ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta
ทัฏฐัพพสูตร ว่าด้วยที่ที่จะพึงเห็นกำลัง ๕
กลุ่มไตรปิฎกสิกขา
[๑๕] ภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
กำลังคือศรัทธา ๑ กำลังคือวิริยะ ๑ กำลังคือสติ ๑
กำลังคือสมาธิ ๑ กำลังคือปัญญา ๑
ภิกษุทั้งหลาย ก็พึงเห็นกำลังคือศรัทธาในที่ไหน พึงเห็นในโสตาปัตติยังคะ๑ ๔
(องค์เป็นเครื่องให้บรรลุความเป็นพระโสดาบัน) พึงเห็นกำลังคือศรัทธาในที่นี้
ก็พึงเห็นกำลังคือวิริยะในที่ไหน พึงเห็นในสัมมัปปธาน ๔ พึงเห็นกำลังคือวิริยะในที่นี้
ก็พึงเห็นกำลังคือสติในที่ไหน พึงเห็นในสติปัฏฐาน ๔ พึงเห็นกำลังคือสติในที่นี้
ก็พึงเห็นกำลังคือสมาธิในที่ไหน พึงเห็นในฌาน ๔ พึงเห็นกำลังคือสมาธิในที่นี้
ก็พึงเห็นกำลังคือปัญญาในที่ไหน พึงเห็นในอริยสัจ ๔ พึงเห็นกำลังคือปัญญาในที่นี้
ภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๕ ประการนี้แล.
ทัฏฐัพพสูตร จบ
อรรถกถาทัฏฐัพพสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในทัฏฐัพพสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะตรัสโลกุตรธรรมในที่มิใช่วิสัย จึงตรัสคำมีอาทิว่า
ภิกษุทั้งหลาย ก็พึงเห็นกำลังคือศรัทธาในที่ไหน (กตฺถ จ ภิกฺขเว สทฺธาพลํ ทฏฺฐพฺพํ)
เหมือนอย่างว่า เมื่อสหายมีพระราชาเป็นที่ ๕ คือบุตรเศรษฐี ๔ คน พระราชา ๑ องค์
ลงเดินถนนด้วยคิดว่า เราจักเล่นนักษัตร
ในเวลาไปเรือนของบุตรเศรษฐีคนที่หนึ่ง อีก ๔ คนก็นั่งเฉย
เจ้าของเรือนกล่าวว่า “พวกท่านจงให้ของเคี้ยว ของบริโภค
ของหอม ดอกไม้และเครื่องประดับเป็นต้นแก่ท่านเหล่านี้” แล้วตรวจตราในเรือน.
ในเวลาไปเรือนของบุตรเศรษฐี คนที่ ๒ คนที่ ๓ คนที่ ๔ อีก ๔ คนก็นั่งเฉย
เจ้าของเรือนกล่าวว่า “พวกท่านจงให้ของเคี้ยว ของบริโภค ของหอม
ดอกไม้และเครื่องประดับเป็นต้นแก่ท่านเหล่านี้ แล้วตรวจตราในเรือน.
ครั้นต่อมา ในเวลาไปราชมณเฑียรของพระราชาทีหลังเขาทั้งหมด
พระราชาแม้จะทรงเป็นใหญ่ในชนทั้งหมดก็จริง ถึงอย่างนั้นในเวลานี้ยังตรัสว่า
“พวกท่านจงให้ของเคี้ยว ของบริโภค ของหอม ดอกไม้และเครื่องประดับเป็นต้น
แก่ท่านเหล่านี้” แล้วทรงตรวจตราในพระราชมณเฑียรของพระองค์ ฉันใด
ฉันนั้นนั่นแหละ เมื่อพละมีศรัทธาเป็นที่ ๕ แม้เกิดขึ้นในอารมณ์เดียวกัน
ก็เหมือนเมื่อสหายเหล่านั้นลงเดินถนนพร้อมกัน
สหายอีก ๔ คนนั่งเฉยในเรือนของคนที่หนึ่ง
สหายที่เป็นเจ้าของเรือน ย่อมตรวจตรา ฉันใด
สัทธาพละมีลักษณะน้อมใจเชื่อ ถึงโสดาปัตติยังคะแล้ว ย่อมเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า
พละที่เหลือก็คล้อยตามสัทธาพละนั้น ฉันนั้น
ในเรือนของบุตรเศรษฐีคนที่ ๒ สหายอีก ๔ คนก็นั่งเฉย สหายเจ้าของเรือนตรวจตรา ฉันใด
วิริยพละมีลักษณะประคองไว้ ถึงสัมมัปปธานแล้ว ย่อมเป็นใหญ่ ย่อมเป็นหัวหน้า
พละที่เหลือก็คล้อยตามวิริยพละนั้น ฉันนั้น
ในเรือนของบุตรเศรษฐีคนที่ ๓ สหายอีก ๔ คนก็นั่งเฉย สหายเจ้าของเรือนตรวจตรา ฉันใด
สติพละมีลักษณะปรากฏ ถึงสติปัฏฐานแล้ว ย่อมเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า
พละที่เหลือก็คล้อยตามสติพละนั้น ฉันนั้น
ในเรือนของบุตรเศรษฐีคนที่ ๔ สหายอีก ๔ คนก็นั่งเฉย สหายเจ้าของเรือนย่อมตรวจตรา ฉันใด
สมาธิพละมีลักษณะไม่ฟุ้งซ่าน ถึงฌานวิโมกข์แล้ว ย่อมเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า
พละที่เหลือก็คล้อยตามสมาธิพละนั้น ฉันนั้น
แต่ในเวลาไปพระราชมณเฑียรของพระราชาภายหลังเขาทั้งหมด
สหายอีก ๔ คนก็นั่งเฉย พระราชาพระองค์เดียวทรงตรวจตราในพระราชมณเฑียร ฉันใด
ปัญญาพละมีลักษณะรู้ทั่ว ถึงอริยสัจ ๔ แล้ว ย่อมเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า
พละที่เหลือก็คล้อยตามปัญญาพละนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพละ ๕ ในสูตรนี้เจือกันอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
อรรถกถาทัฏฐัพพสูตร จบ
หมายเหตุ ๑. ฎีกา. สัปปุริสสังเสวะ, สัทธัมมัสสวนะ, โยนิโสมนสิการ, ธัมมานุธัมมปฏิบัติ.
(ทัฏฐัพพสูตร พลวรรคที่ ๒ ปฐมปัณณาสก์ ปัญจกนิบาต
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก – ฉักกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๖)
< Prev | Next > |
---|