กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร : พากเพียรเพื่อชนะมรณภัย
เทียบธุลี
ความเจ็บป่วยของร่างกายและจิตใจ ย่อมเป็นที่ไม่ปรารถนาของทุกชีวิต
อาการเจ็บป่วยอย่างหนักถึงแทบสิ้นชีวิต และต้องอยู่ลำพังในภูสูงป่าลึก
ยิ่งเป็นสิ่งที่น่าหวั่นเกรงสำหรับคนทั่วไป
ทว่าสำหรับนักปฏิบัติผู้มอบกายถวายชีวิตเป็นศิษย์พระตถาคตเจ้า
แทนที่เหตุการณ์คับขันจะทำให้จิตใจหวั่นไหว ก็กลับกลายเป็นพลังในการทำความเพียร
ดังเรื่องราวความอาพาธของหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
พระกรรมฐานผู้ญัตติเป็นธรรมยุติกนิกายในวันเดียวกันกับหลวงปู่ขาว อนาลโย
โดยที่หลวงปู่หลุยเป็นนาคขวา (บวชก่อน ๑๕ นาที) หลวงปู่ขาวเป็นนาคซ้าย
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นช่วงพรรษาที่ ๓๘ ในเดือนมิถุนายน ปี ๒๕๐๕
ขณะนั้นหลวงปู่อายุประมาณ ๖๑ ปี ท่านพำนัก ณ ถ้ำมโหฬาร ในเขตจังหวัดเลย
ดังบันทึกใน “จันทสาโรบูชา” เรียบเรียงโดยคุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต
“...เดือนนี้ เราป่วยเป็นไข้คนเดียว อาการหนักมาก เกิดวิตกวิจารณ์ใหญ่
เกิดสงสัยในเวลาจิตกับเวทนาป่วยผสมกันในขณะนั้น ทำให้จิตป่วนปั่นมาก นอนไม่หลับ ๒ คืนก็มี
กลางวันก็ไม่ได้นอนอีก แต่สงบนอนด้วยฌาน หลับๆ ตื่นๆ ก็อิ่มเหมือนกัน...”
“...ภาวนาแลเห็นนิมิตนอกร้อยแปดอย่างปรากฏเสมอ หลบเข้าอารมณ์ได้
ต่อนั้นได้รับความสงบ...จิตเข้าสู่อารมณ์แห่งความตายบ้าง…”
สิ่งเหล่านี้ทำให้หลวงปู่ถึงกับอุทานออกมา
“...แหม่ ผู้มีภูมิจิตเป็นถึงขนาดนี้...! ถ้าผู้ที่ไม่มีภูมิจิตนั้น จิตคงยิ่งแปรปรวนใหญ่
ระยะนี้จะได้ระวังตัวและจิตเรื่อยๆ เพราะเห็นภัยใหญ่หลวง ๓ อย่าง
๑. เราอาพาธที่จะมรณะ ๒. เราแก่ชราแล้วใกล้มรณะ ๓. สงครามจะมาถึงในวันไหน
ภัยทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นเทวทูต ให้เราทำความเพียรอย่างขนาดหนัก
เพื่อจะได้สำเร็จก่อนกว่าภัย ๓ อย่างนี้จะมาถึงตัวเรา
อีกนัยหนึ่ง เราก็อยู่ในสถานที่วิเวกคนเดียว เปลี่ยว...”
และท่านยังรำพึงว่า
“...ภาวนานั้น ถ้ามีแต่สมาธิอย่างเดียว ต้องมีนิมิตต่างๆ หลอกอยู่เรื่อยๆ เกิดจากอุปจารสมาธิ
มีอุคคหนิมิตทำให้เป็นบ้าไปได้ ทำให้จมอยู่ในสมาธิ ความสงบและสุขไปได้
ถ้าเอาภาวนา เอาวิปัสสนาผสมสมาธิแล้ว ย่อมไม่เกิดนิมิต เพราะไตรลักษณ์ล้างอยู่เสมอ
และไม่สำคัญตน และไม่เป็นบ้า เกิดนิมิตทั้งหลายก็รู้เท่า...”
การเยียวยาร่างกายในครั้งนี้ หลวงปู่มิได้ฉันยาใดๆ เลย ใช้ธรรมโอสถเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น
พิจารณาลงไปที่ชรา พยาธิ และมรณะ โดยพิจารณาหนักแน่นเป็นพิเศษที่ “พยาธิ” และ “มรณะ”
“...อาพาธเปลี่ยนฤดู เปลี่ยนอิริยาบถไม่เสมอ อาพาธตอนเพียรกล้า อาพาธกรรมวิบาก
เย็น ร้อน อ่อน หนาว หิวข้าว กระหายน้ำ อุจจาระปัสสาวะ
มีประการต่างๆ ของกายนี้ทั้งนั้น เมื่อพิจารณาเห็นความเป็นจริงแล้ว
ย่อมไม่รับ ย่อมเสียสละ ย่อมบรรเทาเสีย ย่อมให้พินาศเสีย ย่อมไม่เกิดต่อไป...”
ท่านตั้งใจด้วยความเด็ดเดี่ยวถึงขั้นยอมสละชีวิต
“...ทำความเพียรให้แข็งแรง เอาเป็นเอาตายทีเดียว ป่าช้าอยู่ที่ไหน... ไป!
กำหนดตายที่ไหน เผา ณ ที่นั้น ดังนี้...”
ด้วยความเพียรอันอุกฤษฏ์ หลวงปู่จึงเอาชนะโรคภัยได้ด้วยธรรมโอสถ
และแม้ว่าจะเพิ่งหายจากความเจ็บป่วย ท่านกลับไม่ยอมพักอยู่ที่ถ้ำมโหฬารแห่งนี้อีกต่อไป
ด้วยสถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่จำพรรษาในช่วง ๒ ปีก่อน ท่านจึงจาริกไปที่อื่น
ด้วยเห็นว่าการเปลี่ยนที่เพื่อทำความเพียรเสมอๆ จะช่วยให้จิตตื่นดี
นับเป็นพระสงฆ์ผู้ไม่เห็นแก่ความยากลำบากทางกาย
ยอมสละความสุขทั้งปวง อุทิศเพื่อวิมุตติธรรมโดยแท้จริง
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เอกสารประกอบการเขียน
ปฐมและภัทรา นิคมานนท์ (๒๕๔๗) หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร กรุงเทพฯ : พี.เอ. ลิฟวิ่ง
สุรีพันธุ์ มณีวัต (๒๕๓๓) จันทสาโรบูชา กรุงเทพฯ : ป. สัมพันธ์พาณิชย์
< Prev | Next > |
---|