ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ปฏิบัติธรรมไปเพื่ออะไร



ถาม – เกิดความรู้สึกขัดแย้งว่าปฏิบัติธรรมไปเพื่ออะไร ใจหนึ่งก็มีความสุขที่ได้ภาวนารู้กายรู้ใจ แต่อยู่ๆ ก็รู้สึกขึ้นมาว่าที่ภาวนาเพราะอยากหนีจากความไม่สมหวังในทางโลกหรือเปล่า พอความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นก็เลยไม่อยากปฏิบัติธรรมเท่าไหร่ รู้สึกปนๆ กันไป ทั้งสับสน ขัดแย้ง แล้วก็กลัว บอกไม่ถูก เราควรจะตั้งเป้าในการภาวนาแค่ไหนดี ขอคำแนะนำด้วยครับ



เอาล่ะ ก็คือ คนที่เป็นพุทธ จะถือได้ว่าเป็นพุทธจริงๆ
ก็ต่อเมื่อเรามีเป้าหมาย ชีวิตของเราทั้งชีวิตเลยนะ
มีเป้าหมายเดียวกันกับจุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนา

ถ้าหากว่าเรายังไม่มีเป้าหมายสูงสุดในชีวิต ตรงกันกับเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา
เราก็ยังไม่ใช่พุทธเต็มใบ
แต่เป้าหมายสูงสุดไม่ใช่หมายความว่า
เราจะต้องออกเดินทางเต็มตัวเต็มสปีดเลย เพราะเรายังไม่ใช่พระ
เพราะว่าต้องมองอย่างนี้ก่อนว่าพระพุทธเจ้าท่านออกบวช
แล้วก็ตั้งศาสนาพุทธขึ้นมาหลังจากที่ท่านตรัสรู้ธรรมแล้ว
ก็เนื่องจากท่านเห็นว่าชีวิตเป็นทุกข์ การเกิดแก่เจ็บตายเป็นทุกข์
แล้วท่านไม่ได้มองแค่ว่าเกิดแก่เจ็บตายครั้งเดียวหนเดียว
ท่านมองว่าเกิดแก่เจ็บตาย วนไปเวียนมาไม่มีที่สิ้นสุด
อย่างนี้แหละที่เรียกว่าเป็นทุกข์
เพราะว่ามันไม่มีแก่นสาร มันไม่มีสาระ

แต่คนธรรมดาทั่วไปมองเห็นไม่ได้แบบท่าน
เพราะฉะนั้นก็ต้องฟังท่านไว้ก่อนว่า ทำไมการเกิดแก่เจ็บตายถึงเป็นทุกข์
พอเราเกิดความเข้าใจ มันมีแรงบันดาลใจขึ้นมาแล้ว
มันก็จะได้ตั้งเป้าให้ตรงกับพระพุทธเจ้า นั่นก็คือยุติการเกิดแก่เจ็บตายซะ
เพราะว่าเมื่อการเกิดแก่เจ็บตายเป็นทุกข์ การไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ย่อมเป็นสุข
นี่อันนี้ตรงนี้ เรามาเจริญสตินะ
ถ้าเราลืมไปแล้วว่าจุดหมายของเรา หรือความเข้าใจของเรา มันมาตรงกันตรงนี้
เราก็ระลึกซะ ว่า โอเค นี่ตรงนี้นะ ที่เรามาเจริญสติที่เรามาปฏิบัติธรรม
เพราะเราเคยเห็นภัยในการเกิดแก่เจ็บตาย
ภัยในการที่เราเกิดมาอย่างไม่รู้แล้วทำกรรมแบบไม่รู้
มันไม่สามารถที่จะประกันความปลอดภัยอะไรให้ตัวเองได้เลย

คือตายไปนี่ก็จะตายไปแบบไม่รู้ ถ้าหากว่าเราไม่มีอภิญญา
เราไม่สามารถที่จะละอุปาทานว่ากายใจนี้เป็นตัวตนของเราเสียได้
พอระลึกแบบนี้ พอคิดแบบนี้ เราก็จะได้มองเห็นว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่
หรือว่าจุดยืน หรือว่า ณ ขณะปัจจุบันที่เราเดินทางมา มันมาถึงตรงไหน



โอเค มันมาถึงจุดที่เริ่มสับสน เริ่มงุนงงว่าจะทำอะไรไปเพื่ออะไร
มันก็เหมือนกับตอนที่เราใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักพุทธศาสนา ไม่รู้จักศาสนาอะไรเลย
แล้วในที่สุดชีวิตก็จะกระตุ้นให้เราเกิดคำถามขึ้นมา
ตั้งโจทย์ให้กับตัวเองขึ้นมา ให้อยากหาคำตอบว่า
แล้วเราจะใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ เพื่ออะไร รอวันตายอย่างเดียวเหรอ

ถ้าหากว่าเราตอบคำถามให้ตัวเองได้อย่างชัดเจนทุกครั้งว่า
โอเค เราที่กำลังใช้ชีวิตอยู่นี่นะ ดำเนินไปตามหลักการของพุทธศาสนา
ในขั้นที่จะมุ่งไปตามทางสวรรค์และนิพพาน
คือถ้าไม่ถึงนิพพานก็สวรรค์ไว้ก่อน ไม่ใช่ไปนรก
พอเห็นอย่างนี้ พอได้คำตอบให้ตัวเองชัดเจนอย่างนี้นะว่า
เออ เราอยู่ในเส้นทางที่ไปดี ขึ้นสูง ไม่ใช่ลงต่ำ
มันก็จะได้สบายใจขึ้นมาขั้นหนึ่งว่าเราจะเจริญสติหรือไม่เจริญสติยังไงก็แล้วแต่
เราจะมีน้ำใจไว้ก่อน ให้ทาน เราจะรักษาศีลให้ใจสะอาดไว้ก่อน
แล้วถ้าหากว่ามันมีบารมีแก่กล้ามากขึ้น ที่จะอยากหาความชุ่มชื่น
มากขึ้นไปกว่าการให้ทานกับการรักษาศีลเราค่อยมาเจริญสติ


พอมันมาตามลำดับขั้น ตอบตัวเองได้อย่างชัดเจนแบบนี้แล้ว
ก็จะได้ไม่ต้องมาขัดแย้งกับตัวเองว่า ทำไมเรามัวขี้เกียจอยู่ ทำไมเราไม่เจริญสติ
เราเป็นฆราวาสนะ ไม่ใช่พระนะ เราเป็นคนที่ต้องทำมาหากินนะ
ไม่ได้มีข้อตกลงกับใครว่าจะต้องทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง
แต่พระนี่ต้องพยายามทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งนะ
เพราะว่าตกลงกับพระพุทธเจ้าไว้ ตกลงกับพระอุปัชฌาย์ไว้ตั้งแต่วันบวชว่า
เราจะเข้ามานี้เพื่อทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง
ไม่ใช่เข้ามาเพื่อแสวงลาภสักการะ ไม่ใช่เข้ามาเพราะว่าไม่มีปัญญาหากิน
ไม่ใช่เข้ามาเพียงเพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นนักบวชนุ่งเหลืองห่มเหลืองอย่างเดียว
แต่เข้ามาเพื่อทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง นี่คือหน้าที่ของคนที่เขาบวชกัน
แต่เราเป็นฆราวาสนะ หน้าที่ของเราก็คือจะต้องรับผิดชอบหน้าที่การงาน
จะต้องทำปากทำท้องให้มันมีกินมีอยู่มีใช้ นี่คือภารกิจหลัก
ส่วนเรื่องการเจริญสติเป็นของแถม



ถ้าหากว่าเรามีความสามารถมีแรงบันดาลใจที่จะเจริญสติได้
อันนั้นเป็นเรื่องดี อันนั้นเป็นเรื่องประเสริฐ

นั่นเป็นขั้นบันไดที่จะต่อยอดขึ้นไปสู่ความเป็นบรรพชิต
ผู้หญิงก็เป็นภิกษุณีหรือเป็นชีไป
ส่วนผู้ชายก็ถ้าเจริญสติก็หมายความว่าเราเข้าสู่เส้นทางของความเป็นพระ
แต่ไม่ใช่ว่ามีกติกาไว้ว่าจะต้องรักษาวินัยแบบพระ
คือหมายความว่าเราทำตามนิยามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
ภิกษุ หมายถึงผู้ที่มีปัญญามองเห็นกายใจ
โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น



การที่เราตอบคำถามตัวเองได้อย่างชัดเจนว่า
เป็นฆราวาสเจริญสติไปทำไม มันมีความสำคัญ
คือถ้าหากว่าเมื่อไหร่เรามีความทุกข์มีความขัดแย้ง
อาการทุกข์อาการขัดแย้งนั่นแหละ สมควรที่จะหลุดออกไปจากใจของเรา
ด้วยการเจริญสติเห็นว่า แม้แต่ความขัดแย้งแม้แต่ความทุกข์ที่มันเกิดขึ้น
ความคิดที่มันมารบกวนจิตใจก็เป็นแค่ภาวะชั่วคราว
เป็นสภาวะทางธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

ถ้าเคยชินที่จะดูบ่อยๆ ความคิดรบกวนแบบนี้มันก็เข้ามาไม่ได้
แล้วความฟุ้งซ่านในแบบอื่นๆ แบบโลกๆ
ที่รบกวนจิตใจอยู่เรื่อยๆ มันก็ไม่สามารถเข้ามาได้เช่นกัน
นี่ เราก็จะได้เห็นประโยชน์ว่าการเจริญสติ
ไม่ใช่เพื่อที่จะทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งในฐานะของฆราวาส
แต่ฆราวาสเจริญสติไป
เพื่อสะสมบารมีธรรมให้เกิดความปล่อยวางขั้นต้น
ความทุกข์ความฟุ้งซ่านแบบโลกๆ มาเบียดเบียนเราไม่ได้
แล้วขั้นต่อไปเมื่อเจริญเบ่งบานขึ้นเต็มที่แล้ว
ค่อยคิดในเรื่องของการเอามรรคเอาผลในขั้นต่อไป






แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP