ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

กรรมใดที่ทำให้ผู้ที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนากลับไปหลงเชื่อคนที่สอนผิด



ถาม - กรรมใดที่ทำให้คนที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว
แต่กลับเชื่อคนที่สอนผิด แม้มีผู้บอกสิ่งที่ถูกก็ยังเปลี่ยนความคิดเขาไม่ได้เลยครับ


อันนี้ก็เห็นมาเยอะนะ
คืออย่างช่วงที่แล้ว มีคน ๒-๓ คน มาพูดในเวลาไล่เลี่ยกันเลยนะ
บอกว่าเห็นคนรอบตัวแล้วเสียดายมาก
ว่าไม่สามารถมาสนใจพุทธศาสนาได้เลย แล้วอายุก็มากแล้ว
นึกว่าพอแก่ๆ ไปจะมาสนใจธรรมะได้เอง
เปล่าเลยนะ ยิ่งแก่มันยิ่งกลายเป็นบอกว่านี่ไม่ใช่ทาง ไม่ใช่วิถีชีวิตของฉันหรอก
แล้วก็มีความทุกข์ หรือว่าตายแบบหลงทาง เสียไปชาติหนึ่ง
ทั้งๆ ที่บางคนดูเป็นคนมีบุญนะ หน้าตาอิ่มเอิบ แล้วก็ฐานะอะไรก็ดี
ประสบความสำเร็จชีวิตมาก็มาก
แต่สุดท้ายเหมือนกับตายไปกับความเคว้งคว้าง
คือช่วงก่อนตายเห็นเลยนะ คนที่ไม่มีศาสนาหรือว่าไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ
มันเหมือนกับบอกตัวเองไม่ถูกว่าจะตายอย่างไร
ที่อยู่มานี่เก่ง รู้ว่าจะอยู่อย่างไร แต่ตอนตายไม่รู้จะตายอย่างไร
พอไม่มีหลักทางศาสนา ไม่มีอะไรที่ใหญ่กว่าชีวิตตัวเอง
มาให้ยึดเหนี่ยวในช่วงท้ายๆ นี่นะ หลงทางกันหมด



ทีนี้ ที่น่าเสียดายกว่าคนพวกที่ไม่สามารถสนใจศาสนาได้
ก็คือคนที่สนใจศาสนาแล้ว แต่ไปเจอคำสอนผิดๆ
ทีนี้ประเด็นคืออย่างนี้ เวลาเราเสียดายว่าใครเขาไปยึดหลักการผิดๆ หรือว่าครูผิดๆ
เวลาเขามองย้อนกลับมาเขาก็มองว่าเรานี่ไปไม่ถึงเขา
คือบางทีเครื่องตัดสินของแต่ละคน
มันเป็นไปตามวาสนาที่มันดึงกันไม่ได้ มันช่วยกันไม่ได้จริงๆ
คนที่จะมีความมั่นใจในตัวเองได้จริงๆ
คือคนที่แน่ใจว่าตัวเองฟังคำสอนมาจากพระพุทธเจ้า
แล้วมันเมคเซนส์ (
make sense) มันตรงกันกับความรู้สึกตามสามัญสำนึกแบบมนุษย์
ที่มีเหตุมีผล เข้าใจอะไรต่อมิอะไรได้
ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรที่มันเป็นกุศล อะไรที่มันเป็นอกุศล


ทีนี้อย่างคนที่เขาไม่ได้ศึกษาว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างไร
บางทีเขาก็อาศัยความเชื่อแบบดิบๆ
คือพอยึดอาจารย์หรือว่ายึดความรู้สึกอันเป็นอัตโนมัติของตัวเองแล้ว
ความรู้สึกดิบๆ ที่มันเป็นก้อนความเชื่อที่มันเหนียวแน่น
มันไม่สามารถจะไปแงะออกด้วยวิธีที่เราไปพูดว่าสิ่งที่ถูกมันคืออย่างนี้
เพราะทันทีที่เราพูดว่าสิ่งที่ถูกคืออย่างนี้ มันถูกมองเลยว่า เนี่ย
! แกก็มองตามมุมของแกน่ะสิ
เขาก็มองว่าสิ่งที่เรามองนั่นน่ะมันผิดในมุมมองของเขา


เพราะฉะนั้นคือลักษณะของกรรม บางทีนะ
อย่างในอดีต ทุกคนเคยนับถือครูบาอาจารย์ผิดๆ
หรือว่าเคยสนับสนุนให้คนอื่นทำอะไรผิดๆ เชื่ออะไรผิดๆ มาก่อน
แล้วเวลาที่มันจะเผล็ดผล บางทีมันมาเผล็ดผลเอาชาติที่พบพุทธศาสนานี่แหละ
คนที่เจอทางถูกมาตั้งแต่ต้น ส่วนใหญ่เป็นพวกที่โชคดี
ในอดีตเคยได้นับถือครูบาอาจารย์ถูก
หรือเคยได้ฟังธรรมมาจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
พวกนี้จะมีภูมิคุ้มกันที่หนาแน่น
ต่อให้หลงพลัดไปเจอคำแนะนำอะไรผิดๆ
หรือว่าเป็นมิจฉาทิฐิ ไม่นานก็สามารถถอนออกมาได้
เพราะส่วนลึกมันช่วยดึงขึ้นมาจากหล่ม ส่วนใหญ่นะเอะใจได้เองนะ
เพราะฟังคนอื่นเตือนไม่เท่ากับใจตัวเองเตือนนะ
มันจะมีสติแบบหนึ่ง ที่มันงัดขึ้นมาจากหล่มตรงนั้น



แต่ถ้าเขาเคยไปนับถือครูที่ผิด
แล้วก็ส่งเสริมสนับสนุนให้การช่วยเหลือในขบวนการแบบนั้นๆ
มาแบบต่อเนื่องยาวนานทั้งชีวิต โอกาสที่มันจะมืดมิดต่อก็สูงนะครับ
เว้นแต่ว่าจะเจอคนที่มีบารมีจริงๆ
แล้วเกี่ยวข้องกันกับเขาในแบบที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูล เคยช่วยงัดกันมา
อย่างพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นนะ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
ท่านเคยช่วยคนคนนี้มาแล้วให้พ้นจากความหลงผิดในชาติอื่นๆ อะไรมา
นี่ก็เรียกว่ามีความเกี่ยวข้อง มีความเกี่ยวพันกันมา
พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่าอย่างที่คนนึกกันว่าพบพระพุทธเจ้า มีแต่ดีกับดีนะ ไม่ใช่นะ
นึกว่าพบพระพุทธเจ้าแล้วทุกอย่างลอยลำ ตัวเองรอดได้เข้านิพพาน
ได้บรรลุมรรคผลเร็วต่อหน้าพระพุทธองค์ ไม่ใช่เสมอไปนะ
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่าถึงแม้พบเรา แต่ถ้าไม่มีวาสนาต่อกันก็ไปกันต่อไม่ได้
บางคนนี่พระพุทธเจ้าสอนอยู่ นั่งขีดทรายเล่นอย่างนี้ หรือว่าบางคนนั่งมองดูดาว
ชมนกชมไม้ ไม่ฟังพระพุทธองค์ อย่างนี้ก็มีนะ
อันนี้คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสจริงๆ นะ ไม่ใช่ว่ามาอุปมาอุปไมยอะไรกัน


แม้กระทั่งพระพุทธเจ้ายังช่วยคนบางคนไม่ได้เพราะไม่มีวาสนาต่อกัน
เราก็ต้องตั้งความหวังไว้อย่างนั้นเช่นกัน
ว่าเราก็คงเอาใครออกมาจากความหลงผิดไม่ได้หรอก
เพราะเราคิดว่าเขาหลงผิด เขาก็คิดว่าเรากำลังหลงผิด ต่างคนต่างนึกว่าหลงผิด
ทีนี้ที่ตัดสินจริงๆ นอกจากเรื่องคอมมอนเซนส์ (
common sense)
มันก็คือเรื่องของทุกข์ทางใจ ถ้าใจเรายิ่งวันยิ่งเบาลงๆ กิเลสมันเบาลง
ความหลงเข้าใจว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวเป็นตนมันเบาลง
เรามั่นใจเถอะว่ามาตามทางที่พระพุทธเจ้าท่านปูทางไว้ให้


แต่ถ้ามันยังมีความยึดมั่นถือมั่น มันยังโน่นนี่นั่น แล้วหนักอยู่
อันนี้ก็เราก็บอกตัวเองว่าเรายังไม่พ้น
จากความเป็นพวกที่เรามองว่าเขายังหลงอยู่ มันยังไม่หนีกันเท่าไหร่
เพราะว่าถ้าตายไปด้วยความที่หนักแบบนี้ เดี๋ยวมันก็กลับมาหนักได้อีก
แล้วเป็นแบบพวกเขาได้อีก มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนข้างจากถูกเป็นผิดได้เสมอ
อันนี้คือพูดง่ายๆ ว่าเราเห็นเขาแล้วย้อนมาดูตัวเรา
ว่าของเขาน่าสลด ของเราก็จะน่าสลดได้ ถ้าหากว่าเรายังไม่พ้นไปนะครับ

ทุกครั้งให้มันเป็นตัวกระตุ้นก็แล้วกันว่าสังสารวัฏมันน่ากลัวจริงๆ
ถ้าเรายังไม่สามารถที่จะพ้นจากความหนักแห่งการยึด
มันไม่มีทางที่จะเบาแบบนิพพานได้เลย



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP