จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

กลัวคน ไม่กลัวผี


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


113 destination


เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงกลัวผี หรือเคยกลัวผีกันมาก่อนนะครับ
ถ้าขณะนี้เราโตแล้วและเราไม่กลัวผีก็ตาม

แต่อย่างน้อยตอนสมัยเด็ก เราก็น่าจะต้องเคยกลัวผีกันบ้างล่ะ
ส่วนตัวผมเองนั้น สมัยเด็ก ๆ ผมก็กลัวผีเหมือนกันนะครับ
โดยได้เคยชมภาพยนตร์เกี่ยวกับผี และได้ฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีมาไม่น้อยเลย
แต่เมื่อเวลาผ่านไป พอเริ่มมีอายุมากขึ้นและมีประสบการณ์มากขึ้น
อาการกลัวผีก็กลับหายไป ไม่กลัวผีแล้วล่ะ แต่กลับมีอาการกลัวคนขึ้นมา


ถามว่าทำไมถึงกลัวคน แต่ไม่กลัวผี?
ตอบว่า ผมมีชีวิตอยู่มาจนอายุเข้า ๔๐ ปีแล้ว ยังไม่เคยมีประสบการณ์พบผีเลย
และก็ไม่เคยได้พบในชีวิตจริงว่าผีได้ทำร้ายอะไรใครเลย

ที่เคยเห็นว่าผีทำร้ายคนนั้น ผมก็เห็นมีแต่ในภาพยนตร์เท่านั้น ไม่เคยเห็นในชีวิตจริง
แต่เรื่องคนทำร้ายคนด้วยกันนี้ ผมได้เห็นในชีวิตจริงเยอะแยะเลย
อย่างเวลาที่อ่านข่าวหรือดูข่าวทีไร ก็เห็นคนทำร้ายคนด้วยกันอยู่เสมอ
ทั้งฆ่ากัน ทำร้ายกัน โกงกัน ปล้นกัน ข่มขืนกัน หลอกลวงกัน โกงกัน ฯลฯ สารพัดครับ


ถามต่อไปว่าระหว่างผีกับคนไม่ดี อย่างไหนจะน่ากลัวกว่ากัน?
ผมตอบว่า คนไม่ดีน่ากลัวกว่าผีมากมายเลยครับ
สมมุติว่าผีมาหลอกเรา อย่างมากก็เพียงทำให้เราตกใจกลัว
แต่คนไม่ดีนั้นมาทำกับเราได้สารพัดเลย
คนไม่ดีสามารถทำร้ายเราได้โดยตรง เช่น ฆ่า ทุบตี ข่มขืน ปล้น โกง ฯลฯ สารพัด
หรือสามารถชักนำพาเราไปในทางที่ไม่ดีก็ได้ เช่น ชักชวนไปสู่ทางอบายมุข

ชักชวนไปทำผิดกฎหมาย ชักชวนไปทำผิดศีลธรรม ชักชวนไปทำอกุศลกรรม ฯลฯ
แล้วท้ายสุดเราก็ต้องรับผลกรรมหนักจากสิ่งไม่ดีที่เราได้ทำนั้น


ถ้าเราเชื่อในเรื่องกรรมและผลแห่งกรรมแล้ว
เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าคนไม่ดีนั้นน่ากลัวมากกว่าผีเยอะเลยนะครับ

ผมเองยังไม่เคยได้เห็นหรือทราบว่าผีฆ่าใครในชีวิตจริงนะครับ เคยเห็นแต่ในภาพยนตร์
แต่สมมุติว่าให้ผีฆ่าคนได้ เลวร้ายที่สุดที่ผีทำได้ ก็คือผีฆ่าเราตายในขณะนี้
แต่ผีก็ไม่สามารถนำพาให้เราไปนรก หรืออบายภูมิอื่น ๆ ได้
ส่วนคนไม่ดีนั้นทำได้มากกว่านั้นคือ เขาชักนำให้เราไปทำสิ่งที่ไม่ดี หรือทำกรรมชั่ว

แล้วเราก็ต้องรับผลกรรมหนักจากกรรมชั่วนั้นในภายหลัง
กล่าวคือคนไม่ดีสามารถชักนำให้เราไปนรก หรืออบายภูมิอื่น ๆ ได้


ในมงคลสูตร ซึ่งสอนถึงสิ่งที่เป็นมงคลแก่ชีวิตนั้น
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต)
ได้เริ่มต้นด้วยมงคลข้อแรกว่า “ไม่คบคนพาล”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=25&A=41
เพราะเมื่อคบคนพาลหรือคนไม่ดีแล้ว คนพาลก็จะนำพาเราไปทำสิ่งไม่ดี หรือสิ่งอกุศล
แล้วก็ทำให้อกุศลที่ไม่เคยทำ ก็ได้ทำ อกุศลที่ทำอยู่แล้ว ก็ทำบ่อยขึ้น
ส่วนกุศลที่ไม่เคยทำ ก็ไม่ได้ทำ กุศลที่ได้ทำอยู่แล้ว ก็ทำน้อยลง


เราลองถามตัวเราเองก็ได้นะครับว่า เดี๋ยวนี้เวลาเราเดินทางไปไหนก็ตาม
เรากลัวบรรดาโจรขโมยมาปล้นจี้ทำร้าย หรือกลัวผีมาหลอกมากกว่ากัน
ข่าวที่ออกมาก็มีให้เห็นเยอะแยะนะครับ อย่างข่าวกรณีคนเขาทิ้งสลิปเอทีเอ็มไว้
ก็ยังโดนมิจฉาชีพนำข้อมูลบัญชีไปหาข้อมูลเพิ่มเติม และปลอมเอกสารมาทำบัตรเอทีเอ็ม
แล้วรวมบัญชีเพื่อถอนเงินจากบัญชีธนาคารได้ ผีทำอย่างนี้ไม่ได้หรอกครับ
หรือว่าเราไปจอดรถยนต์ตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วก็ใช้กุญแจรีโมตล็อครถยนต์เรา
แต่ถูกมิจฉาชีพใช้รีโมตอีกอันหนึ่งหรือเครื่องมืออื่นมารบกวนรีโมตทำให้ล็อคไม่ได้
แล้วก็มาขโมยของในรถยนต์เราได้ ผีทำอย่างนี้ไม่ได้เช่นกันครับ


เราลองพิจารณาถึงปัญหาทั้งหลายในชีวิตเรา ในที่ทำงานเรา ในประเทศไทยเรา
แม้กระทั่งในโลกใบนี้ก็ตาม จะเห็นได้ว่าล้วนแต่เป็นปัญหาที่คนเราสร้างขึ้นมาทั้งนั้น
ผีไม่ได้มาทำอะไรหรือสร้างปัญหาอะไรให้กับชีวิตเราได้
อย่างเช่นภรรยาคนหนึ่ง โดนสามีนอกใจและทิ้งเธอไปมีผู้หญิงอื่น ทำให้เธอเสียใจมาก
ก็เป็นเรื่องระหว่างคนด้วยกัน ไม่ได้เกี่ยวกับว่าผีจะมาทำร้ายอะไร
แล้วถ้าเราลองให้เธอเลือกระหว่างสามีไม่นอกใจและไม่ทิ้งเธอ แล้วเธอโดนผีหลอก

กับสามีนอกใจและทิ้งเธอ แล้วเธอไม่โดนผีหลอก ถามว่าเธอจะเลือกอะไร?
ผมเชื่อว่าเธอน่าจะเลือกยอมให้ผีหลอกดีกว่าให้สามีนอกใจและทิ้งเธอนะครับ



หากพิจารณาถึงเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตเราแล้ว
เราจะเห็นได้ว่ามีเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายที่มีความสำคัญยิ่งกว่าเรื่องผีมาหลอก
ยกตัวอย่างสมมุติว่าเราอยู่ในบ้านเราดี ๆ ก็มีโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ธนาคารโทรมาหาเรา
สอบถามว่าเราได้มอบอำนาจให้สามีมาถอนเงินหมดบัญชีและปิดบัญชีหรือไม่
(ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้มอบอำนาจสามีให้ทำเช่นนั้นเลย)
ในขณะที่กำลังคุยกับเจ้าหน้าที่ธนาคารอยู่นั้น
ก็มีข้อความไลน์จากเพื่อนสนิทเราขึ้นในโทรศัพท์มือถือบอกว่า

เมื่อสัปดาห์ก่อน เขาเห็นสามีเราไปเที่ยวต่างประเทศกับผู้หญิงอื่นที่ต่างประเทศ
พร้อมกับส่งรูปพวกเขาโอบกอดกันมาให้ดู (ทั้งที่สามีเราบอกว่าเขาไปทำงานอีกประเทศหนึ่ง)
ขณะนั้น ก็มีข้อความไลน์จากเจ้านายที่ทำงานขึ้นมาอีกข้อความหนึ่งบอกว่า เขาไล่เราออกแล้ว
และในวันพรุ่งนี้ เราไม่ต้องไปทำงานอีก
ระหว่างนั้นเอง เรามองไปเห็นพ่อเราซึ่งเป็นโรคหัวใจเอามือกุมหน้าอก แล้วก็ฟุบล้มลงบนพื้น

ซึ่งโดยอาการเช่นนี้แล้ว เราก็จะต้องรีบพาคุณพ่อไปส่งที่โรงพยาบาล


ในขณะที่คุณพ่อล้มลงนั้น มือท่านก็ไปฟาดขนมเค้กวันเกิดที่จุดเทียนวางบนโต๊ะหล่นลง
เทียนนั้นก็หล่นไปโดนโซฟาติดไฟ ทำให้ไฟกำลังจะไหม้บ้านเรา
เราจึงกำลังจะวางโทรศัพท์เพื่อไปช่วยคุณพ่อ และไปดับไฟที่โซฟา
แต่ขณะนั้นเอง เราก็เห็นลูกคนเล็ก ๔ ขวบกำลังวิ่งออกไปที่ถนนหน้าบ้าน

ซึ่งก็มีรถ ๑๐ ล้อคันหนึ่งกำลังพุ่งตรงมาที่ลูกเราด้วยความเร็วสูง
(ในชีวิตจริง คงไม่เกิดอะไรหลายอย่างพร้อมกันขนาดนี้หรอกนะครับ)
และในเวลานั้นเอง ก็มีผีตนหนึ่งโผล่ออกมาหลอกเรา
ถามว่าเราจะสนใจกลัวเรื่องผีหลอกไหม
เราจะให้ความสำคัญกับผีหลอกแค่ไหน
หรือว่าเราจะกระโดดถีบหน้าผี แล้วบอกว่า มาหลอกทำไมตอนนี้ คนกำลังยุ่งจะตายอยู่แล้ว!
เราจึงเห็นได้ว่าเรื่องผีมาหลอกนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตเรา
โดยก็ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายที่สำคัญกว่า ร้ายแรงกว่า จำเป็นกว่าสำหรับชีวิตเรานะครับ


ข้างต้นนั้นได้อธิบายว่าคนไม่ดีนั้นน่ากลัวยิ่งกว่าผีเสียอีก และเรื่องผีหลอกไม่ได้สำคัญอะไร
แต่ทีนี้ หากบางท่านยังกลัวผีอยู่ และต้องการทราบว่าควรทำอย่างไร?
ผมขอเสนอหลายวิธีการให้เลือกนะครับ

ซึ่งท่านก็พึงเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับท่านเอง ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบคนอื่น
(อนึ่ง วิธีการที่ผมนำเสนอนี้ก็ย่อมจะไม่ใช่ทั้งหมด โดยย่อมจะมีวิธีการอื่น ๆ อีก)


๑. ถ้าเราภาวนาเป็น เมื่อเวลาที่เกิดความกลัวผีขึ้นมาในจิตใจ ก็ให้เรามีสติรู้ทัน
เมื่อเรามีสติรู้ทัน เห็นว่าความกลัวนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ความกลัวนั้นก็จะมาครอบงำใจเราไม่ได้ ก็หายกลัวนะครับ
ถ้าไม่หายกลัว ก็ให้มีสติรู้ทันใจไปเรื่อย ๆ กล่าวคือเราภาวนาไปเลยครับ
ผีที่เราเห็นนั้นจะเป็นผีจริง ๆ หรือเปล่านั้นเราก็ไม่ทราบได้ ผีอาจจะไม่ใช่ของจริงก็ได้
แต่ความกลัวที่เกิดขึ้นในใจเรานั้น เราสามารถเห็นได้จริงว่ามันเกิดขึ้นและมันดับไป


หรือเราอาจจะปฏิบัติภาวนาในรูปแบบไปเลย
ผีจะมาหลอกเราก็ตาม เราก็นั่งสมาธิ หรือเดินจงกรมไปเลย
ยิ่งกลัวมากเท่าไร ก็ยิ่งนั่งสมาธิ และเดินจงกรมให้มากเท่านั้น


๒. ให้เราระลึกถึงพระรัตนตรัย กล่าวคือระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
ใน “ธชัคคสูตรที่ ๓” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค) ได้เล่าว่า
ในสมัยพุทธกาลนั้น มีสงครามระหว่างเทวดาและอสูรรบกัน
ซึ่งเทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่รบกับอสูรนั้นเกิดความกลัว
ท้าวสักกะ (พระอินทร์) ผู้เป็นหัวหน้าของเหล่าเทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จึงสอนเทวดาอื่น ๆ ว่า
หากเทวดาทั้งหลายที่เข้าสงครามเกิดความกลัวแล้ว ก็ให้แลดูยอดธงของท้าวสักกะ
เมื่อแลดูยอดธงของท้าวสักกะแล้ว ความกลัวจักหายไป
ถ้าไม่แลดูยอดธงของท้าวสักกะแล้ว ก็ให้แลดูยอดธงของท้าวปชาบดีเทวราช
หรือท้าววรุณเทวราช หรือท้าวอีสานเทวราช องค์ใดองค์หนึ่ง แล้วความกลัวก็จักหายไป


พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่าเมื่อเทวดาแลดูยอดธงของท้าวสักกะก็ดี
ยอดธงของท้าวปชาบดีเทวราชก็ดี ยอดธงของท้าววรุณเทวราชก็ดี
ยอดธงของท้าวอีสานเทวราชก็ดี ความกลัวที่มีนั้นพึงหายไปได้บ้าง ไม่ได้บ้าง
ข้อนั้นเป็นเหตุแห่งอะไร?เป็นเพราะว่าท้าวสักกะก็ดี ท้าวปชาบดีเทวราชก็ดี
ท้าววรุณเทวราชก็ดี ท้าวอีสานเทวราชก็ดี ล้วนยังเป็นผู้ไม่ปราศจากราคะ
ไม่ปราศจากโทสะ ไม่ปราศจากโมหะ และยังเป็นผู้กลัวและหวาดสะดุ้งอยู่


พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่าเมื่อเราบังเกิดความกลัวแล้ว
พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งไปกว่า
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้
หรือระลึกถึงพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว
บุคคลพึงเห็นได้เอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดูได้ ควรน้อมเข้าไปในตน
อันวิญญูชนพึงรู้แจ้งได้เฉพาะตน ดังนี้
หรือระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง พระสงฆ์นั้นคือใคร
ได้แก่คู่แห่งบุรุษสี่ รวมเป็นบุรุษบุคคลแปด นี้คือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักขิณา
เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี เป็นบุญเขตของโลก ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า
โดยเมื่อเราระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์แล้ว ความกลัวที่มีขึ้น ก็จักหายไป
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุแห่งอะไร? เพราะว่าพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่เป็นผู้กลัว ไม่หวาด ไม่สะดุ้ง


นอกจากการระลึกถึงพระรัตนตรัยดังกล่าวแล้ว เราอาจจะเจริญอนุสติอื่น ๆ ในอนุสติ ๖ ได้
ได้แก่ ระลึกถึงศีลที่เราถือไว้ดีแล้ว ระลึกถึงทานที่เราได้ทำไว้ดีแล้ว
หรือระลึกถึงธรรมของเหล่าเทวดาซึ่งเราก็มีธรรมนั้นเช่นกัน


๓. หากไม่ระลึกถึงพระรัตนตรัยหรือเจริญอนุสติดังกล่าวแล้ว
เราอาจจะทำสมถะโดยวิธีการอื่น ๆ ก็ได้ เพื่อให้ใจสงบนิ่ง
เช่น อาจจะทำใจสงบโดยการกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ หรือท้องพองยุบ เป็นต้น
ซึ่งเมื่อใจสงบนิ่งแล้ว ความกลัวผีก็ทำอะไรไม่ได้
หรือเรา
อาจจะสวดมนต์ หรือหาหนังสือสวดมนต์มาสวดท่องให้ใจเราสงบก็ได้
โดยเมื่อใจเราแน่วแน่อยู่กับบทสวดมนต์ และสงบแล้ว ความกลัวผีก็ย่อมจะหายไป



๔. ให้เราระลึกถึงมรณานุสติ โดยผีที่จะมาหลอกเราหรือทำร้ายเรานั้น
มากที่สุดที่ผีจะทำได้ก็คือฆ่าเรา (สมมุติว่าผีทำได้นะครับ เพราะผมก็ไม่เคยพบเห็นว่าผีทำได้มาก่อน)
ซึ่งในเมื่อเราระลึกถึงมรณานุสติคือระลึกถึงความตาย และเราไม่กลัวตายเสียแล้ว
ผีจะมาทำอะไรเรา เราก็ไม่กลัวแล้ว และก็ไม่กลัวผีด้วย


๕. ให้แผ่เมตตาและอุทิศบุญกุศลให้กับผี โดยระลึกว่าบรรดาผีเขาอยู่ในภพภูมิที่ลำบากกว่าเรา
น่าสงสารกว่าเรา เขาไม่มีโอกาสสร้างบุญกุศลได้เท่ากับเราซึ่งเป็นมนุษย์

เราจึงควรแผ่เมตตาและอุทิศบุญกุศลให้กับเขา
บางท่านอาจจะสงสัยว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า บรรดาผีเขาลำบากกว่าเรา
?
ในการตอบคำถามนี้ เราพึงพิจารณาว่า ผีคืออะไร? ซึ่งเราก็พิจารณาได้จากภพภูมิต่าง ๆ
ถ้าเป็นพระพรหมหรือเทวดาแล้ว เราก็คงไม่เรียกผีนะครับ
แต่เรียกว่าพระพรหมหรือเทวดามากกว่า

และถ้าเขาเป็นพระพรหมหรือเทวดาแล้ว เขาก็อยู่สบายมีความสุขอยู่แล้ว
ก็ไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นใด ๆ ที่เขาจะต้องมาหลอกเราให้กลัวนะครับ
ที่เราเรียกผีนั้น ก็น่าจะหมายถึงบรรดาภูตผีปีศาจทำนองนี้

หมายถึงสัตว์ในอบายภูมิ ได้แก่สัตว์นรก เปรต อสุรกาย โดยยกเว้นไม่รวมสัตว์เดรัจฉาน
เพราะเวลาเราพบสัตว์เดรัจฉาน เช่น สุนัข แมว จิ้งจก ช้าง ม้า ฯลฯ ก็ตาม
เราก็ไม่เรียกสัตว์เหล่านั้นว่าผีนะครับ แต่เรียกชื่อสัตว์นั้น ๆ ไปเลย


อีกประการหนึ่งก็คือ ถ้าบรรดาผีนั้นมีชีวิตที่สุขสบาย เป็นอยู่ผาสุก มีความสุขมากมายแล้ว
เขาจะมาเสียเวลาหลอกเราทำไม เขาก็ไม่มาเสียเวลากับเราหรอกครับ
หรือถ้าเขาจะมา ก็น่าจะมาช่วยเหลือให้ความอนุเคราะห์แก่เรามากกว่า
แต่นี่เขามาหลอกหรือมาขอให้เราช่วย ก็แสดงว่าเขาเองยังทุกข์และยังลำบากกว่าเราอยู่


๖. ให้เจรจากับผี โดยแทนที่เราจะมัวแต่กลัวหรือจะคิดเตรียมวิ่งหนี เราก็เจรจากับเขาเสียเลย
ซึ่งการเจรจานั้นก็ไม่ยากนะครับ โดยวิธีการปกติที่เราสามารถทำได้ก็คือ
เราเสนอกับเขาว่าเราจะทำบุญกุศลแล้วอุทิศไปให้ แล้วให้เขาไปรอรับส่วนบุญกุศล
บุญกุศลก็แบ่งออกเป็น ๓ เรื่องใหญ่ ๆ คือทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา
โดยเราก็เสนอกับผีนั้นว่าเราจะทำบุญนั่นโน่นนี่ แล้วอุทิศบุญกุศลไปให้เขา
และก็ขอให้เขาจากไปเสีย ถ้าเขามัวแต่มาหลอกเรา เราก็ทำบุญกุศลไม่สะดวก
ทีนี้ เมื่อเราเจรจาหรือเสนอแล้ว เราก็พึงทำตามที่เราได้เสนอหรือสัญญาไว้ด้วยนะครับ



แต่ในอันที่จริงแล้ว แม้ว่าผีจะไม่มาหลอกเราก็ตาม
เราเองก็พึงทำบุญกุศลเหล่านี้คือทาน ศีล และภาวนาเป็นประจำอยู่แล้ว
ความแตกต่างน่าจะมีอยู่เพียงว่า จากเดิมที่เราอาจจะไม่ได้อุทิศบุญให้ใคร
หรือเราไม่ได้อุทิศบุญให้ผีตนนี้ เราก็อุทิศให้เขาก็เท่านั้นเอง
กรณีนี้ไม่ได้ทำให้เราต้องไปมีภาระอะไรเพิ่มเติมมากมายเลย


แต่ถ้าเดิมที เราไม่ค่อยจะได้ทำบุญกุศลคือทาน ศีล และภาวนาแล้ว
เมื่อผีมาหลอกเรา และทำให้เราได้ทำบุญกุศลเหล่านี้มากขึ้น
ก็ย่อมจะถือได้การที่ผีมาหลอกดังกล่าวนั้นเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ชีวิตเรา
เพราะเป็นโอกาสที่ผลักดันให้เราได้ทำบุญกุศลนั้น ๆ


๗. ให้เราหาหนังสือธรรมะมาอ่าน (โดยอาจจะอ่านออกเสียงด้วยก็ได้) หรือเปิดซีดีธรรมะฟัง
โดยเมื่อเราอ่านหนังสือธรรมะ หรือเปิดซีดีธรรมะแล้ว
จิตใจเราไปเคล้าเคลียอยู่ที่เนื้อหาธรรมเทศนา
ก็ย่อมจะมีส่วนช่วยทำให้เรารู้สึกหายกลัวผีด้วย แถมยังได้ประโยชน์คือได้ความรู้ทางธรรม

และการฟังธรรมดังกล่าวก็ถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งด้วย (เรียกว่า “ธัมมัสสวนมัย”)


ใน ๗ ข้อที่กล่าวข้างต้นนั้น ก็เป็นวิธีการที่เกี่ยวข้องกับทาน ศีล หรือภาวนา
จึงเป็นวิธีการที่แนะนำให้ทำนะครับ ส่วนวิธีการอื่น ๆ ก็ยังมีอีกหลายวิธี
แต่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทาน ศีล หรือภาวนา จึงไม่ได้แนะนำให้ทำครับ
ยกตัวอย่างเช่น (ก) ให้ทำตัวไม่สนใจผี ทำตัวเป็นคนไม่รู้สึกรู้สา เป็นคนด้านชา ไม่รับรู้
ซึ่งเราอาจจะทำกิจกรรมอื่น ๆ ไปด้วยก็ได้ เช่น นอนหลับ หรือทำงานอื่น ๆ ก็ได้
หรือทำอาหารทานเสียเลย เป็นต้น ซึ่งเมื่อเราไม่สนใจเรื่องผี ไม่สนใจที่จะกลัวผีนั้นแล้ว
เดี๋ยวความรู้สึกกลัวมันก็จะจางคลายไปเอง
ถ้าสมมุติว่าผีมาจริง ๆ แต่เราไม่สนใจเขา ผีก็น่าจะเบื่อ แล้วก็จะไม่สนใจเรานะครับ
เสมือนว่ามีคนมาขายของให้เรา แล้วเราไม่สนใจเขา เดี๋ยวเขาก็จากไปเองครับ
หรือมีขอทานมาขอเงินเรา แต่เราไม่สนใจเขา เดี๋ยวเขาก็จากไปเองครับ
เขาก็ไปหาคนอื่นที่สนใจเขาต่อไป


(ข) อาศัยกัลยาณมิตร โดยพาตนเองไปอยู่กับกัลยาณมิตรที่ไม่กลัวผี
ก็เป็นทางที่อาจจะช่วยได้ หากอยู่ไกลกัน ก็อาจจะโทรศัพท์ไปหาเพื่อขอกำลังใจ
แต่ก็ต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่าเราไม่ยอมหลับนอนจนดึกดื่น
แล้วอยู่ ๆ ก็เกิดกลัวผีขึ้นมา แล้วก็ไปโทรปลุกเพื่อนคนอื่นขึ้นมา
หรือว่าเพื่อนเราเดินทางไปต่างประเทศ เราก็ยังโทรไปขอให้เขาช่วยเพราะเรากลัวผี เป็นต้น


(ค) หลายท่านอาจจะนิยมเลือกใช้วิธีการขับไล่ผี
โดยอาศัยวัตถุมงคลที่เรานับถือ หรือท่องบทสวดมนต์ที่เราท่องได้
แต่ผมเห็นว่าแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ไม่ปรองดองเท่าไรนะครับ
ในทางกลับกัน หากขับไล่แล้ว ผียังไม่ไป เราอาจจะยิ่งกลัวไปกันใหญ่
และหากเราจะหันกลับไปปรองดองกับเขาก็อาจจะทำได้ยากยิ่งขึ้น


(ง) บางท่านนิยมใช้วิธีการที่โบราณที่สุดคือ “หนี” หรือ “หลบ”
เช่น อาศัยวิธีการคลุมโปงและซ่อนตัวใต้ผ้าห่ม เป็นต้น แต่วิธีนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ผลนะครับ
โผล่ออกมาจากผ้าห่มเมื่อไร เขาก็อาจจะยังรออยู่
หรือไม่เขาก็อาจจะตามไปหลอกในผ้าห่มได้ด้วย


ย้ำอีกทีว่า ๔ วิธีการดังกล่าวตั้งแต่ (ก) ถึง (ง) นี้ไม่ได้แนะนำให้ทำนะครับ
เพียงแต่ยกตัวอย่างขึ้นมาให้เห็นเท่านั้นว่า
วิธีการอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับทาน ศีล ภาวนานั้นเช่นอะไรบ้าง


สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องของการกลัวผีก็คือ
เราไม่ควรสร้างเหตุที่จะทำให้เรากลัวผีนะครับ กล่าวคือไม่พยายามไปหมกมุ่นกับสิ่งเหล่านี้
ไม่ดูหนังภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องผี ๆ ไม่สนใจอ่านหรือฟังเรื่องเล่าเรื่องผี
ก็จะช่วยไม่สร้างเหตุที่จะทำให้เราต้องรู้สึกกลัวผีขึ้นมาครับ
ยกตัวอย่างเช่น บางคนกลัวงู แต่ถ้าสมมุติว่าเราไม่เคยได้ยินเรื่องงูมาก่อน และไม่รู้จักงูมาก่อน
เราไม่รู้ว่างูคืออะไร เราก็จะไม่กลัวงูใช่ไหมครับ เรากลัวงู เพราะเราได้ทราบเรื่องงู
ได้เคยเห็นงู และได้รู้จักว่างูคืออะไร ทำนองนี้เป็นต้น เรื่องผีก็เป็นทำนองเดียวกันครับ





แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP