ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta
สิงคาลกสูตร ว่าด้วยสิงคาลกมาณพ
กลุ่มไตรปิฎกสิกขา
[๑๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน
อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต ใกล้กรุงราชคฤห์
สมัยนั้นสิงคาลกบุตรคหบดีลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าเปียก มีผมเปียก
ประคองอัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง
ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบน
[๑๗๓] ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครองผ้า
ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ ได้ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกบุตรคหบดี
ซึ่งลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลี
นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง
ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบน
ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว ได้ตรัสถามว่า “บุตรคหบดี ท่านลุกแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์
มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา
ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบน เพราะเหตุอะไร?”
สิงคาลกบุตรคหบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บิดาของข้าพระองค์
เมื่อจะทำกาลกิริยาได้กล่าวไว้อย่างนี้ว่า นี่แน่ะลูก เจ้าพึงนอบน้อมทิศทั้งหลาย
ข้าพระองค์สักการะ เคารพ นับถือบูชาคำของบิดา จึงลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์
มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา
ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่”
“คหบดีบุตร ในวินัยของพระอริยเจ้า เขาไม่นอบน้อมทิศทั้ง ๖ กันอย่างนี้”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวินัยของพระอริยเจ้า ท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันอย่างไร?
ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์
ตามที่ในวินัยของพระอริยเจ้า ท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันนั้นเถิด พระเจ้าข้า”
อบายมุข ๔
[๑๗๔] คหบดีบุตร ถ้าอย่างนั้นท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจักกล่าว.
สิงคาลกคหบดีบุตร กราบทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า คหบดีบุตร อริยสาวกละกรรมกิเลส ๔ ได้แล้ว
ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ และไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖
อริยสาวกนั้น เป็นผู้ปราศจากกรรมอันลามก ๑๔ อย่างนี้แล้ว
ย่อมเป็นผู้ปกปิดทิศ ๖๑ ย่อมปฏิบัติเพื่อชนะโลกทั้งสอง และเป็นอันอริยสาวกนั้นปรารภแล้ว
ทั้งโลกนี้และโลกหน้า. เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก อริยสาวกนั้นย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์.
กรรมกิเลส ๔ ที่อริยสาวกละได้แล้ว เป็นไฉน? คหบดีบุตร กรรมกิเลส คือ ปาณาติบาต ๑
อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ มุสาวาท ๑ กรรมกิเลส ๔ เหล่านี้ ที่อริยสาวกนั้นละได้แล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
[๑๗๕] ปาณาติบาต อทินนาทาน มุสาวาท และการละเมิดภรรยาผู้อื่น
เรียกว่าเป็นกรรมกิเลส บัณฑิตทั้งหลายไม่สรรเสริญ
[๑๗๖] อริยสาวกไม่กระทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ เป็นไฉน?
ปุถุชนถึงฉันทาคติย่อมทำกรรมลามก ถึงโทสาคติย่อมทำกรรมลามก
ถึงโมหาคติย่อมทำกรรมลามก ถึงภยาคติย่อมทำกรรมลามก.
คหบดีบุตร ส่วนอริยสาวกย่อมไม่ถึงฉันทาติ ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถึงโมหาคติ ไม่ถึงภยาคติ.
อริยสาวกจึงไม่ทำกรรมอันลามกโดยฐานะ ๔ เหล่านี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๑๗๗] ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง
ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม เหมือนดวงจันทร์ข้างแรม
ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง
ยศของผู้นั้นย่อมเจริญ เหมือนดวงจันทร์ข้างขึ้น
อบายมุข ๖
[๑๗๘] อริยสาวกไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะทั้งหลาย เป็นไฉน?
คหบดีบุตร การเสพน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะทั้งหลายประการ ๑
การเที่ยวไปในตรอกต่าง ๆ ในกลางคืน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะทั้งหลายประการ ๑
การเที่ยวดูมหรสพ เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะทั้งหลายประการ ๑
การเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะทั้งหลายประการ ๑
การคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะทั้งหลายประการ ๑
ความเกียจคร้าน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะทั้งหลายประการ ๑
[๑๗๙] คหบดีบุตร โทษในการเสพน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
มี ๖ ประการ คือ ความเสื่อมทรัพย์ อันผู้เสพพึงเห็นเอง ๑ ก่อการทะเลาะวิวาท ๑
เป็นบ่อเกิดแห่งโรค ๑ เป็นเหตุเสียชื่อเสียง ๑ เป็นเหตุไม่รู้จักอาย ๑ เป็นเหตุทอนกำลังปัญญา ๑.
คหบดีบุตร เหล่านี้แลเป็นโทษ ๖ ประการ ในการเสพน้ำเมาคือสุราและเมรัย
อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
[๑๘๐] คหบดีบุตร โทษในการเที่ยวไปในตรอกต่าง ๆ ในเวลากลางคืนมี ๖ ประการ คือ
ชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาตัว ๑ ชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาบุตรภรรยา ๑
ชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาทรัพย์สมบัติ ๑ เป็นที่ระแวงของคนอื่น ๑
มักถูกใส่ร้ายในเรื่องไม่จริง ๑ ทำให้เกิดความลำบากมาก ๑.
คหบดีบุตร เหล่านี้แลเป็นโทษ ๖ ประการในการเที่ยวไปในตรอกต่าง ๆ ในเวลากลางคืน
[๑๘๑] คหบดีบุตร โทษในการเที่ยวดูมหรสพมี ๖ ประการ คือ
รำที่ไหนไปที่นั้น ๑ ขับร้องที่ไหนไปที่นั้น ๑ ประโคมที่ไหนไปที่นั้น ๑
เสภาที่ไหนไปที่นั้น ๑ เพลงที่ไหนไปที่นั้น ๑ เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั้น ๑.
คหบดีบุตร เหล่านี้แลเป็นโทษ ๖ ประการในการเที่ยวดูมหรสพ
[๑๘๒] คหบดีบุตร โทษในการเล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
มี ๖ ประการ คือ ผู้ชนะย่อมก่อเวร ๑ ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป ๑
เสียทรัพย์ในปัจจุบัน ๑ ถ้อยคำของคนเล่นการพนันซึ่งไปพูดในที่ประชุม ฟังไม่ขึ้น ๑
ถูกมิตรอำมาตย์หมิ่นประมาท ๑ ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย
เพราะเห็นว่าชายนักเลงเล่นการพนันไม่สามารถจะเลี้ยงภรรยาได้ ๑.
คหบดีบุตร เหล่านี้แลเป็นโทษ ๖ ประการ ในการเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
[๑๘๓] คหบดีบุตร โทษในการคบคนชั่วเป็นมิตรมี ๖ ประการ คือ
นำให้เป็นนักเลงการพนัน ๑ นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้ ๑ นำให้เป็นนักเลงเหล้า ๑
นำให้เป็นคนลวงผู้อื่นด้วยของปลอม ๑ นำให้เป็นคนโกงเขาซึ่งหน้า ๑ นำให้เป็นคนหัวไม้ ๑.
คหบดีบุตร เหล่านี้แลเป็นโทษ ๖ ประการในการคบคนชั่วเป็นมิตร
[๑๘๔] คหบดีบุตร โทษในความเกียจคร้านมี ๖ ประการ คือ
(คนเกียจคร้าน) มักอ้างว่าหนาวนักแล้วไม่ทำการงาน ๑
มักอ้างว่าร้อนนักแล้วไม่ทำการงาน ๑ มักอ้างว่าเย็นนักแล้วไม่ทำการงาน ๑
มักอ้างว่ายังเช้านักแล้วไม่ทำการงาน ๑ มักอ้างว่าหิวนักแล้วไม่ทำการงาน ๑
มักอ้างว่ากระหายนักแล้วไม่ทำการงาน ๑
เมื่อเขามากไปด้วยการอ้างเลศผัดเพี้ยนการงานอยู่อย่างนี้ โภคะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิด
ที่เกิดขึ้นแล้วก็ถึงความเสื่อมสิ้นไป. คหบดีบุตร เหล่านี้แลเป็นโทษ ๖ ประการในความเกียจคร้าน
พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๑๘๕] เพื่อนในโรงสุราก็มี เพื่อนสักแต่เรียกว่าเพื่อน ๆ ก็มี
ในเมื่อความต้องการเกิดขึ้น ผู้ใดเป็นเพื่อนได้ ผู้นั้นจัดว่าเป็นเพื่อนแท้
เหตุ ๖ ประการเหล่านี้คือ การนอนตื่นสาย ๑ การเสพภรรยาผู้อื่น ๑ การผูกเวร ๑
ความเป็นผู้ทำแต่สิ่งหาประโยชน์มิได้ ๑ มิตรชั่ว ๑ ความเป็นผู้ตระหนี่เหนียวแน่น ๑
ย่อมทำลายบุรุษจากประโยชน์สุขที่จะพึงได้ พึงถึง
คนมีมิตรชั่ว มีมารยาทและความประพฤติชั่ว
ย่อมเสื่อมจากโลกทั้งสองคือ จากโลกนี้และจากโลกหน้า
เหตุ ๖ ประการ คือ การพนันและหญิง ๑ สุรา ๑ ฟ้อนรำขับร้อง ๑
นอนหลับในกลางวันเที่ยวเตร่กลางคืน ๑ การมีมิตรชั่ว ๑ ความตระหนี่เหนียวแน่น ๑
เหล่านี้ย่อมทำลายบุรุษจากประโยชน์ที่จะพึงได้ พึงถึง
ผู้ใดเล่นการพนัน ดื่มสุรา เสพหญิงภรรยาที่รักเสมอด้วยชีวิตของผู้อื่น
คบแต่คนต่ำช้า และไม่คบหาคนที่มีความเจริญ ผู้นั้นย่อมเสื่อม ดุจดวงจันทร์ในข้างแรม.
ผู้ใดดื่มสุรา ไร้ทรัพย์ หาการงานทำเลี้ยงชีวิตมิได้ เป็นคนขี้เมา
ปราศจากสิ่งเป็นประโยชน์ ผู้นั้นจักจมลงสู่หนี้ เหมือนก้อนหินจมน้ำฉะนั้น
จักทำให้เกิดความมัวหมองแก่ตนทันที
คนที่ปกตินอนหลับในกลางวัน เกลียดการลุกขึ้นในกลางคืน
เป็นนักเลงขี้เมาเป็นนิตย์ ไม่อาจครอบครองเรือนให้ดีได้
ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลยคนที่ละทิ้งการงาน ด้วยอ้างว่าหนาวนัก
ร้อนนัก เวลานี้เย็นนักเป็นต้น
ส่วนผู้ใดไม่ใส่ใจความหนาว ความร้อน ยิ่งไปกว่าหญ้า
ทำหน้าที่ของบุรุษอยู่ ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากความสุข
มิตรเทียม
[๑๘๖] คหบดีบุตร คน ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ คนปอกลอก ๑ คนดีแต่พูด ๑
คนหัวประจบ ๑ คนชักชวนในทางฉิบหาย ๑ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร
[๑๘๗] คหบดีบุตร คนปอกลอก ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตรเป็นแต่คนเทียมมิตร
โดยสถาน๒ ๔ คือ เป็นคนคิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ๑ เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก ๑
ไม่รับทำกิจของเพื่อนในคราวมีภัย ๑ คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว ๑.
คหบดีบุตร คนปอกลอกท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล
[๑๘๘] คหบดีบุตร คนดีแต่พูด ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร
โดยสถาน ๔ คือ เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย ๑ อ้างเอาของที่ยังไม่มาถึงมาปราศรัย ๑
สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้ ๑ เมื่อกิจเกิดขึ้นแสดงความขัดข้อง (ออกปากพึ่งมิได้) ๑.
คหบดีบุตร คนดีแต่พูด ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล
[๑๘๙] คหบดีบุตร คนหัวประจบ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร
โดยสถาน ๔ คือ ตามใจเพื่อนให้ทำความชั่ว (จะทำชั่วก็คล้อยตาม) ๑
ตามใจเพื่อนให้ทำความดี (จะทำดีก็คล้อยตาม) ๑ ต่อหน้าสรรเสริญ ๑ ลับหลังนินทา ๑.
คหบดีบุตร คนหัวประจบ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล
[๑๙๐] คหบดีบุตร คนชักชวนในทางฉิบหาย ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร
โดยสถาน ๔ คือ ชักชวนให้ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑
ชักชวนให้เที่ยวตามตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืน ๑ ชักชวนให้ดูการมหรสพ ๑
ชักชวนให้เล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑. คหบดีบุตร คนชักชวนในทางฉิบหาย
ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล
พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๑๙๑] บัณฑิตรู้ว่ามิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรปอกลอก ๑ มิตรดีแต่พูด ๑
มิตรหัวประจบ ๑ มิตรชักชวนในทางฉิบหาย ๑ ไม่ใช่มิตรแท้ พึงเว้นเสียให้ห่างไกล
เหมือนคนเดินทางเว้นทางที่มีภัยเฉพาะหน้าฉะนั้น
มิตรแท้
[๑๙๒] คหบดีบุตร มิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑
มิตรแนะประโยชน์ ๑ มิตรมีความรักใคร่ ๑ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรมีใจดี (มิตรแท้)
[๑๙๓] คหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ คือ
ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑
เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้ ๑ เมื่อกิจที่จำต้องทำเกิดขึ้น เพิ่มทรัพย์ให้สองเท่า ๑.
คหบดีบุตร มิตรมีอุปการะท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล
[๑๙๔] คหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ คือ
บอกความลับแก่เพื่อน ๑ ปิดความลับของเพื่อน ๑ ไม่ละทิ้งในยามอันตราย ๑
แม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ ๑. คหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์
ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล
[๑๙๕] คหบดีบุตร มิตรแนะประโยชน์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ คือ
ห้ามจากความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑ บอกทางสวรรค์ให้ ๑.
คหบดีบุตร มิตรแนะประโยชน์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล
[๑๙๖] คหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ ท่านพึงทราบว่า เป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ คือ
ไม่พอใจความเสื่อมของเพื่อน ๑ พอใจความเจริญของเพื่อน ๑
ห้ามคนที่กล่าวโทษเพื่อน ๑ สรรเสริญคนที่สรรเสริญเพื่อน ๑.
คหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล
พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตแล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๑๙๗] บัณฑิตรู้ว่ามิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑
มิตรแนะประโยชน์ ๑ มิตรมีความรักใคร่ ๑ เป็นมิตรแท้ฉะนี้แล้ว
พึงเข้าไปคบหาโดยเคารพ เหมือนมารดาคบหาบุตรเกิดแต่อกฉะนั้น
ผู้สมบูรณ์ด้วยศีลและฉลาด ย่อมส่องแสงสว่างโชติช่วงดังไฟ
เมื่อบุคคลสะสมโภคสมบัติอยู่เหมือนแมลงผึ้งสร้างรัง
โภคสมบัติของเขาย่อมถึงความเพิ่มพูนดุจจอมปลวกอันตัวปลวกก่อขึ้นฉะนั้น
คฤหัสถ์ในตระกูลผู้สามารถ ครั้นสะสมโภคสมบัติได้อย่างนี้แล้ว
พึงแบ่งโภคสมบัติออกเป็น ๔ ส่วน เขาย่อมผูกมิตรไว้ได้
คือพึงใช้สอยโภคทรัพย์ส่วนหนึ่ง ใช้ประกอบการงาน ๒ ส่วน
เก็บส่วนที่ ๔ ไว้ด้วยหมายใจว่าจะเก็บไว้ใช้ในยามอันตราย
การปกปิดทิศ ๖
[๑๙๘] คหบดีบุตร ก็อริยสาวกเป็นผู้ปกปิดทิศทั้ง ๖ อย่างไร?
ท่านพึงทราบทิศ ๖ เหล่านี้คือ พึงทราบว่ามารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า
อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา บุตรและภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง มิตร อำมาตย์เป็นทิศเบื้องซ้าย
ทาสและกรรมกรเป็นทิศเบื้องล่าง สมณพราหมณ์ เป็นทิศเบื้องบน
[๑๙๙] คหบดีบุตร มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า อันบุตรธิดาพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ
ด้วยตั้งใจว่า ท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ ๑ จักรับทำกิจของท่าน ๑
จักดำรงวงศ์สกุล ๑ จักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก ๑
เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน ๑
คหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า อันบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ คือ ห้ามจากความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑
ให้ศึกษาศิลปวิทยา ๑ หาภรรยาที่สมควรให้ ๑ มอบทรัพย์ให้ในสมัย ๑
คหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า อันบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องหน้านั้น ชื่อว่า
อันบุตรปกปิด ให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัย ด้วยประการฉะนี้
[๒๐๐] คหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา อันศิษย์พึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ
ด้วยลุกขึ้นยืนรับ ๑ ด้วยเข้าไปยืนคอยต้อนรับ ๑ ด้วยการเชื่อฟัง ๑
ด้วยการปรนนิบัติ ๑ ด้วยการเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ ๑
คหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา อันศิษย์บำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕ คือ แนะนำดี ๑ ให้เรียนดี ๑
บอกศิษย์ด้วยดีในศิลปวิทยาทั้งหมด ๑ ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง ๑
ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย ๑๓
คหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา อันศิษย์บำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องขวานั้น ชื่อว่า
อันศิษย์ปกปิด ให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัย ด้วยประการฉะนี้
[๒๐๑] คหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง อันสามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ
ด้วยยกย่องว่าเป็นภรรยา ๑ ด้วยไม่ดูหมิ่น ๑ ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ ๑
ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้ ๑ ด้วยให้เครื่องแต่งตัว ๑
คหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง อันสามีบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ คือ จัดการงานดี ๑ สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดี ๑
ไม่ประพฤตินอกใจสามี ๑ รักษาทรัพย์ที่สามีหามาให้ ๑ ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง ๑
คหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังอันสามีบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องหลังนั้น ชื่อว่า
อันสามีปกปิด ให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัย ด้วยประการฉะนี้
[๒๐๒] คหบดีบุตร มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย อันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ
ด้วยการให้ปัน ๑ ด้วยเจรจาถ้อยคำเป็นที่รัก ๑ ด้วยประพฤติประโยชน์ ๑
ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ ๑ ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง ๑
คหบดีบุตร มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย อันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕ คือ รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว ๑
รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว ๑ เมื่อมิตรมีภัย เอาเป็นที่พึ่งพำนักได้ ๑
ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ ๑ นับถือตลอดถึงวงศ์ตระกูลของมิตร ๑
คหบดีบุตร มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้ายอันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้น ชื่อว่า
อันกุลบุตรปกปิด ให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัย ด้วยประการฉะนี้
[๒๐๓] คหบดีบุตร ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ อันนายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ
ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ๑ ด้วยให้อาหารและรางวัล ๑
ด้วยรักษาในคราวเจ็บไข้ ๑ ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้ ๑ ด้วยปล่อยให้ในสมัย ๑๔
คหบดีบุตร ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ อันนายบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕ คือ ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย ๑
เลิกการงานทีหลังนาย ๑ ถือเอาแต่ของที่นายให้ ๑ ทำการงานให้ดีขึ้น ๑
นำคุณของนายไปสรรเสริญ ๑
คหบดีบุตร ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ อันนายบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องต่ำนั้น ชื่อว่า
อันนายปกปิด ให้เกษมสำราญ ไม่ให้มีภัย ด้วยประการฉะนี้
[๒๐๔] คหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ
ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑ ด้วยวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑
ด้วยมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑ ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู ๑ ด้วยถวายอามิสทาน ๑
คหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๖ เหล่านี้ คือ ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑
อนุเคราะห์ด้วยใจงาม ๑ ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑ ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ๑
บอกทางสวรรค์ให้ ๑
คหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๖ เหล่านี้ ทิศเบื้องบนนั้น ชื่อว่า
อันกุลบุตรปกปิด ให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัย ด้วยประการฉะนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้า พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๒๐๕] มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา
บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง มิตรอำมาตย์เป็นทิศเบื้องซ้าย
ทาสกรรมกรเป็นทิศเบื้องต่ำ สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน
คฤหัสถ์ในตระกูล ผู้สามารถพึงนอบน้อมทิศเหล่านี้
บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นคนละเอียด และมีไหวพริบ
มีความประพฤติเจียมตน ไม่ดื้อกระด้าง ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ
คนหมั่นไม่เกียจคร้าน ย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย
คนมีความประพฤติไม่ขาดสาย มีปัญญา ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ
คนผู้สงเคราะห์ แสวงหามิตรที่ดี รู้เท่าถ้อยคำที่เขากล่าว
ปราศจากตระหนี่ เป็นผู้แนะนำ ชี้แจงตามแนะนำ ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ
การให้ ๑ เจรจาไพเราะ ๑ การประพฤติให้เป็นประโยชน์ ๑
ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายในคนนั้น ๆ ตามควร ๑
ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจในโลกเหล่านี้แล เป็นเหมือนเพลาทำให้รถแล่นไปได้
หากธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้ไม่พึงมีไซร้ มารดาบิดาไม่พึงได้ความนับถือ
หรือความบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร
เพราะบัณฑิตทั้งหลายพิจารณาเห็นธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้โดยชอบ
บัณฑิตเหล่านั้นจึงถึงความเป็นใหญ่ และเป็นผู้อันหมู่ชนสรรเสริญทั่วหน้า
[๒๐๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว
สิงคาลกคหบดีบุตร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง
หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปฉันใด
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์
ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก
ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฉะนี้แล.
สิงคาลกสูตรที่ ๘ จบ
หมายเหตุ
๑. คำว่า “ปกปิด” ในที่นี้ หมายถึงปิดช่องว่างไม่ให้เกิดขึ้นระหว่างตนกับคนอื่น คือ แต่ละทิศทำหน้าที่ให้บริบูรณ์
๒. คำว่า “สถาน” ในเรื่องมิตรนี้ หมายถึง เหตุ หรือลักษณะที่แสดงออก เช่น มิตรเทียม มีลักษณะ ๔ อย่าง ตามที่แจกแจงไว้
๓. “ป้องกันในทิศ” ในข้อนี้ โดยใจความคือ ช่วยให้เกิดความปลอดภัยในที่ทุกแห่ง ในอรรถกถายังให้ความหมายไว้อีกหลายนัย
๔. คำว่า “ปล่อยให้ในสมัย” คือ ให้หยุดงานใน ๒ โอกาส คือ หยุดตามปกติ และคราวมีงานนักขัตฤกษ์ เพื่อไม่ให้ทำงานหนักเกินไป ในวันนักขัตฤกษ์ อาจให้อาหารและเครื่องประดับด้วย
(สิงคาลกสูตร จากพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค ๒ เล่ม ๓
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๑๖)
< Prev | Next > |
---|