กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage
พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) : สูงส่งด้วยสมณศักดิ์ แน่นหนักด้วยกตัญญูกตเวที
โดย เทียบธุลี
ภาพประกอบจากหนังสือ “จากวันวานจวบจนวันนี้”
“ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ โดยส่วนมากคนไม่ค่อยรู้จัก
เท่ากับหลวงปู่ หลวงพ่อทั้งหลายที่เป็นศิษย์สายกรรมฐานของท่าน"
ข้อความข้างต้นเป็นคำปรารภของพระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป)
เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันของวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี
กล่าวถึงพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ของพระมหาเถระหลายรูป
เช่น หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่พรหม จิรปุณฺโญ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต หลวงปู่วัน อุตฺตโม
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ หลวงปู่ทูล ขิปฺปปญฺโญ หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ เป็นต้น
พระธรรมเจดีย์บรรพชาตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี อุปสมบทเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี
ได้รับฉายาว่า "พนฺธุโล" มีความหมายว่า "ผู้ปรารภความเพียร"
ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ ของวัดโพธิสมภรณ์ ซึ่งเป็นวัดในธรรมยุติกนิกายแห่งแรกในอุดรธานี
นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ อีกหลายตำแหน่ง
จึงมีบทบาทในการฟื้นฟูและจัดการศึกษา ของภิกษุสงฆ์คณะธรรมยุตในภาคอีสาน
จนเป็นที่เคารพเลื่อมใสของประชาชนตราบปัจจุบัน
พระธรรมเจดีย์เป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต มาตั้งแต่ยังเป็นสามเณร
ดังความในบันทึกของพระเทพเจติยาจารย์ (วิริยังค์ สิรินฺธโร)
“…ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์นี้ แต่ครั้งเป็นสามเณรได้มาอยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ
ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเล่าว่าเป็นสามเณรโคร่ง คือเป็นเณรใหญ่
ได้ทำการปลูกมะพร้าวเป็นอันมากให้แก่วัดนี้ และเป็นสามเณรที่ว่านอนสอนง่าย...”
ท่านเป็นผู้อาราธนาพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่จาริกในภาคเหนือให้กลับมาภาคอีสาน
ซึ่งพระเทพเจติยาจารย์ (วิริยังค์ สิรินฺธโร) ได้เล่าถึงเรื่องราวนี้ไว้ว่า
“...ออกพรรษาของปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ก็ขึ้นไปเชียงใหม่ด้วยตนเอง
โดยไปพักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง มีความกระหายที่จะได้พบพระอาจารย์มั่นฯ
ทางฝ่ายพระอาจารย์มั่นฯ เมื่อทราบว่าศิษย์คนโปรดคือเจ้าคุณธรรมเจดีย์มา...”
“...ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ลงจากดอย เดินทางมาพบกับท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ที่วัดเจดีย์หลวง
ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ก็เข้าไปกราบอาราธนาให้เดินทางกลับภาคอีสาน
ท่านก็รับที่จะเดินทางไปตามความประสงค์...”
ในปี ๒๔๘๒ ท่านเป็นเจ้าคณะมณฑลอุดรธานี มีสมณศักดิ์ที่พระเทพกวี
ต่อมาในปี ๒๔๘๘ มีสมณศักดิ์ที่พระธรรมเจดีย์
และเป็นเจ้าคณะธรรมยุติผู้ช่วยภาค ๓, ๔, ๕ รูปที่๑
อันเป็นตำแหน่งสูงสุดในภาคอีสานในขณะนั้น
แม้สถานะของท่านจะเปลี่ยนไป แต่ความกตัญญูกตเวทีนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง
เห็นได้จากการปฏิบัติต่อท่านพระอาจารย์มั่น
ด้วยการไปกราบรับโอวาทด้วยตนเองเสมอๆ และปวารณาเป็นผู้รับใช้ในทุกกรณี
ดังที่พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (วัน อุตฺตโม) บันทึกไว้
“...ถึงแม้พระเดชพระคุณท่านจะได้ดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์
ที่สูงกว่าท่านพระอาจารย์สักปานใดก็ตาม ท่านหาได้ลืมบุญคุณของท่านอาจารย์ไม่
มีความเคารพยำเกรงอ่อนน้อมถ่อมตน เชื่อฟังถ้อยคำ สนใจต่อการรับโอวาทอยู่เช่นเดิม
ท่านไม่เคยแสดงอาการทะนงตน เย่อหยิ่งลำพองตน ไม่เคยอวดว่าตนฉลาดกว่า ดีกว่า
ไม่เคยลบหลู่ดูหมิ่น ข้ามเกินต่อท่านพระอาจารย์แต่ประการใด
เมื่อเข้าไปหาท่านพระอาจารย์ก็ทำตนให้เป็นสานุศิษย์อยู่เสมอ
ไม่แสดงท่าทีความเป็นผู้ใหญ่ผู้สูงผู้ฉลาดเกินให้ปรากฏ...”
นอกจากนี้ยังเอาใจใส่ในอาการอาพาธของท่านพระอาจารย์ใหญ่
ดังปรากฏในอัตตโนประวัติของพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (วัน อุตฺตโม)
“...ท่านเป็นห่วงในท่านพระอาจารย์มาก
เมื่อท่านได้รับข่าวอาการป่วยของท่านพระอาจารย์เช่นนั้น
ท่านต้องรีบจัดหายาและเครื่องสักการะต่างๆ
แล้วนำพวกญาติโยมเดินทางเข้าไปนมัสการกราบเท้า
และถวายยากับเครื่องสักการะต่อท่านพระอาจารย์ให้ได้...”
“…ท่านมีคำสั่งให้พวกข้าพเจ้าตลอดถึงญาติโยมทุกคน
ให้ตั้งใจปรนนิบัติพยาบาลรักษาท่านพระอาจารย์ ด้วยความไม่ประมาท
เมื่ออาการป่วยของท่านพระอาจารย์หนักหรือเบาประการใด ให้แจ้งข่าวไปให้ท่านทราบเสมอ
ถ้าอาการหนักก็ให้แจ้งข่าวไปหาท่านโดยรีบด่วนเท่าที่จะด่วนได้...”
หลวงปู่หล้า เขมฺปตฺโต ได้บันทึกเรื่องราวช่วงที่ท่านพระอาจารย์ใหญ่อาพาธหนักขึ้น
และสั่งความด้วยน้ำเสียงเบาๆ เย็นๆ ไว้ว่า
“ถ้าเราตายรีบพากันเผาโดยด่วนเน้อ”
“ถ้าเผาแล้ว จงส่งข่าวไปหาท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์และญาติของเรา”
ท่านเป็นหนึ่งในศิษยานุศิษย์ที่เฝ้าดูอาการอาพาธ
จนวาระสุดท้ายของท่านพระอาจารย์มั่น
เป็นประธานในการจัดการงานและถวายเพลิงศพ
ตลอดจนแบ่งบริขารและอัฐิ ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร
หลังจากจัดการงานทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ท่านได้บอกกับที่ประชุมสงฆ์ว่า
“พวกฝ่ายปฏิบัติเอ๋ย วันสุดท้ายของฌาปนกิจพระอาจารย์ที่ไปจากพวกเรานี้
ต่อไปประจำปีพวกท่านจงมาประชุมกันที่นี้นะ”
นอกจากนี้ท่านยังเปลี่ยนชื่อวัดป่าหนองผือนาใน จังหวัดสกลนคร
อันเป็นที่พำนักในช่วง ๕ พรรษาสุดท้ายของท่านพระอาจารย์ใหญ่
ซึ่งตอนแรกให้ชื่อว่า “วัดสันติวนาราม” มาเป็น “วัดป่าภูริทัตตถิราวาส”
เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต มาจนถึงทุกวันนี้
พระธรรมเจดีย์เป็นพระผู้ใหญ่ที่มีความเมตตากรุณาต่อผู้น้อย
เป็นศิษย์ที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ
แม้จะมีสถานะสูงส่งขึ้นเพียงใด ก็นอบน้อมต่อครูบาอาจารย์ดังเช่นเดิม
จริยาวัตรของท่านจึงเป็นคติได้ดียิ่งแก่เราทุกคน
ให้ดำเนินตามความดี ที่ท่านได้กระทำไว้เป็นแบบอย่างนั้นเอง
เอกสารประกอบการเขียน
“ธรรมเจติยานุสรณ์” เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพพระธรรมเจดีย์ ณ เมรุวัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี เมื่อ ๒ มิถุนายน ๒๕๐๖.
"อนุสรณ์งานเสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานเพลิงศพ พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม)" วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม จังหวัดสกลนคร วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔.
“อัตตโนประวัติหลวงปู่หล้า เขมปัตโต” พิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๒.
“บูรพาจารย์” จัดดำเนินงานและพิมพ์โดยมูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ฉบับพิมพ์ ปี ๒๕๔๕.
“ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ” โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
ฉบับพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๐.
“๔๗ ปี อมตะธรรม พนฺธุโล ภิกขุ” พิมพ์เมื่อ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๒.
“จากวันวานจวบจนวันนี้ (วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี)” พิมพ์เมื่อ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๒.
“ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ฉบับสมบูรณ์” โดยพระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร
ไม่ระบุปีที่พิมพ์.
< Prev | Next > |
---|