จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๑๗๙ บารมีเจ้านาย บารมีลูกน้อง



179 talk



แม้อยู่ในที่ทำงานนานปี
คนเราก็ยังมีความเห็นผิดๆ
เกี่ยวกับคำว่า ‘บารมี’ กันเกือบหมด
เหตุเพราะไปผูกโยงเป็นอันเดียวกันกับคำว่า ‘อำนาจ’


อำนาจ คือสิ่งที่ทำให้ใครคนหนึ่ง
สามารถออกคำสั่งใครอีกคนหรือหลายๆคน
ให้ทำอะไรตามที่ตนต้องการ


ส่วนบารมี คือการที่ใครคนหนึ่ง
ได้ใจใครหลายๆคนไว้
แล้วนึกเกรงใจ หรือกระทั่งอยากช่วยเอง
โดยไม่จำเป็นต้องออกคำสั่ง


พูดให้เข้าใจง่าย
อำนาจ เกิดจากตำแหน่งและโทสะ
ทำให้ผู้คนหวาดกลัว อยากก้มหน้าหลบ
ขณะที่บารมีเกิดจากเมตตาและความสามารถครองใจคน
ทำให้ผู้คนนึกรัก อยากเงยหน้ามองกันเต็มตา


อำนาจ เป็นสิ่งที่ต้องมีในการคุมคน
แต่บารมี เป็นสิ่งที่ต้องมากในการครองใจคน


แต่เมื่อเข้าใจผิด คิดว่าอำนาจกับบารมีเป็นอันเดียวกัน
ที่ทำงานจึงมักเป็นเวทีแสดงอำนาจ
แข่งกันสร้างอำนาจระหว่างเจ้านายด้วยกัน
หรือระหว่างลูกน้องที่ชิงดีชิงเด่นกัน
ยิ่งโลกปัจจุบันจิตใจผู้คนหยาบกระด้าง
นิยมความรุนแรงเป็นหลัก
ก็ยากจะเห็นคนใช้ที่ทำงานในการสั่งสมบารมีกัน
ไม่เข้าใจกระทั่งว่า คนเป็นลูกน้องก็สร้างบารมีได้


ฝั่งเจ้านาย
พอเกิดเรื่อง แทนที่จะรู้สึกว่าเป็นโอกาสสร้างบารมี
สอนลูกน้องด้วยความเมตตาไม่ให้เสียหน้า
เจตนาเตือนสติให้ได้คิด ได้เต็มใจแก้ไข
ส่วนใหญ่กลับลุแก่โทสะ
อยากแสดงอำนาจด้วยการเรียกมาด่า
หรือเรียกประชุมแสดงศักดาอาละวาด
ด้วยเจตนาให้เจ็บช้ำน้ำใจกันเป็นหลัก


ฝั่งลูกน้อง
ถ้าไม่มีเรื่องอะไรเลย
แทนที่จะสร้างผลงานหยอดกระปุกให้เจ้านายเห็น
ส่วนใหญ่จะเอื่อยเฉื่อยลงเรื่อยๆ
ไม่มีสติควบคุมตัวเองว่า พลาดไม่ได้นะ
ช้าไม่ได้นะ ห่วยไม่ได้นะ
ยิ่งวันยิ่งรู้สึกว่า พลาดนิดพลาดหน่อยไม่เป็นไรน่ะ
สายหน่อยไม่เป็นไรน่ะ เอาแค่ปุๆปะๆพอใช้ก็โอน่ะ


เมื่อที่ทำงานไม่เป็นเวทีสร้างบารมี
ก็ไม่มีใครเป็นสุข ทั้งฝั่งเจ้านายและฝั่งลูกน้อง


เพื่อจะให้ที่ทำงานเป็นเวทีสร้างบารมี
เจ้านายจำเป็นต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อนเสมอ
เจ้านายใดเข้าใจเรื่องบารมี
ย่อมโตขึ้นบนเส้นทางสร้างบารมี
ไม่เอาแต่ใจ ไม่บ้าอำนาจ
และไม่ต้องเสียใจที่หมดอำนาจในบั้นปลาย!


ดังตฤณ
มีนาคม ๕๙



review


ความประพฤติของพระภิกษุแต่ละรูปๆ นั้น
เปรียบได้กับผ้าเปลือกไม้ที่มีลักษณะแตกต่างกันไป
ดังความในคอลัมน์"ธรรมะจากพระสูตร"
ตอน "นวสูตร ว่าด้วยบุคคลที่เปรียบได้กับผ้าเปลือกไม้ ๓ ชนิด"


การได้พบครูบาอาจารย์ที่ดี อีกทั้งได้ทำบุญกับพระอริยเจ้า
เกิดจากความบังเอิญหรือเพราะกรรมที่เคยทำไว้
หาคำตอบได้ใน "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "การได้พบครูที่ดีหรือได้ทำบุญกับพระอรหันต์เกิดจากกรรมดีใด"


ส่วนคอลัมน์ "จุดหมายปลายธรรม" ในฉบับนี้
คุณงดงามได้บอกเล่าเรื่องราวของหนุ่มน้อยคนหนึ่ง
ที่ได้บวชเป็นสามเณรในช่วงปิดภาคการศึกษา
ในตอน"เรื่องของเณรป้อง ตอนที่ ๑ เหตุแห่งการบวช"



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP