กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage

หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต : แม้ชีวิตสละได้ ด้วยมุ่งหมายวิมุตติธรรม


เทียบธุลี


ในยุคสมัยที่ถนนหนทาง ตลอดจนการติดต่อสื่อสารยังไม่สะดวกสบายดังเช่นทุกวันนี้
ผู้ที่สนใจธรรมะต้องใช้ความพากเพียรพยายามอย่างยิ่งในการตามหาท่านผู้รู้
เพื่อรับฟังธรรมคำสอนและการชี้แนะเพื่อการปฏิบัติสู่ความหลุดพ้นจากสังสารวัฏ
ด้วยเหตุที่พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านมักหลีกเร้นในป่าอันสงบ หรือจาริกไปยังที่ต่างๆ เพื่อปฏิบัติสมณธรรม
ในบางครั้งผู้ที่มุ่งมั่นในการปฏิบัติจึงต้องดั้นด้นไปตามป่าดงพงลึก ซึ่งทำให้แทบจะต้องนำชีวิตไปทิ้งเลยทีเดียว
ดังเรื่องราวของหลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต ในช่วงหลังจากที่ท่านได้อุปสมบทเป็นครั้งที่ ๒ และมีความตั้งใจจะปฏิบัติภาวนาอย่างจริงจังเพื่อความพ้นทุกข์
เมื่อได้ทราบกิตติศัพท์ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จึงประสงค์จะไปรับโอวาทธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่
ซึ่งขณะนั้นพำนักอยู่ ณ เสนาสนะป่าบ้านนามน (ปัจจุบันคือ "วัดป่านาคนิมิตต์" อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร)

044_lpPhang

หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต
วัดอุดมคงคาคีรีเขต ตำบลนางาม อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น

หลวงปู่จึงธุดงค์จากจังหวัดอุบลราชธานีเลียบฝั่งแม่น้ำโขง ขึ้นไปทางจังหวัดมุกดาหารและนครพนม
แวะกราบนมัสการพระธาตุพนม และจาริกไปยังจังหวัดสกลนคร โดยการเดินเท้าตลอดเส้นทาง
หากพบสถานที่แห่งใดเหมาะสมแก่การภาวนาและมีหมู่บ้านที่จะบิณฑบาตได้อยู่ไม่ไกลนัก
ท่านก็จะพักสักระยะ แล้วเดินทางต่อไป จนกระทั่งมาถึงภูผาซาง
หลวงปู่หลงทางอยู่ที่นี่เป็นเวลาหลายวัน จนไม่ได้ฉันอาหารใดๆ เลย
ร่างกายจึงเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเต็มที ทว่าท่านไม่เคยย่อท้อ
มีแต่ความมุ่งมั่นที่จะไปฟังธรรมจากพระอาจารย์ใหญ่ให้ได้ ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใดก็ตาม

ก็อาศัยแต่ฉันน้ำในกา ไม่ใช่ฉันจนอิ่ม คือจิบเอาทีละน้อยๆ
อดอาหารหลายๆ วันก็เคยอดมาแล้ว กลัวทำไม ยิ่งอดยิ่งภาวนาดี

จิตใจจึงมีความอิ่มเอิบ ปีติในธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง มีความเบิกบานตลอดเวลา
แต่เมื่อนานวันเข้าน้ำในกาก็หมดไป

เอ้า! น้ำหมดแล้วจะทำยังไงดี เดินแวะขึ้นป่าลงหุบเขาตรงไหนที่พอจะมีน้ำบ้าง
น้ำสักหยดก็ไม่มี ล้าก็ล้า เหนื่อยก็เหนื่อย หิวน้ำก็หิว ฉันน้ำปัสสาวะตัวเองนี่แหละ

เมื่อหลงป่าอยู่นานหลายวัน ต่อมาแม้แต่น้ำปัสสาวะก็ไม่มีให้ฉัน
ร่างกายของท่านขาดน้ำและอ่อนเพลีย ต้องแบกบริขารทั้งบาตร กลดและกาน้ำ

ร่างกายยามนี้ ถือหรือแบกอะไรมันช่างหนักไปหมด ตายแน่ๆ ตายอยู่กลางป่านี้แน่ๆ
เราทอดอาลัยตายอยาก ตายก็ตาย จะตายทั้งทีอย่าให้ร่างกายเน่าทิ้งเสียเปล่า
ปักกลดนั่งภาวนากลางทางเสือทางช้างป่าผ่านนี่แหละ

ในยามพลบค่ำของคืนเดือนหงาย ท่านจึงได้ปักกลดภาวนา ณ สถานที่อันเหมาะสม
กลางดึกคืนนั้นเอง หลังจากไหว้พระสวดมนต์แผ่เมตตาแล้วก็ภาวนาอยู่ในกลด
ด้วยคิดว่าตนเองคงจะต้องตายในคราวนี้แน่นอนแล้ว จึงรำพึงในใจว่า

คราวนี้เป็นคราวที่เราจนตรอกจนมุมแล้ว หลงทางอยู่กลางป่ากลางดงคนเดียว ไม่มีใครมาช่วย
คงต้องเอาชีวิตมาทิ้งกลางป่านี้แน่ๆ ได้ยินว่าในป่าเขามีเทวบุตรเทวดาอยู่มาก ทำไมไม่เห็นมาช่วยบ้าง
ไม่สงสารพระธุดงค์ผู้หลงทางหลงป่าบ้างหรือ บุญกุศลเราคงหมดแค่นี้ เอาละตายก็ตาย
คิดก็ตายไม่คิดก็ตาย คิดไปให้มากเรื่องทำไม นั่งภาวนาสละตายที่ตรงนี้แหละ

คิดได้ดังนั้นแล้วท่านจึงภาวนาโดยนึกถึงความตายเป็นอารมณ์จนจิตสงบตั้งมั่น เป็นเวลานานเท่าไหร่ก็ไม่ทราบได้
จนกระทั่งได้ยินเสียงสัตว์ชนิดหนึ่งกระโจนมาชนกลดดังโครมครามๆ ถึงสามครั้ง จนกลดแทบจะพัง
เมื่อเปิดกลดออกมาก็พบกับเสือโคร่งลายพาดกลอนตัวใหญ่ ยืนจังก้าจ้องหน้าท่านแบบจะกินเลือดกินเนื้อ
เสือยืนอยู่ห่างไปประมาณ ๓-๔ วา จึงมองเห็นกันได้อย่างชัดเจนเพราะเป็นคืนเดือนเพ็ญ
แม้จะเผชิญกับสถานการณ์วิกฤต แต่ท่านกลับมีจิตใจห้าวหาญ ไม่เกรงกลัว

ดีล่ะ ไหนๆ ก็จะถึงที่ตายอยู่แล้ว จะตายทั้งที ร่างกายนี้จะได้ไม่ต้องเน่าเปื่อยผุพังไปเปล่า
มีผู้มาเก็บซากศพให้ก็ดีแล้ว เราจะเดินเข้าไปให้เสือกินทั้งบริขารนี่แหละ

ว่าแล้วท่านก็เดินเข้าไปหาเสือตัวนั้น โดยมิได้สะทกสะท้านต่อความตายใดๆ

ฮีบมากินมา เฮามาให้กินแล้ว กินให้หมดเด้อ อย่าให้เหลือซาก มันสิเหน่าเหม็นถิ่มซื่อๆ
(รีบมากินสิ เรามาให้กินแล้ว กินให้หมดนะอย่าให้เหลือซาก มันจะเน่าเหม็นทิ้งเปล่าๆ)

หลวงปู่พูดไปแล้วก็เดินเข้าไปหาเสือไปเรื่อยๆ แต่เจ้าเสือกลับถอยหลังกรูด
มันหันหลังให้แล้ววิ่งไปข้างหน้า แล้วหันกลับมาจ้องมองอีก ท่านเดินตามไปจะให้มันกิน
เสือวิ่งไปข้างหน้าเรื่อยๆ ท่านก็เดินตามไปเรื่อยๆ เป็นอย่างนี้อยู่จนสว่าง เสือตัวนี้ก็หนีเข้าป่าไป

เอ้า! สิมาส่งกันกะบ่บอก ถ้าบ่กินกะฟ่าวเข้าดงเข้าป่าไป เดี๋ยวนายพรานสิมาเห็น เขาจะยิงเอา ให้อยู่เป็นสุขๆ เด้อ
(อ้อ จะมาส่งกันก็ไม่บอก ถ้าไม่กินเราก็รีบหนีเข้าไปเสีย เดี๋ยวนายพรานมาเห็น เขาจะยิงเอา ให้เป็นสุขๆ เถิด)

ปรากฏว่าการที่ท่านเดินตามเสือเพื่อจะให้มันกินอยู่จนสว่าง ทำให้ออกจากป่ามาจนถึงไร่ของชาวบ้าน
หลวงปู่จึงบิณฑบาตได้อาหารมาฉัน ไม่ต้องเอาชีวิตไปทิ้งในป่าแห่งนี้
และเดินทางต่อจนพบท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ณ เสนาสนะป่าบ้านนามน ในที่สุด

เรื่องราวของหลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เกิดในยุคที่การติดต่อสื่อสารสะดวกสบาย
ได้ย้อนกลับมามองตนว่า ณ ตอนนี้ที่ธรรมะอยู่ใกล้ตัวจนสามารถหาได้ในโลกอินเตอร์เน็ต
ให้อ่านและฟังโดยไม่ต้องย่างเท้าออกจากบ้านแม้เพียงก้าวเดียว
เราได้ใช้ความโชคดีนี้อย่างคุ้มค่าแล้วหรือไม่
หากเปรียบเทียบกับผู้เกิดในยุคที่การได้ฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์โดยตรงเป็นเรื่องยาก
แต่กลับมีความมุ่งมั่นยอมสละแม้ชีวิตตนเองเพื่อวิมุตติธรรมอันประเสริฐสุด

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


เอกสารประกอบการเขียน

คณะศิษยานุศิษย์ (๒๕๔๖) พระผาง จิตฺตคุตฺโต กรุงเทพฯ : ศิลป์สยามการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์

เว็บไซต์

http://www.luangpumun.org/



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP