กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage
พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) : ด้วยสัตยาธิษฐาน
โดย เทียบธุลี
ภาพประกอบจากหนังสือ “๔๗ ปี อมตะธรรม พนฺธุโล ภิกขุ”
พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) เป็นพระมหาเถระผู้มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา
โดยเฉพาะในเขตจังหวัดนครพนมและใกล้เคียง
ผู้ที่เคารพเลื่อมใสมักเรียกท่านว่า “ท่านเจ้าคุณปู่”
ท่านเคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายๆ ตำแหน่ง เช่น เจ้าคณะจังหวัดนครพนม (ธรรมยุต)
รองเจ้าคณะภาค ๘, ๙, ๑๐, ๑๑ (ธรรมยุต), ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๘, ๙, ๑๐, ๑๑ (ธรรมยุต)
อีกทั้งยังเป็นอุปัชฌาย์ของพระมหาเถระหลายรูป เช่น หลวงปู่คำดี ปภาโส หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
หลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป หลวงปู่แว่น ธนปาโล เป็นต้น
และเป็นพระอาจารย์คนแรกของท่านพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)
ผู้มีอุปการะอย่างยิ่งแก่พระกรรมฐานในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
ท่านเจ้าคุณปู่และพระกรรมฐานในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
ภาพประกอบจากหนังสือ “จากวันวานจวบจนวันนี้ (วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี)”
ท่านเจ้าคุณปู่ได้รับความเคารพอย่างสูงยิ่งทั้งจากบรรพชิตและฆราวาส
ดังเช่น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน)
ทรงเคยกราบนมัสการถวายตัวเป็นลูกชาย พระองค์มักจะทรงเรียกท่านเจ้าคุณปู่ว่า “ท่านเจ้าคุณพ่อ”
ส่วนท่านเจ้าคุณปู่ก็เรียกท่านเจ้าพระคุณสมเด็จว่า “เจ้าคุณลูก”
(ท่านเจ้าคุณปู่มรณภาพไปก่อนที่สมเด็จพระญาณสังวร จะได้รับการสถาปนา
เป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
แต่กว่าที่จะได้รับการยกย่องดังที่ปรากฏนั้น ท่านก็ได้ผ่านเรื่องราวทดสอบจิตใจมากมาย
และเหตุการณ์หนึ่งที่มีความสำคัญ จนถึงกับทำให้ท่านตั้งสัตยาธิษฐาน
ก็คือเมื่อครั้งเข้าเฝ้าฯ ท่านข้าหลวงต่างพระองค์ ในรัชกาลที่ ๕
อันมีความเป็นมาเป็นไปดังนี้
ในปี ๒๔๔๕ พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ข้าหลวงเมืองนครพนม
ได้ไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และคณะ
และเล่าถึงปัญหาพระภิกษุสามเณรในเมืองนครพนม พร้อมขอคำแนะนำเพื่อแก้ไข
ท่านพระอาจารย์เสาร์จึงให้เสาะหาภิกษุสามเณรที่เฉลียวฉลาด มีความประพฤติดี
มาทำทัฬหิกรรมบัญญัติเป็นภิกษุสามเณรในธรรมยุติกนิกาย และจะรับมาศึกษาในสำนักของท่าน
ท่านข้าหลวงฯ จึงคัดเลือกภิกษุสามเณรได้รวม ๕ รูป มาถวายตัวเป็นศิษย์
หนึ่งในนั้นก็คือพระจันทร์ เขมิโย ซึ่งได้รับการอบรมทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ
ตลอดจนหลักพระพุทธศาสนา ตามแผนใหม่ที่จัดตั้งขึ้น จากสำนักวัดเลียบ เมืองอุบลราชธานี
ท่านได้รับการศึกษาอยู่จนถึงปี ๒๔๔๙ ซึ่งเข้าสู่ปีที่สาม ขณะนั้นท่านอายุประมาณ ๒๕ ปี
พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ได้ส่งหนังสือไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์
พร้อมทั้งกราบทูลข้าหลวงต่างพระองค์ในรัชกาลที่ ๕ ประจำมณฑลอีสาน
เพื่อทูลขอนิมนต์ตัวพระจันทร์ เขมิโย และคณะ
กลับไปตั้งสำนักของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตขึ้นที่เมืองนครพนม
ข้าหลวงต่างพระองค์ทรงมีพระประสงค์จะพบและดูตัวพระจันทร์และคณะ
พระอาจารย์เสาร์จึงได้นำไปเข้าเฝ้าฯ เมื่อทอดพระเนตรก็ทรงมีรับสั่งว่า
“พระอย่างคุณหรือจะนำคณะธรรมยุตไปตั้งที่จังหวัดนครพนม
รูปร่างเล็ก ยังหนุ่มจัด ความรู้ยังอ่อนหาพอที่จะรักษาตัวและหมู่คณะได้ไม่
น่าจะไปตายเพราะผู้หญิง ฉันเกรงว่าจะนำวงศ์ธรรมยุตไปทำเสื่อมเสีย"
พระอาจารย์เสาร์จึงถวายพระพรเล่าถึงความประพฤติ จรรยามารยาทต่างๆ
ตลอดจนความมั่นคงในพระธรรมวินัยของพระจันทร์และคณะ ดังความว่า
“พระจันทร์รูปนี้มีจิตใจมั่นคงเข้มแข็ง มีอัธยาศัยหนักแน่นกว้างขวางและสูงส่งมาก
เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของพระภิกษุผู้เป็นอาจารย์
อาตมภาพคิดว่าการที่พระจันทร์จะนำวงศ์ธรรมยุตไปทิ้ง
ทำให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่คณะสงฆ์ธรรมยุตนั้น เห็นจะเป็นไปได้ยาก
เพราะว่าอาตมภาพได้ฝึกฝนอบรมแล้ว
พิจารณาเห็นสมควรอนุญาตให้นำคณะธรรมยุตไปจัดตั้งที่จังหวัดนครพนมได้”
ฝ่ายท่านเจ้าคุณปู่เมื่อได้ฟังพระดำรัสที่เหมือนหมิ่นน้ำใจท่านมาก
ก็เกิดทิฐิมานะขึ้นในจิตใจ จึงตั้งจิตกระทำสัตยาธิษฐานว่า
"เราจะพยายามประพฤติปฏิบัติทำตัวมิให้เสียหาย
จะปกป้องคุ้มครองวงศ์ธรรมยุตให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
มิให้เกิดความเสียหายแก่คณะสงฆ์และวงศ์ธรรมยุต
จะพยายามเอาชนะพระดำรัสนี้ให้ได้"
ท่านตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ยอมให้เป็นไปตามพระดำรัสนั้น
ส่วนท่านข้าหลวงต่างพระองค์เมื่อได้ทรงฟังคำชี้แจงของท่านพระอาจารย์เสาร์แล้ว
ก็ทรงอนุญาตให้คณะของพระภิกษุจันทร์ไปเผยแผ่และจัดตั้งสำนักได้
อีกทั้งยังเสด็จพร้อมกับพุทธบริษัทในเขตเมืองอุบลราชธานี จนถึงเขตนอกเมือง
เพื่อไปส่งคณะสงฆ์ที่จะเดินทางไปยังเมืองนครพนม
และประทานลายพระหัตถ์ให้อีก ๑ ฉบับมีข้อความระบุลงไปชัดเจนว่า
“ให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในระยะทางที่เดินผ่าน
ให้จัดคนตามส่งตลอดทางและให้จัดที่พักอาศัย อาหาร ถวายด้วย”
หลังจากเดินทางบุกป่าฝ่าดง อย่างยากลำบากและเหน็ดเหนื่อย
ในที่สุดคณะของท่านก็ถึงจุดหมายปลายทาง ซึ่งได้มีการจัดงานต้อนรับอย่างมโหฬาร
สำนักของพระสงฆ์ในธรรมยุติกนิกาย จึงได้ประดิษฐาน ณ เมืองนครพนม นับแต่บัดนั้น
ตลอดชีวิตของท่านเจ้าคุณปู่ ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์นานัปการ
ได้สร้างถาวรวัตถุมากมาย จัดการศึกษาทั้งของคณะสงฆ์และฆราวาส
เผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ อันเปรียบได้ดั่งแสงสว่างนำทางแก่บรรดาพุทธบริษัท
ปกครองคณะสงฆ์ ธำรงวงศ์ธรรมยุตให้อยู่มั่นคง ได้ดังที่ตั้งสัตยาธิษฐานไว้
มีจริยวัตรอันงดงามควรสมณสารูป ตราบจนวาระสุดท้ายแห่งธาตุขันธ์
หมายเหตุผู้เขียน
จากการค้นคว้าของผู้เขียน ยังไม่พบเวลาที่แน่ชัดว่า
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงกราบนมัสการถวายตัวเป็นลูกชายของท่านเจ้าคุณปู่ เมื่อใดกันแน่
แต่พบว่าในงานพระราชทานเพลิงศพท่านพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อปี ๒๕๐๖
ท่านเจ้าคุณปู่ได้กล่าวถึงพระสาสนโสภณ (เจริญ สุวฑฺฒโน) โดยใช้คำว่า “ลูกชาย”
เรื่องมีอยู่ว่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) ได้พูดกับพระสาสนโสภณ
ว่า "ถ้าท่านเจ้าคุณมาไม่ทัน เจ้าคุณปู่เดินทางกลับจังหวัดนครพนมเสียก่อน
ท่านเจ้าคุณปู่ฯ ยังไม่ทันเห็นหน้าจะบาปมาก"
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเมื่อวันก่อนหน้านี้ ได้มีพระภิกษุสามเณรถึง ๗๐๐-๘๐๐ รูป
ไปกราบนมัสการท่านเจ้าคุณปู่ และเมื่อคณะของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์เข้าไปพบ
ท่านเจ้าคุณปู่ก็ตำหมากพลางใช้มือป้องหน้ามองดู พร้อมกับพูดว่า
"เบิ่งหน้าแล้วเห็นองค์ใดก็บ่แม่นลูกชายปู่" (มองหน้ารูปไหนก็ไม่ใช่ลูกชายของท่าน)
คือไม่ใช่ท่านเจ้าคุณสาสนโสภณ วัดบวรนิเวศวิหาร (สมณศักดิ์ในขณะนั้น)
เมื่อพระสาสนโสภณได้ฟังก็พอใจมากอมยิ้มอยู่ในที
และไปกราบนมัสการท่านเจ้าคุณปู่ในภายหลัง
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เอกสารประกอบการเขียน
"พระครูวิเวกพุทธกิจ หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล พระปรมาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกรรมฐาน" โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๕ โดย ปฐมและภัทรา นิคมานนท์ ฉบับพิมพ์เมื่อธันวาคม ๒๕๔๖.
“ชีวประวัติและปฏิปทาหลวงปู่จันทร์” คณะศิษยานุศิษย์พิมพ์อุทิศถวาย ท่านเจ้าคุณปู่ พระเทพสิทธาจารย์ (เขมิยเถระ จันทร์ สุวรรณมาโจ) ในงานเสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานเพลิงศพพระเทพสิทธาจารย์ ณ เมรุวัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม วันเสาร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ ฉบับพิมพ์ปี ๒๕๕๐.
"แก้วมณีอีสาน" หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายนฤทธิ์ ตันติศิรินทร์ ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร วันเสารที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐.
“๔๗ ปี อมตะธรรม พนฺธุโล ภิกขุ” พิมพ์เมื่อ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๒.
“พระผู้เจริญพร้อม” มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยจัดพิมพ์น้อมถวายสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในงานฉลองพระชันษา ๙๖ ปี วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๒.
“จากวันวานจวบจนวันนี้ (วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี)” พิมพ์เมื่อ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๒.
เว็บไซต์
http://th.wikipedia.org/wiki/จังหวัดนครพนม
< Prev | Next > |
---|