กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage
หลวงปู่ขาว อนาลโย : เมตตาจิตพิชิตกิเลส
พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงอานิสงส์ของ “การเจริญเมตตา” ไว้หลายประการ
เช่น หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข เป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ทั่วไป จิตเป็นสมาธิได้เร็ว เป็นต้น
(ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=222)
เรื่องราวหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอานิสงส์ของการเจริญเมตตา
ได้ปรากฏในประสบการณ์การปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ขาว อนาลโย
พระกรรมฐานผู้เป็นที่เคารพบูชายิ่งของปวงพุทธศาสนิกชน
บันทึกไว้ใน “จันทสาโรบูชา” เรียบเรียงโดยคุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต
หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล ตำบลโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ท่านปฏิบัติอยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ณ จังหวัดเชียงใหม่
ซึ่งหลวงปู่ขาวเคยเล่าว่าเดิมทีนั้นตัวท่านเป็นคนโทสจริต มีอะไรนิดหน่อยก็โกรธ
ในครั้งนั้นท่านนั่งสมาธิภาวนาแต่ว่าจิตไม่สงบดังปรารถนา
“...ขณะที่นั่งภาวนาอยู่ข้างล่าง ท่านก็ไม่สบายใจ นึกบ่นว่าทำอย่างไรๆ ทำไมจิตมันจึงแข็งอยู่อย่างนั้น
ทำสมาธิก็ไม่ลง ทำอย่างไรๆ ก็ไม่ลง ทำอย่างไรๆ มันก็ไม่สงบ ท่านรำคาญเต็มที
จึงโกรธว่าตัวเองขึ้นมาว่า “นี่มันผีนรกวิ่งขึ้นมาจากอเวจีนี่นา จิตมันถึงได้แข็งกระด้างอย่างนี้
ไฟเผามันอย่างนี้ น่าจะกลับให้มันลงไปอเวจีอีก อย่าให้มันขึ้นมา ให้อเวจีมันเผา”…”
ท่านดุว่าตนเองแล้วจึงจำวัด ต่อมาเมื่อไปปฏิบัติท่านพระอาจารย์ใหญ่ในตอนเช้า
หลวงปู่มั่นจึงตักเตือนว่า
“…เอ๊ะ! ท่านขาว ท่านทำไมทำอย่างนี้ ท่านก็เป็นผู้ประเสริฐ เป็นมนุษย์ประเสริฐอยู่แล้ว
มาด่าตัวเองเฮ็ดหยัง (ทำไม) ให้ลงนรกอเวจีอย่างไร ไม่ถูกนี่ ท่านมาประจานตน ว่าตนอย่างนี้ไม่ได้
ท่านก็ทำความเพียรอย่างดีแล้ว จะไปว่ามันทำไม ถ้าว่าหนักๆ เข้า ท่านอาจฆ่าตัวตายได้นะ
และถ้าเผลอไปฆ่าตัวตายเข้าแล้วชาตินี้ ต่อไปนับชาติไม่ได้นะ ที่จะต้องวกวนกลับไปฆ่าตัวตายอีก
ฆ่าตัวตายนี่ถ้าท่านเริ่มขึ้นชาติหนึ่งแล้ว ก็จะต้องต่ออีก ๕๐๐ ชาติ
แล้วก็ไปเที่ยวเอาภพเอาชาติผูกเวรผูกกรรมกัน ฆ่าตัวตายอยู่อย่างนั้น
อย่าไปทำอีกนะท่าน ไม่ถูก ตัวเองบริสุทธิ์อยู่ ทำไมถึงไปทำตน ไปด่าตนอย่างนี้…”
แม้ว่าจะถูกท่านพระอาจารย์ใหญ่ปราม และตัวท่านก็กลัวแต่ยังคงนึกโกรธตนอยู่ไม่คลาย
“...ขึ้นไปอยู่ดอยมูเซอกับพวกมูเซอ เสือก็มีตัวใหญ่ๆ ลายพาดกลอน
เดินอยู่กลางคืนก็นึกบอก “เจ้านี่มันเลวจริง ๆ มันเป็นหยัง
มันหยาบแท้ มันแข็งแท้ ให้เสือมาคาบมึงไปกินซะ…”
“...ด่าตัวเอง นึกว่าตัวเอง โกรธที่จิตไม่ลง ให้เสือมาเอาไปกินซะ
นึกว่าฆ่ามันได้แล้ว จิตมันจะได้กล้า มันจะได้เกรง อ่อนน้อมยอมต่อเรา...”
ด่าตนเองแล้วก็ไปเดินจงกรม นั่งสมาธิ แต่จิตก็ไม่ลง ท่านจึงจำวัด
พอหลับไปก็ปรากฏนิมิตเห็นโยมมารดามานั่งอยู่ข้าง ๆ
และพวกมูเซอมาจากไร่ หอบผักใส่ตะกร้าแบกขึ้นหลังมา
“…โยมมารดาท่านบ่นขึ้นว่า “ขาว..ขาว นี่ ทำอย่างไรถึงเป็นหนอ”
พวกมูเซอก็พูดว่า “ไม่ยาก ๆ เอาของอ่อนให้กินเด้อ
อย่าไปกินของแข็ง ถ้ากินของแข็งไม่เป็น กินของอ่อนล่ะเป็น”
แม่ท่านก็เลยบอกว่า “ไม่เข้าใจ เป็นอย่างไร ของอ่อน ของแข็ง”
แม่ท่านก็เอิ้น (เรียก) ถามขึ้นว่า “ของอ่อนมีอะไรไหม”
“ของอ่อนก็อย่างสาหร่ายไงล่ะ” แม่ท่านก็บอกว่า “ขาว..ขาว กินของอ่อนเด้อ...”
เมื่อท่านตื่นขึ้นจึงไปนั่งสมาธิ เริ่มต้นพิจารณา
“...พิจารณาของแข็งก่อน อะไรหนอที่มูเซอว่าเป็นของแข็ง เรามีอะไรที่เขาว่าเรากินของแข็ง
พิจารณาไปๆ มาๆ ผู้รู้ก็ตอบขึ้นว่า “ที่ว่าของแข็งคือความโกรธ ความมักโกรธ นั่นแหละของแข็งล่ะ”
แล้วอ่อนล่ะ ที่บอกว่าให้เอาของอ่อนมากิน อะไรคือของอ่อน ?
พิจารณาไปๆ มาๆ ก็รู้ขึ้นว่า ของอ่อนก็ต้องเอาเมตตา...”
เมื่อได้คำตอบแล้ว ท่านจึงแผ่เมตตาทั่วสารทิศแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง
ทั้งญาติพี่น้อง มิตรสหาย ไม่เว้นแม้แต่ศัตรู แผ่ไปโดยไม่มีประมาณ
“...ความโกรธที่เคยสิงอยู่ในดวงจิตนั้นก็ค่อยๆ อ่อนลง...
อ่อนลงแทบจะไม่นึกโกรธอะไรเลย มีแต่ความเมตตาสงสารสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วโลก
ให้นึกเห็นใจเขา เขาจะทำอะไรที่ผิดไปบ้าง เขาก็ไม่ตั้งใจ
หากเขาตั้งใจ ก็เห็นใจว่าเขาเป็นอย่างนั้น เขาถึงได้ทำอย่างนั้น
เป็นความลำบากของเขาเอง ที่เขาไม่ดี ไม่ได้เกี่ยวอะไร ให้นึกสงสารเขา
เมื่อแผ่เมตตาไปๆ ความโกรธนั้นก็ค่อยๆ อ่อนลง จิตก็ไม่ค่อยแข็ง จิตอ่อนแล้ว
จิตอ่อนควรแก่การงานแล้ว นึกจะทำอะไรก็ได้ เป็นจิตที่ดี เป็นจิตที่ควรชม ควรแก่การงาน
จะพิจารณาอะไรก็ได้ จิตอ่อนหมายถึงว่าจิตเบา จิตว่าง...”
ด้วยความฉลาดในอุบายธรรมอันนำมาต่อกรกับกิเลสได้อย่างเหมาะสม
และความพากเพียรอย่างไม่ย่อท้อในการบำเพ็ญสมณธรรม
หลวงปู่ขาว อนาลโย จึงสามารถเอาชนะกิเลส จวบจนถึงสิ้นชาติขาดภพ
นับเป็นพระสุปฏิปัณโณผู้ควรแก่การกราบไหว้บูชา และนำปฏิปทามาเป็นแบบอย่างอย่างแท้จริง
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เอกสารประกอบการเขียน
พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน (๒๕๒๗) ชีวประวัติของหลวงปู่ขาว กรุงเทพฯ : ป. สัมพันธ์พาณิชย์
สุรีพันธุ์ มณีวัต (๒๕๓๓) จันทสาโรบูชา กรุงเทพฯ : ป. สัมพันธ์พาณิชย์
< Prev | Next > |
---|