สารส่องใจ Enlightenment

ความสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙



ท่านอาจารย์มั่นท่านทำหน้าที่ของท่านอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้นเรื่องพิธีรีตองจึงไม่ค่อยมีเวลา
มีลูกศิษย์ลูกหาไปลาท่านออกไปเที่ยว บางองค์ท่านบอกว่า
“ไปทำเถอะทำอยู่ที่ไหนก็ได้ ขอให้ปฏิบัติตัวเองให้ดี นั่นแลคือเป็นผู้ปฏิบัติพระพุทธเจ้า
ระลึกถึงท่านด้วยการระมัดระวังตัวให้ดี
นั่นแลคือการระลึกถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์
พระสงฆ์ท่านปฏิบัติดีอย่างไร เราปฏิบัติดีอย่างนั้น นั่นแลคือการบูชาพระสงฆ์”


“อยู่ที่ไหนให้ถือความสำคัญในความเพียรอยู่เสมอ
อย่าให้เสียเวล่ำเวลา อย่าให้เป็น “โมฆภิกษุ” ท่านว่า”
“การขาด “สติ” เพียงอย่างเดียว เป็นเหตุให้ขาดหลายๆ อย่าง
ถ้ามี “สติ” และ “ปัญญา” อยู่ในตัว อยู่ไหนก็เป็นความเพียร”
คำว่า “สติ กับ ปัญญา” ในที่นี้ ท่านหมายถึงสติปัญญาเพื่อระงับดับกิเลสล้วนๆ
ท่านไม่ได้หมายออกไปทางโลก ท่านจึงพูดอย่างนั้น
บรรดาท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็เข้าใจกันทันทีโดยไม่ต้องอธิบาย


เวลาท่านแสดงธรรมในวันสำคัญ เช่น วันมาฆบูชา
ท่านยกเอาพระอรหันต์ ๑
,๒๕๐ องค์ ขึ้นมาแสดงว่า
“ท่านเหล่านี้ เป็นพระอรหันต์ล้วนๆ ทำ “วิสุทธิอุโบสถ”
คืออุโบสถในท่ามกลางแห่งท่านผู้บริสุทธิ์ล้วนๆ ด้วยกัน
แต่พวกเรานี้มีแต่คนมีกิเลสหนาปัญญาหยาบล้วนๆ อยู่ด้วยกัน
ในวันทำ “วิสุทธิอุโบสถ” ของพระพุทธเจ้า คือวันมาฆบูชา
พวกเราไม่คิดละอายตัวบ้างหรือ ถ้าละอายก็ให้ทำความรู้สึกตัว
อย่าประมาท อย่านอนใจ สติปัญญาเป็นสิ่งสำคัญ
เครื่องประกอบความเพียรมีสติปัญญาเป็นสำคัญ
อยู่ที่ไหนอย่าให้เผลอสติ ให้มีปัญญาเสมอ
อย่าสะทกสะท้าน อย่าหวั่นไหว อย่ากลัวว่าจะไม่ได้ไม่ถึง
นอกไปจากกลัวจะเผลอสติ กลัวจะไม่มีปัญญา
นี่แหละคือเครื่องมือขุดค้นธรรมเพื่อความรู้แจ้งแทงตลอด
ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือถอดถอนกิเลสทุกประเภทออกให้หมด”


ท่านเทศน์ในวัน “มาฆบูชา” ท่านเทศน์อย่างนั้น
ท่านเล่าว่า “ควรมี “ดี” มาอวดมาแข่งกันบ้างดีกว่า
คนอวดดี แข่งดีกัน ทั้งๆ ที่อวดชั่วและแข่งชั่วกัน
บางรายอวดดีแข่งดีแต่ปากไม่พอ ต้องอวดด้วยฝีมือ ถึงกับฆ่ากันตายก็มี
การอวดกิเลสกันมันให้ผลผิดอย่างนี้แล จึงต้องฟังและจดจำให้ถึงใจ”
“ท่านลงอุโบสถ มีแต่พระอรหันต์ล้วนๆ ๑,๒๕๐ องค์
เราอยู่ด้วยกันนี้มีใครเป็นพระอรหันต์บ้างไหม? เห็นมีแต่ “กองกิเลส” เต็มศาลา
จนมองหา “องค์พระ” ไม่เจอ เพราะกิเลสปิดบังเสียจนมิด” ท่านว่าอย่างนั้น
ฟังแล้วก็น่าอับอายตัวเองแต่จำต้องทนเอา
จะทำอย่างไรได้ เพราะพวกเรามันมีอย่างท่านว่าจริงๆ


“ถ้าพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่นี่ มาเห็นกองกิเลสเต็มศาลาอย่างพวกเรานี้ จะเป็นยังไง”
ท่านพูดมีเรื่องขบขัน “และถ้าพระอรหันต์บังเอิญเดินมาที่นี่
มาเห็นกองกิเลสเต็มศาลานี้ท่านจะว่ายังไง ท่านต้องเบื่อ ท่านต้องเอือมระอา
ท่านต้องขยะแขยงอย่างบอกไม่ถูกและเข็ดหลาบเต็มประดานั่นแล
ท่านไม่กลับมาอีกแล้ว แต่พวกเรากอดกันอยู่กับกิเลส นอนจมอยู่กับกิเลส
ไม่เห็นมีความสะดุดใจอะไรเลย ไม่มีความขยะแขยง นับว่าเก่งจริงพวกเรา
นั่นแน่ะ! ฟังดูซิ พวกเราเก่งในของไม่เป็นท่า กล้าในของไม่ดี ท่านว่า
เวลาท่านอาจารย์มั่นท่านเทศน์ อยากให้บรรดาเราทั้งหลายได้ยินได้ฟังโอวาทของท่านบ้าง
อุ๊ย แหลมคมอย่างบอกไม่ถูก พูดแล้วกระเทือนถึงจิต กระเทือนถึงจิตก็คือกระเทือนตัวกิเลสนั่นเอง
ทำให้สะดุดใจ สลดสังเวช บางครั้งจนน้ำตาร่วงในขณะฟังท่าน เพราะมันถึงใจขนาดนั้น
ท่านเทศน์ด้วยอรรถด้วยธรรมจริงๆ ท่านไม่มี “โลก” เข้ามาแฝงเลย
แม้จะพูดเด็ดเดี่ยว ดุด่าขนาดไหนก็ตาม มีแต่เรื่อง “ขับไล่กิเลสออกจากใจ” ทั้งนั้น
ท่านไม่นำโลกคือกิเลสมาใช้ในวงแห่งการแสดงธรรมนั้นเลย
ฟังแล้วจึงอัศจรรย์ธรรมท่านอย่างบอกไม่ถูก ใจสะอึกสะอื้นอยู่ในหัวอก
ชนิดพูดไม่ออก บอกใครไม่ถูกอีกเช่นเดียวกัน


แสดงทีแรกก็เสียงแผ่วเบา แล้วค่อยเร่งขึ้น เร่งขึ้น
เนื้ออรรถเนื้อธรรมก็เข้มข้นขึ้นโดยลำดับๆ นั่นแหละทีนี้มีแต่
“ธรรมล้วนๆ”
แสดงออกบทใดบาทใด ประโยคใด มีแต่เหตุแต่ผล
มีแต่คติที่จะควรยึดได้ทั้งสิ้น เพราะมีแต่เนื้อ ๆ ซึ้ง ๆ ทั้งมวล
ท่านว่า “พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ท่านมาเอง พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงเชื้อเชิญมา
และเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” ล้วนๆ ที่พระองค์ทรงบวชเอง” ท่านพูดเท่านี้
แล้วท่านก็ย้อนเข้ามาอีกหลายชั้น คนฉลาดนี่เทศน์และพูดมีหลายสันพันนัย
แห่งการแสดงคลี่คลายธรรมทั้งหลายลึกตื้น หยาบละเอียด
รื้อฟื้นขึ้นมาให้พวกเราซึ่งกำลังตาบอด ลูบคลำไปตามแบบล้มลุกคลุกคลาน ที่น่าเอ็นดู
ขณะที่นั่งฟังท่าน ท่านว่า “พระอรหันต์เหล่านั้น ท่านเป็น เอหิภิกขุ”


“ท่านเป็นเอหิภิกขุ” ที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง
พวกเราจะโอนเป็น “เอหิภิกขุ ในเรา” ทำไมจะทำไม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาด
บวชตัวเองเข้าที่นี่ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา เข้าที่นี่ “เอหิๆ” นะ ท้าทายอยู่ ท่านจงดูที่นี่ๆ
เรื่องสัจธรรมไม่อยู่ที่ไหน นอกจากในตัวของเราเอง
ทุกข์กองอยู่ในตัวของเราทั้งหลายเอง สมุทัยก็คือกองกิเลส
ตัวเราทั้งหมดก็คือกองกิเลส เต็มอยู่นี่จนน่ากลัว
เมื่อไรจะผลิต “สติปัญญา” “ศรัทธา ความเพียร” ขึ้นมาต่อสู้กับกิเลส
อันเป็นกองภัยที่น่ากลัวนี้บ้างให้ระงับดับไป
แล้วจะได้ดับกลิ่นเหม็นของกิเลสเสียบ้าง” นั่นฟังดูซี


“นี่แหละ เอหิภิกขุอุปสัมปทา” ละ บวชตัวเองนี้เป็นความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกอรหันต์ก็ดี ที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เป็น เอหิภิกขุ ก็ดี
ก็เป็นการประกาศให้ทราบว่า ตัวเป็นนักบวชซึ่งมีเพศต่างจากฆราวาสแล้ว
แต่กิเลสนั้นยังไม่หลุดลอยไปสักตัว เพราะการบวชนั้นๆ เช่นเดียวกัน” ท่านว่ายังงั้น
“อยากจะให้กิเลสหลุดลอยไป ต้องบวชตัวเองอีกครั้งหนึ่ง
พระพุทธเจ้าก็ทรงบวชพระองค์เอง พระสาวกทั้งหลายก็บวชตัวเอง
หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ ด้วย “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” แล้ว
“นั่น ท่านย้อนเข้ามาน่าฟังไหม?” ส่วนพวกเราชอบแต่กล้วยกัน
ไม่สนใจบวชตัวเองโดยเป็นอุปัชฌาย์ตัวเอง
“ใครที่ยังไม่บวชตัวเองเสียก่อน ผ่านพ้นไปไม่ได้
“เอหิๆ” นี่น่ะแปลว่า ท่านจงมา ท่านจงเป็นภิกขุเถิด” ว่ายังงั้นแหละ
ท่านจงดูที่นี่นะ ที่นี่นะ ท่านจงดูที่นี่นะ ธรรมของจริงประกาศท้าทายอยู่ทั้งวันทั้งคืน
ด้วยความจริง ไม่ครั่นคร้ามต่อสิ่งใดทั้งสิ้น เพราะเป็นความจริง
ดูเมื่อใดก็เห็น พิจารณาเมื่อใดก็รู้ ถ้าจะพิจารณา
นี่ท่านพูดน่าฟัง ความจริงก็อย่างท่านว่า


ต้องมาบวชตัวเอง เป็นหญิง เป็นชาย เป็นนักบวชหรือฆราวาส
ต้องบวชตัวเองทั้งนั้น บทสุดท้ายต้องบวชตัวเอง!
ตัดสิ่งที่เกี่ยวข้องภายในตัวเองให้หมดไปโดยลำดับๆ ก็กลายเป็น
“พระ” ขึ้นมา!
เป็นพระโสดา เป็นพระสกิทา เป็นพระอนาคา เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา
แน่ะ จากการบวชตัวเองด้วยปฏิปทาข้อปฏิบัติ
หรือเรียกว่า “ด้วยมรรคแปด” ให้เป็นพระขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบ
ส่วนการบวชกับพระพุทธเจ้าหรืออุปัชฌาย์นั้นๆ เป็นเครื่องประกาศให้โลกทราบ
และเป็นเครื่องเตือนให้ตัวเองให้ทราบว่าได้บวชแล้ว
เพื่อจะได้ทำหน้าที่ของตนให้เต็มภูมิ ปล่อยภาระอะไรทั้งสิ้น ซึ่งไม่ใช่กิจสมณะ


“บวชแล้วอยู่เฉยๆ มันก็ไม่ผิดอะไรกับหมู” แน่ะฟังซิ
“ผ้าเหลืองอยู่ที่ไหน ก็ไม่อด! อยู่ในตลาด ห้างร้านต่างๆ เต็มไปหมด ไม่อดไม่อั้น
ถ้าจะวิเศษด้วยผ้าเหลืองจริงๆ แล้ว
ร้านเจ๊กที่มีผ้าเหลืองก็วิเศษไปหมด พวกนั้นจะไม่มีกิเลสกันเลย
แต่แล้วก็เป็นคนที่มีกิเลสด้วยกันทั้งนั้น
นั่นจึงเป็นเพียงเครื่องประกาศเตือนตนให้ทราบว่าเป็น “นักบวชเท่านั้น” ท่านว่า”
น่าฟังมาก หาฟังได้ยาก
ต้องบวชตัวเองและละเว้น คำว่า “ละเว้น” นั้นละเว้นอะไร?
เว้นจากสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อเพศและจิตใจเรานั้นแล มีอารมณ์เป็นข้าศึกสำคัญ
คำว่า “สมุทัย” ถ้าไม่ใช่อารมณ์ทางใจที่แสดงออกมา จะเป็นอะไร
ตัว “สมุทัยแท้” ก็คือตัว “อวิชชา” กิริยาที่แสดงออกมาก็ออกมาโดยทางอารมณ์
ทำให้ผูกพันรักใคร่ ชอบใจ เกลียด โกรธ อะไรเหล่านี้เป็นอารมณ์ทั้งสิ้น
นี่แหละท่านเรียกว่า “สมุทัย” แดนที่เกิดแห่งทุกข์หรือแดนผลิตทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ใจ
ไม่มีอันใดเป็นเครื่องผลิตทุกข์ให้แก่สัตว์โลกได้ นอกจาก “สมุทัย” คือ กิเลสเท่านั้น


แล้วจะดับ “สมุทัย” นี้ด้วยอะไร? ก็ด้วย “มรรค” คือศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น
นั้นแลที่เคยปราบปรามกิเลสมาแล้วในวงนักปราชญ์ จนโลกธาตุสะเทือนหวั่นไหว
เครื่องมืออันนี้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา กิเลสหมอบราบและกลัวมาตลอดกาล
แล้วยังจะเกรงกลัวต่อไปอีกไม่มีกำหนด
ถ้าผู้ต้องการฆ่ากิเลสนำมาใช้ให้ถูกหลัก “มัชฌิมาธรรม”
กิเลสทุกประเภทจะสิ้นหรือจะตาย เพราะเครื่องมืออันนี้ไม่สงสัย
ถ้าผู้นำมาใช้ให้เหมาะสมกับการแก้กิเลสประเภทต่างๆ
ทุกข์ทางกายก็ประกาศกังวานอยู่ทั่วทั้งกาย ทางใจก็รอบใจ
เพราะสมุทัยมีอยู่ภายในใจ เมื่อแสดงผลออกมา ต้องร้อนที่ใจ
ถ้าแสดงเหตุมาก ผลคือความทุกข์ก็มากภายในใจ ใจทั้งดวงก็กลายเป็นไฟไปได้ไม่สงสัย


มรรค มีสัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปโป เป็นต้น มีสัมมาสมาธิเป็นที่สุด
เป็นเครื่องดับไฟคือทุกข์ ด้วยความรู้เท่าทัน ด้วยการบังคับ ด้วยการค้นคว้า
เพื่อเห็นเหตุเห็นผลแล้วปล่อยวางกันได้
นี่ท่านเรียกว่า
“มรรค” เรียกว่า “ทางเดิน” ก็ได้ เรียก “เครื่องแก้กิเลสทุกประเภท” ก็ถูก
นิโรธคือความดับทุกข์ เมื่อดับกิเลสไปแล้ว ทุกข์ก็ต้องดับ
เพราะเป็นตัวผล ไม่ใช่ “นิโรธ” จะต้องทำหน้าที่ของตัวตามลำพัง โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับ “มรรค”
แม้ว่าผลที่สืบเนื่องไปจาก “มรรค” ที่ทำหน้าที่แก้กิเลสให้หมดสิ้นไปก็จริง
แต่ “นิโรธ” จะปรากฏมากน้อยเพราะอำนาจเหตุ คือ “มรรค” ผู้ทำหน้าที่บุกเบิกเป็นสำคัญ
เมื่อ “มรรค” ทำหน้าที่สมบูรณ์เต็มที่แล้ว ทุกข์ที่จะเกิดเพราะกิเลสก็ไม่มี
แม้ทุกข์ที่เกิดขึ้นอยู่แล้วก็ดับไป เพราะไม่มีเครื่องสืบต่อ หรือไม่มีเครื่องสนับสนุน
ธรรมทั้งสี่อย่างนี้ เป็นอาการเท่านั้น ทำหน้าที่อันหนึ่ง ที่เกี่ยวเนื่องกันไป
อย่าเข้าใจว่า พอกำหนดรู้ทุกข์แล้ว ถึงจะดับไป “สมุทัย”
แล้วจึงไปบำเพ็ญ “มรรค” ให้เกิดขึ้น เพื่อ “นิโรธ” จะได้ดับทุกข์ ไม่ได้!


สัจธรรมทั้งสี่นี้ ทำงานเกี่ยวโยงเป็นลำดับกันไป ไม่มีการแยกย้ายกัน
ถ้าคิดอย่างนั้น ผิดความจริงทางสัจธรรม หาทางไปไม่ได้เลย เพราะเป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องกัน
การกำหนดรู้ทุกข์ ก็กำหนดเพื่อจะให้ทราบถึงสาเหตุของทุกข์ คือ สมุทัย นั่นเอง
การทราบสาเหตุของทุกข์ คือตัวสมุทัยนั้น ถ้าไม่ทราบด้วยสติปัญญา จะทราบด้วยอะไร
ต้องทราบและถอดถอนสมุทัย ด้วยสติปัญญาเป็นสำคัญ
แล้วเมื่อทราบ เมื่อระงับ เมื่อแก้ไขถอดถอนสมุทัยได้มากน้อยเพียงไร
คำว่า
“ความดับทุกข์” ที่เรียกว่า “ดับทุกข์” ด้วย “นิโรธ” ๆ นั้น
ก็เป็นไปในขณะเดียวกันนั้นโดยลำดับ ตั้งแต่ต้นจนอวสานสุดท้าย
ทุกข์จะดับไปโดยลำดับๆ ทีละเล็กละน้อย
ตามอำนาจของ มรรค ที่ทำหน้าที่ได้ผลมากน้อยเพียงไร
ก็เป็น “นิโรธ” ออกมาตามนั้น เมื่อ มรรค มีกำลังเต็มที่ ตัดกิเลสขาด โดยไม่มีอะไรเหลือแล้ว
ทุกข์ก็ดับพร้อมในขณะนั้น ไม่มีทุกข์ใดที่จะปรากฏอยู่ภายในจิตใจ เรื่องก็มีเท่านั้น


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่นอกเหนือไปจากเบญจขันธ์ อันเป็น “รวงรังแห่งสัจธรรม” นี้เลย
ผู้ปฏิบัติจึงควรค้นคว้าอยู่ที่ตรงนี้ หากจะพิจารณาในธาตุใดขันธ์ใด
ก็ให้พึงน้อมเข้ามา เพื่อเทียบเคียงกับสิ่งที่ตนยึดตนถือว่า “เป็นตน เป็นของตน”
อันเป็นส่วนสำคัญนี้ เพื่อจะได้ปล่อยวางลงไป ด้วยการเทียบเคียงกับสิ่งภายนอก
ถ้าจะพอเข้าใจได้ในการพิจารณาตนเองโดยลำพัง ก็ให้เข้าใจ
หากยังไม่เข้าใจ จำต้องอาศัยสิ่งภายนอกเป็นเครื่องสนับสนุน หรือเป็นข้อเทียบเคียงเพื่อแก้ภายใน
ก็ทำการพิจารณาภายนอก ย่อมเป็นมรรคคือเป็นสติปัญญาได้
ถ้าพิจารณาภายในให้เป็นสติปัญญา หรือให้เป็นมรรค ก็เป็นมรรคได้
พิจารณาภายใน ก็เป็นมรรคได้ ทั้งข้างนอกข้างใน
จะทำให้เป็น สมุทัย หรือ ให้เป็น มรรค ก็เป็นได้
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการคิดปรุงของจิต ที่มีแง่ต่างกันไปในทางถูก หรือทางผิด


การพิจารณากาย อย่าได้คาดได้หมายว่าท่านผู้นั้นเห็นกายเห็นอย่างนั้น
เราก็อยากจะเห็นอย่างนั้นตาม อย่างนี้เป็นต้น ผิดวิสัยของตนหรือขัดต่อจริตนิสัยของตน
กายนั้น เรียกว่า
“กาย” เหมือนกัน ความเข้าใจตามจริตนิสัย ความรู้ ความเห็นตามจริตนิสัย
จะรู้อย่างไรก็ตาม ก็คือรู้กาย รู้สัจธรรมทั้งนั้น หลักใหญ่อยู่ที่ตรงนี้
กำหนดพิจารณาซ้ำๆ ซากๆ รู้หลายครั้งหลายหน ก็เข้าใจไปเองและปล่อยวางไปเอง
การเที่ยวกรรมฐานน่ะให้เที่ยวตรงนี้
“การเที่ยวกรรมฐาน” จะต้องหมายถึงเที่ยวตรงนี้เป็นสำคัญและถูกกับจุดมุ่งหมายของธรรม
จะไปเที่ยวกรรมฐานในป่านั้น เขานี้ ก็เพื่อจะพิจารณากรรมฐานนี้ให้เข้าใจนั่นเอง
ทั้งภายในภายนอก ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน


เพื่อความสะดวกในการภาวนา เพื่อให้รู้ “กัมมัฏฐาน หรือ กรรมฐาน” “ห้า”
คำว่า “ฐาน” แปลว่าที่ตั้ง ที่ตั้งแห่งงานอันเป็นงานสำคัญ
ก็มีอยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรมนี้ หรือในสัจธรรมทั้ง ๔ นี้
อยู่ในป่าก็ต้องพิจารณาที่นี้ อยู่ในเขา ในที่ไหนๆ ก็ต้องพิจารณานี้
เพราะติดหลงที่นี่ นี่เป็นเครื่องปิดบังจิตใจ ไม่มีความสว่างกระจ่างแจ้งตามความเป็นจริง
ไม่เห็นอรรถเห็นธรรม คือ ความจริงที่มีอยู่รอบตัว จึงต้องอาศัยพิจารณาสิ่งเหล่านี้


การที่จิตมืดดำก็เพราะสิ่งมืดดำปกปิด
จิตแท้มิได้มืดดำ เป็นธรรมชาติสว่างไสวมาก ผิดกับอะไรทั้งสิ้น
“กาย เวทนา จิต ธรรม” หรือ “อริยสัจ” เป็นหินลับปัญญาก็ได้
คือคิดให้เป็นประโยชน์ก็ได้ คิดให้เป็นโทษก็ได้
ตามแต่การคิดปรุงของจิต จะคิดไปในแง่ “ถูกธรรม” หรือ “ผิดธรรม”
คือ “กาย เวทนา จิต ธรรม” นี้ คิดให้เป็นการสั่งสมกิเลสขึ้นมาก็ได้ คิดเพื่อแก้กิเลสก็ได้
เพราะทุกขสัจภายในกายภายในจิตเตือนเราอยู่ทุกวัน เพราะมันขึ้นเวทีก่อนเรา
และคอยเราอยู่บนเวทีทุกระยะอยู่แล้ว ท้าทายเราอยู่ตลอดเวลาด้วยความจริง
เราจะต้องฟิตตัวให้พอกับกำลังของข้าศึก ถ้ากำลังไม่พอก็แพ้
เวลานี้เรากำลังก้าวเข้าสู่สงคราม คือ “สงคราม ชรา โรคา พยาธิ มรณะ” นี่เป็นสงครามล้างโลก
ถ้าชนะแล้วก็ล้างโลก แน่ะ! ถ้าแพ้ก็จมอยู่ในโลก และเสวยผล ทนทุกข์ทรมานตนอยู่ในโลกต่อไป
ท่านจึงสอนให้ยึดกรรมฐานเป็นหลักชัยในการรบ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญ
สมกับงานอันใหญ่โต คืองานรื้อถอน กิเลส อาสวะ งานรื้อภพ รื้อชาติ รื้อวัฏสงสาร ออกจากใจ


สัจธรรมทั้งสอง คือทุกข์กับสมุทัย ไม่เคยลงจากเวที เว้นแต่จะตายเสียเท่านั้น
นอกนั้นเขาอยู่บนเวที คือร่างกายและจิตใจของเรานี้ตลอดเวลา
สติปัญญา ซึ่งเป็นสัจธรรมฝ่ายปราบปราม จงสร้างขึ้นมาให้ทันกันกับสิ่งเหล่านี้
ให้ได้รู้เท่าทันกันกับความจริงมีอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนั้น
ระวังตัวเราอย่าให้มีความรู้นอกเหนือไปกว่าพระพุทธเจ้า
อย่าปีนเกลียวกับธรรมของพระองค์ จะมีแต่ความทุกข์
เช่นเดียวกับเราเดินไปตามทาง ก็ยังไม่สงบและฉลาดเท่าที่ควรอยู่แล้ว
ยังฝืนก้าวออกไปเดินสองฟากทาง และเหยียบขวากเหยียบหนาม
นั่นเป็นความสุขและเป็นความถูกต้องดีงามแล้วหรือ
? นี่เป็นการเตือนตัวเอง
ผู้ใดที่จะมากล่าวเป็นความถูกต้องแม่นยำยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า มีที่ไหนในโลกนี้!


ศาสดามีเพียงองค์เดียว ที่สอนถูกต้องแม่นยำ
จงนำธรรมนั้นเข้ามาพิจารณาดูในตัวเรา
ท่านสอนว่าอย่างไรบ้าง ถือเอาคำที่ถูกต้องนั้นแหละเป็นหลักดำเนิน
ที่จะหมุนจิตหมุนสติปัญญาเข้าไปสู่ความจริงนั้น
ฝืนจากสิ่งจอมปลอมทั้งหลาย ที่คอยฉุดลากเรา ให้ออกนอกลู่นอกทางอยู่เสมอ
ฝืนโดยไม่หยุดไม่ถอย นี่ชื่อว่า
“นักรบ”
เพราะจิตซึ่งกิเลสคอยกระซิบนั้นกระซิบอยู่ตลอดเวลา
ให้เราทราบว่า ความกระซิบเหล่านั้นส่วนมากร้อยทั้งร้อยมีแต่เรื่องของกิเลสทั้งมวล
ความฝืนสิ่งกระซิบ ความฝืนความฉุดลาก ความฝืนใจจากสิ่งจอมปลอม นั้นแลคือ “ธรรม”
เมื่อเกิดความทุกข์ขึ้นมาทางร่างกาย จิตใจรู้สึกท้อแท้อ่อนแอ
นั่นคือโลกแท้ คือกิเลส ตัวหลอกลวงแท้ ไม่สงสัยให้เสียเวลา


ตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้ ทุกข์ ก็คือ ทุกข์ จะให้เขาเป็นอะไรอีก
สติปัญญาก็พิจารณาให้ทราบว่า ทุกข์คือทุกข์ เราคือเรา
เมื่อความจริงเข้าถึงกันแล้ว ไม่มีใครแพ้ ไม่มีใครชนะ เป็นความจริงเสมอกัน
เมื่อต่างอันต่างเป็นความจริงแล้ว ก็ไม่ทะเลาะวิวาทกันอีก ไม่เป็นข้าศึกต่อกันอีก
การพิจารณานี้ อย่างน้อยก็เพื่อความสงบศึก
มากยิ่งกว่านั้น ก็ให้เสร็จให้สิ้นการเป็นข้าศึกกัน
เพราะการพิจารณาอยู่เวลานี้ จงคลี่คลายดูให้หมด จะทุกข์มากทุกข์น้อยเพียงไร
เราไม่ใช่ผู้ล่มจมไปด้วยทุกข์ เราเป็น
“ผู้รู้” ทุกข์ต่างหาก และเราเป็นผู้พิจารณาทุกข์ต่างหาก
ทำไมจึงจะมากลัวในเรื่องทุกข์ ซึ่งมันเป็นอันหนึ่ง ต่างหากจากใจ


ความจริง ถ้ามี “สติ” มาก จิตเด่น เราฝึกหัดสติเราให้ได้มากเท่าไร ความรู้นั้นยิ่งเด่น
เพราะสติเป็นเครื่องเสริมความรู้ ปัญญา คือความฉลาด
เป็นเครื่องบุกเบิกสิ่งที่จิตติดข้อง ให้ก้าวไปอย่างฝืดเคืองไม่ราบรื่นชื่นใจ
พิจารณาให้ทันกับเหตุการณ์ เพราะไม่เห็นมีสิ่งแปลกอะไรในร่างกายเรานี้
มีแต่สิ่งที่เคยรู้ เคยเห็น คือสัจธรรมเท่านั้น
ไม่เห็นมีอะไรที่จะแปลกปลอมยิ่งกว่านั้นไปอีก มีอะไรมาเพิ่มเติมพอให้เกิดความท้อถอย
ทุกข์น่ะก็มีเท่านั้น เขาเคยแสดงอยู่ตลอดเวลา เราเคยพิจารณาอยู่แล้ว


ปัญญาเป็นเครื่องแก้ทุกข์ เป็นเครื่องรู้เท่าทันทุกข์ เราก็ทราบอยู่แล้ว
นำมาพิจารณาให้เห็นเรื่องของทุกข์ ว่าเป็นทุกข์อย่างแท้จริงตามหลักธรรมชาติ
ผู้รู้ ก็ให้รู้ทุกข์ อย่างแท้จริงตามหลักธรรมชาติของตน
ทุกข์จะเกิดมากน้อยเพียงใดก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะมันคนละเรื่อง
ทุกข์ก็เป็นอันหนึ่ง เราก็เป็นอันหนึ่ง มันคนละเรื่อง
ถ้าเอามาคละเคล้ากันต้องเดือดร้อน เพราะทุกข์เป็นของร้อนอยู่แล้ว
เช่นเดียวกับไฟเป็นของร้อน เราเอามาจี้เรา มันก็ร้อน
ถ้าไฟเป็นไฟ เราเป็นเรา ไม่เอามาเกี่ยวข้องกัน
ไฟก็ไม่มีความหมายอะไรกับเรา จะมาทำความทุกข์ให้เราไม่ได้
นี่ถ้าเราไม่ไปจับไปคว้าไฟ คือ ทุกข์ พอจะให้เกิดความร้อนขึ้นมา
ความทุกข์ก็ไม่มาเสียดแทงจิตใจเราได้
สติปัญญาขุดค้นจนให้ถึงความจริงแห่งทุกข์ ให้ถึงความจริงแห่งกาย
กายก็เป็นกาย ทุกข์ก็เป็นทุกข์ หรือรูปเป็นรูป เวทนาเป็นเวทนา พิจารณาให้ละเอียดลออ


ตัวสัญญาที่คอยหมายมั่นนั้นเร็วที่สุด ตัวสัญญานี่มันคอยจะหมายอยู่เรื่อยๆ
ถ้าแยกออก เราก็เป็นกรรมการคนหนึ่งที่ทรงพลังสติปัญญาไว้อย่างเต็มภูมิ
จงแยกขันธ์นั้น ๆ ด้วยสติปัญญา อย่าให้มันเข้าพัวพันกันไม่เกิดประโยชน์
นอกจากเกิดทุกข์โดยถ่ายเดียว จงแยกมันออกด้วยปัญญา
มี ๕ อาการเท่านี้แหละ รูปคือกาย เวทนาคือ สุข ทุกข์ เฉย ๆ
สัญญาคือความจดจำความสำคัญต่าง ๆ สังขารคือความคิดความปรุงของใจ
วิญญาณคือความรับทราบ เวลามีสิ่งภายนอกมาสัมผัสตา หู จมูก ลิ้น กาย มีอยู่เท่านี้



ที่สำคัญที่สุดคือสัญญากับเวทนานี้แหละ สำคัญอยู่มาก
สติต้องจดจ่อลงที่นี่ พิจารณาที่นี่ให้ชัดเจน
ใจจะมีความมั่นคงต่อตนเองและอบอุ่นด้วยสติปัญญา รู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้
ข้าศึกก็คือสิ่งเหล่านี้เอง เป็นข้าศึกต่อเราไม่ใช่อะไร
ถ้าพิจารณาไม่รอบ พิจารณารู้ไม่เท่าทัน
ก็ทุกขเวทนานี้แลจะมาเป็นตัวทุกข์ภายในจิตใจเพิ่มเข้าอีก
เพราะเราเอื้อมไปจับหรือไปยึด จิตใจอยู่ดี ๆ ก็เลยกลายเป็นทุกข์ขึ้นมา
แทนที่ใจจะเป็นภาชนะแห่งธรรม เลยกลายเป็นภาชนะแห่งทุกข์ขึ้นมาเสีย
ฉะนั้น จึงต้องแยกออกด้วยปัญญา ให้รู้ตามความจริงของมัน
พระพุทธเจ้าทรงรู้อย่างนี้ พระสาวกทั้งหลายรู้ด้วยวิธีการพิจารณาอย่างนี้
และรู้เด็ดขาดด้วยอำนาจของสติปัญญาที่แหลมคม
พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าจนเป็นที่เข้าใจ



สุดท้ายขันธ์ก็เป็นขันธ์ จิตก็เป็นจิต ไม่มีอะไรเป็นข้าศึกกัน ทั้งๆ ที่อยู่ด้วยกัน
นั่น! เพราะต่างอันต่างไม่มีเรื่องอะไรมากระทบกระเทือนกัน
เมื่อต่างอันต่างจริงแล้วเป็นเช่นนั้น
ท่านมีความผาสุกสบายในท่ามกลางแห่งขันธ์ ที่เป็นกองเพลิงทั้งกองนั้น
แต่เราอยู่ในกองเพลิงหรือทุกข์ร้อนอยู่ในกองเพลิงคือเบญจขันธ์
จึงต้องอาศัยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร เป็นน้ำดับไฟ
ให้เป็นความเย็นขึ้นมาที่ใจของตน



เรื่องความเป็นความตายมันอยู่ในขันธ์นี้ อย่าไปคิดไปคาด
ถึงวันมันตายของมันเอง ถึงกาลเวลามันตายของมันเอง อยู่ไหนมันก็ตาย
เพราะเรื่องความตายเป็นธรรมชาติตายตัวอยู่แล้วกับขันธ์นั้น ๆ
สำคัญที่เราจะให้เกิดสารประโยชน์แก่ตัวเรานี้ จะให้เกิดได้ด้วยวิธีใด นี่เป็นสิ่งสำคัญ
ขาดทุนก็ขาดทุนไปตรงนี้ ได้กำไรก็ได้ตรงนี้
แต่เรื่องความตาย เขาไม่ได้หวังทุนหวังกำไรกับใคร
มันเป็นความจริงอันหนึ่งของหลักธรรมชาติของเขา เราไม่ต้องไปยุ่ง
เอาตรงที่สำคัญนี้ ค้นลงให้เห็นความตายอย่างชัดเจนประจักษ์ใจ
หมดลมที่ไหนก็ปล่อยกัน ยากอะไร! ความตายไม่ยาก เพราะเป็นการทิ้งนี่



การหลงน่ะซี มันลำบาก มันเป็นทุกข์
การหลง การห่วง มันลำบาก มันเป็นกิเลส มันเป็นทุกข์
การตายจริง ๆ มันไม่ทุกข์นี่ เป็นการสลัดปัดทิ้งทุกอย่าง
รู้ความเป็นจริงแล้วก็สลัดทิ้งอย่างนั้น ไม่มีปัญหาอะไร พิจารณาให้เด่นในจิต
เมื่อมันเด่นแต่ทุกข์ เด่นแต่สมุทัย มันก็มีแต่ทุกข์เต็มตัว เต็มหัวใจนั้นแล
ถ้าสติปัญญาเด่น จิตก็เด่น เด่นดวง รื่นเริง
ตัวเป็นหลักเป็นเกณฑ์ของตัวเอง ตัวเป็นตัวของตัวเอง เป็นเนื้อเป็นหนังของตัวแล้ว
ไม่ต้องอาศัยอะไรมาเป็นเนื้อเป็นหนัง อาการเหล่านั้นเป็นของที่ไว้ใจไม่ได้ทั้งนั้น
ถ้าเราไปจับไปต้อง ไปยึดไปถือ ก็กลายเป็นพิษได้อย่างรวดเร็ว
จะถือเอาเป็นประโยชน์จริงๆ ไม่ได้ แต่จะให้เป็นโทษจริงๆ มันรวดเร็ว
ขันธ์ก็เป็นโทษในความยึดถือของเราที่ไปสำคัญมั่นหมายนั่นแล



อะไรจะสว่างยิ่งกว่าใจ เมื่อขัดสิ่งที่เป็นมลทินที่สกปรกทั้งหลายออกจากใจแล้ว
ไม่ต้องบอกว่าใจจะสว่างหรือไม่สว่าง สว่างขึ้นเอง
สามารถฉลาดรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรนอกเหนือจากใจนี้ไปได้
สงครามอันนี้เป็นสงครามที่สำคัญมาก สำหรับเราแต่ละคน ๆ
ผู้ปฏิบัติศาสนาจึงต้องถือนี้เป็นจุดสำคัญ
เพราะนี้เป็นจุดจำเป็นที่เราต้องรู้เท่าทันโดยแท้
เป็นจุดแพ้ จุดชนะ จุดเป็น จุดตาย จุดทุกข์ จุดลำบากทรมาน ก็อยู่ที่จุดนี้
หลุดพ้นก็อยู่ที่จุดนี้ ได้ชัยชนะก็อยู่ที่จุดนี้ คือความเกษมสำราญ
ถ้าไม่ถึงที่จุดนี้ จะไปถึงที่ตรงไหน ถึงที่นี่แหละ!
เมื่อถึงที่นี่แล้ว ไม่ต้องไปถามหา
“นิพพาน” ให้เสียเวล่ำเวลา
เอ้า ชื่อสมมุติว่ากันไป กิเลสมันอยู่ภายในหัวใจเรา
เราไม่ได้ให้ชื่อมันว่า “กิเลส” มันยังทำให้เราทุกข์ได้ทั้งวันทั้งคืน
“โอ๊ย วันนี้ไม่สบายใจ! อะไรต่าง ๆ ยุ่งไปหมด จนนอนไม่หลับ จะเป็นบ้าเป็นบอ”
กิเลสไม่เห็นได้พูดว่า มันทำอันตรายเราอย่างนั้นอย่างนี้หรือทำพิษเรา
มันไม่เห็นว่ากัน ไม่ว่ากัน ก็ตาม เมื่อมันเป็นกิเลส มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น


ธรรมคือ “นิพพานธรรม” ถึงขั้นบริสุทธิ์แล้ว ว่าไม่ว่าใจก็บริสุทธิ์อยู่นั่นแล
จะให้ชื่อให้นามหรือไม่ ไม่สำคัญ ขอให้ได้ถึงได้อยู่ที่ความบริสุทธิ์
จะเป็นความเกษมสำราญอย่างยิ่งภายในนั้น
นี่แหละคือ สนามรบ! ที่แสดงมานี้ เอาให้รู้ให้เห็นกันที่นี่
รู้ที่นี้แล้วก็เป็น “โลกวิทู” รู้แจ้งไปหมดนั้นแหละ
เพราะสภาพทั้งหลายเหมือน ๆ กัน พอเข้าใจอันหนึ่งแล้ว ก็เข้าใจไปหมด
แม้แต่ร่างกาย เราเข้าใจอาการใดอาการหนึ่ง มันยังทั่วถึงไปหมด หลุดพ้นไปหมด
เวทนาก็ที่มีอยู่ในจุดหนึ่ง มันก็ซาบซ่านไปหมด เป็น “โลกวิทู” เข้าใจไปเหมือนกัน
นี่แหละ “โลกวิทู” ของพวกเราเป็นอย่างนี้


 “โลกวิทู” ของพระพุทธเจ้า นอกจากรู้อย่างนี้แล้ว
ยังรู้อย่างกว้างขวางลึกซึ้งไปอีกมากมายเกี่ยวกับสัตว์โลก
เกี่ยวกับสภาวธรรมต่าง ๆ ทั่ว ๆ ไป เราไม่ใช่วิสัยอย่างนั้น
ที่เหมาะแก่จริตนิสัย หรือความสามารถของเรา
จงให้เป็น “โลกวิทู” รู้แจ้งตรงที่มันกำลังมืดอยู่เวลานี้
สิ่งใดเป็นสิ่งที่ปิดบัง กำหนดพิจารณาสิ่งนั้นให้ทราบชัดตามความจริงด้วยปัญญา
ท่านว่า “นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา ความสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี”
แน่ะ! และอะไรที่จะมืดเสมอด้วยกิเลสไม่มี จึงต้องแก้ด้วยปัญญาความสว่าง
เราตามไฟไปส่องหากิเลสวันยังค่ำ ก็ไม่มีกิเลสตัวไหนจะมาโง่ๆ ให้เราได้ดูมัน
เปิดไฟฟ้าเข้าไปให้เห็นตัวของกิเลส แต่กิเลสมันไม่ได้โง่เหมือนเรานี่
เพื่อให้ทันกิเลส มันต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องตามกิเลส ส่องดูกิเลสด้วยสติปัญญา
เห็นทั้งหน้าทั้งตา เห็นทั้งโคตรทั้งแซ่ เห็นทั้งรากเหง้าเค้ามูลของมัน
ถอนขึ้นมาได้หมดด้วยอำนาจของปัญญานี้เท่านั้น
ท่านจึงว่า “เครื่องมือที่ทันสมัย คือ ปัญญา” สว่างโร่อยู่ทั้งกลางวันกลางคืน
ท่านว่า “อาโลโก อุทปาทิ ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”
“ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ”
เกิดขึ้นที่ไหน ก็เกิดขึ้นที่นั่น ที่เคยมืดดำ และสว่างขึ้นที่นั้นแล
“จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ”
นี่แหละ “มรรค ๘” เป็นไปเพื่ออย่างนี้แหละ
เป็นไปเพื่อบรรลุ เพื่อตรัสรู้ เป็นไปเพื่อนิพพาน


วันหนึ่งๆ ให้พิจารณารอบตัวอยู่นี่เสมอ
จิตเมื่อมีเครื่องรักษาก็สว่าง ปัญญาพาให้สว่างโล่งอยู่ภายในตัวเอง
อะไรจะเกิดขึ้นก็รู้ ทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ ทุกข์ดับไปก็รู้ รู้โดยความโล่งของสติปัญญาเอง
นี่แหละเย็นสบาย ตายเมื่อไรก็ไม่มีปัญหา
เพราะธรรมชาตินั้น ไม่ตายแล้ว ไม่หลงแล้ว ไม่ล่มจมแล้ว ก็มีเท่านั้น
สิ่งที่เราต้องการ ขอให้นำไปพิจารณา


เอาละ แสดงธรรม ก็เห็นว่าพอสมควร


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ที่มา bit.ly/1XuqWEt


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP