กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร : พากเพียรอย่างอุกฤษฏ์ สละชีวิตบูชาธรรม
ความทุกข์อันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาของทุกชีวิต
แต่สำหรับผู้ที่ได้พากเพียรฝึกฝนอบรมกายและใจมาเป็นอย่างดี
ความทรมานทั้งกายและใจกลับเป็นสมรภูมิชั้นยอดในการสู้รบ
เพื่อเอาชนะข้าศึกสำคัญที่สุดคือกิเลส ดังเรื่องราวของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ที่เกิดขึ้นในช่วงพรรษาที่ ๗ หลังจากท่านได้ญัตติเป็นพระสงฆ์ในธรรมยุติกนิกาย
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ หลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่ที่ภูเขาระงำ จังหวัดขอนแก่น
ในช่วงก่อนหน้านี้ท่านได้ไปช่วยจัดเตรียมบริขารจำนวนมาก
ในการบวชพระและเณร ณ วัดศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น
ซึ่งต้องเตรียมทั้ง สบง จีวร สังฆาฏิสองชั้น และผ้าบริขารอื่นๆ
ท่านต้องนั่งตัดเย็บผ้าทั้งกลางวันกลางคืน แทบไม่ได้นอนหลับพักผ่อน
หลังจากการจัดงานครั้งนี้ผ่านไป ปรากฏว่าท่านป่วยเป็นโรคมาลาเรีย
หลวงปู่ได้พยายามรักษาตัวด้วยการภาวนาให้จิตใจสงบ แต่ก็ยังไม่หายสนิท
ท่านจึงได้มาจำพรรษาที่ภูเขาระงำ ซึ่งมีความสงบสงัดเป็นอย่างมาก
แต่การมาจำพรรษาที่นี้ในช่วงแรก อาการป่วยเรื้อรังอยู่กลับกำเริบขึ้น
“...ยิ่งมาอยู่บนภูเขายิ่งกลับกำเริบหนักขึ้นอีก ทำให้ปวดตามเนื้อตามตัวทั่วไปหมด
นั่ง นอน ยืน เดิน มีแต่ปวดทุกอิริยาบถ ปวดไปหมดเหลือที่จะอดทน...”
แม้จะต้องทนทุกขเวทนาสาหัส ท่านก็ยังคงต่อสู้กับความเจ็บป่วยอย่างกล้าหาญ
ในเย็นวันหนึ่งท่านได้พิจารณาถึงทุกข์ที่ได้รับทั้งทางร่างกายและจิตใจ
จนเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารร่างกาย ไม่มีความเสียดายชีวิตอีกต่อไป
“...ท่านจึงได้ตั้งจิตปรารภความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ถึงชีวิตจะแตกดับก็ยอม
เราจะนั่งสมาธิภาวนาจนมันหาย ถ้าไม่หายตายก็ยอม…”
จากนั้นท่านก็ได้นั่งตั้งกายตรงดำรงสติไว้มั่น เพียรเพ่งต่อสู้กำหนดรู้เวทนา
ที่เกิดจากอาการเจ็บไข้อันเป็นทุกข์ที่มีกำลังกล้าในเวลานั้น
“...ท่านได้กำหนดเอาทุกขเวทนาที่เป็นปัจจุบัน ตั้งสติระลึกทุกขเวทนานั้น
มาเป็นเวทนาสติปัฏฐานภาวนา สัมปชาโน มีความรู้ตัว มีความอดทน มีความเพียร
เพ่งเผากิเลสที่อาศัยทุกขเวทนาเป็นปัจจัยแล้วเกิดขึ้น จนพินาศ…”
ด้วยความเพียรพยายามพร้อมความคมกล้าของสติปัญญา
ทุกขเวทนาในครั้งนั้นจึงไม่สามารถครอบงำจิตของท่านได้อีกต่อไป
“...จิตก็รวมสงบ เวทนาก็ดับ พร้อมทั้งวิตก วิจารณ์ ทุกข์ ปีติ สุข ก็ดับๆ ดับๆ ดับไปหมด
ทุกขเวทนาที่เคยมีกำลังกล้าก็ได้ถูกแผดเผาด้วยขันติธรรม ความอดกลั้นทนทาน
และด้วยความเพียรอันเป็น ตปะ เครื่องเผากิเลส
ทั้งกองทุกข์ก็ได้ดับหมดสิ้นไปด้วยกับความสงบอย่างสนิท
ชนิดที่ถอนรากถอนโคนที่ยังไม่เคยพบไม่เคยเห็นเป็นมีมาก่อนเลย...”
ท่านนั่งภาวนาตั้งแต่หัวค่ำในอิริยาบถเดียวตลอดเวลากระทั่งรุ่งเช้า
จนพระเณรทั้งหลายที่กลับจากบิณฑบาต เตรียมอาหารรอท่าแต่ไม่กล้ารบกวน
เมื่อสายมากจนสุดวิสัยที่จะรอได้อีก สามเณรรูปหนึ่งจึงคลานเข้าไปกราบ
ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่จิตของท่านถอนออกจากสมาธิ จึงลืมตาขึ้นมองดู
สามเณรกราบเรียนว่าขณะนั้นเป็นเวลา ๑๐ โมงกว่าแล้ว พระเณรกลับจากบิณฑบาตกันหมดแล้ว
แต่ความรู้สึกของท่านนั้นเหมือนกับว่านั่งประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง
และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา อาการอาพาธด้วยโรคมาลาเรียของท่านก็หายเป็นปกติ
“...ท่านก็มีความอิ่มเอิบด้วยความสงบสุข ด้วยความวิเวก สงบวิเวกทั้งหลาย ทั้งจิต ทั้งอุปทิกิเลส
เป็นความสงบสุขอย่างเยี่ยมยอด ตลอดทั้งกลางวันกลางคืน นอน เดิน นั่ง ก็เป็นสุข...”
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้เจริญสติปัฏฐานจนเอาชนะทุกขเวทนาจากโรคร้ายได้อย่างน่าอัศจรรย์
ท่านต่อสู้อย่างห้าวหาญ สละความรักในชีวิต มุ่งทำลายกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์
นับเป็นแบบอย่างอันดีงามแก่ชาวพุทธทั้งปวงผู้หมายมุ่งสู่วิมุติสุข
ให้มีความพากเพียรดังที่บูรพาจารย์ผู้เป็นศิษย์พระตถาคต ได้ปฏิบัติมานั้นเอง
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เอกสารประกอบการเขียน
กลุ่มเพื่อนธรรมเพื่อนทำ (๒๕๕๑) ๑๐๘ ปี หลวงปู่ฝั้น อาจาโร พิมพ์ครั้งที่ ๒
คิว พริ้นท์ แมเนจเม้นท์ จำกัด : กรุงเทพฯ
หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ (ม.ป.ป.) ประวัติหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เว็บไซต์
< Prev | Next > |
---|