กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต) : ปริยัติคู่ปฏิบัติ


เทียบธุลี


036_lpMahaSanan

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต)
วัดนรนาถสุนทริการาม กรุงเทพมหานคร


สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต) หรือ สมเด็จปู่ หรือหลวงปู่ของศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย
เป็นพระกรรมฐาน ผู้เจริญรุ่งเรืองทั้งสมณศักดิ์และการศึกษา
ในด้านการศึกษานั้นท่านจบเปรียญธรรม ๙ ประโยค
ในทางสมณศักดิ์นั้นท่านได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระมหามุนีวงศ์
ด้วยเหตุนี้เองหลวงปู่จึงได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบกิจการของคณะสงฆ์
ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายตำแหน่ง เช่น เจ้าอาวาสวัดนรนาถสุนทริการาม กรุงเทพมหานคร
เจ้าคณะภาค ๘ และ ๑๐ (ธ) ประธานเจ้าคณะภาค ๘-๙-๑๐-๑๑ (ธ)
ท่านจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการบำรุงพระพุทธศาสนา
ตลอดจนส่งเสริมการศึกษาของพระเณร ซึ่งถือเป็นการรักษาพระศาสนาให้มั่นคง

“...แม้ว่าในการจัดการศึกษานี้ จะต้องสิ้นเปลืองทุนทรัพย์ไปมาก
และแม้จะต้องเหน็ดเหนื่อยสักปานใดก็ตาม เราก็ต้องสู้ และต้องทน...


...บุรพาจารย์ผู้บริหารพระศาสนาของเรา ท่านไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย
ท่านทำงานเพื่อพระศาสนา ด้วยการยอมเสียสละมาแล้ว
เราก็ต้องไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยและทำงานเพื่อพระศาสนา ด้วยการยอมเสียสละต่อไป...


แม้จะมีกิจการสงฆ์ที่ต้องรับผิดชอบมากมาย แต่หลวงปู่ก็มิได้ละทิ้งการปฏิบัติธรรม
ท่านจึงเป็นทั้งนักปริยัติและนักปฏิบัติ ที่น่ายกย่อง
ดังที่ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้กล่าวชื่นชมเสมอๆ

“...เจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ นอกจากท่านจะเป็นนักปริยัติแล้วท่านยังเป็นนักปฏิบัติ นักภาวนา
เวลาพบปะสนทนากับเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านจะสนทนาแต่เรื่องการปฏิบัติธรรมเกี่ยวกับสมาธิภาวนาด้วยทุกครั้ง
ท่านจะไม่พูดถึงเรื่องโลกๆ ภายนอก อันเป็นสิ่งสกปรกโสมมเลย
พระเณรเราควรที่จะประพฤติ ปฏิบัติ รักษา ตามแบบอย่างที่ท่านเคยปฏิบัติเอาไว้
โดยเฉพาะเจ้าอาวาสนี้สำคัญมากนะ เพราะเป็นผู้นำคน ปกครองคน..."

และยังได้เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งติดตามท่านพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)
เดินทางไปยังวัดนรนาถสุนทริการาม ดังความว่า

“...เมื่อไปถึงกุฏิของเจ้าคุณสมเด็จฯ ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ก็ผลักประตูห้องเข้าไป
ตามแบบคนที่สนิทสนมกันมานาน พบว่าท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ กำลังนั่งสมาธิอยู่
เจ้าคุณสมเด็จฯ แสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นว่าเจ้าคุณธรรมเจดีย์อุตส่าห์เมตตามาเยี่ยมเยียน
จากนั้นจึงได้สนทนากันอยู่พักใหญ่ ตอนหนึ่งของการสนทนา ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯพูดว่า
“...ผมเองแม้อยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ฉันอาหารดิบๆ ดีๆ นะ
ก็ฉันของแห้งๆไปอย่างนั้นแหละ ฉันของดีจริงๆ ภาวนาไม่ดี..."


เรื่องราวดังกล่าวนี้สะท้อนถึงการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มีความมักน้อย สันโดษ
มีความพากเพียรเพื่อธรรมะ โดยไม่เห็นแก่ความสุขสบายของท่าน
หลวงปู่เล่าถึงการปฏิบัติของท่านไว้ว่า

...ทุกๆ เช้า อาตมาตื่นตี ๔ ลุกขึ้นมาทำวัตรไหว้พระสวดมนต์ และนั่งสมาธิไปจนถึง ๖ โมงเช้า
จากนั้นก็จะเดินออกกำลังรอบๆ โบสถ์ ซึ่งถือว่าเป็นการเดินจงกรมไปในตัว
อาตมาปฏิบัติเช่นนี้เสมอมามิได้ขาด แม้จะรู้สึกเจ็บป่วยก็จะลุกขึ้นมาปฏิบัติเสมอ..."

ท่านกล่าวถึงคุณค่าของการปฏิบัติด้วยความสม่ำเสมอ ไว้อย่างน่าฟังว่า

...การปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนานั้น เหมือนกับการรดน้ำต้นไม้
ถ้ารดทุกวัน แม้วันละน้อย ต้นไม้ก็จะเจริญงอกงามเติบโตขึ้นได้
แต่ถ้ารด ๒ วันแล้วทิ้งไปเป็นเดือน ต้นไม้ก็จะแคระแกร็น หรืออาจตายได้เช่นกัน
การปฏิบัติธรรมเป็นประจำทุกวัน ทำอย่างต่อเนื่อง แม้วันละเล็กละน้อย
แต่ทำทุกวัน ก็จะมากขึ้นได้เอง ชาตินี้แม้จะดับทุกข์ยังไม่สิ้น
แต่เราก็จะได้นิสัยในการปฏิบัติธรรมเป็นอุปนิสัยติดตัวไป ข้ามภพข้ามชาติ
ชาติหน้าเราก็สามารถทำต่อได้โดยไม่ยาก เพราะเรามีอุปนิสัยเป็นพื้นเดิมอยู่ก่อนแล้ว..."

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต) จึงเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ที่มีความพากเพียร
แม้ต้องประกอบสมณกิจมากมาย แต่ก็ไม่ทอดทิ้งการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์
ดำรงตนอยู่ด้วยความไม่ประมาท มีความอดทน มุ่งมั่น
สมควรที่เราชาวพุทธจะได้นำไปเป็นแบบอย่าง เพื่อการปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์โดยแท้จริง

- - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - -- - - - - - - -- - - - - - - -- - - - - - - -- - - - - - - -


เอกสารประกอบการเขียน
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์" กรุงเทพฯ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒

เว็บไซต์
http://goldfish.wimutti.net/baibua/6/bua06_18_002.htm
http://www.relicsofbuddha.com/marahun/page8-2-25.htm



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP