สารส่องใจ Enlightenment

เพียรสอดส่องมองย้อน (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๒




ต่อไปนี้พึงพากันตั้งใจให้ดี สำรวมใจของตนให้แน่วแน่ อย่าส่งใจไปทางอื่น
เพราะการส่งใจไปนอก มันทำให้ใจฟุ้งซ่าน สงบลงไม่ได้
ต้องทวนกระแสจิตเข้ามาภายใน
คือว่าทวนความคิดความนึกนั่นเข้ามาภายใน ไม่ส่งจิตคิดออกไป
อันนี้เป็นบทบาทเบื้องต้นแห่งการภาวนา
ถ้าว่าใครทวนกระแสเข้ามาภายในนี้ไม่ได้แล้วก็ภาวนาไม่เป็น จิตสงบลงไม่ได้
เพราะฉะนั้นต้องน้อมสติระลึกเข้าไป ตามลมหายใจเข้าออก
จิตนี้จึงจะหยุดคิดลงได้ ไม่เช่นนั้นหยุดไม่ได้
เพราะว่าจิตนี้มันต้องอาศัยสติเป็นเครื่องประคับประคอง มันจึงหยุดนิ่งอยู่ได้
ถ้าไม่มีสติกำกับแล้ว มีแต่มันคิดเรื่อยเปื่อยไปในเรื่องต่างๆ ภายนอก



ดังนั้นพึงพากันเข้าใจที่ท่านสอนให้ฝึกภาวนาสมาธิ ก็เพราะเหตุผลดังกล่าวมาเนี่ย
ครั้นเมื่อใจมันไม่ตั้งมั่นอยู่ภายในแล้ว
มันก็ไปเที่ยวเกาะเที่ยวข้องอยู่กับเรื่องราวของโลกภายนอกโน่น อะไรต่ออะไร
มันยึดถือสิ่งใดไว้ มันก็ไปวิตกวิจารณ์อยู่ในสิ่งนั้น
ก่อให้เกิดความเสียใจบ้าง ดีใจบ้าง
ก่อให้เกิดความหลงความเมาไป โดยไม่มีประโยชน์อะไร
หมายความว่าความคิดไปนั้น มันไม่มีประโยชน์อะไร
เพราะมันไม่ใช่ความคิดที่กลั่นกรองด้วยปัญญา
มันคิดไปตามสัญญาเจตสิกต่างหาก ให้พึงเข้าใจกันดังนั้น



พระพุทธเจ้าก็จึงทรงสอนให้คนเรานั่นน่ะ ทวนกระแสจิตเข้ามาภายใน
ดังเช่นทรงสอนให้เจริญอานาปานสติอย่างนี้นะ
ให้ตั้งสตินึกถึงลมหายใจเข้าหายใจออกเป็นอารมณ์
นี่ก็แสดงว่าทรงสอนให้ระลึกเข้ามาหาจิต
หยั่งเข้าไปควบคุมจิตอยู่ภายในจิตนั้น ถึงจะหยุดลงได้
หรืออย่างทรงสั่งสอนให้ตั้งสติไว้ที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรมารมณ์
ที่ท่านเรียกว่าสติปัฏฐานสี่นั่น
ลองสังเกตดู มันก็ล้วนแต่เรื่องที่ให้มีสติระลึกเข้ามาอยู่ที่กายที่ใจนี้ทั้งนั้นแหละ
เพื่อจะได้ให้ใจมันตั้งมั่นอยู่ภายใน ไม่ให้มันไปเกาะไปข้องกับสิ่งภายนอก

คนในโลกอันนี้เนี่ย มันพ้นจากโลกอันนี้ไปไม่ได้
ก็เพราะว่าจิตของตนไปเกาะไปข้องอยู่กับสิ่งที่ตนพออกพอใจต่างๆ ในโลกนี้แหละ
ไม่ใช่อื่นไกลอะไร แล้วเกิดมาแล้ว ก็มาบ่นทุกข์กันว่าเบื่อ เบื่อโลกอันนี้หลาย
แต่แล้วมันไม่ใช่เบื่อด้วยอำนาจแห่งปัญญา
มันเบื่อด้วยอำนาจแห่งความทุกข์ ความวุ่นวายต่างๆ
เมื่อมันวุ่นวายขึ้นมาแล้ว มันก็เบื่อ
แต่เบื่อแล้ว หากไม่รู้จักทางออกจากทุกข์เหล่านั้น
ดังนั้นความเบื่อเช่นนั้นน่ะ มันไม่เป็นทางพ้นทุกข์ได้
ต่อเมื่อผู้ใดได้มาพยายามเพ่งลมหายใจเข้าหายใจออกนี่เป็นอารมณ์
จิตนี้มันก็จะไม่คิดไปทางอื่น มันจะไม่ส่งออก


พร้อมกันนั้น เราก็นึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกของตน
ในเมื่อสติมันนึกน้อมเข้ามาภายในถึงจิตใจ
แล้วก็นึกถึงคุณพระรัตนตรัย แก้วสามประการนั่นแหละเป็นที่พึ่ง
เพราะเราทุกวันนี้เนี่ย ผู้นับถือพระพุทธศาสนาเรา
ก็เอาคุณพระทั้งสามนี้แหละเป็นที่พึ่งของจิตใจ
เพราะอะไรจึงมีที่พึ่งอย่างนั้น
ก็เพราะว่าโลกสันนิวาสอันนี้ มันเต็มไปด้วยภัยอันตรายต่อชีวิตนี้
แล้วก็บางอย่างก็ป้องกันไม่ได้เลย
บุคคลจะมีอำนาจวาสนา มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อย่างไรก็ป้องกันไม่ได้
เพราะมันเป็นธรรมชาติของมัน
ก็ได้แก่ความชำรุดทรุดโทรมของร่างกาย ความแตกดับของร่างกาย
อันนี้น่ะ ไม่มีใครป้องกันได้เลย



ดังนั้นแหละพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสอนให้หาที่พึ่งทางใจ
เพราะว่าร่างกายนี้จะพึ่งได้เพียงชั่วคราวเท่านั้นเอง
เราจะพึ่งตลอดไปไม่ได้เลย
ก่อนอื่นก็พยายามน้อมใจเข้ามาภายในนี้ และเข้าใจไว้ให้ดี
หลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนาเนี่ย
บางคนก็อาจจะว่าถึงน้อมเข้ามาแล้ว จิตก็ไม่ยอมอยู่
มันก็คิดไปอีกของเก่า มันก็ต้องใช้พระเดชและการฝึกจิตนี้นา
ถ้ามันไม่ยอมหยุดนี้ ก็ต้องใช้ความอดทนอดกลั้น
เมื่ออดไม่คิดเลยอย่างนี้นะ มันก็หยุดยั้งความคิดได้
แต่ทีแรกมันก็อาจจะไม่ยอมหยุดอยู่บ้างแหละ
เมื่อเราอดไปทนไปนานเข้า มันก็เป็นตปธรรมน่ะ ความอดนี้นะ
มันเผาอารมณ์ต่างๆ ที่จิตยึดถือไว้นั้นน่ะให้ระงับไป
เมื่ออารมณ์ต่างๆ ที่จิตยึดไว้มันดับลงไป จิตนี้มันก็รวมลงได้ มันเป็นอย่างนั้น



แต่การอดกลั้นต่อความคิดความนึกต่างๆ มันก็ลำบากบ้างเหมือนกัน
แต่ก็ต้องอดต้องทน ดีกว่าที่จะมาข้องอยู่ในโลกอันนี้
ดีกว่าที่จะมาผูกพันกับโลกอันนี้
การที่มาผูกพันอยู่กับโลกอันนี้เรื่อยไป มันมีแต่ทุกข์ ทุกข์หลาย
การที่เราอดเราทน ข่มจิตสกัดกลั้นจิต ความคิดต่างๆ ให้ยุติลงได้
ถึงแม้มันจะทุกข์จะลำบาก มันก็ลำบากไปไม่นาน
พอสติมันแก่กล้า ความอดทนทำใจให้เข้มแข็งหนักแน่นเข้าไปแล้ว
จิตนี้มันก็หยุดคิดหยุดนึกได้ มันก็อ่อนกำลังลง
พออ่อนกำลัง ความคิดต่างๆ มันก็หยุดนิ่งอยู่ได้



นั่นแหละ จิตนี้จึงว่ามันมีลักษณะอาการต่างๆ กัน
บางคนก็น้อมจิตลงสู่ความสงบได้ง่าย ไม่ดื้อด้าน
บางคนมันก็ดื้อด้าน จิตนี้น้อมลงสู่ความสงบ มันไม่ยอม
มันก็จะคิดส่งไปเพ่นพ่านไปในโลกสงสารอันนี้
ท่านอุปมาไว้เหมือนกับลิง ธรรมดาลิงมันอยู่นิ่งๆ ไม่ได้เลย
ลุกลี้ลุกลนอยู่อย่างนั้นแหละ นิสัยของลิงมัน
หากเป็นอย่างนั้น ชอบกระโดดโลดเต้นไปตามต้นไม้ในป่า
ฉันใด จิตที่ไม่ได้ฝึกฝนอบรม มันก็เป็นเช่นนั้นแหละ
เพราะว่ามันเคยคิดเคยส่งจิตไปเกาะไปข้องกับอะไรต่อมิอะไรในโลกนี้มา
ไม่ใช่ชาติเดียวเท่านั้น ที่ล่วงแล้วมามันก็ส่งจิตใจไปเกาะไปข้องพอแรงแล้ว



เหตุดังนั้นมันจึงได้มาเกิดอีกอยู่เนี่ย
แต่ว่าการที่ได้มาเกิดเป็นคนอยู่ในชาตินี้
ก็เนื่องมาแต่ใจมันยินดี เลื่อมใสในบุญในกุศล
ถึงแม้ว่าจิตใจจะไม่สงบแต่ก็มีความยินดีเลื่อมใส
ในคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ยินดีเลื่อมใสในทานการกุศลต่างๆ
ยินดีในการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ มันมีความยินดีอย่างนั้นแล้ว
ก็เป็นผู้เว้นจากบาป ไม่ทำบาปมา บุญกุศลอันนั้นแหละ ก็จึงได้ส่งมาเกิดเป็นมนุษย์
เป็นมนุษย์ แต่จิตนี่หากยังฟุ้งซ่านเลื่อนลอยอยู่อย่างนั้น
มันก็ต้องวกไปเวียนมาอยู่อย่างนี้อีก
ถ้าไม่ฝึกฝน จิตนี้ให้มันหยุดมันนิ่งเมื่อใดแล้ว
ก็จะไม่หยุดการหมุนเวียน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ลงได้
แต่บางทีมันก็หมุนไปสู่ทุกข์ ในเมื่อจิตมันคิดไปในทางบาปอกุศล
ถ้ามันไม่คิดไปในทางบาปอกุศล เพียงแต่คิดเลื่อนลอยไปตามเรื่อง
ที่ไม่เป็นบาปต่างๆ เฉยๆ อย่างนี้
มันก็ไม่ถึงกับว่าจะได้ไปอบายภูมิทั้งสี่ มีนรก เป็นต้น
แต่มันทำให้เทียวเกิด เทียวตายอยู่ในโลกนี้ ไม่สิ้นสุดเรื่องมันน่ะ



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา “เพียรสอดส่องมองย้อน” ใน ธรรมโอวาทหลวงปู่เหรียญ
โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน โดย ชมรมกัลยาณธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP