เข้าครัว Lite Cuisine

อรุณรุ่ง


Cuisine

โดย พิมพการัง


อรุณรุ่งแล้ว กิจวัตรยามเช้าของชาววัดก็ดำเนินต่อไป...

ชาววัดป่าจะลุกขึ้นมาภาวนาตั้งแต่ฟ้ายังไม่แจ้ง แล้วขึ้นศาลามาสวดมนต์ทำวัตรเช้าร่วมกัน
ต่อด้วยนั่งสมาธิ ฟังธรรมสั้นๆ จนตะวันทอแสงพอเห็นลายใบไม้ หรือเห็นลายมือ
พระภิกษุสามเณรก็จะออกไปบิณฑบาตกันค่ะ

แม่ชีและแม่ขาวที่อยู่ถือศีลในวัด ก็จะเริ่มเอาของสดของแห้งที่มีเจ้าภาพฝากไว้
มาจัดเตรียมใส่บาตร ของแห้งที่ได้รับเข้าครัวมา เช่นไข่ กุนเชียง หมูหยอง หมูแผ่น
ขนมปัง แยม ฯลฯ ก็จะเอาออกมาจัดกันตอนนี้ค่ะ มีหลายท่านเดินทางมาวัดแต่เช้า
เพื่อช่วยทำกับข้าว ปรุงกันใหม่ๆ ในโรงครัว ช่วยกันหยิบจับคนละไม้คนละมือ 
บ้างก็อุ่นกับข้าว ทำขนม ปอกผลไม้ ชงกาแฟ คั้นน้ำส้ม หรือหุงข้าว แล้วแต่ถนัดค่ะ

รอจนกระทั่งพระสงฆ์กลับมาจากบิณฑบาต ท่านจะเอาสิ่งที่รับบาตรทั้งหมด
มาวางรวมกันไว้ตรงโต๊ะยาว งานแท้ๆ ที่ต้องแข่งกับเวลาจึงจะเริ่มต้น
นั่นคือพวกเราชาววัดทุกคนจะมาช่วยกันจัดของค่ะ

จัดอะไร จัดทำไม และจัดให้เป็นอะไร

ท่านไหนเคยรับของใส่บาตรมาเปิดดูไหมคะ 
ญาติโยมหลายท่านใส่ผลไม้มาทั้งลูก มะม่วงหรือส้มโอทั้งผลไม่ได้ปอก
น้ำขวด หรือน้ำเปล่าใส่ถุงมัดหนังยางก็มีบ่อย หลายท่านใส่ปัจจัยมาด้วย 
ขนมกรุบกรอบ บะหมี่ซอง ข้าวสารก็มี ธูปเทียนหักๆ ปนมากับข้าวสุกก็มี
หมากพลู เหล้า ยาดอง อาหารป่าแปลกๆ เนื้อสัตว์แปลกๆ ก็เคยมีค่ะ 

หลายสิ่งที่กล่าวมานี้ผิดพระวินัย แต่จะให้พระท่านต้องคอยระวังดูของใส่บาตร   
ต้องคอยห้าม คอยสอนญาติโยมเป็นรายบุคคลตามริมถนนก็เป็นไปไม่ได้ค่ะ

จึงใช้วิธีที่ว่าเมื่อพระท่านกลับวัดแล้ว ค่อยส่งมอบให้ชาววัดทั้งหมด 
ชาววัดจัดใหม่ให้ถูกระเบียบ แล้วประเคนท่านใหม่หมดเช่นกันค่ะ

การรับบาตร พระพุทธองค์กำหนดให้รับเฉพาะของขบฉันเท่านั้น
จะมีดอกไม้ธูปเทียนบูชาก็ไม่ว่ากัน  แต่รับปัจจัยไม่ได้นะคะ
พระป่าสายธรรมยุติท่านไม่จับปัจจัย ไม่ว่าจะใส่ซองหรือไม่ 
ชาววัดจะดึงปัจจัยไปใส่ในตู้รับบริจาคของวัดก่อนเป็นสิ่งแรก

วินัยของสงฆ์ มีความงดงาม เป็นระเบียบปฎิบัติที่เหมาะสมที่สุดแล้ว
แต่ก็มีความยืดหยุ่น ต้องเข้าใจเจตนาที่แท้จริงของพระพุทธองค์
ไม่ใช่ห้ามตามตัวอักษร พระวินัยแท้ๆ ไม่ให้สะสม ไม่ยินดีกับการรับปัจจัย 
ซึ่งหมายรวมถึงปัจจัยสี่ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะแต่เงินนะคะ

พระวินัย ข้ามกาลเวลาผ่านยุคสมัยมา จึงขึ้นกับการตีความเป็นสำคัญ
ทุกวันนี้พระภิกษุมีหลายนิกาย บางสายอนุญาตให้จับเงินได้ก็มีนะคะ 

ขอย้ำอีกครั้งเถิดนะคะ
บทความเข้าครัวไม่ต้องการตัดสินผิดถูก หรือเปรียบเทียบอะไรนะคะ

พระพุทธองค์สอนให้พัฒนาตัวเอง ปรับปรุงที่ตัวเองเป็นสำคัญ
เราเรียนธรรมะไว้เพื่อพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่พัฒนาผู้อื่น
เราเรียนรู้พระวินัยเพื่อดูแลพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของเราได้ถูกต้อง
แต่ไม่ใช่เอาไว้ติเตียนคนอื่นนะคะ

อาหารใส่บาตรที่ไม่ได้แน่ๆ คือเครื่องดื่มมึนเมา เหล้ายาดอง เป็นต้นค่ะ
เนื้อสัตว์ที่ทรงห้ามมี ๑๐ ชนิด คือ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อหมี เนื้อสิงห์โต
เนื้อเสือดาว เสือโคร่ง เสือเหลือง เนื้องู และเนื้อสุนัขค่ะ

สาเหตุ และที่มาที่ไปคล้ายๆ กันนะคะ คือ เนื้อตระกูลเสือฉันแล้วมีกลิ่นสาบเสือติดตัว
ทำให้เข้าป่าแล้วเสือตัวอื่นๆ อยากตะปบ ส่วนสัตว์อื่นๆ เกิดจากที่ชาวบ้านร้องเรียนว่า
ไม่เหมาะสมด้วยเหตุผลต่างๆ กัน เช่น เป็นสัตว์ต่ำต้อย น่ารังเกียจ ไม่ใช่อาหารมนุษย์

เนื้อสัตว์อีกชนิดที่ทรงห้ามไว้ คือ สัตว์ที่ตายลงโดยที่พระท่านมีส่วนรู้เห็น
เช่น ทราบดีว่าจะล้มวัวตัวนี้เพื่อทำกับข้าวมาถวาย แบบนี้ไม่ได้ค่ะ

บางท่านคงเคยเห็นชุดใส่บาตรสำเร็จรูปที่แม่ค้าจัดมาแล้วเป็นถุงๆ
มีข้าวห่อ แกงถุง ขนมอย่าง น้ำถ้วยสำเร็จรูป บางเจ้ามีธูปเทียนมาด้วย
เปิดดูแล้วจะคิดถึงเรื่องถังสังฆทานที่ “คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ”

บางเจ้าคุณภาพข้าวไม่ดีเลยค่ะ บางครั้งชาววัดต้องช่วยกันดูว่าขนมขึ้นราหรือยัง!
ธูปเทียนที่ใส่มาด้วยไม่นานก็หัก ทิ้งรอยผงสีชมพูออกมาเปื้อนกับข้าว

เรื่องน้ำก็เช่นกันนะคะ พอจะเข้าใจว่าคงอยากใส่บาตรให้มีครบทั้งของคาวหวานและน้ำดื่ม
แต่น้ำหลายขวดหนักมาก ถ้าไม่มีโยมผู้ชายออกไปช่วย พระท่านคงยกไม่ไหวแน่ๆ ค่ะ
หรือน้ำที่ใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุง หลายครั้งถุงก็แตกออกน้ำซึมมาปนกับข้าวอย่างอื่นก็มีค่ะ

ชาววัดช่วยกันหยิบของที่ไม่ควรใส่บาตรออกไปแล้ว ถัดไปคือการจัดแยกหมวดหมู่   
ห่อข้าวรวมกันในถาดข้าว แกงถุงไว้รวมกันในถาดแกง  กับข้าวแห้งๆ ของทอดเอาไว้ด้วยกัน 
ถาดขนม ถาดน้ำหวาน นม น้ำเต้าหู้เอาไว้ด้วยกัน ของที่จัดมาเฉพาะพอหนึ่งรูปอิ่มก็เอาใส่ถุงไว้
ถ้าเป็นถุงโตก็จัดใส่จานแยกไว้ ส่วนที่ต้องใช้กำลังคนมากที่สุดคือวงผลไม้ค่ะ

ทำไมจัดผลไม้ถึงใช้กำลังคนมากที่สุด

ขอเก็บไว้กล่าวถึงฉบับหน้าแทนนะคะ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP