๆท่านล่วงหน้าด้วยนะคะ *^__^*

----------------------------------------

มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ จัดค่ายฟื้นฟูเด็กสมองพิการ ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๙ ธันวาคมนี้ ที่ จ.ฉะเชิงเทรา
จึงขอเชิญชวนผู้ใหญ่ใจดี ร่วมกันเป็นเจ้าภาพอาหารสำหรับผู้เข้าร่วมค่ายค่ะ
http://bit.ly/7IwzRY, http://www.hoytakpoolom.org/N%20index%2014.htm


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP