สารส่องใจ Enlightenment

ภัยในฤดูร้อน



พระธรรมเทศนา โดย พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่




ท่านสาธุชนทั้งหลาย เดือนนี้เป็นเดือนเมษายน ตรงกับเดือน ๕ ใต้ เดือน ๗ เหนือ
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่มีอากาศร้อนกว่าทุกๆ เดือน
นอกจากอากาศร้อนอบอ้าว ทำความไม่ผาสุกให้แล้ว
จะมีอะไรบ้างที่เป็นภัยติดตามมากับความร้อน ซึ่งควรจะระมัดระวังป้องกันเสียแต่ต้นมือ
ดังคำภาษิตโบราณว่า “กันไว้ดีกว่าแก้”
ถ้าไม่ได้คิดป้องกันแก้ไขไว้ก่อน
ปล่อยให้ความเดือดร้อนเกิดขึ้นแล้ว จึงหาทางป้องกันแก้ไขภายหลัง
ก็จะเข้าทำนองคำโบราณที่ว่า “วัวหายแล้วล้อมคอก” หาเป็นผลดีแต่อย่างใดไม่



ความเดือดร้อนวุ่นวายที่รู้เห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ทั้งที่เป็นส่วนแคบภายในครอบครัว
และทั้งที่เป็นส่วนกว้างอันเป็นเรื่องของสังคมภายในประเทศ ตลอดถึงของโลก
ก็มีเหตุสืบเนื่องมาจากการไม่คิดหาทางป้องกันแก้ไข
ปล่อยให้เรื่องเกิดแล้วจึงหาทางแก้ แบบวัวหายล้อมคอกนั่นเอง



ท่านผู้รู้ได้แสดงลักษณะของคนกล้าไว้ว่า
คนที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นคนกล้า ต้องประกอบด้วยลักษณะ ๒ ประการ คือ
๑. หาทางหลบหลีกภัยที่ยังไม่มาถึง
๒. ไม่สะดุ้งต่อภัยทีมาถึงแล้ว



“มีภัยอะไรบ้างเล่าที่จะตามมากับฤดูร้อน?”
ขอให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามเรื่องดังต่อไปนี้
ภัยประการแรกคือ โรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคท้องร่วงหรือโรคอหิวาต์
เนื่องจากฤดูร้อนนี้ อากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความกดดันในร่างกาย
ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในร่างกายได้ง่าย
เมื่อมีความร้อนมาก คนต้องการดื่มน้ำบ่อยๆ
คนที่ตามใจตัวเองเห็นแก่กิน เห็นแก่ปากแก่ท้อง ไม่เลือกว่าน้ำควรดื่มหรือไม่ควรดื่ม
คำว่าหน้าร้อนก็ประกาศตัวเองอยู่แล้วว่าเป็นฤดูกาลที่น้ำหายาก
บางถิ่นกันดารน้ำ เช่น ถิ่นที่มีคนอยู่อาศัยมาก น้ำมีไม่พอกับความต้องการ
บางถิ่นอยู่ในที่ทุรกันดารแห้งแล้ง เช่น ชนบทบางแห่ง



คนเราเมื่อถึงคราวหิว ร่างกายเรียกร้องสิ่งที่ต้องการ
มักจะทนต่อความหิวไม่ได้ ถือเอาความหิวเป็นประมาณ
รับประทานไม่เลือกที่ไม่เลือกสิ่งของ ผลที่ได้รับคือความเดือดร้อน
หน้าร้อนคนดื่มน้ำบ่อยๆ ทำให้เบื่ออาหาร
รับประทานไม่เป็นเวลา กินจุบกินจิบจึงทำให้ท้องเสีย
อีกประการหนึ่ง หน้าร้อนอาหารบูดเสียได้ง่าย



ท่านผู้อ่านบางท่านคงนึกสงสัยว่า
ข้าพเจ้าเปลี่ยนหน้าที่เทศน์ไปทำหน้าที่หมอเสียแล้วหรือ
หามิได้ ข้าพเจ้ากำลังเทศน์อยู่ คือกำลังจะบอกท่านผู้อ่านอยู่เดี๋ยวนี้ว่า
หน้าร้อนนี้ท่านควรใช้ธรรมะอะไรบ้าง



ในเรื่องการใช้ธรรมะนั้น พระพุทธองค์ทรงสอนให้ใช้ก่อนเหตุ
คือ ให้ป้องกันไว้ก่อน ให้ระวังไว้ก่อน
หรือจะพูดว่าพระพุทธองค์ทรงสอนให้ระวังที่เหตุก็ได้



สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว
เหมือนอาหารมื้อเช้าที่เรารับประทานไปแล้ว เป็นสิ่งที่ล่วงเลยลำคอไปแล้ว
ไม่มีโอกาสที่จะย้อนกลับกลายเป็นอาหารได้อีก

ถ้าเป็นสิ่งที่ดีก็แปรสภาพเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์กับร่างกายไปแล้ว
ถ้าเป็นสิ่งที่เสียก็แปรสภาพเป็นสิ่งที่ให้โทษแก่ร่างกายไปแล้ว
หากเราจะระวัง ก็ต้องระวังอาหารมื้อกลางวันและมื้อเย็นเท่านั้น



สำหรับพระภิกษุสามเณร ก่อนจะบริโภคอาหาร
พระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาว่า
จะไม่บริโภคเพื่อเล่น เพื่อความมัวเมา เพื่อความสดใสเปล่งปลั่งแห่งร่างกาย
การบริโภคอาหาร บริโภคเพื่อความตั้งอยู่แห่งร่างกาย
เพื่อมีชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อระงับเวทนา เพื่อประโยชน์ในการประพฤติพรหมจรรย์
พุทโธวาทเรื่องนี้มีพุทธประสงค์ทรงสอนให้มุ่งต่อการปฏิบัติ
ตัดความกังวลเรื่องอาหาร ให้เป็นคนเลี้ยงง่าย
เพื่อจะได้มีโอกาสมีเวลาในการประพฤติปฏิบัติความดีได้มาก



หากบุคคลทั่วไปจะนำไปเป็นหลักปฏิบัติ
ก็จะเป็นอุบายวิธีที่จะป้องกันเป็นคนมักง่าย เห็นแก่ปากแก่ท้อง
ประคองตนให้พ้นภัยอันเกิดจากอาหาร



ธรรมะที่จะนำไปเป็นหลักปฏิบัติป้องกันในเรื่องนี้
คือ “สติ” ความระลึกได้ และ “ขันติ” ความอดทน



ในที่นี้จะอธิบายเฉพาะขันติ ซึ่งแปลว่าความอดทน ความไม่หวั่นไหว
สามารถอดกลั้นทนทานต่อสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา
เช่น ในเวลาประกอบกิจการงาน แม้จะประสบความยากลำบาก
ก็ไม่บ่นว่า ร้อนนัก หนาวนัก หรือหิว แล้วเบื่อหน่ายท้อถอยเลิกละการงาน
ในเวลาถูกหมิ่นประมาทด้วยวาจาที่หยาบคาย ก็อดกลั้นไม่กล่าววาจาโต้ตอบ
ในเวลาเจ็บไข้ได้ทุกข์ก็ไม่บ่นเพ้อครวญคราง ไม่ทำความลำบากใจให้กับคนพยาบาลรักษา
การอดทนต่อสิ่งเหล่านี้ ชื่อว่าขันติ
มีพระพุทธภาษิตตรัสสรรเสริญคุณของขันติไว้ในที่ต่างๆ ว่า
“สพฺเพปิ กุสลา ธมฺมา ขนฺตฺยาเยว วฑฺฒนฺติ เต”
กุศลธรรมแม้ทั้งหมด เจริญได้เพราะขันติอย่างเดียว

แสดงว่าคุณธรรมความดีอื่นๆ เป็นต้นว่าศีล สมาธิ ปัญญา และความสัตย์
จะเจริญงอกงามหรือจะเกิดขึ้นในตัวบุคคล ก็เพราะบุคคลผู้นั้นมีคุณธรรมคือขันติ
ดังนั้น ขันติธรรม จึงเท่ากับเป็นพื้นฐานที่รองรับคุณธรรมทั้งปวง


“ขนฺติ ธีรสฺส ลงฺกาโร” ความอดทนเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์
คนส่วนมากมักจะสนใจแต่เครื่องประดับภายนอก คือเสื้อผ้าอาภรณ์
ต่างแข่งขันกันประชันโฉม ถ้าใครไม่มีเครื่องประดับที่มีค่าก็จะถูกรังเกียจเหยียดหยาม
เครื่องประดับจึงเป็นเครื่องวัดชั้นวรรณะในสังคม
แต่สำหรับนักปราชญ์ผู้มีปัญญา ท่านนิยมเครื่องประดับทางใจ
คนที่งามในทัศนะของนักปราชญ์คือคนที่มีขันติ
ไม่แสดงอาการหวั่นไหวในเมื่อประสบอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา
แม้รูปร่างจะไม่งาม แต่เป็นผู้ประดับด้วยคุณธรรมน่าเคารพนับถือ



ภัยที่จะติดตามมากับฤดูร้อนประการที่สอง คืออัคคีภัย ได้แก่ไฟ
ได้กล่าวไว้แล้วว่าฤดูร้อนเป็นฤดูที่แห้งแล้ง วัตถุที่จะเป็นเชื้อไฟก็มีมาก

ยิ่งสมัยปัจจุบันนี้ปริมาณพลเมืองมีมากขึ้น
สถานที่อยู่ย่านชุมชนบางแห่งต้องอยู่กันอย่างยัดเยียดเบียดเสียด
จึงต้องมีการระมัดระวังมากขึ้น
เหตุที่ทำให้เกิดอัคคีภัยคือความประมาทชะล่าใจ
สำคัญผิดว่าเป็นของเล็กน้อย ทำอะไรก็มักง่าย คิดว่าไม่เป็นไร
ทำอะไรมักผัดวันผัดเวลา
ควรจะทำให้เสร็จกลางวันก็เลื่อนไปกลางคืน
ควรจะทำให้เสร็จกลางคืนก็เลื่อนเป็นกลางวัน
ควรจะทำให้เสร็จในชั่วโมงนี้ก็ขอเลื่อนไปเป็นชั่วโมงหน้า
ความประมาทชะล่าใจ ความผัดเพี้ยนเวลา การทำอะไรด้วยความเลินเล่อ
เหล่านี้ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “ความประมาท”


บัณฑิตท่านเห็นคุณแห่งความไม่ประมาทว่ามีมากมาย
จึงยกย่องสรรเสริญความไม่ประมาทไว้โดยประการต่างๆ เช่น
“ความไม่ประมาทเป็นยอดแห่งกุศลทั้งปวง”
เพราะความไม่ประมาทนี้เป็นธรรมให้ถึงความปลอดภัยและความไม่ตาย
ในคำโคลงโลกนิติ ท่านสอนมิให้ดูหมิ่นสิ่งของ สัตว์ บุคคล ไว้ ๔ อย่าง คือ



           อย่าหมิ่นของเล็กนั้น     สี่สถาน
          เล็กพริกพระกุมาร        จิดจ้อย
          งูเล็กเท่าสายพาน        พิษยิ่ง
          ไฟเล็กเท่าหิ่งห้อย       อย่าได้ดูแคลน



ใจความว่าพริกเม็ดเล็กๆ หนึ่ง พระกุมารที่เด็กๆ หนึ่ง งูตัวเล็กๆ หนึ่ง ไฟเล็กเท่าหิ่งห้อยหนึ่ง
ทั้งสี่อย่างนี้อย่าประมาทชะล่าใจ อย่าสำคัญว่าเป็นของเล็กน้อย ให้ระมัดระวังอยู่เสมอ


ภัยที่จะติดตามมากับฤดูร้อนยังมีอีกมากมาย
เช่น ภัยบนท้องถนน อันเกิดจากการทัศนาจรทางรถยนต์
เนื่องจากฤดูร้อนเป็นภาคปิดโรงเรียนและทางราชการอนุญาตให้ข้าราชการลาพักร้อนได้
จึงนิยมไปทัศนาจรในสถานที่ต่างๆ
ปรากฏว่าในภาคฤดูร้อน ได้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนท้องถนนมาก
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความประมาท
และความมึนเมาอันเกิดจากการดื่มสุราของคนขับ
เมื่อจะกล่าวโทษโดยสรุปก็คือ
เหตุเกิดเพราะไม่ปฏิบัติตามหลักคำสอนในทางศาสนานั่นเอง



การปฏิบัติตามหลักคำสอนในทางศาสนา
มิได้มีความหมายเพียงว่าทำบุญ ตักบาตร
เข้าวัดฟังเทศน์ หรือรักษาศีล เจริญภาวนาเท่านั้น
หลักคำสอนในทางศาสนามีไว้สำหรับบุคคลทุกประเภท
เปรียบเหมือนอาหารมีหลายๆ รส สำหรับบุคคลที่จะเลือกรับประทาน
และเปรียบเหมือนยามีประเภทต่างๆ ตามประเภทของโรค



อาหารเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการตลอดเวลา ฉันใด
ธรรมะก็เป็นสิ่งที่จิตใจต้องการอยู่ตลอดเวลา ฉันนั้น


คนที่ไม่สบาย มีโรคภัยมาเบียดเบียน
ไม่ยอมรับประทานยา จะมีโอกาสสบายหายจากโรคภัยได้อย่างไร



คนเรานี้ ถ้าจะพูดถึงในด้านของจิตใจแล้ว เท่ากับว่าเป็นคนไข้อยู่ตลอดเวลา
เพราะกิเลสเปรียบเหมือนเชื้อโรค คอยหาโอกาสห้ำหั่นบั่นทอนอยู่มิได้ว่างเว้น
และสภาพของจิตใจนั้นเองก็ฝักใฝ่ดิ้นรนที่จะตกไปอยู่ใต้อำนาจของกิเลส


ขณะใดที่จิตใจขาดยา คือธรรมโอสถ
ก็ถูกกิเลสปกคลุมท่วมทับกระชากเข้าไปสู่ห้วงเหวแห่งความเสื่อม
เช่น คนที่ขาดสติ มีความประมาทชะล่าใจ คนที่ขาดขันติ ความอดทน
ก็จะประสบภัยต่างๆ ดังที่ได้กล่าว



ตรงกันข้าม ผู้ที่เห็นคุณของธรรมะ
มีธรรมควบคุมจิตอยู่เสมอ ไม่เผลอปล่อยให้กิเลสเป็นเจ้าครองใจ
ก็จะได้รับความปลอดโปร่งจากเวรภัย และได้รับความเกษมสุขทุกเมื่อ



ขอให้ทุกท่านมีธรรมะเป็นอยู่คู่กับใจ
มีความสดชื่นรื่นรมย์สมปรารถนา ในสิ่งที่ต้องการทุกท่านเทอญฯ



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก ภัยในฤดูร้อน ใน “เครื่องหมายของคนดี” โดย พระธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล)
พิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๙


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP