จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เตรียมรับภัย


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


158 destination


หลายท่านอาจจะรู้สึกว่าอากาศในปีนี้ร้อนมากขึ้นกว่าเดิมมากนะครับ
ในประเทศอินเดียได้มีคนตายเพราะคลื่นความร้อนในปีนี้ถึง ๒ พันคน
http://www.thairath.co.th/content/502128


นอกจากอากาศร้อนแล้ว ปีนี้โลกเรายังประสบปัญหาภัยแล้งอีกด้วย
ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประสบภัยแล้งอย่างหนัก
จนต้องออกมาตรการคุมการใช้น้ำ เช่น
จำกัดการรดน้ำต้นไม้และสวนเพื่อความสวยงามให้ทำได้แค่สัปดาห์ละ ๒ วัน
ห้ามรดน้ำสนามหญ้าและสวนในบ้านระหว่างฝนตก หรือหลังฝนตกเป็นเวลา ๔๘ ชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังสั่งปิดน้ำพุ และสั่งห้ามร้านอาหารเสิร์ฟน้ำให้แก่ลูกค้า หากลูกค้าไม่ได้สั่ง
ห้ามบ้านเก่าที่ปรับภูมิทัศน์ใหม่ และโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ๆ ใช้เครื่องฉีดน้ำ
ตลอดจนเร่งรณรงค์ปลูกฝังค่านิยมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าให้แก่ประชาชน
โดยนายเจอร์รี บราวน์ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้กล่าวว่า
“เราอยู่ในยุคใหม่ที่ การมีสนามหญ้าเขียวขจีเล็ก ๆ ที่สามารถรดน้ำได้ทุกวัน

ได้กลายเป็นเรื่องราวในอดีตไปแล้ว”
http://www.komchadluek.net/detail/20150531/207234.html


ในส่วนของประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี
สำหรับปี ๒๕๕๘ นี้ แม้ว่าจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้วก็ตาม

แต่สถานการณ์ภัยแล้งก็ยังส่งปัญหาต่อเนื่องมาถึงฤดูฝน
โดยปริมาณการกักเก็บน้ำในอ่างของเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าครึ่ง
และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เช่น เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมานั้น พบว่า
ภาคเหนือมีน้ำในอ่างเก็บน้ำ ๓๖% แต่ใช้การได้จริง ๙%
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีน้ำในอ่างเก็บน้ำ ๓๕% แต่ใช้การได้จริง ๑๕%
ภาคกลางมีน้ำในอ่างเก็บน้ำ ๑๙% แต่ใช้การได้จริง ๑๕%
ภาคตะวันตกมีน้ำในอ่างเก็บน้ำ ๖๐% แต่ใช้การได้จริง ๑๐%
ภาคตะวันออกมีน้ำในอ่างเก็บน้ำ ๓๒% แต่ใช้การได้จริง ๒๕%
และภาคใต้ มีน้ำในอ่างเก็บน้ำ ๖๙% และใช้การได้จริง ๔๘%
โดยรวมทั้งประเทศมีน้ำที่สามารถใช้การได้จริงแค่ ๑๕% เท่านั้น
http://www.komchadluek.net/detail/20150602/207315.html


หากจะมองไปในเรื่องภัยพิบัติแผ่นดินไหวก็ยังมีอยู่เรื่อย ๆ นะครับ
ซึ่งแม้แต่ประเทศมาเลเซียเพื่อนบ้านเรา ซึ่งอยู่นอกแนวแผนเปลือกโลก “วงแหวนแห่งไฟ”
ที่เรียงตัวต่อกันเป็นแนวคล้ายเกือกม้าก็ยังประสบเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง
โดยเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด ๖.๐ ตามมาตราริกเตอร์
มีจุดศูนย์กลางอยู่ห่างจากเมืองราเนา ในรัฐซาบาห์
ทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย ประมาณ ๑๙ กิโลเมตร
ซึ่งแผ่นดินไหวครั้งนี้สั่นสะเทือนทั่วแผ่นแปซิฟิก
และสามารถรับรู้ได้ทั้งในบรูไน อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ด้วย
http://www.dailynews.co.th/foreign/326028
โดย ณ วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๘ พบว่าเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว
ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตในประเทศมาเลเซียแล้ว ๑๓ ศพ
http://www.dailynews.co.th/foreign/326318


ในส่วนของประเทศอื่น ๆ นั้น ที่เป็นข่าวใหญ่ในเดือนเมษายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา
ก็คือแผ่นดินไหวในประเทศเนปาล ซึ่งทำให้เสียหายรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
แต่ในอันที่จริงแล้ว โลกเราก็เกิดแผ่นดินไหวในหลายประเทศอยู่เรื่อย ๆ นะครับ เช่น
วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๘ แผ่นดินไหวขนาด ๔.๖ ตามมาตราริกเตอร์ที่ประเทศฟิลิปปินส์
วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ แผ่นดินไหวขนาด ๕.๐ ตามมาตราริกเตอร์ที่ประเทศอินโดนิเซีย
และขนาด ๔.๗ ตามมาตราริกเตอร์ที่ประเทศมาเลเซีย และประเทศจีน
วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๘ แผ่นดินไหวขนาด ๖.๐ ตามมาตราริกเตอร์ที่ประเทศมาเลเซีย
(แผ่นดินไหวรายการนี้บางข่าวระบุว่าเป็นวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ ตามที่อ้างข้างต้น)
และขนาด ๔.๗ ตามมาตราริกเตอร์ที่ประเทศญี่ปุ่น และขนาด ๕.๔ ตามมาตราริกเตอร์ที่หมู่เกาะฟิจิ เป็นต้น
(อนึ่ง ข้อมูลแผ่นดินไหวในแต่ละวันจะมีจำนวนประเทศที่เกี่ยวข้องมากกว่านี้
แต่ผมดึงมาเพียงบางประเทศนะครับ)
http://www.seismology.tmd.go.th/global.html


ในประเทศไทยเอง แผ่นดินไหวก็เริ่มเกิดบ่อยมากขึ้นจนบางท่านอาจจะเริ่มคุ้นเคยแล้ว
เช่น เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ประเทศไทยก็เพิ่งเกิดเหตุแผ่นดินไหว
ขนาดความรุนแรง ๔.๖ ตามมาตราริกเตอร์ ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ อ.เกาะยาว จ.พังงา
http://www.dailynews.co.th/regional/319166
กรณีแผ่นดินไหวที่จังหวัดพังงาเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ นี้เป็นข่าวพอสมควร
เพราะมีขนาดความรุนแรงถึง ๔.๖ ตามมาตราริกเตอร์


แต่หากเราจะพิจารณาถึงแผ่นดินไหวในส่วนที่ไม่เป็นข่าวด้วยแล้ว
เราจะพบว่ายังมีแผ่นดินไหวเล็ก ๆ ในประเทศไทยอยู่เรื่อย ๆ เช่นกัน เช่น
วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ มีแผ่นดินไหวขนาด ๑.๘ ตามมาตราริกเตอร์ที่ อ.พาน จ.เชียงราย
และขนาด ๒.๑ ตามมาตราริกเตอร์ที่ อ.แม่ลาว และ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๘ มีแผ่นดินไหวขนาด ๒.๑ ตามมาตราริกเตอร์ที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘ มีแผ่นดินไหวขนาด ๒.๓ ตามมาตราริกเตอร์ที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ มีแผ่นดินไหวขนาด ๒.๘ ตามมาตราริกเตอร์ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
วันที่ ๒๓พฤษภาคม ๒๕๕๘ มีแผ่นดินไหวขนาด ๑.๖ ตามมาตราริกเตอร์ที่ อ.พาน จ.เชียงราย
วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ มีแผ่นดินไหวขนาด ๒.๓ ตามมาตราริกเตอร์ที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย
และ ๒.๘ ตามมาตราริกเตอร์ที่ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เป็นต้น
(อนึ่ง ถ้าดูข้อมูลย้อนหลังไปเรื่อย ก็จะพบว่ามีแผ่นดินไหวแบบเบา ๆ อยู่เรื่อย ๆ เช่นกัน)
http://www.seismology.tmd.go.th/inside.html?pageNum_thaievent=0&totalRows_thaievent=3215


เนื่องด้วยเหตุที่ภัยพิบัติต่าง ๆ เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคสมัยนี้
ความรู้และการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติต่าง ๆ

จึงย่อมเป็นสิ่งจำเป็นหรือสำคัญสำหรับเรามากยิ่งขึ้น ๆ ในปัจจุบัน
เพื่อที่ว่าเราจะสามารถเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ นั้นได้
ในส่วนของการหาความรู้เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติต่าง ๆ นั้น
เราอาจจะเริ่มต้นด้วยการศึกษาข้อมูลก่อนว่า
พื้นที่ที่เราอยู่อาศัยนั้นมีความเสี่ยงสำหรับภัยพิบัติอะไรบ้าง
โดยอาจจะลองตรวจสอบในระบบฐานข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ซึ่งได้เก็บรวบรวมฐานข้อมูลว่าพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติแต่ละประเภทนั้นมีจังหวัดใดบ้าง
http://61.19.54.136/
ซึ่งเมื่อเราทราบว่าพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่มีความเสี่ยงในภัยพิบัติอะไรแล้ว
เราจึงศึกษาและหาข้อมูลในการเตรียมความพร้อมในภัยพิบัติต่าง ๆ นั้นต่อไป
เช่น การเตรียมความพร้อมในเรื่องการเตรียมพร้อมรับแผ่นดินไหวอาจจะลงดูจากลิงค์นี้ เป็นต้น
สาระน่ารู้ รับมือแผ่นดินไหว (คลิก)


ทั้งนี้ ผมจะไม่นำข้อมูลการเตรียมภัยพิบัติทุกประเภทมาลงในบทความนะครับ
เพราะเนื้อหาจะยาวเกิน และท่านผู้อ่านย่อมสามารถจะค้นเองในกูเกิ้ลได้ไม่ยาก
แต่ผมจะขอยกข้อพึงปฏิบัติบางเรื่องที่จะมีส่วนช่วยให้เราเอาตัวรอดในภัยพิบัติต่าง ๆ ดังนี้


ข้อแรก ฝึกฝนตนเองที่จะกินง่ายและอยู่ง่าย (หรือเลี้ยงง่าย)
ซึ่งรวมถึงกินอยู่อย่างประหยัด และไม่ฟุ่มเฟือย
โดยเมื่อเราเป็นผู้ที่กินง่ายอยู่ง่าย และประหยัดแล้ว

หากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติที่สิ่งต่าง ๆ ขาดแคลน
เราก็ยังสามารถปรับตัวได้ง่ายและอยู่ได้ง่ายกว่าคนอื่น ๆ ที่เขากินยากอยู่ยาก


ข้อสอง ฝึกฝนที่จะพึ่งพาตนเองในเรื่องต่าง ๆ ให้มาก
โดยหากเรามักจะพึ่งพาคนอื่น ๆ ในเรื่องต่าง ๆ เสียมากแล้ว

ในเวลาที่เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ นั้น เราย่อมจะเอาตัวรอดได้ยากกว่าคนอื่น ๆ


ข้อสาม ฝึกฝนตนเองที่จะอดทน (หรือมีขันติ) ในเรื่องต่าง ๆ
ไม่ปล่อยให้กาย วาจา และใจไหลไปตามโทสะ โลภะ และโมหะโดยง่าย


ข้อสี่ หมั่นดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง
และศึกษาเรียนรู้วิธีการที่จะดูแลสุขภาพตนเองด้วยการพึ่งพาตนเอง
เพราะเมื่อเวลาเกิดภัยพิบัตินั้น หากเราหรือคนใกล้ตัวเจ็บป่วยขึ้นมา จะได้ดูแลได้


ข้อห้า หมั่นเจริญสติ เรียนรู้กายใจอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจ
ซึ่งเมื่อกายและใจว่าไม่เที่ยง และเป็นไปตามเหตุปัจจัยแล้ว
เมื่อประสบกับปัญหาภัยพิบัติใด ๆ ก็ตาม
ใจก็จะสามารถยอมรับในสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย ซึ่งจะทำให้ไม่เดือดร้อนใจมากนัก
และเราก็สามารถมีความสุขในใจได้แม้อยู่ท่ามกลางภัยพิบัตินั้น ๆ


ในส่วนของพระธรรมคำสอนนั้น หากเราได้มองเห็นภัยในอนาคตในชีวิตเราแล้ว
ท่านได้สอนว่าเราควรไม่ประมาท แต่ควรมีความเพียร เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ
โดยใน “อนาคตสูตรที่ ๒” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต) สอนว่า
ภิกษุผู้เห็นภัยในอนาคต ๕ ประการ คือ
ประการแรก เห็นภัยว่าบัดนี้ เรายังเป็นหนุ่มแน่น มีผมดำสนิท
ประกอบด้วยความเป็นหนุ่มอันเจริญก็ตาม
แต่เมื่อถูกชราครอบงำแล้ว จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ไม่ใช่ทำได้ง่าย



อีกประการหนึ่ง เห็นภัยว่าบัดนี้ เรามีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง
ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ
ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก ขนาดกลาง ควรแก่การบำเพ็ญเพียร
แต่ย่อมมีเวลาที่ความป่วยไข้จะเข้าครอบงำ จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ทำได้ง่าย



อีกประการหนึ่ง เห็นภัยว่าบัดนี้ ข้าวกล้าดี บิณฑบาตก็หาได้ง่าย
สะดวกแก่การแสวงหาเลี้ยงชีพ แต่ก็ย่อมมีสมัยที่มีข้าวแพง ข้าวกล้าไม่ดี
บิณฑบาตหาได้ยาก ไม่สะดวกแก่การแสวงหาเลี้ยงชีพ
แต่ในสมัยข้าวแพง พวกมนุษย์ย่อมหลั่งไหลไปในที่ที่มีอาหารดี
ในที่นั้นย่อมมีการอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีการอยู่พลุกพล่านกัน
เมื่อมีการอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ อยู่พลุกพล่านกัน
จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ทำได้ง่าย


อีกประการหนึ่ง เห็นภัยว่าบัดนี้ มนุษย์ทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน
ชื่นชมต่อกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดังน้ำนมกับน้ำ
แต่ย่อมมีสมัยที่มีภัย มีความปั่นป่วนในหมู่ประชาชน และวุ่นวาย
เมื่อมีภัย พวกมนุษย์ย่อมหลั่งไหลไปในที่ที่ปลอดภัย
ในที่นั้นย่อมมีการอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีการอยู่พลุกพล่านกัน
เมื่อมีการอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ อยู่พลุกพล่านกัน
จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทำได้ง่าย


อีกประการหนึ่ง เห็นภัยว่าบัดนี้ สงฆ์เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมต่อกัน
ไม่วิวาทกัน มีอุเทศร่วมกัน อยู่ผาสุก แต่ก็ย่อมมีสมัยที่สงฆ์แตกกัน
ซึ่งเมื่อสงฆ์แตกกันแล้ว จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ไม่ใช่ทำได้ง่าย


เมื่อภิกษุเห็นภัยในอนาคต (แม้ข้อใดข้อหนึ่ง) ใน ๕ ประการนี้แล้ว
พึงเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่
เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ
เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=2345&Z=2396&pagebreak=0


อนึ่ง พระสูตรนี้แม้จะทรงสอนแก่พระภิกษุก็ตาม
แต่เราที่เป็นฆราวาสก็สามารถนำมาปรับพิจารณากับชีวิตฆราวาสได้เช่นกันครับ


+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +


หมายเหตุ ณ วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ ศาลาปฏิบัติธรรม อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์
ได้ประกอบโครงเหล็กหลังคาเสร็จแล้ว และเตรียมยกไปประกอบกับเสาอาคารศาลาปฏิบัติธรรม
ในส่วนของห้องน้ำและห้องอาบน้ำภายนอกศาลานั้น
ขณะนี้ได้วางระบบท่อประปาและเทพื้นคอนกรีตเสร็จแล้ว
(โดยผมจะอัพเดทความคืบหน้าในคอลัมน์นี้ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบไปจนกว่า
การก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมจะแล้วเสร็จ และเริ่มเปิดดำเนินการได้นะครับ)


ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามกิจกรรมการจัดค่ายเรียนรู้กายใจสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน ได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai
และสามารถติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่
เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP