กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage

พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) : ธรรมแท้ไม่แพ้อธรรม


river_banner

โดย เทียบธุลี


lpSao

พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล)
ภาพจากหนังสือ
"หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง ฉบับสมบูรณ์"

พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล หรืออาจมีผู้เอ่ยนามท่านว่าหลวงปู่ใหญ่เสาร์
เป็นพระอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ผู้เป็นพระอาจารย์ใหญ่สายพระกรรมฐาน
เป็นผู้ที่ได้รับความเคารพยกย่องอย่างสูง ดังที่หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ได้บันทึกไว้ว่า
ท่านอาจารย์มั่นเคารพท่านอาจารย์เสาร์มากที่สุด เพราะเป็นเณรของท่านมาแต่ก่อน

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้บันทึกเรื่องราว จากคำบอกเล่าของท่านพระอาจารย์มั่น ดังความว่า

...ท่านเล่าว่า ท่านพระอาจารย์เสาร์ เดิมท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
เวลาออกบำเพ็ญพอเริ่มความเพียรเข้ามากๆ ใจรู้สึกประหวัดๆ ถึงความปรารถนาเดิม
เพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แสดงออกเป็นเชิงอาลัยเสียดายยังไม่อยากไปนิพพาน
ท่านเห็นว่า เป็นอุปสรรคต่อความเพียรเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้
ท่านเลยอธิษฐานของดจากความปรารถนานั้น
และขอประมวลมาเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาตินี้
ไม่ขอเกิดมารับความทุกข์ทรมานในภพชาติต่างๆ อีกต่อไป...


ในส่วนของอุปนิสัยและปฏิปทาของพระอาจารย์เสาร์นั้น
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ซึ่งเคยรับใช้ท่านมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นสามเณรพุธ
ได้เล่าถึงไว้ ดังความตอนหนึ่งว่า

“…นิสัยท่านอาจารย์เสาร์ นิสัยชอบก่อสร้าง ชอบปลูกพริกหมากไม้
ลักษณะจิตเยือกเย็น มีพรหมวิหาร ทำจิตดุจแผ่นดิน มีเมตตาเป็นสาธารณะ
เป็นคนพูดน้อย ยกจิตขึ้นสู่องค์เมตตาสุกใสรุ่งเรือง เป็นคนเอื้อเฟื้อในพระวินัย
ทำความเพียรเป็นกลางไม่ยิ่งหย่อน พิจารณาถึงขั้นภูมิธรรมละเอียดมาก...


แม้ว่าจะได้รับการเคารพบูชาจากศิษยานุศิษย์เป็นอย่างสูง
แต่เป็นธรรมดาของโลกที่ต้องมีทั้งการสรรเสริญและการนินทา
พระอาจารย์เสาร์จึงเป็นที่เกลียดชังกลุ่มที่หากินกับความไม่รู้ของชาวบ้าน
พวกมิจฉาทิฏฐิเหล่านี้ต้องเสียผลประโยชน์ไป เพราะการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระกรรมฐาน

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ได้เล่าถึงเรื่องราวความยากลำบากในการเผยแผ่พระศาสนา ในช่วงเวลานั้น

...หลวงพ่ออดที่จะนึกถึงสมัยที่เป็นสามเณร เดินตามหลังครูบาอาจารย์ไม่ได้
ใส่ผ้าจีวรดำๆ เดินผ่านหน้าชาวบ้านหรือพระสงฆ์ทั่วๆ ไปนี้ เขาจะถุยน้ำลายขากใส่
บางทีถ้ามีแม่ชีเดินตามหลังไปด้วย เราจะได้ยินเสียงตะโกนมาเข้าหู
ญาคูเอ๊ย! พาลูกพาเมียไปสร้างบ้านสร้างเมืองที่ไหนหนอเขาว่าอย่างนี้...

สอดคล้องกับที่หลวงพ่อโชติ อาภคฺโค ได้บันทึกถึงเหตุการณ์ ไว้ว่า

...ในกลุ่มพวกมิจฉาทิฏฐิที่ตั้งตัวเป็นศัตรูคอยขัดขวางและให้ร้ายป้ายสีครูบาอาจารย์ต่างๆ นานานั้น
กลุ่มแรกได้แก่พวกเข้าจ้ำหมอผี ที่พวกเขาได้ป้อนความหลงงมงายให้กับประชาชน
แล้วพากันกอบโกยตัดทอนเอาจากความโง่เขลานั้น
การเผยแพร่ธรรมของคณะพระกรรมฐาน ได้ทำให้พวกเขาขาดลาภสักการะลงไป
เพราะประชาชนหูตาสว่างขึ้นด้วยสัจธรรมที่พระอาจารย์นำมาเผยแพร่
จึงพากันเป็นเดือดเป็นแค้นพระอาจารย์ถึงขั้นอยากจะกินเลือดกินเนื้อกันทีเดียว
พวกเข้าจ้ำหมอผี และหมอไสยศาสตร์ได้พากันหาวิธีกลั่นแกล้งพระอาจารย์ทุกวิถีทาง
บ้างก็ออกข่าวให้เสื่อมเสียว่า พระกรรมฐานมีเมียได้ จะไปไหนก็เอาเมียไปด้วย ก็คือพวกแม่ชีแม่ขาวนั่นเอง
อย่าใส่บาตรให้พวกมันกิน สู้เราเอาข้าวโยนให้หมากินยังจะได้บุญมากกว่าใส่บาตรให้พระมีเมียพวกนี้กิน...


และ

“...สารพัดที่เขาเหล่านั้นจะเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาใส่ร้ายป้ายสีจนบางคนบางพวกหลงเชื่อ
เพราะไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นพระกรรมฐานมาก่อน ต่างพากันหลงเชื่อ
และทั้งเกลียดทั้งกลัวพระกรรมฐาน ไม่ยอมเข้าวัด รวมทั้งร่วมมือขัดขวางขับไล่ต่างๆ นานา
ส่วนพวกที่หูตาสว่างแล้วก็พากันสลดหดหู่ใจ กลัวบาปกรรมที่พวกเขาเหล่านั้นก่อสร้างขึ้น


เมื่อมีผู้ไปกราบเรียนให้ท่านพระอาจารย์เสาร์ทราบ ท่านก็ตอบด้วยน้ำเสียงปกติว่า

เออ! กะซ่างเขาดอก เขามีปากกะให้เขาเว้าไป เขาว่าเฮามีเมียเป็นแม่ขาว เฮาบ่มี มันกะบ่เป็นหยังดอก
( เออ! ก็ช่างเขาเถอะ เขามีปากก็ให้เขาพูดไป เขาว่าเรามีเมียเป็นแม่ขาว เราไม่มี มันก็ไม่เป็นไรหรอก)

เมื่อมีผู้มากราบเรียนว่ามีคนพูดว่าจะนำสากตำข้าวของครกกระเดื่อง หรือนำอุจจาระมาใส่บาตร
ท่านก็ตอบว่า
เออ! เขาเว้าไปแนวนั้นแหละ แต่เขาบ่ใส่ดอก (เขาพูดไปอย่างนั้นแหละ แต่เขาไม่ทำหรอก)

นอกจากท่านจะไม่ถือโกรธแล้ว ยังสอนลูกศิษย์เร่งบำเพ็ญภาวนา ให้มีพลังจิตแก่กล้า
แล้วแผ่เมตตาแผ่บุญกุศลให้กลุ่มที่ปองร้ายทุกวัน
หากเขามีบุญพอก็จะคลายจากมิจฉาทิฏฐิได้ ถือเป็นการสร้างบุญกุศลต่อกันทั้งสองฝ่าย

ในบรรดาผู้ขัดขวางต่างๆ นั้น กลุ่มที่พระอาจารย์เสาร์ถึงกับออกปากว่าสงสาร
คือกลุ่มของพระพรหมา แห่งบ้านระเว ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ มีชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธามาก
เรื่องเกิดเมื่อครั้งที่ท่านอาจารย์เสาร์พาคณะศิษย์มาโปรดชาวบ้านตำบลทรายมูล และตำบลระเว
และเพื่อเตรียมการสร้างวัดดอนธาตุ ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะกลางลำน้ำมูล
ที่บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
(เดิมท่านพระอาจารย์เสาร์ ตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า
วัดเกาะแก้วพระนอนคอนสวรรค์วิเวกพุทธกิจศาสนา
แต่ต่อมากรมการศาสนาได้เปลี่ยนชื่อเป็น
วัดดอนธาตุ)

ในครั้งแรกที่พบกัน พระพรหมาได้ให้การต้อนรับด้วยดี แต่ต่อมากลับเปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม
คือแสดงตนเป็นศัตรูอย่างเปิดเผย หาทางขัดขวางขับไล่ทุกวิถีทาง
สร้างเรื่องราวต่างๆ มากมาย โดยไม่มีความเคารพยำเกรงต่อบาปกรรมใดๆ
เมื่อพระอาจารย์เสาร์มีดำริให้สร้างพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ไว้ที่วัดดอนธาตุ
พระพรหมมาก็พยายามขัดขวาง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ การสร้างพระดำเนินไปจนเสร็จสมบูรณ์
เคราะห์ร้ายที่ในปีนั้นฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านเดือดร้อนกันทั่วหน้า
พระพรหมาและกลุ่มมิจฉาทิฏฐิจึงใส่ความว่าเพราะมีการสร้างพุทธรูปที่เป็นปางไสยาสน์
มานอนขวางฟ้าขวางฝนทำให้ฝนไม่ตก ชาวบ้านบางคนจึงไปทุบจมูกของพระพุทธไสยาสน์
พอเป็นเคล็ดว่าได้ทำลายองค์พระแล้ว และหวังว่าต่อไปฝนจะตกตามปกติ
แต่เมื่อรอแล้วรอเล่าฝนก็ไม่ตก จึงมีบางคนสำนึกผิดและเกรงกลัวบาปกรรมในครั้งนี้
ส่วนพระพรหมมานั้นต่อมาไม่นานมรณภาพด้วยอาการไหลตาย
ฝ่ายคนที่ไปทุบจมูกพระพุทธรูปก็มีอันต้องจบชีวิตลงด้วยเช่นกัน
ในช่วงประมาณ ๑ เดือน ก่อนการมรณภาพของพระพรหมา
พระอาจารย์เสาร์ได้ปรารภให้ลูกศิษย์ได้ยินอยู่เสมอว่า
สงสารอุปัชฌาย์พรหมาแท้เด๊!

BhuddaWatDonTad
พระพุทธไสยาสน์ วัดดอนธาตุ
จาก
http://www.luangpumun.org/Dontad/WAT/PAGE_01.HTM

ภายหลังจากออกพรรษาแล้วได้มีการซ่อมแซมพระพุทธไสยาสน์ให้สมบูรณ์ดังเดิม
แล้วมีการสมโภชน์องค์พระ โดยพระอาจารย์เสาร์เป็นประธาน
พระพุทธรูปองค์นี้ยังเป็นที่กราบไหว้บูชาอยู่จนถึงปัจจุบัน

ชีวิตและปฏิปทาของพระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) นับเป็นแบบอย่างอันดียิ่ง
ทั้งในฐานะของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สืบศักดิ์ศรีพระศาสนา เป็นที่น่าเคารพเลื่อมใส
เป็นครูอาจารย์ที่ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์
ท่านสงเคราะห์สัตว์โลกด้วยการนำคณะพระกรรมฐานออกเผยแผ่พระธรรม
เพื่อสร้างสัมมาทิฏฐิให้แก่ชาวบ้าน จนพ้นจากความงมงายและไสยศาสตร์ต่างๆ
ท่านทำนุบำรุงพระศาสนา ด้วยการสร้างถาวรวัตถุ ทั้งวัด โบสถ์ พระพุทธรูป ฯลฯ
ตลอดจนเป็นผู้ที่มีอภัยทานอย่างสูง แม้จะได้รับการปองร้ายต่างๆ นานา
แต่ก็ไม่เคยถือโกรธ ตรงกันข้ามกลับมีเมตตากรุณาแม้แต่กับผู้ที่คิดประทุษร้าย
จึงสมควรที่เราชาวพุทธจะได้นำไปเป็นคติแก่ชีวิตของตนสืบไป

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

เอกสารประกอบการเขียน

"จันทสาโรบูชา" พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ๗ เมษายน ๒๕๓๓.

ฐานิยตฺเถรวตฺถุ เนื่องในงานพระราชทาน เพลิงศพ พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓
.

"พระครูวิเวกพุทธกิจ หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล พระปรมาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกรรมฐาน" โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๕ โดย ปฐมและภัทรา นิคมานนท์ ฉบับพิมพ์เมื่อธันวาคม ๒๕๔๖.

"หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง ฉบับสมบูรณ์" ฉบับพิมพ์ ปี ๒๕๔๗.

ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระโดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ฉบับพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๐.

เว็บไซด์

www.luangpumun.org/

www.dharma-gateway.com

 



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP