กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage
หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต : งดงามด้วยความนอบน้อม เพียบพร้อมด้วยคารวธรรม
โดย เทียบธุลี
หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร
ภาพประกอบจาก "๒๘ พระอรหันต์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์" พระธุตังคเจดีย์ วัดอโศการาม
หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต เป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายที่ได้อุปัฏฐากพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อย่างใกล้ชิด
ท่านออกบวชครั้งที่ ๒ เมื่ออายุ ๓๒ ปี ในวัดมหานิกายที่ไม่ไกลจากบ้าน
เพื่ออยู่ดูแลโยมมารดา ตราบจนถึงแก่กรรม เมื่อฌาปนกิจศพโยมมารดาเรียบร้อยแล้ว
ท่านก็กราบลาพระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์ เพื่อไปทัฬหิกรรมบัญญัติ
เป็นพระสงฆ์ในธรรมยุติกนิกาย ณ วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี
แม้ว่าพระอุปัชฌาย์จะทัดทานด้วยความอาลัย แต่หลวงปู่ก็ให้เหตุผลอันเป็นที่รับฟังได้ว่า
“กระผมบวชเมื่อแก่ อายุขั้นสามสิบ ลูกตายเสีย เมียตายจาก
ถ้าอยู่ใกล้บ้าน ไม่ได้ปฏิบัติสะดวก โลกจะกล่าวว่าบวชเลี้ยงชีวิต
และการบวชคราวนี้ ก็เห็นภัยในสงสารอย่างเต็มที่ ไม่ไว้ใจในชีวิตเลย
และไม่ไว้ใจในสังขารทั้งปวงด้วย อยากจะไปปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ในสงสารขอรับ”
หลังจากญัตติในธรรมยุติกนิกายได้หนึ่งปีกว่า ในเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๙
ท่านก็ได้กราบถวายตัวเป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น
ณ วัดป่าหนองผือนาใน (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) จังหวัดสกลนคร
“ขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระอาจารย์ ผูกขาดทุกลมปราณ
ตลอดทั้งคณะสงฆ์ในทีนี้ทุกๆ องค์ด้วย”
เมื่อได้กล่าวมอบกายถวายชีวิตแล้ว ก็ได้ปฏิบัติตนดังสัจวาจานั้น
หน้าที่ที่ท่านมีต่อพระอาจารย์มั่นมีหลายประการ เช่น การสรงน้ำ ดูแลทำความสะอาดสบงจีวร
ตามไฟถวายเพื่อให้ความอบอุ่น ทั้งในเวลาที่เดินจงกรม หรืออยู่ในกุฏิ หรือไปที่ศาลา
แม้แต่การเก็บอุจจาระของท่านพระอาจารย์ซึ่งอยู่ในวัยชรา ธาตุขันธ์เริ่มผิดปกติ
หลวงปู่หล้าก็ปฏิบัติด้วยความเคารพ ดังที่ท่านได้บันทึกไว้ในอัตตประวัติ
“...เมื่อองค์ท่านวิการในธาตุขันธ์ผิดปกติ ได้ถ่ายตอนกลางคืนลงที่หลุมใต้ถุน
ได้รีบเก็บด้วยมือ โดยเอามือกอบใส่ปุ้งกี๋ที่เอาใบตองรองแล้วเอาขี้เถ้ารองอีก
กอบอุจจาระจากหลุมมาใส่ปุ้งกี๋นั้น ส่วนหลุมนั้นเอาเถ้ารองหนาๆ ไว้
แล้วมีฝาปิดไว้ตอนกลางวัน ค่ำมืดแล้วรีบไปเปิดไว้ เช้ามืดรีบไปตรวจดูแบบเงียบๆ
เมื่อเห็นรอยถ่ายก็รีบเก็บ รีบล้างมือด้วยขี้เถ้าและน้ำมันก๊าด ตัดเล็บมือไว้ให้เรียบ
ข้อที่เอามือกอบออก หลวงปู่มหา๑บอก แต่ว่าไม่ได้บอกต่อหน้าหลวงปู่มั่น
บอกว่า “ครูบาอาจารย์ชั้นนี้แล้ว ไม่ควรเอาจอบเสียมนะ ควรเอามือกอบเอา”
ดังนี้ ย่อมเป็นมงคลล้ำค่าของข้าพเจ้า...”
จะเห็นได้ว่าท่านเป็นผู้อ่อนน้อมและเคารพต่อครูบาอาจารย์เป็นอย่างสูง
ดังในคราวที่นำองค์ท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งอาพาธหนัก
ขึ้นแคร่หามไปยังวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร
โดยเส้นทางที่ต้องใช้นั้นเป็นพื้นสูงๆ ต่ำๆ มีหญ้าขึ้นปกคลุมและบางที่ก็มีหนาม
“ข้าพเจ้าไม่ได้ใส่รองเท้าเลย เพราะมีความเห็นว่าเข้าใกล้องค์หลวงปู่ไม่สมควร
โยมเขาจะใส่ก็ตาม มอบให้เป็นเรื่องของเขา แต่เขาก็ใส่บ้างไม่ใส่บ้าง
และบางแห่งก็มีหนาม ตาใครตามัน รักษาเอาเท้าของตัวที่จะเหยียบไป”
ท่านพระอาจารย์มั่นพัก ณ วัดป่ากลางโนนภู่ เป็นเวลา ๑๑ วัน จึงเดินทางต่อไป
ณ ที่แห่งนี้ หลวงปู่หล้าได้บันทึกเหตุการณ์ที่ทำให้ท่านซาบซึ้งใจยิ่ง
“ในวันนั้นฉันจังหันแล้ว มีพระองค์หนึ่งจะไปตัดช่องกระดานศาลาใกล้ที่พักป่วยขององค์หลวงปู่
เพื่อให้เป็นช่องขององค์หลวงปู่ถ่ายอาจม องค์หลวงปู่ปรารภดังๆ ขึ้นว่า “อย่ามาทำเลย
ท่านหล้าเธอกำกับของเธอประจำอยู่ มาทำแล้ว ก็ไม่ถูกความประสงค์ของเธอดอก” ดังนี้
ข้าพเจ้าได้ยินแล้ว อ้ายกิเลสน้ำตามาอีกละ ไหลลงเลยมันไม่ละอายใคร
เพราะสำเหนียกในใจว่าเราปฏิบัติองค์หลวงปู่มาด้วยประการใดๆ ตามประสาเรา
เป็นเวลาสี่ปีล่วงเข้า หลวงปู่คงไม่หนักธรรมหนักใจ ว่าเราปฏิบัติเพื่อเอาหน้าเอาตา
และไม่สงสัยว่าเราปฏิบัติไม่เคารพ และก็ตรงกับเจตนาของเราด้วย
องค์หลวงปู่ดักใจทายใจเราถูกได้ไม่ผิด คิดดังนี้ได้กะทันหัน อ้ายน้ำตาพลันไหลลงอีก”
แม้พระอาจารย์มั่นละสังขารแล้ว หลวงปู่หล้าก็ยังเคารพเทิดทูนท่านอย่างไม่เสื่อมคลาย
ดังปรากฏในการแบ่งบริขาร เมื่อท่านพระธรรมเจดีย์ผู้เป็นประธานในการจัดการ
ได้ถามว่า “หล้า เธอจะเอาอันไหน บริขารองค์พระอาจารย์”
คำตอบของหลวงปู่นั้นสะท้อนถึงความผูกพันที่ท่านมีต่อพระอาจารย์มั่น
“เกล้ามิได้เอาอันใดดอก ธรรมและอามิสอันใด องค์ท่านให้มากแล้วบริบูรณ์ ในฝ่ายอามิสก็ดี
ในยามองค์ท่านมีชีวิต บริขารจำนวนนี้เป็นบริขารที่องค์หลวงปู่ใช้ประจำ เกรงจะเป็นบาป
ฐานะของเกล้าไม่สมควร และเมื่อเกล้าเห็นยามใด จะเป็นเหตุให้เกล้าน้ำตาไหลอยู่ไม่แล้ว”
เมื่อถวายเพลิงศพเรียบร้อยแล้ว ท่านก็มิได้รับเอาพระธาตุมา ดังความในอัตตประวัติว่า
“ฐานะพระธาตุขององค์หลวงปู่ไม่สมควรที่จะเอาไปใส่ย่าม ตามไปในทิศทั้งสี่
สับปนระคนกับสิ่งของอื่นๆ เราไม่มีอิทธิพลจะสร้างเจดีย์บรรจุไว้ จะเอาไปให้เป็นบาปทำไม
ครั้งพุทธกาลก็มิได้มีตำนานว่าท่านองค์ใดเอาไปเป็นส่วนตัวในทิศทั้งสี่
นอกจากจะเอาไปเที่ยวอวดคนว่าตนได้พระธาตุขององค์หลวงปู่เท่านั้น
คิดดังนี้ชัดในตัวแล้วจึงไม่ได้เอา ถ้าจะเอาก็ได้เป็นกำมือ
เพราะอุปัชฌาย์ของตน๒ เปิดโอกาสพิเศษให้อยู่ เพราะองค์ท่านเป็นประมุขในสังคมนั้น”
หลวงปู่ยังมอบปัจจัยที่ได้จากการสวดบังสุกุลท่านพระอาจารย์
เพื่อสมทบในการสร้างพระอุโบสถ วัดป่าสุทธาวาส โดยมิได้เบิกมาใช้แม้แต่สตางค์เดียว
คำว่า “พ่อแม่ครูจารย์” หรือ “พ่อแม่ครูอาจารย์” เป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้ง
ผู้เป็นอาจารย์นั้นเปรียบดังพ่อแม่ของศิษย์ อบรมสั่งสอนด้วยเมตตากรุณาในทุกทาง
ในขณะที่ลูกศิษย์เองก็ปฏิบัติต่อท่านประดุจบิดามารดาผู้ให้กำเนิด ด้วยกตัญญูกตเวทิตาเช่นกัน
จริยวัตรของหลวงปู่หล้า เขมปตฺโต เป็นแบบอย่างอันดีงาม ทำให้คุณค่าของคำนี้ได้เป็นที่ประจักษ์
ท่านปฏิบัติวัตรถากครูบาอาจารย์ด้วยความตั้งใจไม่ย่อท้อ ไม่เห็นแก่ลาภยศสรรเสริญใดๆ
นับเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐ สมควรแก่การยกย่องบูชาตราบนานเท่านาน
เอกสารประกอบการเขียน
"พระหล้า เขมปตฺโต" โรงพิมพ์วัดสังฆทาน พิมพ์เมื่อประมาณปี ๒๕๓๒.
"๒๘ พระอรหันต์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์" พระธุตังคเจดีย์ วัดอโศการาม
ธรรมบรรณาการในงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
(ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ) ครบรอบวันมรณภาพปีที่ ๔๘ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๒.
เว็บไซต์
http://www.luangpumun.org/wara/nonpu.html
http://www.dharma-gateway.com
เชิงอรรถ
๑) พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
๒) พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)
< Prev | Next > |
---|