ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta
ทัททัลลวิมาน ว่าด้วยวิมานอันรุ่งเรือง
กลุ่มไตรปิฎกสิกขา
[๓๔] (นางภัททาเทพธิดาผู้พี่สาว ได้ถามนางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาวว่า)
ท่านรุ่งเรืองด้วยวรรณะ ทั้งเป็นผู้เรืองยศ รุ่งโรจน์ล่วงเทวดาชาวดาวดึงส์ทั้งหมดด้วยวรรณะ
ดิฉันไม่เคยเห็นท่าน เพิ่งเห็นเป็นครั้งแรก
ท่านมาจากเทวโลกชั้นไหน จึงมาเรียกดิฉันโดยชื่อเดิมเล่า?
(นางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาวตอบว่า)
พี่ภัททา ฉันชื่อว่าสุภัททา ในภพก่อน ครั้งยังเป็นมนุษย์ ดิฉันได้เป็นน้องสาวของพี่
ทั้งได้เคยเป็นภรรยาร่วมสามีเดียวกับพี่ ดิฉันตายจากมนุษยโลกนั้นพ้นมาแล้ว
ได้มาเกิดเป็นเทพธิดาร่วมกับเหล่าเทพชั้นนิมมานรดี.
(นางภัททาเทพธิดาจึงถามต่อไปอีกว่า)
แน่ะแม่สุภัททา ขอเธอได้บอกการอุบัติของเธอในหมู่เทพชั้นนิมมานรดี
ซึ่งเป็นที่ที่สัตว์ผู้ได้สั่งสมบุญกุศลไว้มาก แล้วจึงได้ไปเกิด.
เธอได้ไปเกิดในที่นั้นเพราะทำความดีอะไรไว้ และใครเป็นผู้สั่งสอนเธอ
เธอเป็นผู้เรืองยศ ถึงยศและถึงความพิเศษไพบูลย์เช่นนี้
เพราะได้ให้ทานและประพฤติวัตรอันดีเช่นไรไว้
แน่ะเทพธิดา ฉันถามเธอแล้ว โปรดตอบฉันด้วยว่า นี่เป็นผลแห่งกรรมอะไร?
(นางสุภัททาเทพธิดาตอบว่า)
เมื่อชาติก่อน ดิฉันมีใจเลื่อมใส ได้ถวายบิณฑบาต ๘ ที่
แด่พระสงฆ์ผู้เป็นทักขิไณยบุคคลด้วยมือทั้ง ๒ ของตน
เพราะบุญนั้น ดิฉันจึงมีวรรณะเช่นนี้ ฯลฯ
และวรรณะของดิฉันจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.
(นางภัททาเทพธิดาได้ถามต่อไปอีกว่า)
พี่มีใจเลื่อมใส ได้อังคาสพระภิกษุทั้งหลายผู้สำรวมอินทรีย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์
ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ ด้วยมือทั้ง ๒ ของตน มากกว่าเธอ.
พี่ให้ทานมากกว่าเธอแล้ว แต่กลับเกิดในเหล่าเทวดาต่ำกว่าเธอ
ส่วนเธอได้ถวายทานเพียงเล็กน้อย แต่ทำไมจึงถึงความพิเศษไพบูลย์เช่นนี้เล่า
แน่ะเทพธิดา ฉันถามเธอแล้ว โปรดตอบฉันด้วยว่า นี่เป็นผลแห่งกรรมอะไร?
(นางสุภัททาเทพธิดาตอบว่า)
เมื่อชาติก่อน ดิฉันได้เห็นพระภิกษุผู้เจริญใจ จึงได้นิมนต์ท่าน
คือพระเรวตเถระรวมกับภิกษุอื่นเป็น ๘ รูปให้ฉันภัตตาหาร.
ท่านพระเรวตเถระนั้นมุ่งจะให้เกิดประโยชน์ เพื่ออนุเคราะห์แก่ดิฉัน
จึงบอกดิฉันว่า จงถวายสงฆ์เถิด ดิฉันได้ทำตามคำของท่าน.
ทักษิณานั้นจึงเป็นสังฆทาน มีผลหาประมาณมิได้
ส่วนทานที่คุณพี่ถวายในบุคคลนั้นมีผลไม่มาก.
(นางภัททาเทพธิดาเมื่อจะรับรองความข้อนั้น จึงกล่าวว่า)
พี่เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า การถวายสังฆทานนี้มีผลมาก
หากว่าพี่ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์อีก จักเป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ
เป็นผู้ปราศจากความตระหนี่ ถวายสังฆทาน และไม่ประมาทเป็นนิตย์.
(เมื่อสนทนากันแล้ว นางสุภัททาเทพธิดาก็กลับไปสู่ทิพยวิมานของตน บนสวรรค์ชั้นนิมมานรดี.
ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับการสนทนานั้น เมื่อนางสุภัททาเทพธิดากลับไปแล้ว
จึงตรัสถามนางเทพธิดาว่า)
แน่ะนางภัททา เทพธิดาผู้มาสนทนากับเธอนั้นเป็นใคร
ต่างมีรัศมีรุ่งโรจน์กว่าเทพเจ้าเทวดาชั้นดาวดึงส์ทั้งหมด?
(นางภัททาเทพธิดาเมื่อจะบรรยายว่าสังฆทานที่เทพธิดาผู้น้องสาวถวายมีผลมาก จึงทูลว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ เทพธิดาผู้นั้น เมื่อชาติก่อน ครั้งเป็นมนุษย์อยู่ในภพมนุษย์
เป็นน้องสาวของหม่อมฉัน และยังเป็นภรรยาร่วมสามีเดียวกัน
เธอสั่งสมบุญคือถวายสังฆทาน จึงได้ไพโรจน์ถึงอย่างนี้.
(องค์อมรินทราธิราชเมื่อจะทรงสรรเสริญสังฆทาน จึงตรัสว่า)
แน่ะนางภัททา น้องสาวของเธอไพโรจน์กว่าเธอ ก็เพราะเหตุในปางก่อน
ได้ถวายทักษิณาทานในสงฆ์ที่ไม่อาจจะประมาณผลได้.
อันที่จริง ฉันได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ครั้งประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ
ถึงผลแห่งไทยธรรมที่ได้จัดแจงถวายว่าในบุญเขตใดจึงจะมีผลมาก
เมื่อมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญให้ทานอยู่ ทำบุญเพื่อประโยชน์ในการเวียนว่ายตายเกิด
จะทำบุญในบุญเขตใด จึงจะมีผลมาก.
พระพุทธเจ้าผู้ทรงทราบกรรมและผลแห่งกรรมด้วยพระองค์เอง ตรัสตอบข้อความนั้นแก่ฉัน
อย่างแจ่มแจ้งถึงผลแห่งไทยธรรมที่จัดแจงถวายในบุญเขตใดที่บุคคลให้แล้วจะมีผลมากนั้นว่า
คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออริยมรรค ๔ จำพวก และท่านผู้ตั้งอยู่ในอริยผล ๔ จำพวก
พระอริยบุคคล ๘ จำพวกนี้ ชื่อว่าพระสงฆ์ เป็นผู้ปฏิบัติตรง ดำรงมั่นอยู่ในปัญญาและศีล
เมื่อมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญให้ทานอยู่ ทำบุญเพื่อประโยชน์ในการเวียนว่ายตายเกิด
ทานที่ถวายในสงฆ์ย่อมมีผลมาก.
ด้วยว่าพระสงฆ์นี้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ไพศาล ประมาณไม่ได้ว่าเท่านี้
เหมือนทะเลยากที่จะคาดคะเนได้ว่ามีน้ำเท่านี้ ๆ
พระสงฆ์เหล่านี้แลเป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นสาวกผู้มีความเพียรในหมู่นรชน
เป็นผู้สร้างแสงสว่างนำเอาพระสัทธรรมมาชี้แจง.
ปวงชนเหล่าใดถวายทานอุทิศพระสงฆ์
ทักษิณาของชนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นทักษิณาที่ถวายดีแล้ว เซ่นสรวงดีแล้ว
บูชาดีแล้ว ทักษิณาที่ตั้งมั่นเป็นไปในสงฆ์มีผลมาก อันผู้รู้แจ้งโลกทรงสรรเสริญแล้ว.
ชนผู้มาหวนระลึกถึงบุญเช่นนี้ได้ เกิดโสมนัส
กำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมทั้งรากเหง้าเสียได้
ท่องเที่ยวไปในโลก ไม่ถูกผู้รู้ติเตียน จึงเข้าถึงสถานที่อันเป็นแดนสวรรค์.
ทัททัลลวิมาน จบ
(ทัททัลลวิมาน ปาริฉัตตกวรรค อิตถีวิมานวัตถุ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๔๘)
< Prev | Next > |
---|