ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

จะตามดูความโกรธอย่างไรให้ถูกต้อง



ถาม – เมื่อมีอารมณ์โกรธเกินกว่าที่สติจะมาตามรู้ตามเห็นได้ทัน
หรือพยายามข่มจิตให้มาอยู่กับกาย
สักพักก็กลับไปที่อารมณ์นั้นอีก จนปล่อยเวลาให้จิตโกรธนั้นดับไปเอง
ซึ่งกว่าที่จะกลับมาเป็นจิตที่คลายจากอารมณ์โกรธ ก็ใช้เวลาสักพักหรือพักใหญ่ๆ
อยากถามจากประสบการณ์ตรงของคุณดังตฤณ
ว่าจะใช้วิธีไหนที่จะทำให้จิตที่โกรธไปแล้วคลายจากอารมณ์โกรธได้ครับ



สรุปแก่นคำถามก็คือว่าจะดูความโกรธอย่างไรให้ถูกต้อง เอาอย่างนี้ก็แล้วกันนะ
เพราะว่าที่คุณเคยผ่านมาโดยสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
ก็คือคุณอาจพยายามที่จะไปดึงความรู้สึกกลับมาอยู่ที่กาย จะได้มีหลักตั้ง
ซึ่งก็โอเค ไม่ใช่เรื่องที่ผิดพลาดอะไรนะ
จะให้เริ่มต้นขึ้นมา รู้สึกถึงความโกรธได้
เห็นความโกรธเป็นของไม่เที่ยงได้ มันไม่ใช่ของง่าย


ผมขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่ผ่านมาเลยก็แล้วกัน
อย่างช่วงแรกๆ ผมตามความโกรธไม่ทันหรอก
แต่ผมตามความทุกข์อันเกิดจากความคิดได้ทัน
เพราะว่าเริ่มต้นสนใจพุทธศาสนา
ช่วงนั้นผมมีความยึดมั่นถือมั่นแรง แรงมากๆ คือเป็นคนที่ขัดเคืองง่าย
แล้วก็กว่าที่จะคลายออกไป มันใช้เวลาบางทีเป็นชั่วโมง หรือว่าบางทีเป็นวันๆ นะ
จิตใจนี่มันหดหู่ จิตใจนี่มันเต็มไปด้วยความเก็บกดอาฆาตนะ
แล้วก็คิดถึงเรื่องที่ใครทำให้เราไม่พอใจยืดยาว แล้วก็ปรุงแต่ง ปรุงแต่งเก่งมาก
เป็นคนที่เหมือนกับคิดเลย คิดได้เป็นช็อตๆ ว่าเราจะไปเอาคืนได้อย่างไร
คือมันมีสองตัวอยู่ในตัวเดียวกัน คนคนหนึ่ง
ใจหนึ่งมันมีความรู้สึกไม่อยากให้อภัย อยากเอาคืน
แต่อีกใจหนึ่งมันไม่อยากมีเรื่อง มันอยากอยู่สงบๆ นะ
ต่อให้นักเลงโตนะ คือถ้ารู้จักจริงๆ เลยนะ พวกที่แบบมีเรื่องกันเป็นประจำ
ลองไปถามใจดูเถิด ใจลึกๆ เลยนะ มันไม่อยากมีเรื่องหรอก
มันเหนื่อย มันเปลืองเวลา มันเสียเวลา
แต่เวลาโกรธขึ้นมา พอสั่งสมความวู่วามเข้าไปแล้วสักครั้งสองครั้ง
มันอดไม่ได้ มันห้ามใจไม่อยู่ มันต้องไปมีเรื่องอีก
แล้วก็เสร็จแล้วก็ต้องเหนื่อยแล้วๆ เล่าๆ



การที่เราไม่สามารถจะห้ามใจได้ ไม่สามารถจะข่มใจได้ แล้วก็ไปมีเรื่อง
มันสอนเราได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการไปมีเรื่องในระดับที่รุนแรง
หรือว่าในระดับที่ปะทะกันทางวาจา หรือว่าสีหน้า
จะต้องมาต่อตากัน ใครจะหลบก่อนนะ หรือว่าใครจะหงอให้กับเสียงของอีกฝ่าย
ของแบบนี้ถ้าเกิดขึ้นแล้วๆ เล่าๆ เนี่ย มันน่าเบื่อ
มันจะมีความรู้สึกว่าทำอย่างไรเราถึงจะไม่ต้องมาเหนื่อยกับอะไรแบบนี้อีก



แต่ด้วยความที่ว่าคนเราต้องทำงาน ต้องเจอกับผู้คน
ต้องคุยกับผู้คน ต้องขัดแย้งกับผู้คน มันก็เกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ
แล้วมันก็กลายเป็นเรายังไม่มีเหตุผลมากพอที่จะระงับความโกรธ
หรือว่าที่จะไม่ต้องไปมีเรื่องกับใครเขา
คนเรานะถ้ายังไม่เห็นเหตุผลที่ชัดเจน
ว่าทำอย่างไรจะไม่ต้องโกรธ ทำไมถึงจะยังต้องโกรธอยู่
มันก็จะตามเหตุผลดิบๆ ของใจ ของสัญชาตญาณไปว่า
ถ้าขืนไม่เอาเรื่องมัน เดี๋ยวมันจะได้ใจ เดี๋ยวมันจะเกิดขึ้นอีกและอีก
คือตรงเหตุผลตรงนี้ มันเพียงพอแล้ว
ที่จะขับดันให้โทสะมันลุกฮือขึ้นมา มันลุกโพลงขึ้นมา
แล้วก็กลายเป็นวาจาประทุษร้ายกัน



แต่ทีนี้ถ้าเราพิจารณาว่าตอนที่เราจะพูด
มีแรงดันที่จะออกมาทางปากนี่นะ
ตอนนั้น ถ้าหากว่าเราเห็นว่า เออ นี่ ถึงแม้ว่าเราจะพูดไปด้วยความโกรธ
เขาก็ไม่ดีขึ้น เขาก็จะยังเหมือนเดิมอยู่ดีนะ
อาการโกรธมันไม่สามารถที่จะไปลบล้างนิสัยเลวๆ ของเขาได้
พอเราคิดอย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้ได้
ก็รู้สึกว่าใจมันพร้อมที่จะมีเหตุผลที่จะเยือกเย็นลง
คือมันมีเหตุผลน่ะ มันมีเหตุผลจริงๆ
ว่าเราจะไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ถ้าหากว่าเราพูดแบบวู่วาม
มีอารมณ์ร้อนแล้วก็พูดทันที มันไม่ได้สิ่งที่ต้องการหรอก
แค่นั้นนี่นะมันก็สามารถระงับอก ระงับใจ
ปิดปาก รอเวลา รอจังหวะให้ใจมันเย็นลงก่อนแล้วค่อยพูดได้



นี่อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นนะ
คือถือว่าเป็นปัญญาอย่างหนึ่ง ปัญญาที่จะระงับความโกรธ
เรามีเหตุผลมากพอที่จะอารมณ์เย็นลง เย็นลงเพื่อให้ได้ปัญญา
พูดแบบที่จะได้สิ่งที่ต้องการคือเขาดีขึ้น
เสร็จแล้วจากนั้น มันก็พอมีเหตุผลที่จะใจเย็นนะก่อนพูด
สติของเรามันจะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปข่มมัน
ไม่จำเป็นต้องไปพยายามที่จะกดทับ
แบบบอกจิตตัวเองไม่ได้ว่าเรามีเหตุผลอะไรต้องมาข่มกันแบบนี้
ต้องมาอดกลั้น ต้องมาอดทนกันขนาดนี้
พอมันมีเหตุผลแล้ว คนเราพอมีเหตุผลแล้ว ไม่ต้องข่ม
เหตุผลนั้นมันข่มให้ มันเอาชนะกิเลสให้เอง

มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล ดีกว่าสัตว์เดรัจฉานก็ตรงนี้แหละ
แล้วพอเรามีความรู้สึกว่าใจเย็นลงก่อนพูดได้หลายๆ ครั้งเข้า
ความโกรธ ความวู่วาม หรือว่าความร้อนที่มันจะเผาผลาญ
จนกระทั่งสติของเรามันไม่เหลือหลอ มันก็จะหายไป
มันกลายเป็นว่ามีแค่ความขัดเคือง มีแค่ความร้อนขึ้นมาอุ่นๆ
แล้วก็พร้อมที่จะดับลงไปได้เอง



ตรงนี้แหละที่มันมีประโยชน์กับการเจริญสติ
ถ้าใครไม่ดูถ้าใครไม่พิจารณาไว้ก่อนว่า โทสะไม่เที่ยง มันก็จะมองไม่เห็น
คือได้แต่ใจเย็นแบบโลกๆ คือเห็นว่าอารมณ์สงบลงแล้วถึงพูด
ก็ได้ประโยชน์แบบโลกๆ ไป เป็นสติแบบโลกๆ
แต่ถ้าหากว่าเรามีความใจเย็น
มีอารมณ์ที่เยือกเย็นก่อนพูดได้แบบโลกๆ อย่างนี้แล้ว
เราเอามาต่อยอดทางธรรมได้

ก็คือเห็นว่าสิ่งที่มันทำให้จิตใจของเราสงบเยือกเย็นลงได้นี่นะ
มันต่อยอดเป็นความเห็นว่าเมื่อกี้โทสะมันร้อนอยู่ชัดๆ
มันมีความขัดเคือง มันมีความรู้สึกอัดอั้น
มันมีแรงดันที่อยากจะขับคำพูดแย่ๆ ออกมา
อยากจะแสดงสีหน้าสีตาที่มันเหมือนมีอาการมุทะลุดุดันออกไปนะ จะต้องข่มกัน
มันหายไป ตรงนั้นมันหายไป
มันกลายเป็นความรู้สึกที่ เออ วูบขึ้นมาแล้ววาบหายไป
ตรงนั้นแหละที่เราจะต่อยอดเป็นสติ
เป็นปัญญาในแบบของพุทธิปัญญาได้



เอาละคิดว่าคงจะน่าจะตอบโจทย์นะ
ถามถึงประสบการณ์ตรงของผม ผมก็พูดให้ฟัง
เล่าให้ฟังว่าตอนเริ่มต้นมาเป็นอย่างไร
แล้วต้องเข้าใจนะคือที่เล่ามานี่ไม่ใช่ว่าทำกันแป๊บๆ นะ
คือเวลาเล่านี่มันเหมือนกับง่ายนะ แค่ครึ่งนาที สองนาที
แต่ที่เล่ามานี่มันใช้เวลาหลายปีกว่าที่ใจมันจะสงบ ใจมันจะเย็นลงได้
คำว่าใจเย็นลงได้ ไม่ใช่ว่าหายร้อนเลยนะ
ทุกวันนี้มันก็ยังขัดเคืองได้อยู่ มันก็ยังมีโทสะได้อยู่
เพียงแต่ว่ามันอยู่ตัว มันมีความเคยชินที่จะไม่เอาเรื่องเอาราวใคร



บางทีถ้าดูตามสายตาชาวโลกนะ เดี๋ยวก็จะต้องมีคำถามต่อไป
ว่าถ้าไปยอมเขา ถ้าไม่เอาเรื่องเอาราวเขา
เขาก็ว่าโง่สิ เขาก็มาเอาเปรียบเราได้ร่ำไป
อันนี้ก็บอกไว้เลยนะ คือไม่ใช่ยอมนะ ไม่ใช่ตะพึดตะพือ
ไม่ใช่เหมือนกับไปหงอให้ ตัวงอให้กับคนที่เขามาทำร้ายเรา ไม่ใช่อย่างนั้น
คือเราโต้ตอบได้ เราใช้วิธีการที่เหมาะสมที่จะไม่ให้เขาได้ใจได้
แต่ไม่จำเป็นที่ใจของเราจะต้องมีความโกรธปนอยู่ด้วย

ความต่างมันแค่ตรงนี้เอง คือเราใช้ความใจเย็นในการที่จะโต้ตอบ
ในการที่จะไม่ยอม ในการที่จะทำให้เขามีความรู้สึกตัวขึ้นมาบ้าง
ว่าทำแบบนี้เราไม่ให้นะ แต่ใจของเราไม่จำเป็นต้องมีความโกรธ
หรือถ้ามีความโกรธก็ไม่ใช่ในระดับที่จะต้องไปด่าว่ากัน หรือว่าทำร้ายกันนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP