ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

เจริญสติด้วยการเดินจงกรมทำอย่างไร



ถาม – ประโยชน์ของการเดินจงกรมคืออะไร และเราจำเป็นต้องเดินจงกรมไหมคะ



การเดินจงกรม คิดง่ายๆ เลยนะ
ก็คือ การเจริญสติในขณะเคลื่อนไหวนั่นเอง
แต่ถ้าหากว่าเราเคลื่อนไหวขึ้นต้นมา จะให้รู้ทุกการเคลื่อนไหว
มันก็คงเป็นไปได้ยากสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มหัดเจริญสตินะครับ
เพราะฉะนั้นก็ต้องมีท่าไม้ตาย สำหรับมือใหม่กันบ้าง
แล้วการเดินจงกรมไม่ใช่ท่าไม้ตายเฉพาะของมือใหม่ด้วยนะ
แม้แต่กระทั่งว่าพระอรหันต์ ท่านหมดกิเลสแล้ว ท่านไม่มีกิเลสเหลืออยู่แล้ว
เห็นขันธ์ห้าเป็นสักแต่ของเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ใช่ตัวตนแล้วก็ตาม
ท่านก็ยังเดินจงกรมกันอยู่ เพื่อประโยชน์คือความสุขในปัจจุบัน
เพราะฉะนั้นการเดินจงกรมคือ ท่าเจริญสติมาตรฐาน
สำหรับตั้งแต่มือใหม่ขึ้นไปจนกระทั่งถึงพระอรหันต์ทีเดียวนะครับ



ถามว่าเดินจงกรมเขาเดินกันอย่างไร แต่ละสำนักก็สอนแตกต่างกัน
ขึ้นอยู่กับมุมมอง ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญ ถนัดมาทางด้านไหนนะ
บางคนก็ไปสำนักโน้นสำนักนี้ แล้วก็ไม่ถูกใจ ไปเจอเอาอีกสำนักหนึ่ง
ที่นี่แหละถึงจะตรงกับจริต นี่แหละถึงกับเดินจงกรมแล้วเวิร์ก (
work) นะ
เพราะฉะนั้นก็คงต้องขึ้นอยู่กับว่ารูปแบบการเดินจงกรมของสำนักไหน
ครูบาอาจารย์ใดนะครับที่ตรงกับจริตของเรา
คือจริตนี่
พูดง่ายๆ นะทำให้เราเกิดสติขึ้นมาได้นั่นเอง


ตามวิธีที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ ในมหาสติปัฏฐานสูตร
ไม่มีรายละเอียดที่บ่งบอกว่าจะต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ หนึ่ง สอง สาม
แต่ว่าท่านระบุเป็นหลักการว่าอยู่ในอิริยาบถใดๆ
ก็ให้รู้สึกถึงอิริยาบถนั้นๆ มีความรู้สึกตัวถึงอิริยาบถนั้นๆ
ไม่เผลอ ไม่หลง ไม่คิดว่าเราอยู่ในท่าอื่น หรือว่าล่องลอยอยู่ในความฝันนะ

ถ้าหากว่าเรามีความรู้สึกตัวอยู่ในอิริยาบถปัจจุบันแล้ว
นั่นแหละนะคือความสำเร็จในการเจริญสติรู้สึกถึงความเป็นกายนะครับ



ทีนี้ถามว่าถ้าอยากจะให้แนะนำว่าควรเริ่มต้นอย่างไร
เพื่อที่จะเอาประโยชน์ให้ได้แน่ๆ ก่อนในขั้นเริ่มต้น
สำหรับผมเองนะ ก็จะเคยศึกษาและก็ฟังวิธีการของสำนักต่างๆ มาเยอะ
แล้วก็ได้ทดลองมาหมดแล้ว
ก็พบว่าวิธีที่เราจะรู้สึกถึงเท้ากระทบ มันเป็นอะไรที่เข้ากับตัวผมเองได้นะครับ
แล้วการรู้เท้ากระทบ มันยืนยันกับเราได้อย่างหนึ่งว่า
เรารู้จริงๆ ไม่ใช่จินตนาการขึ้นมา

เพราะว่าจะเดินจงกรมด้วยสูตรสำเร็จหรือวิธีของสำนักใดก็ตาม
ถ้าหากว่ามันลงเอยด้วยจินตนาการแล้ว
คุณจะไม่ได้ชื่อว่าเจริญสติเห็นปัจจุบันขณะของกายได้เลย
แล้วถ้าไม่สามารถเจริญสติเห็นปัจจุบันของกาย ความเป็นกายในปัจจุบันได้
โอกาสที่จะเห็นว่าความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือว่าสภาวะทางใจกำลังเป็นอย่างไรอยู่
มันก็เป็นไปได้ยากมาก เพราะว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรมยังเห็นไม่ได้
แล้วสิ่งที่เป็นนามธรรมจะไปเห็นได้อย่างไรนะครับ



ถ้าหลักวิธีนะ ที่เราจะรู้ผัสสะกระทบได้ตรงตามจริง ก็ง่ายๆ เลยคือ
เริ่มต้นขึ้นมากำหนดว่า เราจะเดินอยู่ในขอบเขตเส้นตรงระยะทางระยะหนึ่ง
ควรจะยาวไม่ต่ำกว่าสัก ๑๐ ก้าวเพื่อให้มันไม่มึน ไม่ต้องกลับตัวบ่อย ๆ นะ
ถ้าหากว่าได้สัก ๒๐ ก้าวยิ่งดีเลย
แล้วระหว่างเดินจงกรม ก็ไม่ต้องอะไรมาก คิดซะว่าเดินเล่นๆ
แต่ว่าในขณะที่เดินเล่นๆ โดยไม่จริงจังมากนัก
เรารู้จริงๆ ว่าความรู้สึกที่เกิดจากผัสสะระหว่างเท้ากับพื้นกระทบกัน มันเป็นอย่างไร
เมื่อรู้ไปเรื่อยๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นธรรมดาก็คือ
เท้าหรือผัสสะที่เรารู้สึกถึงอาการกระทบอยู่ มันจะชัดขึ้นเรื่อย ๆ
และชัดแบบที่ไม่ใช่มีอาการเข้าไปเคร่ง เข้าไปเกร็ง

ถ้าหากว่าเท้าเกร็งว่าแสดงว่าเพ่งแล้ว ถ้าหากว่าเท้าอ่อนสลวยมากขึ้นเรื่อยๆ
แล้วเรามีความรู้สึกรับรู้ถึงฝ่าเท้าที่มันกระทบพื้นชัดขึ้นเรื่อยๆ
อันนั้นยืนยันถึงการมีสติต่อเนื่องมากขึ้น

แล้วข้างบนทั้งในส่วนหัว ทั้งกลางอก มันจะมีความรู้สึกเบา
มันจะมีความรู้สึกโล่ง มันจะมีความรู้สึกสบาย
พูดง่ายๆ จำเป็นคำง่าย ๆ ก็คือ ข้างบนว่างข้างล่างชัดนั่นเอง
ถ้าเดินจงกรมไปเราจะรู้สึกถึงกายโดยความเป็นอย่างนี้ก่อน



ทีนี้พอเรารู้สึกถึงฝ่าเท้ากระทบชัดแล้ว แล้วก็ใจว่างแล้ว ในหัวไม่มีความคิดแล้ว เกิดอะไรขึ้น
มันเกิดความสามารถที่จะมีสติรับรู้ว่า เรากำลังมีความทุกข์หรือมีความสุขอยู่
ถ้าหากว่าฝ่าเท้าเป็นฐานที่ตั้งของสติที่มีความต่อเนื่อง ที่มีความชัดเจน
ปกติมันจะมีความสุข ทีนี้พอมีความสุขชัดเจนต่อเนื่อง
ความสุขนั้นมันแปรปรวนไป อาจจะด้วยความฟุ้งซ่าน
อาจจะด้วยความรู้สึกหวนกลับไประลึกถึงเรื่องไม่น่าพอใจ
เรื่องที่ติดค้างอยู่ในทางที่เป็นทุกข์ มันก็เกิดความรู้สึกอึดอัดขึ้นมา
ระหว่างสุขกับทุกข์ มันมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เราก็สามารถเห็นได้ว่า
อ้อ ความสุขหายไปแล้ว ความทุกข์เปลี่ยนขึ้นมาแทนนะ สลับหน้าขึ้นมาแทน
เมื่อเห็นแล้วๆ เล่าๆ ว่าเดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์
ในระหว่างเดินจงกรม เราก็จะเกิดความเห็นแจ้งขึ้นมาว่า
ทั้งสุขทั้งทุกข์เป็นธรรมชาติที่กำลังแสดงตัวความไม่เที่ยงหรือว่าอนิจจัง



แล้วถ้าหากว่าเห็นทั้งกาย เห็นทั้งความรู้สึกสุขทุกข์ มันเป็นของไม่เที่ยงไปด้วยกันพร้อมๆ กันนะ
คือ เดินจงกรมไป เรารู้สึกถึงกายมันไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว
เดี๋ยวเท้าก็เกร็ง เดี๋ยวเท้าก็อ่อนนะ เดี๋ยวก็เมื่อย เดี๋ยวก็รู้สึกสบายตัว
ความรู้สึกทางกายแล้วก็ความรู้สึกทางใจที่มันปรากฏ เดี๋ยวก็เกิดขึ้น เดี๋ยวก็หายไป
ในที่สุดมันจะไหลลื่นเป็นธรรมชาติ อาการอะไรปรากฏเด่นเราก็รู้สึกถึงอาการนั้น
ไม่ใช่ไปตั้งใจ ไม่ใช่ไปเพ่งเฉพาะเอาว่า ฉันจะดูกายอย่างเดียว ฉันจะดูใจอย่างเดียว
แต่อาการอะไร ทางกาย ทางใจ ปรากฏเด่น
เราก็สามารถรู้โดยความเป็นของไม่เที่ยงได้ ตรงตามจริง ทันเหตุการณ์
นี่แหละคือประโยชน์ของการเดินจงกรม



สรุปแล้วก็คือ สำหรับมือใหม่นะ
ควรจะฝึกเดินจงกรมเพื่อที่จะมีความรู้เท่าทันกายได้ง่ายๆ
ไม่อย่างนั้น อยู่ระหว่างวันแล้ว เราจะไปพยายามเจริญสติเอานะ
กิน ดื่ม ทำ พูด คิด อะไรเนี่ย มันค่อนข้างจะยาก เป็นไปได้ยากที่เราจะไปตามมันทัน
เพราะว่าธรรมชาติเดิมของเรา เราสุ่มไปเรื่อยนะ
วิธีที่คนธรรมดาทั่วไปคิด มันจะคิดแบบสุ่ม
ไปหาเรื่องที่ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง เรื่องที่เป็นสุขบ้าง เรื่องที่เป็นทุกข์บ้าง
แต่รวมแล้วก็คือเรื่องที่กำลังติดใจ กำลังข้องใจ กำลังคาใจอยู่นั่นเอง
ทีนี้ถ้ามาเดินจงกรม
เรื่องคาใจทั้งหลาย ก็กลายเป็นเหมือนกับถูกลดความสำคัญลงไปเป็นอันดับสอง
ความสำคัญที่เราตั้งใจเดินจงกรม มาเป็นอันดับหนึ่ง
มันก็เลยเหมือนกับว่ามีการเน้นเป็นพิเศษว่า
เราจะดูมาทางกายนะ เราจะดูมาทางใจนะ
เราจะไม่ฟุ้งไปในอดีตนะ เราจะไม่พะวงไปในอนาคตนะ
มีแต่อาการโฟกัส
(focus) อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP