ก่อนเกิดเป็นดังตฤณ Dungtrin's Secret
ดูความคิด
โดย ดังตฤณ
จากที่เล่ามาในตอนก่อนๆ จะเห็นว่าช่วงแรกของการฝึกเจริญสติ ผมเน้นไปทางกายเป็นหลัก ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้นสำหรับผู้เริ่มต้น เพราะกายเป็นสิ่งจับต้องได้ เราสามารถรู้สึกได้ถึงความมีอยู่ของอวัยวะน้อยใหญ่ ขยับเขยื้อนตรงไหนหรือนิ่งตรงส่วนใด ก็รับรู้ได้ตรงนั้น โดยไม่ต้องฝืนสร้างจินตภาพใดๆขึ้นมา
แต่ที่จะให้ครบวงจรการเจริญสติแบบพระพุทธเจ้า เราต้องดูอะไรมากกว่ากายอันเป็นรูปธรรม คือต้องเข้ามาดู เข้ามาทำความรู้จักกับจิตใจอันเป็นนามธรรมด้วย ทั้งส่วนของความรู้สึก และส่วนของความนึกคิด ตลอดจนส่วนของความรับรู้ มิฉะนั้นจะยังคงเหลือที่ตั้งของอุปาทานในตัวตนวันยังค่ำ
ทั่วทั้งขอบเขตของกายใจนี้นะครับ ถ้าเราไม่มีสติรู้ที่ตรงไหน ตรงนั้นจะเป็นที่ยืนของความรู้สึกในตัวตนทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มความคิดที่ผุดขึ้นในหัวเราเป็นระลอกๆ มันหลอกเรามาตลอดว่ามันนี่แหละคือแก่นแท้ของตัวเรา ถ้าใครไม่เคยเห็นความคิด ไม่อาจละความสำคัญผิดว่าความคิดคือเรา ก็ยากจะทำลายอุปาทานว่ามีตัวเราลงได้
ความคิดเป็นฐานที่ตั้งของอุปาทานด่านสำคัญ และความคิดก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก แม้รู้ว่าต้องดู แต่ก็ไม่รู้จะดูอย่างไร
ครูบาอาจารย์ที่ผมนับว่าท่านช่วยให้ผมดูความคิดเป็น ได้แก่หลวงพ่อเทียน ประสบการณ์เห็นความคิดของท่านเป็นของจริง และของจริงเมื่อถ่ายทอดออกมาเป็นภาษา ย่อมมีพลังแห่งความจริงแฝงอยู่ ส่งผลสะเทือนเผื่อแผ่มากระทบใจผู้สดับรับฟัง ให้เกิดอาการเห็นตามโดยง่าย
คำพูดจากประสบการณ์ตรงของท่าน เช่น ‘ดูมันคิด แต่อย่าเข้าไปในความคิด’ และ ‘จิตเป็นผู้คิด ไม่ได้มีตัวเราเป็นคนคิด’ เพียงได้อ่านหรือได้ฟัง นักเจริญสติส่วนใหญ่จะรู้สึกถึงน้ำหนักกระแทกความหลงผิดให้ร่ำๆจะปริแตกได้รำไร
เมื่อปราศจากความสำคัญผิดว่ามีเราอยู่ใน ‘ตัว’ ที่กำลังรู้สึกได้ นิพพานก็อยู่ใกล้แค่ตรงหน้า ไม่ว่า ‘ตัว’ ที่รู้สึกนั้นจะเป็นกาย จะเป็นสุขทุกข์ หรือจะเป็นความนึกคิดก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ผมพบว่าจะดูความคิดเป็นก็ต่อเมื่ออาศัยเครื่องทุ่นแรง คือหนังสือของหลวงพ่อเทียน พอห่างหนังสือของท่าน ก็ลืมวิธีดูความคิดเสียสนิท พอจะพยายามดูความคิดทีไร มันไม่ใช่ ‘ดูตัวความคิด’ แต่กลายเป็น ‘ดูว่าตัวเรากำลังคิดอะไร’ ร่ำไป
เมื่อหมั่นสังเกตความต่างระหว่างขณะอ่านกับตอนห่างจากหนังสือหลวงพ่อเทียน ผมจึงพบความต่างที่เป็นนัยสำคัญ นั่นคือ ขณะจดจ่ออ่านคำสอนของท่าน ใจจะเป็นสมาธิอ่อนๆ นอกจากนั้น การเรียบเรียงคำพูดของท่าน จะเหนี่ยวนำให้เกิดการเห็นตามประสบการณ์ของท่านไปด้วยตามลำดับ
ยกตัวอย่างเช่นที่ท่านว่า ‘ดูมันคิด แต่อย่าเข้าไปในความคิด’ ถ้าใจของคุณจดจ่ออย่างมีสมาธิในการอ่านประโยคอันทรงพลังนี้ จะรู้สึกเหมือนมีอะไรตัวหนึ่งมัน ‘ก่ออาการคิด’ อยู่ในหัวของคุณเอง และลำดับถัดจากนั้นเพียงเสี้ยววินาที ใจจะแยกออกมาเป็นต่างหากจากความคิด ไม่ใช่ผู้เข้าไปผสมร่วมกับความคิด
ผลคือคุณจะเกิดประสบการณ์เดียวกันกับหลวงพ่อเทียน คือมีใจแยกออกมาเป็นผู้ดูความคิด โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นอันเดียวกับความคิด และนั่นเองผู้คิดจึงไม่มี!
แต่เมื่อเราห่างจากตัวหนังสือ ลืมลำดับของการเข้าไปรู้เข้าไปเห็น ระลอกความคิดจะผุดขึ้นเป็นห้วงๆตามธรรมชาติ และจิตของเราก็จะถูกอำนาจความเคยชินผลักดันให้พุ่งไปยึดทุกความคิด อาการยึดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวนั้นเอง ก่อให้เกิดชั่วขณะของความสำคัญผิดไปว่าความคิดคือตัวเรา
ด้วยความเข้าใจนั้น ผมจึงเลิกพึ่งหนังสือ แล้วหันไปลองเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ ไม่ก็เจริญสติรู้ลมหายใจ รู้อิริยาบถ หรือรู้ภาวะหยาบๆอย่างใดอย่างหนึ่ง กระทั่งรู้สึกถึงความนิ่งทางใจเสียก่อน เมื่อนิ่ง เปิดกว้าง และสบายใจดีแล้ว จึงค่อยวางจิตเป็นอุเบกขา ตามรู้ไปเรื่อยๆว่าเดี๋ยวจะมีอะไรให้ดูต่อจากความนิ่งกว้างสบายใจนั้น
ผมพบว่ามันได้ผล เพราะแม้จะเป็นสุขนิ่งนานเพียงใด เดี๋ยวระลอกสภาวะความคิดก็ผุดขึ้นจนได้ ชั่วขณะที่คลื่นความคิดกระเพื่อมตัวขึ้นในห้วงความนิ่งของจิต แล้วจิตมีอาการรู้สึกตัว ทำตัวเป็นผู้ดู ไม่ถลำเข้าไปยึดความคิด มันจะเหมือนเปลวเทียนนิ่งในครอบแก้วที่ไม่ลู่ไหวตามแมลงหวี่แมลงวันที่เฉียดผ่านเข้ามา
ครอบแก้วที่ป้องเปลวเทียนไว้จากแมลงหรือแรงลม เปรียบได้กับสติที่ประกอบด้วยความวางเฉย ตื่นตัว และแข็งแรง ขณะเดียวกันเปลวเทียนซึ่งเปรียบได้กับดวงจิตก็มีความนุ่มนวล ทอแสงสว่างอย่างคงเส้นคงวา ไม่ใช่นิ่งแบบกระด้างและสั่นไหว
ไม่ว่าผมจะอ่านหนังสือธรรมะใดในเวลาต่อมา ผมจึงเข้าใจว่าชั่วขณะของความ ‘เข้าถึง’ ข้อความธรรมะในหน้ากระดาษจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีภาวะอันเป็นของจริงในเรารองรับอยู่ ณ ขณะนั้นด้วย ที่เราไม่เข้าใจธรรมะ หรือฟังธรรมะแล้วไม่เข้าใจ ก็เพราะขาดภาวะแบบนั้นๆรองรับอยู่นั่นเอง
< Prev | Next > |
---|