กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ : ทรมานจิตพิชิตกิเลส


เทียบธุลี

33_lpWhaen2

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
(ภาพประกอบจาก
www.dhammavariety.com)

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นพระสงฆ์ผู้ได้รับการเรียกขานว่า วิสุทธิเทพแห่งดอยแม่ปั๋ง
ท่านธุดงค์ตามป่าเขาและพำนักอยู่ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเวลานาน
แต่โดยชาติภูมิแล้ว ท่านเป็นชาวจังหวัดเลย จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

หลวงปู่เป็นผู้มีบุญวาสนาในการบวชเป็นอย่างยิ่ง บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๙ ปี
มูลเหตุในการบวชนั้นเกิดขึ้นเมื่ออายุได้เพียง ๕ ปี ในคราวที่โยมมารดาป่วยหนัก
นางทนทุกขเวทนาอยู่เป็นเวลานาน และเห็นว่าตนเองจะไม่รอดชีวิตไปได้
ด้วยใจที่เป็นกุศล ศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาอย่างหนักแน่น
จึงได้เรียกเด็กชายญาณ (ชื่อเดิมของหลวงปู่) เข้าไปใกล้ๆ จับแขนไว้แน่น แล้วสั่งเสียว่า

"ลูกเอ๋ย แม่ยินดีต่อลูก สมบัติใดๆในโลกนี้ จะเป็นกี่ล้านกี่โกฏิก็ตาม แม่ไม่ยินดี
แม่ยินดีมากถ้าลูกจะบวชให้แม่ เมื่อลูกบวชแล้วก็ให้ตายกับผ้าเหลือง ไม่ต้องสึกออกมามีลูกมีเมียนะ"

ต่อมาไม่นาน โยมมารดาก็ถึงแก่กรรม ยังความเศร้าโศกแก่บุตรชายยิ่งนัก
หลังจากนั้นหลวงปู่ได้อยู่ในความอุปการะของคุณตาและคุณยาย
คืนหนึ่งคุณยายได้ฝันถึงหลานชาย และเล่าความฝันให้ฟังในตอนเช้าตรู่

"เมื่อคืนนี้ยายนอนหลับและได้ฝันประหลาดมาก ฝันว่าเห็นเจ้าไปนั่งไปนอนอยู่ในดงขมิ้น
จนกระทั่งเนื้อตัวของเจ้าดูเหลืองอร่ามไปหมด ดูแล้วน่ารักน่าเอ็นดูยิ่งนัก
ยายเห็นว่าเจ้ามีอุปนิสัยวาสนาในทางบวช ฉะนั้นยายขอให้เจ้าบวชตลอดชีวิต
และให้ตายกับผ้าเหลือง ไม่ต้องสึกออกมามีลูกมีเมีย เจ้าจะทำได้ไหม"

หลวงปู่จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุในเวลาต่อมา
แม้จะเป็นผู้มีวาสนาในเพศสมณะเพียงใดก็ตาม แต่ก็ยังมีอุปสรรคให้ได้เผชิญ
เสมือนเป็นบททดสอบความมั่นคงของจิตใจ เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ท่านยังเป็นพระภิกษุหนุ่ม
สมัยที่เรียนมูลกัจจายน์ที่เมืองอุบลราชธานี มีหมอดูเคยทำนายถึงเนื้อคู่ของท่านไว้ว่า
เนื้อคู่ของท่านอยู่ทางทิศนี้ รูปร่างสันทัด ผิวเนื้อขาวเหลือง ใบหน้าเหมือนใบโพธิ์
คำทำนายนี้ปรากฏในเวลาต่อมาเมื่อท่านจาริกไปทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ไปพักอยู่ที่หมู่บ้านนาสอง

ในเวลาใกล้ค่ำของวันหนึ่ง พระภิกษุแหวนไปสรงน้ำที่แม่น้ำงึม
ขณะนั้นมีชาวบ้านเป็นแม่และลูกสาวกำลังพายเรือมาตามลำน้ำ
เมื่อมาถึงตรงที่ท่านสรงน้ำอยู่ ฝ่ายลูกสาวก็ชำเลืองมองมาทางพระหนุ่ม

เมื่อสายตาของทั้งสองฝ่ายประสานกันเข้า
มีอานุภาพลึกลับและรุนแรงพอที่จะตรึงคนทั้งสองฝ่ายให้ตะลึงไปได้


ระหว่างทางที่ท่านเดินกลับที่พัก ใจก็ยังคิดถึงหญิงสาวผู้นั้นอยู่
หวนคิดถึงคำทำนายของหมอดู ก็พบว่าตรงกับลักษณะของหญิงคนดังกล่าว
เมื่อท่านเห็นจิตใจของตนเองปรวนแปรไป จึงตัดสินใจเดินทางข้ามฝั่งแม่น้ำกลับเมืองไทย
มายังอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ได้พบกับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งปลีกตัวมาภาวนา
ในช่วงก่อนเข้าพรรษา ท่านจึงได้อยู่อบรมตนกับพระอาจารย์ใหญ่ มีผลทำให้จิตสงบลง
แม้ว่าภาพของหญิงนั้นยังปรากฏในใจเป็นครั้งคราว แต่เมื่อเร่งภาวนาเข้าภาพนั้นก็สงบลง

หลังจากเข้าพรรษาแล้ว ท่านเร่งความเพียรเต็มที่ ในระยะแรกจิตยังคงสงบได้ง่าย
แต่เมื่อเร่งความเพียรอย่างเอาจริงเอาจังมากเข้า กิเลสก็เอาจริงเอาจังด้วยเช่นกัน
แทนที่จิตจะดำเนินไปตามที่ท่านต้องการ จิตกลับพลิกหนีไปหาหญิงสาวที่พบที่แม่น้ำงึมนั้นอีก

ทีแรกได้พยายามปราบด้วยอุบายต่างๆ แต่ไม่สำเร็จ
ยิ่งเร่งความเพียรดูเหมือนเอาเชื้อไปใส่ไฟ ยิ่งกำเริบหนักเข้าไปอีก
เผลอไม่ได้เป็นต้องไปหาหญิงนั้นทันที บางครั้งมันหนีออกไปซึ่งๆ หน้า
คือขณะที่คิดอุบายการพิจารณาอยู่นั่นเอง มันก็วิ่งไปหาหญิงนั้นเอาซึ่งๆ หน้ากันทีเดียว


ท่านใช้อุบายต่างๆ ในการทรมานจิต เช่น เว้นการนอนอยู่หลายวันหลายคืน

ปรากฏว่าไม่ได้ผล จิตยังคงวิ่งออกไปหาหญิงงามอยู่เช่นเคย เผลอสติไม่ได้
ต่อมาเพิ่มไม่นั่งไม่นอน มีแต่ยืนกับเดิน ทำความเพียรอยู่อย่างนี้
จิตมันก็ไม่ยอม มันคงไปตามเรื่องตามราวของมันเช่นเคย


ต่อมาจึงหันมาอดอาหาร ดื่มแต่เพียงน้ำเท่านั้น รวมทั้งเปลี่ยนอุบายการพิจารณาด้วย

คราวนี้เพ่งเอากายของหญิงนั้นเป็นเป้าหมายในการพิจารณากายคตาสติ
โดยแยกยกพิจารณาทีละอย่างในอาการ ๓๒ ขึ้นโดยอนุโลมปฏิโลม
พิจารณาเทียบเข้ามาหากายของตน พิจารณาให้เห็นถึงความเป็นจริง
ว่าอวัยวะอย่างนั้นๆ ของตนก็มี ของหญิงก็มี ทำไมจะต้องไปรักไปหลง ไปคิดถึง
เพ่งพิจารณาทีละส่วนๆ พิจารณาอยู่อย่างนั้นทั้งกลางวันกลางคืนทุกอิริยาบถ
การพิจารณาจนละเอียดอย่างไร ขึ้นอยู่กับอุบายความแยบคายของปัญญาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น


เมื่อพิจารณามาถึงผิวหนังก็ได้ความว่า

คนเรามาหลงอยู่ที่หนัง หนังเป็นเครื่องปกปิดสิ่งที่ไม่น่าดูไว้
ถ้าถลกหนังออก อวัยวะทุกส่วนก็หาส่วนที่น่าดูไม่ได้เลย
เพ่งพินิจอยู่จนเห็นความเปื่อยเน่าผุพังสลายไป ไม่มีส่วนไหนที่จะถือว่าเป็นของมั่นคง


และได้พิจารณามาจนถึงปัสสาวะ (มูตร) และอุจจาระ (กรีส) ของหญิงนั้น

ตั้งคำถามขึ้นว่า หญิงนี้งามน่ารัก มูตรและกรีสของหญิงนี้กินได้ไหม
จิตตอบว่าไม่ได้ จึงถามขึ้นอีกว่า เมื่อกินไม่ได้ อันไหนที่ว่างาม อันไหนที่ว่าดี


จิตเมื่อถูกอบรมด้วยปัญญาหนักเข้าเช่นนั้นก็อ่อนตัวลง
ยอมจำนนด้วยความจริงและอุบายของปัญญา

ในขณะนั้นจิตซึ่งเคยโลดโผน โลดแล่นไปอย่างไม่มีจุดหมายมาก่อน
พลันก็กลับยอมรับตามความเป็นจริง ตามเหตุผลของปัญญา
ยอมตัวอย่างนักโทษผู้สำนึกผิด ยอมสารภาพถึงการกระทำของตนแต่โดยดี
ฉะนั้น นับแต่วินาทีที่การพิจารณาได้ยุติลง จิตยอมตามเหตุผลของปัญญาแล้ว


หลังจากนั้นหลวงปู่ได้ทดสอบว่าจิตยอมแล้ว ด้วยการส่งจิตออกไปหาหญิงนั้นหลายครั้ง
ปรากฏว่าจิตคงสงบตัวไม่ยอมออกไป นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ถือว่าเป็นชัยชนะอันงดงามในการต่อสู้กับกิเลส ด้วยความพากเพียรอดทนอย่างยิ่งยวด

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ จึงเป็นแบบอย่างของพระสงฆ์ ผู้ดำรงเพศพรหมจรรย์อย่างผ่องแผ้ว
ท่านมุ่งมั่นในการประพฤติปฏิบัติ เพื่อการดับทุกข์โดยสิ้นเชิง
นับเป็นเนื้อนาบุญอันควรค่าต่อการกราบไหว้บูชาโดยแท้จริง

 


เอกสารประกอบการเขียน

หนังสืออนุสรณ์หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ พิมพ์เมื่อ ๒๕๓๗.

"๒๘ พระอรหันต์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์" พระธุตังคเจดีย์ วัดอโศการาม
ธรรมบรรณาการในงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
(ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) ครบรอบวันมรณภาพปีที่ ๔๘ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๒.



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP