ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta
สัตติสูตร ว่าด้วยผู้ถูกหอกควรรีบถอน
กลุ่มไตรปิฎกสิกขา
[๕๖] เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว
ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ภิกษุพึงมีสติอยู่เพื่อละกามราคะ
เหมือนบุรุษถูกแทงด้วยหอกมุ่งถอนเสีย
และเหมือนบุรุษถูกไฟไหม้บนศีรษะ มุ่งดับไฟ ฉะนั้น.
[๕๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระคาถาว่า
ภิกษุพึงมีสติอยู่เพื่อละสักกายทิฏฐิ
เหมือนบุรุษถูกแทงด้วยหอกมุ่งถอนเสีย
และเหมือนบุรุษถูกไฟไหม้บนศีรษะ มุ่งดับไฟ ฉะนั้น.
สัตติสูตรที่ ๑ จบ
อรรถกถาสัตติสูตรที่ ๑
พึงทราบวินิจฉัยในสัตติสูตรที่ ๑ แห่งสัตติวรรคที่ ๓ ต่อไป
คำว่า ด้วยหอก (สตฺติยา) นี้เป็นหัวข้อแห่งเทศนา. อธิบายว่า
ด้วยศัสตรา มีคมข้างเดียวเป็นต้น. คำว่า ถูกแทง (โอมฏฺโฐ) ได้แก่
ถูกแทงแล้ว. จริงอยู่เครื่องประหารนี้มี ๔ อย่าง คือ โอมัฏฐะ อุมัฏฐะ
มัฏฐะ และวิมัฏฐะ ในเครื่องประหาร ๔ อย่างนั้น
โอมัฏฐะ คือเครื่องประหารที่คว่ำหน้าลง
อุมัฏฐะ คือเครื่องประหารที่หงายหน้าขึ้น
มัฏฐะ คือเครื่องประหารที่ใช้ทิ่มแทงเช่นลิ่มประตู
วิมัฎฐะ คือเครื่องประหารทั้งหมดที่เหลือ.
ก็ในที่นี้ ท่านมุ่งเอาเครื่องประหารที่ชื่อว่า โอมัฏฐะ.
เพราะเครื่องประหารชนิดนี้ทารุณกว่าเครื่องประหารทั้งหมด
ดุจถูกหอกที่ไม่คมแทง เยียวยาลำบาก มีความบอบช้ำ คือมีน้ำเหลืองและเลือดตกใน
ไม่มีน้ำเหลืองและเลือดไหลออกจึงทำให้อักเสบ ถ้าต้องการให้น้ำเหลืองและเลือดออก
ต้องผูกผู้ป่วยไว้กับเตียงให้ศีรษะห้อยลง. เขาอาจถึงตาย หรือทุกข์ปางตายทีเดียว.
คำว่า พึง ... อยู่ (ปริพฺพชฺเช) ได้แก่ พึงอยู่.
ถามว่าในคาถานี้ เทวดากล่าวอย่างไร ?
ตอบว่า เทวดากล่าวว่า บุรุษถูกหอกแทงรีบจัดแจงดึงหอกออกแล้วรักษาแผล
และบุรุษถูกไฟไหม้ที่ศีรษะ รีบจัดแจงดับไฟ ฉันใด
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุก็ฉันนั้นนั่นแหละ
พึงมีสติไม่ประมาทอยู่เพื่อละกามราคะ.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า คาถาที่ชักอุปมามากล่าวไว้นี้ใช้ได้
แต่มีประโยชน์น้อย เพราะถึงจะกล่าวซ้ำ ก็กล่าวถึงการละกามราคะโดยการข่มไว้อย่างเดียว
เพราะหากไม่ถอนกามราคะด้วยมรรคตราบใด กามราคะก็จะติดตามไปอยู่ตราบนั้น
ดังนั้น จึงทรงใช้อุปมาเดียวกันแล้วทรงเปลี่ยนแสดงด้วยอำนาจปฐมมรรค
จึงตรัสพระคาถาที่ ๒. พึงทราบเนื้อความโดยทำนองที่กล่าวแล้วตั้งแต่ต้นนั่นแล.
อรรถกถาสัตติสูตรที่ ๑ จบ
(สัตติสูตร สัตติวรรคที่ ๓ เทวตาสังยุต
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ภาค ๑ เล่ม ๑
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย)
< Prev |
---|