ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta
อภยราชกุมารสูตร ว่าด้วยอภัยราชกุมาร
กลุ่มไตรปิฎกสิกขา
[๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน สถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต
ใกล้กรุงราชคฤห์. ครั้งนั้น พระราชกุมารพระนามว่าอภัย เสด็จเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่
ทรงอภิวาทนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
[๙๒] นิครนถ์นาฏบุตรได้ทูลอภัยราชกุมารว่า ไปเถิด พระราชกุมาร
เชิญพระองค์เสด็จไปยกวาทะแก่พระสมณโคดมเถิด
เมื่อพระองค์ทรงยกวาทะแก่พระสมณโคดมอย่างนี้ กิตติศัพท์อันงามของพระองค์จักระบือไปว่า
อภัยราชกุมารทรงยกวาทะแก่สมณโคดม ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้.
อภัยราชกุมารตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าจะยกวาทะแก่พระสมณโคดม
ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ อย่างไร ?
นิครนถ์นาฏบุตรทูลว่า ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ
แล้วจงทูลถามพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่นบ้างหรือไม่ ? ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ราชกุมาร ตถาคตกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ดังนี้ไซร้
พระองค์พึงทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น
การกระทำของพระองค์จะต่างอะไรจากปุถุชนเล่า
เพราะแม้ปุถุชนก็กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น
ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ราชกุมาร ตถาคตไม่กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ดังนี้ไซร้
พระองค์พึงทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น
เหตุใด พระองค์จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตว่า เทวทัตจักเกิดในอบาย จักเกิดในนรก
ตั้งอยู่สิ้นกัปหนึ่ง เป็นผู้อันใคร ๆ เยียวยาไม่ได้ ดังนี้ เพราะพระวาจาของพระองค์นั้น พระเทวทัตโกรธเสียใจ
พระราชกุมาร พระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้ว
จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย เปรียบเหมือนกระจับเหล็กติดอยู่ในคอของบุรุษ
บุรุษนั้นจะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้ ฉันใด พระราชกุมาร พระสมณโคดมก็ฉันนั้น
ถูกพระองค์ทูลถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย.
อภัยราชกุมารรับคำนิครนถ์นาฏบุตรว่า ได้ ท่านอาจารย์ แล้วเสด็จลุกจากอาสนะ
ทรงอภิวาทนิครนถ์นาฏบุตร ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
ครั้นแล้ว ทรงแหงนดูพระอาทิตย์ ทรงพระดำริว่า วันนี้มิใช่กาลจะยกวาทะแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า
วันพรุ่งนี้เถิด เราจักยกวาทะแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าในนิเวศน์ของเรา
ดังนี้ แล้วจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระองค์เป็นที่ ๔ จงทรงรับภัตตาหารของหม่อมฉันเพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับด้วยดุษณีภาพ. ลำดับนั้น อภัยราชกุมารทรงทราบว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จจากไป. ครั้งนั้น พอล่วงราตรีนั้นไป
เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของอภัยราชกุมาร ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้
ลำดับนั้น อภัยราชกุมารทรงอังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยขาทนียะโภชนียะอันประณีต
ให้อิ่มหนำเพียงพอด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จ
ทรงละพระหัตถ์จากบาตรแล้ว อภัยราชกุมารทรงถืออาสนะต่ำอันหนึ่ง ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
วาจาที่ไม่เป็นที่รัก
[๙๓] อภัยราชกุมารประทับ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นบ้างหรือไม่ ?
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ราชกุมาร ในปัญหาข้อนี้จะวิสัชนาโดยส่วนเดียวมิได้.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ได้ฉิบหายแล้ว.
ราชกุมาร เหตุไฉนพระองค์จึงตรัสอย่างนี้เล่า ?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ได้ฉิบหายแล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส หม่อมฉันเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. นิครนถ์นาฏบุตรได้บอกว่า ไปเถิด พระราชกุมาร
เชิญพระองค์เสด็จไปยกวาทะแก่พระสมณโคดมเถิด เมื่อพระองค์ยกวาทะแก่พระสมณโคดมอย่างนี้
กิตติศัพท์อันงามของพระองค์จักระบือไปว่า อภัยราชกุมารทรงยกวาทะแก่พระสมณโคดม
ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้. เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้ หม่อมฉันได้ถามว่า
ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าจะยกวาทะแก่พระสมณโคดมผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ อย่างไร ?
นิครนถ์นาฎบุตรตอบว่า ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จ
เข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ แล้วจงทูลถามอย่างนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่นบ้างหรือไม่ ?
ถ้าพระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ราชกุมาร ตถาคตกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ดังนี้ไซร้
พระองค์พึงทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น
การกระทำของพระองค์จะต่างอะไรจากปุถุชนเล่า เพราะแม้ปุถุชนก็กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ถ้าพระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ราชกุมาร ตถาคตไม่กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ดังนี้ไซร้
พระองค์พึงทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น
เหตุใดพระองค์จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตว่า เทวทัตจักเกิดในอบาย จักเกิดในนรก ตั้งอยู่สิ้นกัปหนึ่ง
เป็นผู้อันใคร ๆ เยียวยาไม่ได้ ดังนี้ เพราะพระวาจาของพระองค์นั้น พระเทวทัตโกรธเสียใจ
พระราชกุมาร พระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจกลืนเข้า
ไม่อาจคายออกได้เลย เปรียบเหมือนกระจับเหล็กติดอยู่ในคอของบุรุษ บุรุษนั้นจะไม่อาจกลืนเข้า
ไม่อาจคายออกได้ ฉันใด พระราชกุมาร พระสมณโคดมก็ฉันนั้น ถูกพระองค์ทูลถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้ว
จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย.
วาจาที่ประกอบด้วยประโยชน์
[๙๔] สมัยนั้นแล มีกุมารน้อยนอนหงายอยู่บนพระเพลาของอภัยราชกุมาร.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะอภัยราชกุมารว่า ราชกุมาร ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ถ้ากุมารนี้อาศัยความเผลอของพระองค์หรือของหญิงพี่เลี้ยง พึงนำไม้หรือก้อนกรวดมายัดใส่ในปาก
พระองค์จะทำอย่างไร ?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะนำออกเสีย ถ้าหม่อมฉันไม่อาจจะนำออกได้แต่แรก
หม่อมฉันก็จะเอามือซ้ายประคองศีรษะ แล้วงอนิ้วมือขวาควักไม้หรือก้อนกรวดแม้จะมีเลือดออกเสีย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะหม่อมฉันมีความเอ็นดูในกุมาร.
ราชกุมาร ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และวาจาไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง วาจาที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์
แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น
ตถาคตย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น.
ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้และประกอบด้วยประโยชน์
และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย.
พุทธปฏิภาณ
[๙๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กษัตริย์ผู้บัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้บัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้บัณฑิตก็ดี
สมณะผู้บัณฑิตก็ดี ผูกปัญหาแล้วเข้ามาเฝ้าทูลถามพระตถาคต
การพยากรณ์ปัญหาของบัณฑิตเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรึกด้วยพระหฤทัยไว้ก่อนว่า
บัณฑิตทั้งหลายจักเข้ามาเฝ้าเราแล้วถามอย่างนี้ เราอันบัณฑิตเหล่านั้นถามอย่างนี้แล้ว
จักพยากรณ์อย่างนี้ หรือว่าพยากรณ์นั้นปรากฏแจ่มแจ้งกะพระตถาคตโดยทันที ?
ราชกุมาร ถ้าอย่างนั้น ในข้อนี้ อาตมภาพจักกลับถามพระองค์บ้าง ข้อนี้พระองค์เห็นควรอย่างใด
พระองค์พึงพยากรณ์อย่างนั้น ราชกุมาร พระองค์จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
พระองค์เป็นผู้ฉลาดในส่วนประกอบน้อยใหญ่ของรถมิใช่หรือ ?
อย่างนั้น พระเจ้าข้า หม่อมฉันเป็นผู้ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถ.
ราชกุมาร พระองค์จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ชนทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระองค์แล้ว
พึงทูลถามอย่างนี้ว่า ส่วนประกอบน้อยใหญ่ของรถอันนี้ชื่ออะไร
การพยากรณ์ปัญหาของชนเหล่านั้น พระองค์ตรึกด้วยใจไว้ก่อนหรือไม่ว่า
ชนทั้งหลายเข้ามาหาเราแล้ว จักถามอย่างนี้ เมื่อเราถูกชนเหล่านั้นถามอย่างนี้ จักพยากรณ์อย่างนี้
หรือว่าการพยากรณ์นั้นปรากฏแจ่มแจ้งกะพระองค์โดยทันที ?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะหม่อมฉันเป็นทหารรถ รู้จักดี ฉลาดในส่วนประกอบน้อยใหญ่ของรถ
ส่วนประกอบน้อยใหญ่ของรถทั้งหมดหม่อมฉันทราบดี
ฉะนั้น การพยากรณ์ปัญหานั้นปรากฏแจ่มแจ้งกะหม่อมฉันโดยทันทีทีเดียว.
ฉันนั้นเหมือนกันแล ราชกุมาร กษัตริย์ผู้บัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้บัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้บัณฑิตก็ดี
สมณะผู้บัณฑิตก็ดี ผูกปัญหาแล้วจักเข้ามาถามตถาคต การพยากรณ์ปัญหานั้น
ย่อมแจ่มแจ้งกะตถาคตโดยทันที ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่ธรรมธาตุนั้นตถาคตแทงตลอดดีแล้ว
การพยากรณ์ปัญหานั้น จึงแจ่มแจ้งกะตถาคตโดยทันที.
[๙๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว อภัยราชกุมารได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง
หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้
ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำหม่อมฉันว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล.
อภัยราชกุมารสูตรที่ ๘ จบ
(อภยราชกุมารสูตร คหปติวรรค
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภาค ๒ เล่ม ๑
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๐)
< Prev | Next > |
---|