สารส่องใจ Enlightenment

ความกลัวเป็นเหตุแห่งความทุกข์ (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม
วัดแพร่ธรรมาราม อ.เด่นชัย จ.แพร่



ความกลัวเป็นเหตุแห่งความทุกข์ (ตอนที่ ๑) (คลิก)




ความเพียรต้องทำติดต่อ ต่อเนื่อง เพียรทั้งทางกาย วาจา ทั้งจิตทั้งใจ

ความเพียรเท่านั้นที่จะนำเราออกจากทุกข์ เพราะเราใคร่ครวญดูแล้ว ถูกต้องแล้ว
ว่าสิ่งเหล่านี้แหละเป็นสิ่งดับทุกข์ให้เราได้แน่นอน นอกเหนือจากนั้นไม่มี



ต้องมีความตั้งใจ ที่เราผิดพลาดในชีวิตเพราะเราไม่เอาจริงเอาจัง
ทีนี้เราพร้อมแล้วที่จะเอาจริงเอาจัง เราใคร่ครวญดูแล้ว ถูกต้องแล้ว
สิ่งใดที่มันได้มาโดยง่าย มันเป็นสิ่งที่ไม่ดีนะ



ทุกอย่างมันต้องได้มาจากกระทำของเราเอง
ถ้าเราคิดอย่างนี้ เราตั้งใจอย่างนี้แหละ จิตใจของเรามันมีพลังนะ
เราต้องสร้างเหตุปัจจัยอย่างนี้แหละ
ว่ากันเป็นวินาที ๆ ไปหลายวินาทีเป็นนาที หลายนาทีเป็นชั่วโมง หลายชั่วโมงเป็นหนึ่งวัน

“ความดีเท่านั้นที่จะทำให้เราได้ดี”


กรรมก็คือการกระทำของเราเอง

การบูชาอะไรก็สู้กับการนำตัวเองประพฤติปฏิบัติที่ฝืนจิตฝืนใจ
ฝืนอารมณ์ให้เหนือชอบเหนือไม่ชอบนี้ไม่ได้


พระพุทธเจ้าท่านให้เราเหลียวแลมองดูตัวเองนะ ว่าพวกเรากำลังมัวทำอะไรกันอยู่
ท่านตรัสถามว่าพวกเรากำลังทำอะไรกันอยู่
ว่าพวกเรากำลังเดินตามรอยพระพุทธเจ้า เดินตามรอยพระอรหันต์หรือยัง
?


ทุกคนน่ะต้องได้แก้ไขตัวเองหมด ถ้าไม่มากก็น้อย ถ้าเราไม่ปฏิบัติตัวเอง แก้ไขตัวเอง
อย่าหวังเลยว่าชาตินี้ชีวิตของเราจะเปลี่ยนแปลง มันมีแต่จะตกตํ่า



อยากรวยมันก็ไม่รวยหรอก อยากบรรลุธรรมมันก็ไม่บรรลุธรรม
เพราะว่าเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง
นิสัยเก่า ๆ นิสัยเดิม ๆ ที่มันเป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในสันดาน
เราต้องเปลี่ยน ต้องเปลี่ยนให้ได้
อย่าให้ตัวเองติเตียนตนเองได้ อย่าให้คนอื่นเขาดูถูกดูแคลนเราได้

“ตั้งใจทำเอาจริงเอาจัง”


พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเป็นคนเหยาะแหยะไม่เอาจริง

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่าถ้าเราจะทำอะไรต้องทำจริง เอาจริง
ท่านเปรียบเหมือนบุรุษที่ถอนหญ้าคา
การถอนหญ้าคาต้องกำให้แน่น ถ้ากำไม่แน่นแล้วมันถอนหญ้าคาไม่ขึ้น
เพราะหญ้าคารากมันแน่นมันเหนียว ต้องจับให้แน่น
ถ้ากำไม่แน่นแล้วดึงกำหลวม ๆ พอเราดึงหญ้าคามันก็บาดมือ
ถ้าเราไม่เอาจริงเอาจังสม่ำเสมอ นิสัยเก่า อนุสัยเก่าเดี๋ยวมันก็กลับมาเหมือนเดิม



อินทรีย์บารมีทุกคนน่ะ พระพุทธเจ้าถือว่าบารมีของเรามันยังอ่อน
เราจะเอาใจของเราเป็นใหญ่ไม่ได้ ต้องปรับเข้าหาทางสายกลาง
ถือศีลมีความตั้งมั่นคือสัมมาสมาธิ



เราใคร่ครวญดูแล้วว่า สิ่งเหล่านี้มันดี มันถูกต้อง มันไม่ผิด


พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้จักผีนะ รู้จักเปรต อสุรกาย มันไม่อยู่ไกลหรอก
มันอยู่ในใจของเรานี้แหละ มันคอยหลอกคอยหลอนเราอยู่ตลอดเวลา
เราอย่าไปกลัวผีข้างนอก ผีไกล ๆ อย่าไปกลัว

“ความเห็นผิดความเข้าใจผิดมันกลัวความดี”


ให้เราเอาตัวอย่างของพระพุทธเจ้า เอาตัวอย่างของพระอรหันต์

ตัวอย่างก็มีอย่างวัดวัดหนึ่งเขาฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียวอย่างนี้
เราเห็นเขาทำเราก็ต้องทำได้
เรายังเห็นต่อไปอีกว่ามีพระอดข้าว ๗ วัน เมื่อเราเห็นเราก็ทำได้
เรายังเห็นเขา ๓ เดือนถึงฉันข้าวครั้งหนึ่ง เราเห็นเขาทำเราก็ทำได้



พระพุทธเจ้าท่านให้เราเอาตัวอย่างในสิ่งที่ดี ๆ ให้เลือกเอาแต่สิ่งที่ดี ๆ
ในชีวิตประจำวันของเรา มันมีตัวอย่างทั้งดีไม่ดีให้เราเห็น
สิ่งที่มันไม่ดีเราอย่าเอาเป็นตัวอย่างนะ
อยู่ในโลกในสังคมส่วนใหญ่มันมีแต่ตัวอย่างไม่ดี



ทำไมถึงไม่ดี? เพราะคนส่วนใหญ่อินทรีย์บารมียังไม่แก่กล้า มันจะดีได้อย่างไร


เราเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง เอาพระธรรมเป็นที่ตั้ง
เอาพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นที่ตั้ง
เพราะสิ่งที่มันไม่ดีมันมีมาก เราก็มองให้มันเป็น
อย่างเราเป็นญาติโยมนี้เราเอาตัวอย่างที่มันดี ๆ
ครั้งพุทธกาลน่ะที่เขาเป็นพระอรหันต์ได้ในบ้านในเมืองในสังคมเต็มไปหมด เขาก็พากันปฏิบัติได้
นางวิสาขา นายอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขาก็เป็นฆราวาส ญาติโยมเขาก็ปฏิบัติได้
เพราะว่าธรรมะถ้าใครนำไปประพฤติปฏิบัติมันก็บรรลุถึงความดีด้วยกันทุกคน
เรามองแต่สิ่งที่ดี ๆ สิ่งไหนมันไม่ดี เราก็ไม่เอามาเป็นครูเป็นอาจารย์เป็นตัวอย่าง
ทุกคนก็อยากเป็นคนดี คนรวย คนมีคุณธรรม แต่ว่ามันปฏิบัติยากปฏิบัติไม่ได้
เพราะว่าถ้าใครไม่เอาจริงเอาจังมันทำไม่ได้



พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ไปมองใครทำไม่ดีทำไม่ถูก
ท่านให้เราเจริญเมตตามาก ๆ เราถึงจะเข้าได้กับคนทุก ๆ คน



คนมีเมตตามากมันเข้าได้กับคนทุกๆ คน
ไม่ว่าคนจน ไม่ว่าคนรวย เด็ก ผู้ใหญ่



ถ้าเรามีเมตตาเราก็เข้าได้กับคนทุก ๆ คน
ที่เราเข้ากับคนอื่นไม่ได้ เพราะเราคิดว่าเขาเป็นคนอื่น เราคิดว่าเขาไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่พี่ใช่น้อง
พระพุทธเจ้าท่านให้เรามองเขาเป็นญาติ เป็นพี่เป็นน้อง
เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายในวัฏสงสารด้วยกัน


เขามีความทุกข์ทั้งทางกาย ต้องบริหารร่างกายมีโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ นานา
มีความทุกข์ในการหาเลี้ยงชีพ มีทุกข์มาก มีทุกข์หลาย มีทุกข์จริง ๆ นะ
เขามีทุกข์เรื่องญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล ลูกน้องพ้องบริวาร
เมื่อเขามีทุกข์อย่างนี้ ถ้าเราไม่มีเมตตาต่อเขาก็เรียกว่าเราใจร้าย เราไปซ้ำเติมเขา



ทุกท่านทุกคนนี้ต้องเจริญเมตตา
ทั้งเมตตาตนเองด้วยการนำตนเองทำความดี
ทั้งเมตตาคนอื่นสงสารเขา อย่าได้ถือว่าเขาเป็นคนอื่น


เราอย่าไปกลัวว่า เขาจะคิดอย่างไรกับเรา เขาจะพอใจเราหรือเปล่า
พระพุทธเจ้าท่านให้เราคิดว่าเราเกิดมาเพื่อเป็นผู้เสียสละ
เพื่อเป็นผู้ให้ ผู้อนุเคราะห์ สงเคราะห์ให้ทั้งวัตถุข้าวของเงินทอง ให้ทั้งคำพูดที่ดี ๆ
สิ่งไหนที่จะช่วยเหลือเขาได้แนะนำเขาได้ เราก็ช่วยเหลือแนะนำ
อย่างน้อยเราก็เป็นตัวอย่างที่ดี ๆ ให้เขาได้ดูได้เห็น
เห็นคนใจดี ๆ อย่างเราเขาก็มีความสุข ว่าในโลกนี้ก็มีคนดี ๆ อย่างเรา


การเจริญเมตตาต้องเริ่มต้นจากการเมตตาตนเองก่อนด้วยการทำความดี
แล้วก็เมตตาผู้ใกล้ชิดเรา คุณพ่อคุณแม่ ญาติพี่น้อง ลูกน้องพ้องบริวาร



เราจะไปเมตตาแต่คนที่ไกล ๆ โน่น ตัวเราเองไม่เมตตาตนเอง
ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลก็ขาดการเมตตา ถ้าเราเมตตาอย่างนี้แสดงว่าเราเมตตาผิด
ตัวเองก็ยังเอาตัวไม่รอด ญาติพี่น้องเราเองไม่ช่วยเหลือ ยังไปช่วยคนอื่น
แสดงว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติผิด เป็นโรคทางใจ ต้องแก้ที่ตัวก่อน แก้ที่ครอบครัวก่อน



ถ้าเราเจริญเมตตามาก เรามองเห็นอะไรมันก็ดีไปหมด
ถ้าเราเมตตาน้อย เห็นอะไรมันก็แย่ไปหมด เห็นต้นไม้ เห็นหมา มันก็อยากเตะ



เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก
เมตตาตนเองนี่แหละ แล้วค่อยขยายไปสู่พี่น้องวงศ์ตระกูล



ทุกท่านทุกคนต้องตรวจดูตัวเองนะ ว่าตัวเองนี้มีเมตตาแล้วหรือยัง?


ถ้าเราไม่เจริญเมตตา เราจะเข้ากับคนอื่นได้ยาก เพราะเราเป็นคนที่มีโลกส่วนตัว
อยากจะอยู่คนเดียวเงียบ ๆ ไม่พูดไม่จากับใคร เป็นคนเข้ากับใครไม่ได้
คนเราต้องเข้ากับคนอื่นได้ ถ้าเข้ากับใครไม่ได้แล้วมันมีความทุกข์นะ



ถ้าเราเป็นคนไม่มีเมตตา ใคร ๆ ก็ไม่อยากคบค้าสมาคมกับเรา
เพราะความโกรธนี้มันเป็นของร้อน
ที่ว่าไฟที่มันลุกเป็นกองเพลิง เผาอะไรไม่เหลือพินาศไปหมด
ยังสู้ไฟความโกรธของเราไม่ได้



ยิ่งเราเป็นคนอายุมาก เป็นคนเฒ่า เป็นคนแก่ เป็นคนชรา
ถ้าเราเป็นคนไม่มีเมตตาแล้ว เอาแต่ว่าเอาแต่บ่น ใครเขาจะอยากเข้าใกล้
ไม่มีใครเขาอยากจะเข้าใกล้นะ เพราะเข้าใกล้แล้วมันร้อน มันไม่มีความสุข
ไม่อยากฟังคนจู้จี้ขี้บ่น ฟังมากก็รับเอามาก มันก็เครียดนะ


เรายังไม่แก่เราก็ฝึกเจริญเมตตาไว้ เพราะอีกหลายปีข้างหน้าเราต้องแก่อยู่แล้ว


พระพุทธเจ้าท่านให้เราวางแผนไว้หลาย ๆ ปีนะ
เราปลูกเมตตาไว้ในใจของเรา อีกหลายปีมันก็ใหญ่โต
ถ้าเราไม่ได้สร้างเหตุสร้างปัจจัย มันจะมีเมตตาได้อย่างไร
?


ทุกคนต้องสร้างทุกคนต้องปฏิบัตินะ เมตตานี้มันดีจริง ๆ มันมีประโยชน์จริง ๆ
มันทำให้เรามีความสุข คนอื่นมีความสุข มันเป็นที่รักของทุก ๆ คนเลย
เราสวดมนต์ทุกครั้งเวลาเราจะสวดจบเราก็แผ่เมตตา



ถ้าเราสวดแต่ปากแต่จิตใจเราไม่แสดงออก เราก็ไม่ได้แผ่เมตตานะ
ที่บทสวดมนต์ให้แผ่เมตตาก็หมายถึงให้ทุกคนน่ะเจริญเมตตาให้มาก ๆ น้อมมาใส่ตัวเอง



ที่พระพุทธเจ้าสอนเราให้หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็สบาย หายใจออกก็สบาย
จนจิตใจมันมีปีติสุข จนจิตใจของเราเป็นเอกัคคตาเป็นหนึ่ง
นี่เรามาคิดดูแล้วมันเป็นการสร้างความเมตตาในตัวเราอีกวิธีหนึ่ง



ในชีวิตประจำวันที่เราเดินเหินนั่งนอน
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราลืมหายใจเข้าให้มันสบาย หายใจออกให้มันสบายไว้
เพื่อจะให้เราแผ่เมตตาให้กับตัวเอง
มันมัวหมกมุ่นอยู่กับอารมณ์กับความคิด ร่างกายมันบอบช้ำหมด เลยลืมแผ่เมตตา



พระพุทธเจ้าท่านให้เราแผ่เมตตาให้กับตัวเอง
เราทำงานไปมีความสุขกับการทำงาน กับการเสียสละ
แล้วอย่าลืมหายใจเข้าสบายออกสบายด้วยนะ



ไม่ใช่เราหายใจเข้าสบายออกสบายอยู่ตลอดเวลา
เราทำงานสักพักสลับกับการหายใจเข้าออกสบาย
เพื่อเราจะได้ผ่อนคลาย เพื่อไม่ให้เราเครียดมากเกิน
เขาเรียกว่าพักยกให้เวลากับตัวเอง เราทำอย่างนี้แหละปฏิบัติอย่างนี้
ความจริงชีวิตของเรามันเป็นอย่างนี้นะ โลกธรรมสิ่งภายนอกมันเกิดกับใจของเราตลอด



พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันรู้จัก อย่าให้มันมาครอบงำจิตใจของเรา
ถือว่ามันมาให้เราฉลาด มันมาให้เราได้ทำจิตทำใจ
เราอยู่ที่ไหนมันก็หนีโลกธรรมไปไม่พ้น
โลกธรรมนั่นแหละที่มาให้เราได้พัฒนาใจนะ เราอย่าได้พากันกลัว
กลัวจะไปพบปัญหาอย่างโน้น กลัวจะไปพบปัญหาอย่างนี้ เราอย่าไปกลัวนะ



ความกลัวนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องแก้ไข เป็นหนทางที่เราจะต้องผ่าน
ความเมตตานี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องเจริญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป



หวังว่าทุกท่านทุกคนจะได้นำเอาคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มาประพฤติมาปฏิบัติมาแก้ไขตัวเองให้ได้



พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย
เช้าวันอังคารที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก “สมบัติของพ่อ เล่มที่ ๒” พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP