กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage
หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ : สู้ทนทุกขเวทนา มอบชีวาบูชาธรรม
เทียบธุลี
ความเจ็บปวดของร่างกายอันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นั้น เป็นทุกขเวทนาสาหัส
ที่ทำให้บางคนถึงกับปลิดชีวิตของตน เพื่อให้พ้นจากความทรมานนั้นไป
แต่การฆ่าตัวตายไม่ใช่ทางพ้นทุกข์อันแท้จริง หากเป็นการสร้างหนี้กรรมใหม่เพิ่มขึ้นอีก
สำหรับนักปฏิบัติแล้ว ความทุกข์ต่างๆ ของร่างกายนั้นกลับเป็นเครื่องสะท้อนความจริงของธาตุขันธ์
ว่าจะเป็นของผู้ใดก็ตามย่อมก่อให้เกิดทุกข์แก่เจ้าของร่างกายทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่พ้น
ดังเรื่องราวของพระครูการุณยธรรมนิวาส (หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ)
พระครูการุณยธรรมนิวาส (หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ)
วัดคีรีสุบรรพต (วัดสามัคคีบุญญาราม) ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง
เรื่องราวนี้เกิดขึ้นในช่วงการพัฒนาวัดถ้ำพระสบาย (น่าจะอยู่ในราวปี ๒๔๙๑-๒๔๙๙ - เทียบธุลี)
หลวงปู่ได้ทำงานทุกอย่างอย่างเต็มที่ทั้งงานสร้างกุฏิ ทางขึ้นถ้ำ เสนาสนะต่างๆ
เครื่องใช้ไม้สอยในการก่อสร้างล้วนไม่ทันสมัย ต้องใช้ค้อนปอนด์ทุบก้อนหิน ใช้ชะแลงงัดแงะก้อนหิน
และส่วนใหญ่ก็มีเพียงพระและเณรที่ช่วยกันทำงาน เพราะชาวบ้านก็ต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพของตน
ครั้งหนึ่งในขณะที่หลวงปู่และพระเณรอื่นๆ กำลังช่วยกันใช้ชะแลงงัดก้อนหินก้อนใหญ่นั้น
“ก้อนหินเจ้ากรรมเกิดแตกออก ทำให้ชะแลงดีดตีเข้าที่หน้าอกของท่าน
ทำเอาท่านเจ็บปวดเป็นอย่างมากที่หน้าอก รู้สึกแน่นและอึดอัดหน้าอก
จนในที่สุด ได้อาเจียนออกมาเป็นเลือดและมีไข้ขึ้น”
ผลจากเหตุการณ์นี้ทำให้ท่านเจ็บที่หน้าอกอยู่ถึง ๓ ปี
“ทรมานมาก ไข้เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง จับไข้ไม่แน่นอน ไม่เป็นเวลา
เนื่องจากต้องเดินออกบิณฑบาตลงดอยมา ไข้ก็ขึ้นจนหมดแรงแทบจะเดินไม่ไหว
บางขณะกำลังจะฉันภัตตาหารก็เกิดมีไข้ขึ้นจนรู้สึกไม่อยากฉันอะไร”
ท่านต้องทนทุกขเวทนาเสมอมา อยู่มาวันหนึ่งจึงนึกเบื่อหน่ายในชีวิต
“จึงคิดที่จะทำลายชีวิตตนเองโดยการโดดลงเหวลงหน้าผาให้ตายไปเลย
จะได้ไม่ต้องทนอยู่รับเคราะห์กรรมทนทุกข์ทรมาทรกรรมต่อไป”
เมื่อท่านคิดอย่างนั้นก็พลันได้ยินเสียงของใครก็ไม่ทราบ (หลวงปู่ท่านคิดว่าคงเป็นเทวดา)
มากระซิบข้างหูว่า "โอ้ ฆ่าตัวตายนี่ตกนรก ๕๐๐ ชาติ เน้อ"
เมื่อได้ฟังอย่างนั้นหลวงปู่ก็มีสติระลึกได้
“เกิดความรู้สึกนึกถึง บาป บุญ คุณ โทษ มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปขึ้นมาทันที”
ท่านได้พิจารณาถึงผลของกรรมที่คนเราได้กระทำทั้งกุศลและอกุศล
กรรมที่กระทำลงไปแล้วนั้นย่อมให้ผลแน่นอน จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง
ทั้งหมดเป็นผลจากการกระทำของตนเองทั้งสิ้น
“กว่าเราจะเกิดมาเป็นคนได้นั้นยากแสนยาก ไม่ใช่ง่าย ยิ่งเกิดมาแล้วได้พบพระพุทธศาสนา
ได้พบพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือพระสุปฏิปันโนนั้นก็ยาก ครูบาอาจารย์ที่ดีเราก็ได้พบแล้ว
เราเองได้บวชได้เรียนมาแล้ว ย่อมน่าจะรู้ถึงเรื่องกฎของกรรมดีกว่าชาวบ้าน
ตัวเราเคยให้คำอบรมสอนสั่งและชี้แนะให้ศรัทธาชาวบ้านเขาทำแต่ความดี รู้จักรักษาศีลและภาวนา
แล้วเรามาทำผิดเสียเอง ทำลายศีลโดยการฆ่าตัวตาย
แถมยังไม่รู้จักภาวนาให้พ้นทุกข์ซึ่งเกิดขึ้นกับสังขารร่างกายของเราเอง
ก็เหมือนกับตัวเรานั้นไม่รู้จริง แล้วจะสอนใครคนอื่นได้อย่างไร”
ท่านพิจารณาต่อไปอีกว่า
“ร่างกายตัวเรานั้นมันก็เป็นก้อนทุกข์อันหนึ่ง ถ้าไม่เห็นทุกข์อันเกิดในกายในใจเราเอง
พระท่านว่าไม่เห็นธรรมไม่เห็นโทษของการเกิด การแก่ การเจ็บและการตาย
นี่เราเห็นทุกข์ของสังขารอย่างชัดแจ้งอย่างนี้แล้วนี่ มันเป็นทุกข์อย่างนี้ๆ”
หลวงปู่จึงเห็นว่าการฆ่าตัวตายไม่ใช่ทางที่จะหนีจากทุกข์โดยสิ้นเชิงได้
เป็นเพียงการหนีชั่วคราวเท่านั้นแล้วก็ต้องกลับมาชดใช้หนี้กรรมอีก
“ไม่ในนรกก็ทั้งสภาพที่เป็นคนหรืออาจในรูปของสัตว์เดรัจฉานก็ได้
กรรมมันติดตามได้ทุกขณะ ทุกหนทุกแห่ง
เราทำกรรมอันใดไว้ ก็ต้องรับผลแห่งกรรมนั้นๆ จะช้าหรือเร็วเท่านั้น
กว่าเราจะสร้างสมบารมีมาได้ จนมีโอกาสได้บวชในพระศาสนา
ก็ต้องทำกุศลคุณงามความดีมาไม่รู้ว่ากี่ภพกี่ชาติ ต้องทำเรื่อยมา
แล้วเราจะมาทำลายชีวิตตนเอง โดยที่เรายังไม่ทันได้เห็นธรรม หรือบรรลุธรรมที่แท้จริง
มิเสียเวลาเสียโอกาสเปล่าหรือ เกิดมาได้บวชเรียนแล้ว เสียชาติเกิดเป็นแน่แท้ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย”
เมื่อมีสติคิดได้เช่นนี้ ท่านก็ไม่เคยคิดทำลายชีวิตอีกเลย แต่กลับมีความอดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น
ฝ่ายศิษยานุศิษย์ก็พยายามหาทางรักษา ซึ่งได้ผลเพียงทำให้ทุเลาลงเท่านั้น แต่ไม่ทำให้หายขาด
และหากมีผู้ถามว่าหายเจ็บปวดที่หน้าอกหรือยัง
ท่านก็จะตอบตรงๆ ว่า "ยัง มันจะเจ็บก็เรื่องของสังขารร่างกายเขา เราไม่เจ็บด้วย"
อันแสดงถึงความพยายามพากเพียรในการต่อสู้กับเวทนาอย่างไม่ย่อท้อ
เรื่องราวของพระครูการุณยธรรมนิวาส (หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ) เป็นเยี่ยงอย่างอันดี
ทั้งในแง่ของความอดทนต่อทุกขเวทนาอันทนได้ยาก ทั้งความพากเพียรเพื่อธรรมอันประเสริฐ
แม้ร่างกายจะเจ็บปวดเพียงใดท่านก็มิได้ย่อท้อต่อการปฏิบัติสมณกิจ
นับเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐ สมควรแก่การเคารพบูชาโดยแท้จริง
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เอกสารประกอบการเขียน
คณะศิษยานุศิษย์ (๒๕๔๖) กตปุญฺโญนุสรณ์ ลำปาง : สำนักสงฆ์คีรีสุบรรพต
เว็บไซต์
http://www.chiangmai1900.com/index.php?topic=358.0
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13086
< Prev | Next > |
---|