กระปุกออมสิน Money Literacy

อย่านอนใจ ภัยบัตรเครดิต


Money Literacy

โดย North Star


ตั้งใจไว้นานแล้วค่ะ ว่าจะเขียนเรื่องภัยบัตรเครดิต
พอดีเพื่อนสนิทเล่าให้ฟังว่าเพิ่งโดนกับตัวเองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ก็เลยมีข้อมูลจริงจากเหยื่อซึ่งเป็นคนใกล้ตัวมากๆ มาแบ่งปันคุณผู้อ่านกันค่ะ ^_^

คุณณัฐ(นามไม่สมมุติ) เล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า
ขณะที่กำลังนอนเล่นอ่านหนังสือเพลินๆ อยู่ที่บ้าน
ก็มีโทรศัพท์จากผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารบัตรเครดิตที่ถืออยู่
ติดต่อเข้ามา อ้างว่าต้องการอัพเดทฐานข้อมูลผู้ใช้บัตร
และพยายามสอบถามเลขที่บัตรประชาชน

คุณณัฐเอะใจจึงสอบถามชื่อและนามสกุลของผู้ที่โทรมา
ปรากฏว่าปลายสายอึกอัก และแจ้งเฉพาะชื่อ ไม่บอกนามสกุล
คุณณัฐจึงตัดบท บอกว่าไม่สะดวกคุยตอนนี้
เมื่อวางสาย ก็รีบโทรกลับไปเช็คที่ธนาคาร
ผลเป็นไปตามคาดค่ะ คือธนาคารไม่ได้ติดต่อมาเลย
เกือบไปแล้ว +_+

เป็นอันว่า ครั้งนี้คุณณัฐรอดมาได้ด้วยไหวพริบส่วนตัว
และความผิดพลาดของมิจฉาชีพเองที่ไม่แนบเนียนพอ
แต่ก็นั่นแหล่ะค่ะ เราจะทราบได้อย่างไรว่าเหยื่อรายต่อไปจะไม่ใช่เรา
ดังนั้น ฉบับนี้จึงขอรวบรวมกลโกงและวิธีป้องกันมาบอกกล่าวเล่าขานกันสักหน่อยค่ะ ^_^

ก่อนอื่น เรามาดูกันก่อนนะคะ ว่ากลโกงที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง

ขโมยข้อมูลเจ้าของบัตร โดยอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร ติดต่อหาลูกค้า
แล้วเอาข้อมูลไปทำการปลอมแปลงบัตรขึ้นมาใหม่

(ที่คุณณัฐโดน คาดว่าจะเป็นกรณีนี้ค่ะ)

ร้านค้าเจตนาทุจริต โดยการรูดบัตรเกินราคา หรือทำรายการซ้ำหลายครั้ง

ปลอมบัตรด้วยเครื่อง skimmer ซึ่งเป็นอุปกรณ์อ่านข้อมูลบนแถบแม่เหล็ก
และคัดลอกข้อมูลส่วนตัวที่บันทึกในแถบแม่เหล็กบนบัตร
แล้วนำข้อมูลไปทำบัตรปลอม


ข้อแนะนำในการป้องกันกลโกง

๑) ระวังการทิ้งสลิปบัตรเครดิตในที่สาธารณะ
หากต้องการทิ้งจริงๆ ให้ฉีกละเอียดจนไม่สามารถทราบเลขที่บัตรได้
เพราะข้อมูลเหล่านี้ มิจฉาชีพสามารถนำมาใช้ได้ค่ะ

๒) ข้อมูลสำคัญส่วนตัว เช่น เลขที่บัตรประชาชน เลขที่ใบขับขี่ และเอกสารสำคัญอื่นๆ
ควรเก็บไว้ในที่ปลอดภัย และไม่มอบให้กับผู้ที่ไม่น่าไว้วางใจนะคะ

๓) หลีกเลี่ยงการใช้บัตรกับร้านค้าที่มีความเสี่ยงกับการถูกกลโกงแบบ skimming
หากจำเป็นต้องใช้ ให้อยู่กับพนักงาน ณ จุดที่ทำรายการด้วยทุกครั้งค่ะ

๔) ตรวจสอบความถูกต้องของรายการใช้จ่ายในสลิปบัตรเครดิตทุกครั้ง
และเก็บสำเนาสลิปไว้เพื่อตรวจสอบกับใบแจ้งยอดบัญชี ว่าถูกต้องและตรงกันหรือไม่
หากพบรายการผิดพลาดให้แจ้งผู้ออกบัตรทันทีค่ะ

๕) การเลือกซื้อสินค้าและบริการทางอินเตอร์เน็ต ควรเลือกเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้เท่านั้น
และไม่ควรใช้บริการผ่านอินเตอร์เน็ตสาธารณะ เช่น อินเตอร์เน็ตคาเฟ่
เพราะข้อมูลอาจถูกโจรกรรมได้ค่ะ

๖) จดหมายเลขบัตรเครดิตและเบอร์โทรศัพท์ของศูนย์บริการบัตรติดตัวไว้เสมอ
หากบัตรหายให้แจ้งระงับทันที

จากประกาศของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ระบุว่า

ผู้ใช้งานบัตรเครดิตสามารถระงับการใช้บัตรชั่วคราวทางโทรศัพท์
โดยแจ้งมายังศูนย์บริการลูกค้า สถาบันการเงินจะต้องระงับการให้บริการทันที
หรือไม่เกิน ๕ นาทีหลังจากที่ได้รับแจ้ง
จากนั้น ผู้บริโภคไม่ต้องรับผิดชอบภาระหนี้ใดๆ หลังการแจ้ง หรือภายใน ๕ นาที
เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าภาระหนี้ที่เกิดขึ้น เป็นการกระทำของผู้บริโภคจริง

หากผู้บริโภคไม่ได้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือบริการตามที่ปรากฏในใบแจ้งหนี้
สามารถทักท้วงขอระงับการเรียกเก็บเงินได้ทันที
เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าภาระหนี้ที่เกิดขึ้น เป็นการกระทำของผู้บริโภคจริง
จึงสามารถเรียกเก็บเงินย้อนหลังได้

หากมีข้อสงสัย หรือต้องการสอบถามร้องเรียน
สามารถติดต่อได้ที่ กองคุ้มครองผู้บริโภค ๐๒ ๖๒๙๗๐๖๑
หรือสายด่วนผู้บริโภค ๑๑๖๖ ค่ะ ^_^


แรกเริ่มเดิมที บัตรเครดิตถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว
และผู้ที่ต้องเดินทางไกล เพื่อไม่ต้องพกพาเงินสดเป็นจำนวนมากๆ ติดตัวให้เป็นอันตราย
ต่อมา บัตรเครดิต กลายเป็นบัตรเงินกู้ ที่ผู้ถือบัตรมีสิทธิ์กู้มาใช้ก่อน แล้วค่อยๆ ผ่อนคืนทีหลัง
ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ใช้จะต้องมีวินัยอย่างมากในการใช้งาน
บัตรเครดิตจึงจะเป็นบัตรเพื่ออำนวยความสะดวกอย่างแท้จริง
แต่หากผู้ใช้ขาดวินัย ขาดความรับผิดชอบ และไม่รู้จักควบคุมกิเลสแล้วล่ะก็
ความสะดวกสบายดังกล่าว จะนำมาซึ่งความสะบักสะบอมในที่สุดนะคะ ^^”

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจใช้บัตรเครดิต โปรดถามตัวเองทุกครั้งว่า
เรามีความสามารถในการชำระหนี้ได้ตรงเวลาหรือไม่
และสามารถควบคุมและจัดการกับกิเลสของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน
หาคำตอบดีๆ ให้ตัวเองได้แล้ว จึงค่อยตัดสินใจค่ะ

สุขสันต์วันปลอดดอกเบี้ยนะคะ (^^,)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP