ดับเพลิง Calm Down
นิทานโทสะ ตอน โน้ตบุ๊ค
โดย ชลนิล
คำนำ
มีใครเคยนับบ้างมั้ยครับ
วัน ๆ หนึ่งเราเกิดโทสะกันกี่ครั้ง?
ผมเชื่อว่าเยอะนะ (ดูตัวเองเป็นตัวอย่าง)
เคยสังเกตอีกมั้ยเอ่ย...
เรามีเรื่องให้โกรธได้กับแทบทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว
แม้กระทั่งโกรธตัวเอง
อืมม์...ถ้ายังไม่เชื่อก็อย่าเพิ่งเถียงดิ (เดี๋ยวโกรธนะ)
ลองมาอ่านเรื่องราวเหล่านี้ดูสิ
นี่คือโทสะในชีวิตประจำวัน ประจำเดือน และประจำใจ (ติดนิสัย)
เขียนแบบเพลิน ๆ อยากให้อ่านกันเพลิน ๆ
คิดเสียว่าเป็นนิทานสนุก ๆ อ่านก่อนจะโกรธใคร
ทั้งหมดเป็นเรื่องราวใกล้ตัว ที่ผมไม่กล้ายืนยันว่าเป็นเรื่องจริง
บอกว่าเป็นนิทานอย่างนี้ดีแล้ว...
ไม่งั้นจะโดนเขาโกรธเอา...
-----๐๐๐----------๐๐๐----------๐๐๐----------๐๐๐----------๐๐๐----------๐๐๐----------๐๐๐----------๐๐๐-----
รูปภาพประกอบโดย เซมเบ้
ตอน โน้ตบุ๊ค
สมัยผมหัดเขียนนิยาย เรื่องสั้น จะใช้วิธีเขียนใส่สมุด เศษกระดาษเอาไว้ ให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ อ่านกัน หากจะเขียนเรื่องสั้น
เพื่อส่งไปให้นิตยสารพิจารณา ก็จะพยายามเขียนต้นฉบับด้วยลายมือตัวบรรจง (ที่จริงแค่พออ่านออกเท่านั้นแหละ) ใส่
กระดาษฟุลสแกป (ซึ่งเด็กสมัยนี้คงไม่รู้จักกันแล้ว) แล้วส่งไปทางไปรษณีย์
จากนั้นค่อยพัฒนาการทำต้นฉบับด้วยการเขียนเรื่องสั้นใส่กระดาษแผ่นร่างก่อน จากนั้นค่อยพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีด
ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานในการทำต้นฉบับนิยายส่งในเวลาต่อมา
ผมใช้พิมพ์ดีดเป็นเครื่องมือในการทำต้นฉบับงานเขียนมานับสิบปี จนคอมพิวเตอร์เริ่มแพร่หลาย ใช้งานง่าย หลายคน
แนะนำให้ผมหันมาเขียนต้นฉบับลงในคอมพ์เพื่อความสะดวกทั้งด้านการจัดพิมพ์ แก้ไข
ได้ยินอย่างนั้นผมก็จะหัวเราะแหะแหะ ปฏิเสธไปด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือใช้คอมพ์ไม่เป็น และรู้สึกขี้เกียจที่จะเรียนรู้นวัต-
กรรมใหม่ ๆ (แก่แล้ว)
จนกระทั่งได้มาเขียนคอลัมน์แง่คิดจากหนัง ส่งนิตยสารออนไลน์ “ธรรมะใกล้ตัว” จำเป็นต้องพิมพ์ต้นฉบับลงคอมพ์
แล้วส่งผ่านทางเว็บไซต์ ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้คอมพ์โดยปริยาย
พอใช้เป็นแล้วก็เห็นด้วยกับที่ใคร ๆ บอกว่ามันง่าย สะดวกสบาย แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังไม่คิดซื้อคอมพิวเตอร์มาใช้
ส่วนตัวอยู่ดี
ผมเขียนนิยายเรื่องหนึ่งค้างมาสองปีไม่มีวี่แววจะจบ รู้สึกคาใจ จนต้องหาอุบายกระตุ้นตัวเองให้กระตือรือร้นขึ้น จึง
ตัดสินใจซื้อโน้ตบุ๊คมาพิมพ์นิยายเรื่องนี้ แล้วบอกกับตัวเองว่า ถ้าไม่รีบเขียนให้จบ ก็จะไม่ได้เงินค่าโน้ตบุ๊คคืนนะ...
นิยายเรื่องก่อน ๆ ผมจะเขียนใส่สมุดจนจบก่อนค่อยมาแก้ไข พิมพ์ต้นฉบับทีหลัง พอมาถึงเรื่องนี้ ผมคิดว่าขืนรอให้
เขียนจบก่อน ก็คงมีแววจะไม่ได้ใช้โน้ตบุ๊คเครื่องนี้แน่ ๆ
ผมเลยพิมพ์นิยายลงโน้ตบุ๊คเท่าที่มีต้นฉบับเขียนไปก่อน จากนั้นค่อยเขียนไป พิมพ์ไปเป็นระยะ ทำให้งานคืบหน้า
มองเห็นทางจบเรื่องได้สักที
ด้วยความที่เคยใช้แต่คอมพ์ตั้งโต๊ะ ไม่เคยใช้โน้ตบุ๊คมาก่อน พอนำมาใช้งานจึงเกิดปัญหาบางอย่างชวนให้โมโห
อารมณ์เสียบ่อย ๆ
นั่งพิมพ์งานไปก็ปรากฏข้อความ...
“ไมโครซอฟต์ออฟฟิศเวิร์ดตรวจเจอปัญหา และต้องการที่จะปิดการทำงาน ขอโทษด้วยสำหรับความไม่สะดวก...
ข้อมูลที่คุณกำลังทำงานอาจสูญหายได้ ไมโครออฟฟิศสามารถพยายามทำการกู้...”
แล้วก็ให้เลือกกด
“ส่งรายงานภายหลัง” หรือ “อย่าส่งไป”
ขนาดเขียนเป็นภาษาไทยผมยังอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ สุ่มกดปิดบ้าง สุ่มเลือกบ้าง ปรากฏว่าข้อมูลที่พิมพ์ไว้ แล้วยัง
ไม่ได้เซฟไว้ก็หายไปหมด
แรก ๆ ก็เหวอ ทำอะไรไม่ถูก โทรถามเพื่อนที่เก่งเรื่องคอมพ์ เขาก็ถามว่าเราเผลอไปกดปุ่มอะไรเข้าหรือเปล่า เราก็
แน่ใจว่าไม่ได้กดอะไรผิด
สุดท้ายก็ต้องพิมพ์แบบระมัดระวัง คอยเซฟข้อมูลเป็นระยะ ถึงอย่างนั้นเจ้าข้อความมหาภัยนั้นก็ยังโผล่มาเรื่อย ๆ บางที
ก็เป็นภาษาอังกฤษ (ผมแปลไม่ออก) แต่ทำให้ข้อมูลหายเหมือนกัน
เจอบ่อย ๆ เข้าก็โมโห ทนไม่ไหว ให้รุ่นพี่ที่เป็นช่างเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาเช็คดูว่ามันเป็นอะไรกันแน่
พี่เขามาถึงก็ให้ผมพิมพ์งานไป ข้อความนั้นขึ้นเมื่อไหร่เขาถึงจะรู้ได้ว่าเกิดจากอะไร...แต่เหมือนเจ้าคอมพ์เครื่องนี้มันจะ
กลัวช่างฯ ผมนั่งพิมพ์งานอยู่ตั้งนานมันก็ไม่โผล่ข้อความนั้นมาสักที จนผมยอมแพ้ ไม่ต้องทำอะไรกับมันแล้ว ขยันเซฟ
ข้อมูลบ่อย ๆ ดีกว่า ไม่เสียอารมณ์ดี
การพิมพ์ต้นฉบับนิยายโดยคอยเตือนตนเองบ่อย ๆ ให้เซฟข้อมูล จึงเป็นการทำงานที่ชวนให้เกิดสติบ่อย พิมพ์งานไป
เพลิน ๆ สติก็เตือนให้เซฟ...สติเตือนบ่อย ๆ ก็เห็นความเผลอเป็นระยะ เห็นความเผลอเกิด – ดับเป็นช่วง ๆ ก็เท่ากับได้
ภาวนาไปในตัว รู้สึกตัวเร็วขึ้น
ครั้งหนึ่งนั่งพิมพ์นิยายเพลินเพราะต้องเขียนบรรยายอารมณ์ รายละเอียดเพิ่มเติม จิตใจจดจ่ออยู่กับงานที่ทำ ลืมความ
รู้สึกตัว จมอยู่ในงาน เนื้อหาที่เขียน สามารถบรรยายข้อความได้อย่างลื่นไหลจนลืมเซฟข้อมูลเอาไว้
แล้วจู่ ๆ ข้อมูลที่พิมพ์ก็หายวับ ทั้งที่แน่ใจว่าไม่ได้กดปุ่มอะไรผิด เนื้อหาข้อความที่เขียนได้อย่างดี ลื่นไหลหายเรียบ...
เห็นโทสะพุ่งขึ้นเหมือนภูเขาไฟจากกลางอกถึงกระหม่อม โกรธจัดจนอยากทุบโน้ตบุ๊คตรงหน้าให้พังคามือ เสียดาย
เนื้อหาข้อความที่พิมพ์ชนิดพูดไม่ออก ตอนนั้นสัญญา ความจำขาดหาย นึกเนื้อความที่ตัวเองเพิ่งเขียนสด ๆ ร้อน ๆ
ไม่ได้แล้วด้วย
สติที่ยังพอมีช่วยมัดมือมัดเท้าไม่ให้ปล่อยตามอารมณ์กิเลส...นั่งดูโทสะที่มันแน่นในอก จนมันค่อยคลายลง
โดยไม่ทำอะไรเลย
แล้วผมก็ปิดเครื่อง รู้ว่า...ด้วยจิตใจที่ยังมีวิบาก ความร้อนของไฟโทสะที่หลงเหลือเช่นนี้ คงทำงานต่อไม่ได้
ผ่านไปอีกสามสี่ชั่วโมง จิตใจไม่เหลือเชื้อความโกรธ กลับมาทำงานใหม่ได้ ตั้งสติ มีสมาธิ ระลึกถึงข้อความต้น ๆ ที่มัน
ขาดหายไปออก จากนั้นค่อยเริ่มเขียนอีกที
เนื้อหา ข้อความที่เคยคิดว่าจะไม่สามารถเขียนได้อีก ก็กลับรื้อความทรงจำ อารมณ์มาเขียนใหม่ได้ และอาจดีกว่าเดิม
ด้วยซ้ำ
โน้ตบุ๊คตรงหน้า มันก็แค่อุปกรณ์ช่วยทำงานอย่างหนึ่ง มีลักษณะการทำงานเฉพาะตัว มีข้อบกพร่อง จุดควรระวังของมัน
เอง มันไม่มีทั้งชีวิต จิตใจ แต่สามารถใช้เป็นเครื่องมือให้เจริญสติได้ หากเราเป็นคนเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงของ
จิตใจตัวเอง
ขณะพิมพ์นิยายจิตใจเป็นอย่างไรรู้ไปตามนั้น... จะรู้สึกตัว หรือเพลิดเพลิน จมลงไปอยู่กับข้อความที่ตัวเองเขียนสักแค่
ไหน ก็สังเกตเอา
การที่ผมต้องคอยระวังเซฟงานเป็นระยะ เท่ากับได้ฝึกสติ เห็นความเผลอของตัวเองบ่อย ๆ และการที่เจ้าคอมพ์มันเกิด
เพี้ยน ไม่ทำงานตามความต้องการ จนผมโมโหจัด อยากทุบมันทิ้ง...ก็เป็นโอกาสให้ได้ดูจิตที่มีโทสะ และวงจรชีวิต
ของมัน
การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด
ตั้งแต่ลืมตาตื่น ยันนอนหลับ คุณสามารถเฝ้าสังเกตกาย - ใจตนเองได้ตลอดเวลา เท่าที่ไม่โดนความเผลอเข้าครอบงำ
อีกทั้งคุณยังใช้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวในชีวิตประจำวัน ในการทำงาน มาเป็นเครื่องมือช่วยเจริญสติได้ หากมีใจรักในการ
ภาวนา...
< Prev | Next > |
---|