ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

รักษาศีลข้อ ๔ อย่างไรในสังคมการทำงานปัจจุบัน



ถาม - การไม่พูดเท็จ ไม่พูดหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ
ถ้าจะนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เข้ากับสังคมการทำงานทุกวันนี้ด้วย
มีข้อแนะนำอย่างไรบ้างคะ



คือผมก็เห็นใจนะว่าหลายๆ คนบอกว่า
ศีลข้อที่รักษาไม่ได้ก็เรื่องการพูดเท็จ เพราะบางทีโดนเจ้านายบังคับให้พูด
บางทีนะโดยอาชีพของตัวเอง โดยวิธีการทำงานของตัวเอง
ขืนไม่พูดเท็จ ขืนไม่พูดบิดเบือนความจริงก็คงจะตกงานกันพอดี
หรือว่าไม่ได้งานกันพอดี ไม่ได้ขายกันพอดี อะไรประมาณนั้น ก็แล้วแต่อาชีพ
แล้วแต่ว่าหน้าที่การปฏิบัติงานของเรา มันจะต้องเน้นในเรื่องสร้างภาพแค่ไหน
หรือสร้างความเข้าใจในทางที่ก่อให้เกิดความนิยมในตัวสินค้า
หรือว่าภาพลักษณ์ของตัวเองอะไร แบบนั้นนะ
นี่มันสังคม คือพัฒนามาถึงจุดที่ว่าไม่โกหกไม่ได้ แบบนี้ก็คงจะไม่รู้ไปว่าใครนะ
มันเป็นสิ่งที่เป็นมรดก มรดกมืดที่ตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นนะครับ



ก็เอาเป็นว่าถ้าจะต้องโกหก เรารู้ตัวก็แล้วกันว่า
การที่บิดเบือนความจริงครั้งนี้ แต่ละครั้งนี่นะ ดูใจตัวเอง
มีความสะใจไหม มันมีความชอบใจไหม
มันมีความอยากจะให้คนอื่นเขาเข้าใจผิดแบบนั้นไหม
ถ้าหากว่ามันมีเต็มๆ นั่นก็คือบาปเต็มๆ

แต่ถ้าหากว่ามันมีความรู้สึกยั้งๆ มันมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่
มันไม่อยากทำเลย ไม่อยากพูดอย่างนี้ แต่มันต้องพูด มันต้องแสดงละคร
ถ้าคิดว่าเรากำลังแสดงละครด้วยความฝืนใจอยู่ อย่างนั้นมันก็ไม่เต็มกรรมเท่าไหร่
บาปมันก็ไม่เต็มกรรมเท่าไหร่ มันก็ได้ ยังไงการโกหกก็ต้องเป็นการโกหกอยู่วันยังค่ำ
จะมาอ้างว่าจำเป็นแค่ไหนก็ตามนะ จิตมันก็รู้อยู่ มันตั้งต้นด้วยการรับรู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องจริง
แล้วเราก็พูดออกไปในทางที่มันจะเป็นประโยชน์กับตัวเราเองและบริษัท หรือว่ากับพรรคพวกเรา
เราดูใจตัวเองว่า เออ มันไม่ได้มีความสะใจ ไม่ได้มีความยินดี
แค่นี้ถือว่าใช้ได้แล้ว พอใช้ได้แล้วนะ
อย่างน้อยที่สุดเวลาที่ผลของกรรมจะให้ผลกับเรา มันก็ไม่เต็มที่เท่าไหร่
ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะโดนใส่ไคล้
เพราะผลของการโกหกก็คือการโดนใส่ไคล้ การถูกเข้าใจผิด
หรือว่าไปเกิดในตระกูลที่ไม่ตรงไปตรงมาอะไรแบบนั้น
มันก็จะไม่ถึงขั้นที่ว่าวันๆ โดนหลอกทั้งปีทั้งชาติ
นานๆ โดนหลอกที ห้าสิบห้าสิบ โดนหลอกบ้าง ได้รับความจริงบ้างอะไรแบบนั้น
เหมือนกับที่เรากำลังประสบอยู่กันทุกเมื่อเชื่อวันนั่นแหละ ประมาณนั้นนะ มันไม่ได้โดนเต็มๆ



แต่ถ้าหากว่าโกหกเป็นไฟ โกหกแบบตาไม่กระพริบนะ
โกหกแบบที่รู้สึกภูมิใจว่า นี่ฉันเก่งที่หลอกคนอื่นได้ แบบนี้ก็ไปเต็มๆ เหมือนกัน
เพราะว่าพระพุทธเจ้าก็ตรัสเปรียบไว้นะ
คนที่ทำบาปโดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือบาป ไม่มีอาการยั้งเลย
ก็เปรียบเหมือนกับเด็กที่เห็นถ่านไฟแดงๆ แล้วไม่รู้ว่านั่นมันร้อน
ก็เลยคว้ามาจับเต็มกำเลย ผลก็คือมือไม้ก็พังพินาศกันไป
แตกต่างจากคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว รู้ว่านั่นคือถ่านแดงๆ มีความร้อนนะ
ถ้าหากถูกบังคับให้จับ มันก็จับแบบกระโหย่ง จับแบบหลวมๆ
มันก็มีพื้นที่ความเสียหายของมือไม้น้อยลง
นี่ก็เป็นการเปรียบเทียบที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นะครับ


คือถ้าจำเป็นต้องทำบาป ดูใจตัวเองก็แล้วกันว่ามันมีอาการยั้งไหม
มันมีความรู้สึกผิดไหม มันมีความสำนึกได้ไหม

สิ่งเหล่านี้มันจะเป็นตัวบอกนะ มันจะเป็นเครื่องชี้วัดว่า
เรายังมีมนุษยธรรมอยู่ คือมีธรรมะของความเป็นมนุษย์อยู่
แต่เมื่อใดก็ตามที่เราทำผิดศีลได้ โดยไม่เกิดความรู้สึกละอายเลย เห็นเป็นของสนุก
เห็นเป็นของโก้เก๋ เห็นเป็นของที่ทำแล้วมันเท่ดีที่แสดงละครได้แนบเนียน
หรือว่าเป็นอะไรที่คนอื่นเขาจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน
แบบนี้เรียกว่าเต็มกรรมเลย
มโนธรรมหรือว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในแบบที่จะได้เป็นมนุษย์อีก
มันก็หายไป มันก็เลือนไปนะครับ ดูกันที่ใจก็แล้วกัน




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP