สารส่องใจ Enlightenment

เพียรสอดส่องมองย้อน (ตอนที่ ๓)



พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๒




เพียรสอดส่องมองย้อน (ตอนที่ ๑)
เพียรสอดส่องมองย้อน (ตอนที่ ๒)



ดังนั้นการภาวนามันจึงเป็นกิจที่เราจะต้องทำโดยตรงเลย
ถ้าผู้ใดไม่ฝึกหัดภาวนาอย่างว่านี่ มันก็ไม่มีทางพ้นจากทุกข์ในสงสารอันนี้ไปได้เลย
ทำบาปทำกรรมอยู่อย่างนั้น จะต้องเป็นผู้ทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง ติดตัวไปอยู่อย่างนั้น
แล้วบัดนี้ก็ได้เสวยทั้งสุข ได้เสวยทั้งความทุกข์ สับสนปนเปกันไปอยู่อย่างนั้นนะ
นี่ลองคิดดูให้ดี มันเป็นอย่างนี้แหละ บุคคลผู้ไม่ฝึกฝนจิตตนเอง
แต่มันก็ไม่ใช่ว่าคิดชั่วอยู่ตลอดเวลาหรอก แต่คราวคิดดี มันก็คิดดีก็ทำดีไป
แต่ใจที่ไม่ได้ฝึกให้ตั้งมั่น แล้วเมื่อเวลาเรื่องชั่วมากระทบเข้า มันหากทนไม่ไหว
มันหากคิดชั่วไปตามเรื่องชั่วนั้นเสีย ให้เข้าใจ
ทีนี้จิตที่ฝึกฝนให้ตั้งมั่นลงไปอยู่ในกุศลธรรมแล้ว
เวลาเรื่องชั่วกระทบกระทั่งเข้ามา มันไม่หวั่นไหว มันก็รู้เท่าทัน
รู้ว่าเรื่องนี้ชั่วไม่ควรยึดเอามาไว้ มันจะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นในใจ
เมื่อมันรู้อย่างนี้มันก็ปล่อยทิ้งเลย ไม่ยึด ไม่วิตกวิจารณ์ไป
ไม่เสียใจ ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไปตามเรื่องชั่วที่บุคคลอื่นหยิบยื่นเอามาให้นั้น



เมื่อทำได้อย่างนี้ ผู้นั้นก็รักษาบุญกุศลความดีไว้ในใจของตนสม่ำเสมอไป
สิ่งใดชั่วก็ไม่ยึดถือเอาอย่างนี้ จึงเชื่อว่าได้ปฏิบัติตามพุทธโอวาท
ศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐในโลกโดยแท้จริง
จุดมุ่งหมายของพระพุทธเจ้านั่นน่ะ ก็เพื่อที่จะให้พุทธบริษัททั้งหลาย
ได้เพียรพยายามละกรรมอันชั่วออกจากกาย วาจา ใจของตน
แล้วก็สอนให้เพียรพยายามกระทำกรรมอันดี ที่เป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น
ให้เกิดมีขึ้นในกาย วาจา ใจของตนแล้ว
ให้เพียรพยายามชำระใจอันนี้ให้ผ่องใสสะอาด
ปราศจากกิเลส ตัณหา อวิชชาน้อยใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสุดท้าย
อันข้อปฏิบัติข้อสุดท้ายนี่นะ มันก็แล้วแต่กำลังความสามารถของแต่ละบุคคล
จะชำระจิตของตนให้หมดจดจากกิเลสตัณหาได้มากน้อยเพียงใด
อันนั้นก็ไม่เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เหมือนอย่างการละความชั่ว



เมื่อบุคคลมาเพียรพยายามละกรรมอันชั่วออกจากกาย วาจา ใจได้แล้ว
ตั้งหน้าทำแต่ความดีอันนี้สำคัญมาก
เพราะว่าเมื่อบุคคลละชั่วได้แล้ว ตั้งหน้าทำความดีเรื่อยไปแล้ว
อย่างนี้มันก็เป็นการชำระจิตอยู่ในตัวเลยบัดนี้
อาศัยบุญกุศลความดีต่างๆ หมู่นี้แหละ
เมื่อมันเกิดขึ้นในใจแล้ว มันก็กำจัดกิเลสออกไปเรื่อยๆ ไป
แต่ว่ามันไม่ได้กำจัดทีเดียวหมดไปเลยได้
มันค่อยกำจัดออกไปทีละน้อยๆ ออกไปอยู่อย่างนั้นแหละ
เพราะว่าอินทรีย์มันยังไม่แก่กล้าพอนะ
มันก็จะไปกำจัดกิเลสให้ขาดจากสันดานในครู่เดียวขณะเดียวได้
อย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องให้เข้าใจ
ก็เราจึงต้องเพียรพยายาม เพียรพยายามไปเรื่อยๆ แหละ
เมื่อเราจับต้นทางได้แล้วนะ เหมือนอย่างบุคคลเดินทาง
เมื่อเราจับต้นทางที่ถูกต้องตามเป้าหมายที่เราจะต้องไปได้แล้ว
ก็พยายามเดินไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะมีการพักผ่อนบ้าง
ก็ได้ตั้งใจอยู่เสมอว่า เราจะพักผ่อนเพียงชั่วคราวเท่านั้น
เมื่อมีแรงแล้วก็จะเดินทางต่อไป จนถึงจุดหมายปลายทาง
นี่ตั้งใจไว้อย่างนั้่นแล้ว เมื่อพักผ่อนไปมีแรงแล้วก็เดินทางต่อไป



นี่สำหรับผู้เดินทางไกลมันก็ต้องอย่างนั้นแหละ
มันก็จึงถึงจุดหมายปลายทางได้ ข้ออุปมาฉันใดก็อย่างนั้นแหละ
ก็เมื่อบุคคลมาบำเพ็ญทางจิตใจไป
พยายามเพ่งจิตอย่างที่แสดงมาแล้วนั้นแหละ
ข่มจิตอดกลั้นทนทานต่อความคิดความนึกต่างๆ
ที่มันเคยคิด เคยฟุ้งซ่านมาแต่ก่อน
พยายามอดกลั้นทนทานไป พากเพียรเพ่งพินิจเข้าไป
ไอ้อย่างนี้มันก็เหนื่อยใจพอได้เหมือนกัน
หมายความว่าอย่างนั้นแหละ เหมือนอย่างบุคคลเดินทางนั่นแหละ
เดินๆ ไป ทั้งร้อนทั้งเหนื่อยเหมือนกัน
แต่ว่าอดไปทนไป ถ้าไม่เหลือวิสัยจริงๆ อันนี้ก็เหมือนกัน
การฝึกจิตใจนี่ ถ้าไม่เหลือวิสัยจริงๆ ก็อดทนเพ่งพินิจอยู่ภายในนั่นน่ะ
ถ้าไม่อดไม่ทนไม่ได้นา เพราะว่ากิเลสมันมีพิษมันร้อน
เมื่อกิเลสมันกำเริบขึ้นมา มันก็ทำให้จิตนี้ร้อนผ่าวไปอย่างนั้น
เมื่อจิตนี้ร้อนแล้ว มันก็สงบนิ่งอยู่ไม่ได้
มันชอบอยากจะคิดส่งส่ายไปทั่วเลย มันเป็นอย่างนั้นเรื่องมัน



แต่แล้วบัดนี้เราก็ต้องรู้ความจริงของกิเลสซะก่อน
ความจริงของกิเลสนี่ มันก็เป็นของไม่เที่ยง
ไม่ใช่มันเกิดขึ้นแล้วมันดับไม่ได้เลย มันเที่ยงไปเลย มันไม่ใช่
มันเป็นของไม่เที่ยงเหมือนกัน
เพราะมันเป็นความคิดนี้นา ความคิดของจิตเนี่ย ก็ลองสังเกตดูสิ
ความคิดของจิตมันเที่ยงมาแต่ไหนล่ะ พอคิดขึ้นมาแล้วมันก็ดับไป
คิดเรื่องนี้ขึ้นมาแล้ว เรื่องนี้ดับไปแล้ว มันก็ไปขึ้นเรื่องใหม่ขึ้นมา แล้วก็ดับไปอีก
แล้วก็คิดเรื่องใหม่ขึ้นมาอยู่อย่างนั้น นี่ความคิดเหล่านี้นะ
ความคิดเป็นบุญก็ดี ความคิดเป็นบาปก็ดี
มันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอยู่อย่างนั้น
แต่ความรู้นั่นสิ มันปรากฏอยู่คงที่ เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว
ไม่ส่งเสริมความคิดที่เป็นบาปอกุศล เราส่งเสริมความคิดที่เป็นบุญกุศลเรื่อยไป
อย่างเช่นท่านแนะนำให้บริกรรมพุทโธ อย่างนี้นะ
เมื่อจิตมันชอบอยากคิดหลาย ก็เอ้า ให้มันคิด พุทโธ
ยึดเอาคุณพระพุทธเจ้านั่นเป็นอารมณ์ เครื่องคิดนึก
เพราะว่าพุทโธคุณนี่เป็นของเย็น ไม่เป็นของร้อน
เป็นฝ่ายกุศล ไม่ได้เป็นฝ่ายอกุศล
ดังนั้นเมื่อผู้ดำริผู้ใดคิดนึกไปเท่าใด บริกรรมไปเท่าใด
จิตใจนี้ก็เยือกเย็นไปเท่านั้น จิตใจนี้ก็เบิกบานไปเท่านั้น



ให้เข้าใจเนี่ย ที่ท่านสอนให้บริกรรมพุทโธ มันมีความหมายอย่างนี้
แล้วอกุศลที่มันเกิดขึ้นในใจนั่นมันก็ระงับไป ที่มาทำให้ใจร้อนวู่วามต่างๆ นานา
เมื่อพุทโธคุณบังเกิดขึ้นในจิตแล้ว
อกุศลวิตกเหล่านั้นมันก็ดับไป ใจก็เย็นลง เราทำดูก็ได้นะ
เช่นอย่างว่าคนบางคน มันห้ามความโกรธในใจไม่ได้
บางคราวมีอารมณ์ไม่ดีมากระทบแล้วมันโกรธขึ้นมา ใจก็ร้อนผ่าวขึ้นมา
เอ้า พอรู้สึกตัวได้ นึกพุทโธขึ้นมาเลยบัดนี้
นึกพุทโธขึ้นในใจ แล้วก็นึกถึงพระพุทธเจ้าโน่น
โอ้ พระพุทธเจ้าพระองค์ไม่โกรธหนอ พระองค์ละความโกรธได้แล้วหนอ
นี่พอนึกได้อย่างนี้แล้ว ไอ้ความโกรธอันรุนแรง มันก็เบาลงๆ
แต่ว่าต้องประคับประคองจิตให้นึกพุทโธ ให้ติดต่อกันไปนะอย่างนี้แหละ
นี่เมื่อพุทโธคุณบังเกิดขึ้นในจิตแล้ว
อารมณ์ที่ก่อให้เกิดความโกรธฉุนเฉียวต่างๆ หมู่นั้น
ก็ค่อยเบาลงๆ จิตก็เย็นลงโดยลำดับ ในที่สุดมันก็ระงับลงไปได้
อารมณ์ที่ก่อให้เกิดความโกรธนั่นน่ะ ความเย็นใจก็เกิดขึ้นมาแทน เป็นอย่างงั้น



แต่เราต้องทำความเชื่อในใจจริงๆ ลงไป
ถ้าหากว่าไม่เชื่อมั่นต่อพุทโธคุณนี้จริงๆ แล้ว
มันก็จะสู้อำนาจของกิเลสไม่ได้ เรื่องของเรื่องมันเป็นอย่างนั้น
เนื่องจากว่ากิเลสนี้ มันก็มีอิทธิพลไม่ใช่น้อยเหมือนกัน
ดังนั้นเราจึงต้องสร้างอิทธิพลฝ่ายกุศล ฝ่ายดีนี้ให้มากขึ้นกว่าอิทธิพลของกิเลสนั้น
ซ้ำเป็นไรมันจึงจะทำกิเลสให้อ่อนกำลังลงได้
ถ้าหากว่าเท่ากันอย่างนี้ มันก็ทำให้กิเลสนี้อ่อนกำลังลงไม่ได้
เหมือนอย่างนักมวยเนี่ย ถ้ามีกำลังเสมอกันแล้วก็เอาชนะกันไม่ได้ ต้องเสมอกัน
มันเป็นอย่างนั้น อันนี้ก็ฉันใดก็อย่างนั้นแหละ



เมื่อผู้ใดรู้อย่างนั้นแล้ว ก็จึงต้องทำความเพียรพยายามสั่งสมบุญ
ให้มากขึ้นไปโดยลำดับ ไม่ถอยหลัง เป็นอย่างนั้น
เช่นอย่างว่าเราสร้างความนึกความคิดอันประกอบไปด้วยเมตตากรุณาอย่างนี้นะ
ก็พยายามสร้างให้มากๆ เลย มองเห็นสร้างขึ้นมา
จนมองเห็นศัตรูนั่นกลายเป็นมิตรไปโน่นแน่ะ
เออ คนนี้ผู้นี้แต่ก่อนเป็นศัตรู เรารู้สึกอย่างนั้น
แต่บัดนี้เรารู้สึกว่าคนนี้ผู้นี้นะเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งนั้นแหละ
นี่เขาไม่ได้เป็นศัตรูอะไรเราดอก เพราะเราไม่ต้องการเป็นศัตรูกับเขา
เจริญเมตตาพิจารณาลงไปอย่างนี้



เท่านี้ก็ยังไม่พอ เพ่งลงไปให้เห็นลงไปว่า
ธาตุสี่ขันธ์ห้า ทั้งที่ตนอาศัยอยู่นี้ก็ดี ทั้งที่คนอื่นอาศัยอยู่ก็ดี
มันก็ล้วนเป็นแต่ของไม่เที่ยง มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน
เมื่อเหตุปัจจัยมันยังมีอยู่ไปได้
ถ้าเมื่อเหตุปัจจัยนี้มันหมดลงไป ธาตุสี่ขันธ์ห้ามันก็แตกดับทำลายลง
ก็จึงไม่จำเป็นต้องไปทุบไปตี ไปทำลายธาตุสี่ขันธ์ห้าของใครต่อของใครดอก
ถึงเวลาของมันแล้วมันแตกทำลายมันไปเอง ไม่ใช่อยู่ในบังคับบัญชาของผู้ใด
แม้แต่ธาตุสี่ขันธ์ห้าที่ตนอาศัยอยู่ก็ตามเหมือนกัน ไม่แตกต่างกันเลย
นี่ เพ่งพิจารณาลงไปอย่างนี้ มันก็ยิ่งเป็นการถอนรากเหง้า
ของความโกรธ ความพยาบาทต่างๆ นี้ออกไปเรื่อยๆ ทีเดียว
ถึงไม่หมดก็เรียกว่าเบาไปมาก
ที่ท่านเรียกว่าเจริญทั้งสมถะทั้งวิปัสสนาควบคู่กันไปเลย ให้พากันเข้า



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา “เพียรสอดส่องมองย้อน” ใน ธรรมโอวาทหลวงปู่เหรียญ
โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน โดย ชมรมกัลยาณธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP