ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta
ฌานมี ๒ นัย
กลุ่มไตรปิฎกสิกขา
ฌานนี้นั้น มีอยู่ ๒ อย่างคือ อารัมมณูปนิชฌาน (เข้าไปเพ่งอารมณ์)
ลักขณูปนิชฌาน (เข้าไปเพ่งลักษณะ). บรรดาฌานทั้ง ๒ นั้น
สมาบัติ ๘ พร้อมด้วยอุปจาร ท่านเรียกว่า “อารัมมณูปนิชฌาน.”
ถามว่า เพราะเหตุไร?
แก้ว่า เพราะเข้าไปเพ่งอารมณ์คือกสิณเป็นต้น.
วิปัสสนามรรคและผล ท่านเรียกว่า “ลักขณูปนิชฌาน.”
ถามว่า เพราะเหตุไร ?
แก้ว่า เพราะเข้าไปเพ่งลักษณะ.
จริงอยู่ บรรดาวิปัสสนามรรคและผลเหล่านี้
วิปัสสนา ย่อมเข้าไปเพ่งไตรลักษณ์ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น.
ก็กิจคือการเข้าไปเพ่งด้วยวิปัสสนา ย่อมสำเร็จด้วยมรรค
เพราะเหตุนั้น มรรคท่านเรียกว่า “ลักขณูปนิชฌาน.”
ส่วนผล ท่านก็เรียกว่า “ลักขณูปนิชฌาน”
เพราะอรรถว่า เข้าไปเพ่งลักษณะที่แท้จริงแห่งนิโรธ.
แต่ในอรรถนี้ ท่านประสงค์เอาอารัมมณูปนิชฌานเท่านั้นว่า ฌาน.
ในอธิการว่าด้วยฌานนี้ พระอาจารย์ผู้โจทท้วงว่า
ชื่อว่าฌานที่ควรจะพึงอ้างถึงอย่างนี้ว่า
เป็นไปกับด้วยวิตก เป็นไปกับด้วยวิจาร ฯลฯ มีปีติและสุข ดังนี้ นั้นเป็นไฉนเล่า?
ข้าพเจ้า จะกล่าวเฉลยต่อไป :- เปรียบเหมือนบุรุษคนอื่น เว้นทรัพย์และปริชนเสีย
ย่อมเป็นผู้ไม่สมควรภาวะที่จะพึงอ้างถึงในประโยคมีอาทิว่า
ผู้มีทรัพย์ ผู้มีปริชน ฉันใด ฌานอื่น เว้นธรรมมีวิตกเป็นต้นเสีย
ควรจะพึงอ้างถึง ย่อมไม่มี ฉันนั้น.
เหมือนอย่างว่า การสมมติว่าเสนา ในองค์เสนาทั้งหลาย ที่ชาวโลกกล่าวว่า
เสนา มีพลรถ มีพลเดินเท้า ดังนี้นั่นแล
บัณฑิตควรทราบฉันใด ในอธิการนี้ ก็ควรทราบ
การสมมติว่าฌาน ในองค์ ๕ นั้นแลฉันนั้น.
ควรทราบในองค์ ๕ เหล่าไหน? ในองค์ ๕ เหล่านี้ คือ
วิตก (ความตรึก) วิจาร (ความตรอง) ปีติ (ความอิ่มใจ)
สุข (ความสบายใจ) จิตเตกัคคตา (ความที่จิตมีอารมณ์เดียว).
จริงอยู่ องค์ ๕ เหล่านี้แหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยความเป็นองค์แห่งฌานนั้น
โดยนัยมีอาทิว่า “เป็นไปกับด้วยวิตก เป็นไปกับด้วยวิจาร.”
ถ้าหากพระอาจารย์ผู้โจทพึงท้วงว่า
เอกัคคตา (ความที่จิตมีอารมณ์เดียว) จัดเป็นองค์ (แห่งฌาน) ไม่ได้
เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสไว้ (ในบาลีแห่งฌาน) มิใช่หรือ?
แก้ว่า ก็คำที่ท่านกล่าวนั้น ย่อมไม่ถูก.
ถามว่า เพราะเหตุไร?
แก้ว่า เพราะจิตเตกัคคตาแม้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในบาลีแห่งฌานนั่นเอง.
จริงอยู่ จิตเตกัคคตาแม้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แน่นอนในคัมภีร์วิภังค์อย่างนี้ว่า
“วิตก วิจาร ปีติ สุข จิตเตกัคคตา ชื่อว่า ฌาน.”๑
เพราะฉะนั้น คำที่ท่านกล่าวไว้ว่า “เป็นไปกับด้วยวิตก เป็นไปกับด้วยวิจาร” ฉันใด
แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสไว้ในอธิการนี้ว่า “สจิตเตกัคคตา”
แม้จิตเตกัคคตา ก็ควรทราบว่า เป็นองค์ (แห่งฌาน) ทีเดียว
ตามพระบาลีในคัมภีร์วิภังค์นี้ ฉันนั้น.
จริงอยู่ อุเทศ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำไว้แล้วด้วยพระประสงค์ใด
อุเทศนั้นนั่นเอง ก็เป็นอันพระองค์ทรงประกาศไว้แล้ว
แม้ในคัมภีร์วิภังค์ด้วยพระประสงค์นั้นแล.
หมายเหตุ ๑ อภิ. วิ. ๓๕/๖๕๖/๓๔๗
(เวรัญชกัณฑวรรณา ว่าด้วยปฐมฌาน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๑)
< Prev | Next > |
---|